สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูปการจัดการน้ำทั้งระบบ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

เมื่อเกิดน้ำท่วมและภัยแล้งครั้งใดก็ทำให้นึกถึง การปฏิรูปการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำทั้งโครงการที่มีอยู่ก่อนแล้ว และโครงการที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่ และเนื่องจากในปัจจุบันการจัดการน้ำโดยเฉพาะในลุ่มน้ำที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ ซึ่งความจริงแล้วสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ ทั้งกรณีปกติและกรณีที่เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมขึ้นได้อีก

ประมาณ พ.ศ. 2520 ธนาคารโลกซึ่งให้ประเทศไทยกู้เงินมาพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แนะนำให้จ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาต่างประเทศมาศึกษาการใช้น้ำใน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง ผลการศึกษาปรากฏว่าปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีไม่เพียงพอ สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในโครงการชลประทานเจ้าพระยาได้เต็มที่ (เต็มตามความสามารถที่คลองส่งน้ำจะส่งให้ได้)

ทุกปีบริษัทจึงได้พัฒนา แบบจำลองสำหรับจัดสรรน้ำล่วงหน้า รายสัปดาห์ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในลุ่มน้ำดังกล่าว

ผู้เขียนมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2522-2524) เมื่อการศึกษาแล้วเสร็จ ก็ได้หยุดใช้การจัดสรรน้ำด้วยแบบจำลอง (ประมาณปี 2525) เพราะบุคลากรของหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถดำเนินงานต่อได้



การจัดสรรน้ำด้วยแบบจำลองวิธีการคือนำเทคโนโลยีแบบจำลองที่เคยใช้ในช่วงปี2520-2525 มาปรับปรุงให้ทันสมัย เพื่อประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง โดยต้องการเก็บข้อมูลจากสนามมาสอบเทียบ (Calibrate) แบบจำลองที่มากพอ ซึ่งรายละเอียดแบบจำลองได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2558 หน้า 21 อนึ่ง บุคลากรที่เกี่ยวข้องซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ก็จะต้องเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพด้วย จึงจะสามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หน่วยงานที่รับผิดชอบในช่วง พ.ศ. 2517-2518 รวมเวลา 1 ปี (มีอบรมสัมมนา 3 ครั้ง) ผู้เขียนมีโอกาสเข้าปฏิบัติงานกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ในประเทศแคนาดา ที่เมืองไนแอการาฟอล รัฐออนตาริโอ (Niagara Falls, Ontario.) ซึ่งที่นั่นปฏิบัติงานเฉพาะทาง

กล่าวคือผู้เขียนปฏิบัติงานในกลุ่มงานชลศาสตร์ (Hydraulic Department) ก็ปฏิบัติงานเฉพาะชลศาสตร์และอุทกวิทยาเท่านั้น ในการปฏิบัติงานผู้เขียนได้พบกับวิศวกรชาวเกาหลีใต้ ซึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกาและได้สัญชาติแคนาดาแล้ว ได้ถามผู้เขียนว่า หน่วยงานด้านน้ำในประเทศไทยแบ่งการปฏิบัติงานอย่างไร ?

เมื่อผู้เขียนอธิบายจบ ท่านก็พูดขึ้นว่าในประเทศเกาหลีใต้เมื่อก่อนก็เคยแบ่งการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ได้เปลี่ยนเป็น การปฏิบัติงานเฉพาะทาง เช่นเดียวกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ในประเทศแคนาดา มาได้ 2-3 ปีแล้ว

เวลาได้ล่วงเลยมา 40 ปีแล้ว หน่วยงานด้านน้ำของไทยยังไม่ได้แบ่งการปฏิบัติงานเป็นเฉพาะทางเลย การปฏิบัติงานเฉพาะทางจะรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโทเข้าปฏิบัติงาน (สาขาวิศวกรรมโยธา ปริญญาตรีจะเรียนวิศวกรรมโยธาทั่ว ๆ ไป ส่วนปริญญาโทจะแยกเป็นสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมปฐพีกลศาสตร์ วิศวกรรมการทาง และวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ เป็นต้น) จึงสามารถปฏิบัติงานในเชิงลึกได้ดีกว่าในปัจจุบัน บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีคุณภาพค่อนข้างต่ำ บางคนสำเร็จการศึกษามาปฏิบัติงานได้ 6-7 ปีแล้ว ยังไม่เคยเข้ารับการฝึกอบรมสักครั้ง

เนื่องจาก ผู้เขียนเป็นอนุกรรมการสอบเลื่อนระดับจากภาคีเป็นสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ของสภาวิศวกร ในการสอบข้อเขียนได้ออกข้อสอบ ตัวอย่างดังนี้ 1.ประตูระบายน้ำ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา เมื่อปิดบานประตูทุกบานสนิทจะเปิดบานประตูแต่ละบานเท่า ๆ กันอย่างไร จึงจะไม่ทำให้เกิดการกัดเซาะท้ายน้ำ 2.ประตูระบายน้ำ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา ถ้าจะขุดลอกน้ำ-น้ำท้ายเขื่อนมีความลึกเฉลี่ย 0.50 เมตร จะต้องเว้นระยะห่างเท่าใดเมื่อเปิดบานประตูแล้วจะไม่ทำให้เกิดการกัดเซาะท้ายน้ำ

ออกข้อสอบไป 4-5 ครั้ง ไม่มีผู้ตอบได้ ส่วนการสอบสัมภาษณ์ตามผลงาน อาทิ มีผลงานคุมงานก่อสร้าง เช่น ก่อสร้างฝายขนาดเล็กในลำน้ำเดิม ถามว่าในฤดูฝนระบายน้ำออกจากบ่อก่อสร้างจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (Gravity) หรือโดยการสอบ ทุกคนที่เข้าสอบ (ประมาณ 20 คน) ตอบว่าระบายน้ำออกโดยการสูบ จึงถามต่อว่าขนาดเครื่องสูบน้ำคำนวณอย่างไร ทุกคนไม่สามารถตอบได้ ส่วนการผันน้ำอ้อมบ่อก่อสร้างซึ่งเป็นคำถามที่ยากขึ้น ก็ไม่มีผู้ตอบได้

ผู้เข้าสอบส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนต้องเขียนบทความเฉลยข้อสอบลงในวิศวกรรมสารของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(วสท.)ถึง 2-3 ตอน

การสอนและงานวิจัยในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 1.นำเทคนิคที่ใช้ในการศึกษาเพื่อจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง รวมทั้งวิธีการเก็บข้อมูลจากสนามมาสอบเทียบแบบจำลอง มาสอนในมหาวิทยาลัยในวิชาที่เกี่ยวข้องปัจจุบัน (2558) ยังมีน้อยมาก 2.สนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติงานวิจัยประยุกต์ที่เกี่ยวกับแบบจำลองต่าง ๆ เช่น แบบจำลองทำนายฝน แบบจำลองทำนายปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ และปริมาณน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ แบบจำลองทำนายการไหลของน้ำในลำน้ำ รวมทั้งแบบจำลองสำหรับคำนวณหาความต้องการน้ำชลประทานที่เหมาะสำหรับการชลประทานในประเทศไทย เป็นต้น (มีรายละเอียดลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2558 หน้า 21)

สำหรับการปฏิรูปน้ำในประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะในการปฏิรูป ประกอบด้วย 1.ปฏิรูปหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านน้ำ ให้ปฏิบัติงานเฉพาะทางโดยรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโยธาหรือสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าปฏิบัติงาน 2.ปฏิรูปบุคลากร โดยจัดให้มีการฝึกอบรมสัมมนาและทดสอบความรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ปฏิบัติงานที่ตรงตามความสามารถ 3.ปฏิรูปการสอนในมหาวิทยาลัยในวิชาที่เกี่ยวข้องให้มีการสอนและวิจัย ประยุกต์เกี่ยวกับการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลองและวิธีการเก็บ ข้อมูลจากสนามมาสอบเทียบแบบจำลอง 4.ปฏิรูปให้มีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลองเป็นมาตรการหลักและ มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างเป็นมาตรการเสริม และมีการเก็บข้อมูลจากสนามที่มากและนานพอมาสอบเทียบแบบจำลอง

จึงเสนอแนะให้รัฐบาลปฏิรูปการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบโดยเร่งด่วนเพราะจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศดังเช่น ใน พ.ศ. 2544 ได้มีการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำบนลุ่มน้ำชี ซึ่งทำให้มีการปรับเกณฑ์การจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีความจุที่ระดับเก็บกัก 2,263 ล้าน ลบ.ม. (ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

เมื่อใช้เกณฑ์ในการจัดการน้ำในอ่างเพียงปีเดียว ก็คุ้มค่าจ้างศึกษา นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ดี แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอีก


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ปฏิรูปการจัดการน้ำทั้งระบบ

view