สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขปมดราม่าดัง slow life คืออะไรแน่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ทันทีที่มีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งของโน้ส อุดม แต้พานิช ที่วิพากษ์ถึงแนวคิดการใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ (Slow life) ของวัยรุ่นไทย ทำนองว่า “ถ้าคุณไม่ขยัน ยังไม่มีกิน อย่าดัดจริตสโลว์ไลฟ์”

คำๆนี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างสนั่นหวั่นไหวอีกครั้ง ทั้งยังก่อให้เกิดกระแสถกเถียงใหญ่โตว่า แท้จริงแล้วคำว่าสโลว์ไลฟ์มันหมายความว่ายังไงกันแน่

หัวใจคือเรียบง่ายไม่ซับซ้อน

ย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้านี้ ลีโอ บาบัวต้า บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง Zen Habits  เว็บบล็อกยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกประจำปี 2010 จากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์  ได้สถาปนาคำว่าของ Slow life เป็นครั้งแรก โดยอธิบายไว้ดังนี้

"การใช้ชีวิตที่ย้อนกลับไปสู่ความเรียบง่าย เบรกตัวเองจากความเร่งรีบ ถอยห่างจากระบบอุตสาหกรรมและโลกทุนนิยม หันมาพึ่งพิงสิ่งใกล้ตัว เพื่อตัวเองและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ซึ่งเหมารวมทุกอิริยาบถของชีวิต เปลี่ยนมากินอาหารที่ใส่ใจสุขภาพ เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเอง อย่างปลูกผักกินเอง หรือการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น"

เขาย้ำว่าหัวใจหลักคือ ใช้ชีวิตอย่างช้าๆ เพื่อความเพลิดเพลินในชีวิต ไม่ยอมให้ความสุขในชีวิตหายไปเพราะเร่งรีบตามกระแสสังคม ซึ่งความเรียบง่ายของชีวิตในรูปแบบต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่การกินอาหารเพื่อสุขภาพ การใช้ชีวิตอย่างประหยัด ความสุข แรงจูงใจ การออม และการบรรลุจุดมุ่งหมายของชีวิต 

"คำว่า Slow Life ประกอบด้วยตัวอักษรทั้งหมด 8 ตัว อันหมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างลึกซึ้ง

S – Sustainable ใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนด้วยการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจเริ่มจากการพกถุงผ้าเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก เรียนรู้วิธีการแยกขยะที่ถูกวิธี หรือลงมือปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่ร่มเงาและออกซิเจน

L – Local  ปรับชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เช่น ทำอาหารกินเองจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เลือกกินผักผลไม้ตามฤดูกาล อุดหนุนสินค้าจากท้องถิ่น

O – Organic พอใจในสิ่งไม่ปรุงแต่ง หันมาเลือกใช้สินค้าที่ไม่พึ่งสารเคมี เช่น ผักออร์แกนิค แชมพูหรือสบู่ที่ทำจากธรรมชาติ รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงแบบใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคต่างๆ ที่ได้รับมาจากสารเคมี

W – Wholesome รักษาสุขภาพของตัวเองเพื่อให้มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ โดยยึดหลัก 4 อ อารมณ์ดีแจ่มใส ทานอาหารปลอดสารเคมี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และอยู่ในที่ที่อากาศบริสุทธิ์ 

L – Learning เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่าให้อคติมาปิดกั้นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทดลอง ลองเข้าร่วมกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เช่น ออกไปเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้รู้จักโลกใบนี้มากขึ้น

I – Inspiring มีแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต อาจตั้งเป้าหมายที่จะทำภายใน 1 ปี แล้วทำให้สำเร็จตามนั้น

F – Fun มองโลกอย่างสดใส ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ลดความกังวล และมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน

E – Experience ฝึกฝนทักษะที่ถนัดจนเชี่ยวชาญกลายเป็นประสบการณ์ที่บอกต่อคนอื่นได้ เช่น เล่นโยคะเป็นประจำ แล้วชวนพี่น้องเพื่อนฝูงมาร่วมเล่นให้สุขภาพดีไปพร้อมกัน หรือใช้เวลาว่างฝึกทำขนมสูตรตัวเอง แล้วแบ่งปันความอร่อยให้คนใกล้ตัว"

เนิบช้าแต่ไม่ล้าหลัง

"ชีวิตมันเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เราทำให้มันยากเอง..."

ประโยคสั้นๆแต่กินความหมายลึกซึ้งของ โจน จันได ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง และศูนย์เมล็ดพันธ์ หรือพันพรรณ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เกษตรกรชื่อดังรายนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะผู้ใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างเป็นรูปธรรม อยู่บ้านดิน กินพืชผักที่ปลูกเอง ห่างไกลจากความศิวิไลซ์ทั้งปวง

โจนบอกว่า สำหรับเขาคำว่าสโลไลฟ์ คือการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น ลดความเร่งด่วนอันนำไปสู่ความยุ่งยากซับซ้อนในชีวิต

"คุณรู้ไหม หลายสิ่งหลายอย่างที่เรากำลังทำในชีวิตที่เรารู้สึกว่าทำด้วยความเร็ว จริงๆ แล้วมันช้ามาก อย่างเช่น เวลาไปซื้ออาหารฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย เหมือนมันเร็วมาก แต่จริงๆ แล้วมันช้า เพราะลองย้อนกลับไปมองสิว่าเราทำงานมามากเท่าไหร่กว่าจะได้เงินมาซื้ออาหารพวกนั้น การหันกลับมาทำอะไรเองมากขึ้น หรือทำอะไรที่มีความละเมียดละไม และถูกต้องมากขึ้น นั่นคือการดำเนินชีวิตแห่งความสุข เพราะชีวิตเร่งด่วนแบบคนทั่วไป ไม่มีความละเมียดละไม ไม่มีความงาม และมีแต่การสูญเสีย เราต้องยุติสิ่งที่ทำร้ายตัวเองเหล่านั้นลง เพื่อทำให้ชีวิตมันง่ายขึ้น จากปกตินั่งกินฟาสต์ฟู้ดเราก็หันมาทำอาหารกินเอง แทนที่จะดื่มน้ำอัดลม เราก็เลือกกินน้ำสมุนไพรที่ทำขึ้นมาเอง นอกจากสุขภาพแล้วยังได้ความภาคภูมิใจและเกิดความเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาตัวเองด้วย"

จุดเปลี่ยนจากชีวิตคนเมืองไปสู่ความเนิบช้าของเกษตรกรรายนี้คือ การเริ่มตั้งคำถามต่อการดำเนินชีวิตของตัวเองว่า เราจะดิ้นรนไปทำไม ดิ้นรนไปเพื่อใคร

"คำถามนี้ทำให้ผมเปลี่ยน ตั้งสติหันกลับมามองดูตัวเอง ทำงานแทบเป็นแทบตาย ทำไปเพื่อใคร เราตอบว่า ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำไมเรากลับไม่เห็นสิ่งที่ตัวเองได้รับ เราไปซื้ออาหารขยะ  ซื้อของมึนเมามาเลี้ยงตัวเอง หรือกาแฟแก้วละ 100 บาท แล้วเราจะพูดได้หรอว่า สิ่งนี้คือความสำเร็จ   ถ้าเราถามตัวเองแบบนี้ ก็จะพบว่าที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตแบบโง่เขลามาก พอเราเห็นว่าโง่ เราก็อยากจะเปลี่ยนแปลงให้มันง่ายและเป็นประโยชน์กับตัวเองมากขึ้น เราอาจจะเริ่มง่ายๆ จากการทำอาหารเอง แทนที่จะไปจ่ายเงินกินข้าวในร้านอาหารแพงๆ"

กระนั้นคนทั่วไปมักมองว่าชีวิตแบบนี้มันช้า ไม่ทันกิน ไม่ทันคนอื่นหรือไม่เจริญก้าวหน้า แต่โจนมองว่านี่แหละคือชีวิตที่ก้าวหน้าที่สุด

"เราไปไกลกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ในขณะที่คนอื่นกำลังทำงาน 8 ชั่วโมงเพื่อที่จะหาอาหารเลี้ยงชีวิต เรากลับทำงานไม่ถึงชั่วโมง ท้องก็อิ่มและมีเวลาพักผ่อนที่มากกว่า ได้นั่งฟังเสียงนกเสียงกา ฟังเสียงใบไม้พัดไหว ได้พูดคุยกับครอบครัวและไปไหนมาไหนตามที่เราอยากไป  แบบนี้เจริญกว่าหรือเปล่า ทั้งง่าย สบายและสวยงาม ผมย้ำว่า ทั้งหมดมันอาจจะดูเป็น slow life  แต่จริงๆ แล้วมันเร็วกว่า เร็วกว่ามาก ผมใช้ชีวิตแบบนี้มากว่า 20 ปี และไม่คิดว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในแบบที่คนส่วนใหญ่เป็นได้อีกแล้ว เพราะผมพบกับความสบาย" 

เลิกกระแนะกระแหนคนอื่นเสียที

“สำหรับผม slow life คือการผ่อนจังหวะชีวิตให้ช้าลง และสนใจรายละเอียดหรือรื่นรมย์กับสิ่งเล็กๆน้อยๆมากขึ้น เป็นวิถีแบบหนึ่งที่อาจจะควบตามมาด้วยความหลากหลายของสิ่งที่เราสนใจหรือสิ่งที่เรากระทำมากขึ้น เช่น ครุ่นคิดถึงที่มาที่ไปของผักออแกนิคส์ ละเมียดละไมกับรสชาติของกาแฟ คือให้เวลากับสิ่งต่างๆ และเลือกสิ่งที่ดีกว่าให้ชีวิตตัวเอง” 

เป็นมุมมองของ เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย นักเขียนชื่อดัง  ผู้เขียนหนังสือสุดฮิต "นิวยอร์ค เฟิร์ส ไทม์"  

เบนซ์บอกว่า  Slow life เป็นวิถีการดำเนินชีวิตแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่ด้านลบ และเป็นคนละเรื่องกับความขี้เกียจและความไม่มุ่งมั่น อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีทางเลือกดำเนินชีวิตของตัวเอง และไม่สมควรที่ใครจะไปตัดสินการกระทำของคนๆนั้นว่าถูกหรือผิด

"การไปบอกคนอื่นว่า เฮ้ยมึง slow life จังเลย ทำไมไม่ขยันแบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะจุดมุ่งหมายไปสู่ความสุขของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางทีเขาอาจจะพอใจกับความเรียบง่ายตรงนั้นก็ได้  อาจจะขยันในแบบของเขา โดยทุ่มเทกับการทำงานในสัดส่วนที่แตกต่าง เพราะมันเป็นวิถีของแต่ละคน ไม่สามารถตัดสินได้ว่าเขาไม่กระเสือกกระสนเท่าเราหรือไม่รีบรวยเท่าเรา ขณะเดียวกัน วิถีชีวิต slow life ใช่ว่าจะมีความหมายครอบคลุมทั้งชีวิตของคนทั้งหมด บางคนทำงานหนักมาหลายวัน วันหยุดก็อาจจะใช้ชีวิตแบบสโลไลฟ์ได้ มันเป็นแค่เฉพาะห้วงเวลาก็ได้" 

นักเขียนหนุ่มยืนยันด้วยว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปกระแนะกระแหนคนอื่น

"โลกโซเชียลมันยั่วยวนเหลือเกินให้เราไปยุ่งเรื่องคนอื่น โอเคมันมีคนที่ไม่เอาถ่านและอยากจะเท่ ด้วยการอ้างว่าตัวเองสโลไลฟ์ แต่อีกจำนวนไม่น้อยเขาก็เป็นคนที่เลือกวิถีนั้นจริงๆ มันไม่สามารถไปตัดสินทุกคนได้ว่ามึงไม่เอาไหน  เราว่าพวกการกระแนะกระแหนนี่อีเดียดนะครับ คนเรามีความสุขกับหนทางของแต่ละคน ดีไซน์ชีวิตได้ไม่เหมือนกัน อารมณ์เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง ฉะนั้นใช้มันในอะไรที่ฉลาดดีกว่า

การหมั่นไส้คนอื่นนั้นง่าย แต่ว่าการไม่สนใจและทำการทำงานของตัวเองไปนั้นสำคัญกว่า  อย่าไปตัดสินใครว่าไอ้นี่ดี ไอ้นี่ไม่ดี คือปล่อยๆเขาไปเถอะ แล้วถ้าเขาผิดจริงๆ ถ้าไม่เหมาะกับชีวิตของเขา เขาจะรู้เองแหละ ไม่เห็นต้องไปกระทืบไปเตะประตูหน้าบ้านแล้วบอกว่า “เฮ้ยมึงเท่นักหรอ เลิกซะแล้วออกไปทำงาน ไปขยันแบบที่กูเป็นโน่น”

สุดท้ายแล้ว ดราม่าเรื่องสโลว์ไลฟ์คงเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน เป็นเรื่องที่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะตัดสินใจและรู้ได้ด้วยตัวเองว่าดีหรือไม่ดี เพราะชีวิตเป็นของเรา


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ไขปม ดราม่าดัง slow life คืออะไรแน่

view