สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

       • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์กว้างไกลในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวม
       • ทรงคาดการณ์แนวโน้มในสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยพระปรีชาสามารถในการทรง งานด้านข้อมูล บุคคล สิ่งแวดล้อม ประเพณีนิยมในท้องถิ่น ลักษณะภูมิศาสตร์ และสังคมวิทยา ผนวกเข้ากับพระราชดำริอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

      พระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รอบด้าน
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ อย่างละเอียดรอบด้านแล้วประมวลเข้าด้วยกัน ผ่านการวิเคราะห์ กลั่นกรอง เลือกสรร และผสมผสานเชื่อมโยงบูรณาการอย่างรอบคอบ มีเหตุผล เพื่อค้นหาส่วนที่เป็นประโยชน์เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ในลักษณะองค์รวม หรือการมองอย่างครบวงจร จึงทำให้ทรงเข้าใจในภาพรวมของสถานการณ์ และนำไปสู่การทรงคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้
       
       ดัวยพระปรีชาสามารถดังกล่าวทำให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประมาณ 4,000 โครงการประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นอกจากเป็นการช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรโดยตรงแล้ว ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง มีความเป็นเอกภาพและมั่นคง
       
       โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานให้หน่วยงานและชุมชนรับ ไปปฏิบัติสะท้อนพระราชวิสัยทัศน์ที่ทรงเข้าถึงปัญหาของประเทศอย่างลึกซึ้ง ทรงตระหนักถึงลักษณะเฉพาะของประเทศที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นในโลก จึงทรงเลือกและพระราชทานแนวทางได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์
       
       ดังตัวอย่างการดำเนินงานโครงการตามพระราชประสงค์ด้วยพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ ทรงแสวงหาแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ดี เมื่อทรงเห็นว่าโครงการนั้นดำเนินงานได้อย่างมีผลดีมีประโยชน์แก่ราษฎรอย่าง แท้จริงแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามารับช่วงงานต่อไป เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ โครงการหลวงพัฒนาชาวไทยภูเขา เป็นต้น
       
       โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลายจึงครอบคลุมการพัฒนาหลาย สาขาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและศีลธรรมของราษฎรให้ดีขึ้นในลักษณะ ยั่งยืน ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง อันจะเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศ

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

        สิ่งแวดล้อม ชุมชน พัฒนาอย่างสัมพันธ์กัน
       
       โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัดคือ ด้านเกษตรกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำและป่าไม้ การส่งเสริมอาชีพ และสวัสดิการสังคม
       
       เริ่มจากด้านเกษตรกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิตทางการเกษตร ทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพรรณพืช ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพารา พืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช รวมทั้งพรรณสัตว์ที่เหมาะสม เช่น โค กระบือ แพะ ปลา และสัตว์ปีก เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ โดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อนและใช้ต้นทุนไม่สูงเกินไป
       
       ที่สำคัญคือ พรรณพืช พรรณสัตว์ และเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ จะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยพระราชประสงค์ให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะด้านอาหาร ทรงเน้นให้ปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยเพียงพอกับการบริโภคของแต่ละ ครัวเรือน และหากมีส่วนเหลือจากบริโภคจึงนำไปจำหน่าย
       
       โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาการเกษตรที่กระจาย อยู่ทั่วประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหลักด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้ในด้านเทคนิคและ วิชาการเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสเรียนรู้และเห็นตัวอย่างความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ จนสามารถนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกของตนเองอย่างได้ผล ซึ่งมีความหมายต่อความเจริญของภาคเศรษฐกิจแขนงอื่นและของประเทศด้วย
       
       สภาวะสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา มีการนำทรัพยากรธรรมชาติของประเทศมาใช้ประโยชน์โดยมิได้วางแผนจัดการอย่าง เหมาะสม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่จึงเป็นการช่วยทำนุบำรุง และปรับปรุงสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

      การอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำเป็นพิเศษ ทรงตระหนักว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โปรดให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
       
       โดยมีการอนุรักษ์ต้นน้ำและพัฒนาป่าไปพร้อมๆ กัน และจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้ในที่สุด นอกจากนี้ จากการที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทำให้ทรงตระหนักถึงปัญหามลพิษจากน้ำเน่าเสียที่มีปริมาณสูงขึ้น
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขน้ำเสีย ด้วยการพระราชทานแบบเครื่องจักรกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าบนทุ่นลอย ให้กรมชลประทานนำไปวิจัยและจัดสร้างขึ้น เรียกว่า กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม และหลังจากนำไปทดสอบปรากฏผลว่าเป็นที่พอใจ จนได้รับลิขสิทธิ์และการรับรองจากทั่วโลกว่าเป็นเครื่องกลที่มีประสิทธิภาพ ดีเยี่ยม อีกทั้งยังได้รับการถวายรางวัลเครื่องประดิษฐ์ดีเด่นจากคณะกรรมการสภาวิจัย แห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2536
       
       การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เนื่องจากปัจจุบันประชากรไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ลักลอบตัดไม้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และเผาถ่าน นอกจากนี้ การเร่งการดำเนินงานบางโครงการ เช่น การก่อสร้างถนน สร้างเขื่อน ทำให้มีการตัดไม้ ป่าไม้ลดลงตามลำดับ บางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ดังที่ประเทศไทยประสบอยู่ในขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของป่าไม้ จึงทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิมเพื่อป้องกันอุทกภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น โครงการปลูกป่าทดแทน โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

       การส่งเสริมอาชีพ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่มักทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพแก่ ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือให้มีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง
       
       ส่วนโครงการประเภทการส่งเสริมอาชีพโดยตรงเป็นการช่วยเหลือให้ราษฎร สามารถพึ่งตนเองได้ เช่น โครงการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรในหมู่บ้านรอบศูนย์การพัฒนา โครงการศิลปาชีพพิเศษทั่วประเทศ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก และโครงการศูนย์บริการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ จังหวัดเชียงใหม่
       
       สวัสดิการสังคม เป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น แหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค เพื่อให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น พออยู่พอกิน และดำรงชีวิตด้วยความผาสุก
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำนวัตกรรมด้านการพัฒนามาสู่สังคม ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกโครงการอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ ทรงกำหนดสิ่งที่ต้องพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงในเรื่องของขั้นตอนการดำเนินการ การจัดแบ่งหน้าที่ การปรับปรุงกระบวนการ ตลอดจนการวัดและประเมินผล
       
       จะ เห็นว่าแนวคิดและวิธีการต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำมาใช้และพระราชทานแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องใน การพัฒนาล้วนเป็นสิ่งใหม่ในกระบวนการพัฒนาสังคมไทย ตั้งแต่การกำหนดแผนงาน แผนเงิน แผนคน และการประเมินผลโครงการ โดยผลของงานมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์เป็นอันดับแรก และทรงเน้นความร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน เพื่อให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสำเร็จอย่างสมบูรณ์


Green Vision :พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แบบอย่างแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม /ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล

โดย MGR Online

       แท้ จริงคำว่าสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ก็คือปัจจัยแห่งชีวิตของเรา ทรัพยากรธรรมชาติประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือก็คือองค์ประกอบของร่างกายเรา และรวมไปถึงปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ล้วนมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
       แต่เมื่อถูกผลักดันด้วยกระแสบริโภคนิยมก็เกิดการทำลายสิ่งเหล่านี้ ทำลายทรัพยากรที่เป็นทุนของชีวิต ถึง ณ วันนี้ ทรัพยากรเหล่านั้นใกล้จะหมดลงแล้ว จากจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น แต่ทรัพยากรธรรมชาติกลับลดลงและลดลง ดังนั้น ถ้าเราไม่เริ่มใส่ใจต่อการใช้ทรัพยากร มนุษย์ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตที่ยากจะคาดเดาได้
       ทรัพยากรบนโลกนี้ต้องจัดการส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน และต้องจัดการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไปเรื่อยๆ ดังนั้นทำอย่างไรให้สิ่งที่มีวันนี้ พรุ่งนี้ยังมีอยู่และมีต่อไปเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาฟื้นฟู รวมถึงกระบวนการทั้งหมด อะไรที่หมดไปให้ฟื้นฟูกลับมา ที่ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยให้ประหยัด ทำกันได้หรือไม่ อย่างป่าไม้เป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนมาก ใช้จนหมดไป ไม่ปลูกทดแทน และผลสะท้อนก็กลับมายังมนุษย์ สิ่งใดใช้ไปก็ต้องทดแทน สิ่งใดหมดไปก็ต้องฟื้นฟู เราควรต้องหันกลับมาทำจริงจังเพื่อเป็นการต่อชีวิตของเรา และหมายถึงชีวิตลูกหลานของเราด้วย
       ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ ได้มีรับสั่งว่า “เราจะครองแผ่นดิน” ทรงใช้คำว่า “ครอง” แทนคำว่าปกครอง ทรงใช้ความรัก ความเมตตา ความรับผิดชอบในการดูแลแผ่นดิน ซึ่งแผ่นดินก็ประกอบไปด้วยทรัพยากรทั้งหลายทั้งปวงที่ได้กล่าวไป รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วย เรื่องที่พระองค์รับสั่ง 70 - 80% เกี่ยวกับน้ำ และยังมีเรื่องของดิน รวมถึงการนำหญ้าแฝกมาใช้

Green Vision :พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แบบอย่างแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม /ดร. สุเมธ  ตันติเวชกุล

       “เพราะ ฉะนั้นตลอดระยะเวลากว่า 65 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงทุ่มเทรักษาปัจจัยแห่งชีวิตเราไว้ และในความเป็นจริงการรักษาดิน น้ำ ลม ไฟ ก็คือรักษาประเทศ รักษาแผ่นดิน”
       เพราะหากไม่มีประเทศ เราไม่สามารถมีวันนี้ได้ และก็ไม่มีชีวิตของเรา พระองค์ท่านได้ทรงทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ออกมาในรูปของโครงการ น่าเสียใจและน่าเสียดายที่คนไทยเห็นเป็นเพียงโครงการเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงทั้งหมดนั้นคือบทเรียน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำความเข้าใจอย่างไรในบทเรียนเหล่านี้ แล้วเข้าถึงการกระทำ ผลสุดท้ายการพัฒนาก็จะยั่งยืน
       หลายๆ คนอาจมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของขยะ เรื่องของน้ำเสีย แต่สำหรับผม ผมมองว่าเป็นเรื่องของ “มนุษย์” เพราะทุกปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น ใช้ทรัพยากรทุกอย่างมากเกินความจำเป็น อย่างไม่ระมัดระวัง เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูเอาสิ่งที่มนุษย์ใช้หมดไปกลับคืนมา ในลักษณะของธรรมาภิบาล จำเป็นต้องใช้ทุกอย่าง อย่างระมัดระวังและรักษา น้ำทุกหยดต้องบริหารให้มีคุณค่า ต้นไม้ทุกต้นอย่าเห็นคุณค่าว่าเป็นเงินทอง ตัดทำลายเสียหมดสิ้น ดินทุกตารางนิ้วมีคุณค่าต่อชีวิต ไม่ใช่บุกรุกป่าไปยึดถือมาเป็นกรรมสิทธิ์ จะเห็นได้ว่าทุกปัญหาเกิดจากมนุษย์
       ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องไปที่ต้นตอซึ่งก็คือ มนุษย์ จำเป็นต้องพัฒนาฟื้นฟูให้ยั่งยืน เป็นแนวความคิดที่ต้องใช้สติปัญญาในการบริหารจัดการทุกสิ่งให้กลับมาเป็น ประโยชน์อีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แสดงให้เห็นหมดแล้ว ทุกอย่างมีวิธีการ แต่เราทุกคนต้องปฏิบัติ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการปลูกฝังจิตสำนึก โดยต้องเริ่มจากเด็ก เริ่มจากการศึกษา เริ่มในโรงเรียน ถ้าเด็กๆ เราไม่ปลูกฝังเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ไม่ปลูกฝังวิธีคิดแบบใหม่ วิธีปฏิบัติแบบใหม่ โตขึ้นไปก็ทำลายเหมือนเดิม
       อัน ที่จริงการจะเริ่มต้น ชีวิตอย่างไร จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเสียก่อน รู้จักความพอประมาณ ประมาณต่อสถานะตัวเองกับสภาพแวดล้อม ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสั่งสอนไว้ ว่าไปที่ไหนให้รู้จักสิ่งที่อยู่รอบตัว ให้รู้จักนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ และนำไปสู่ประโยชน์สุขดังที่พระองค์ได้รับสั่งไว้
       

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล
       เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : มหาราชนักสิ่งแวดล้อม พ่อหลวงของคนไทย

view