สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละตรรกะนักวิชาการ ม.เกษตรฯ โจมตี “เกษตรอินทรีย์ เชียร์ ปุ๋ยเคมี ออกนอกหน้า

ชำแหละตรรกะนักวิชาการ ม.เกษตรฯ โจมตี “เกษตรอินทรีย์” เชียร์ “ปุ๋ยเคมี” ออกนอกหน้า

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       ASTVผู้จัดการ – วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ชี้หนังสือ “ปลูกพืชอินทรีย์ ไม่ดีอย่างที่คิด” ซึ่งสนับสนุนการใช้ปุ๋ยเคมี และโจมตีปุ๋ยอินทรีย์อย่างออกนอกหน้า มีปัญหาเรื่องตรรกะและบกพร่องในเนื้อหา ทั้งๆ ที่เขียนและประทับตราคณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ กังขามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสมาคมผู้ค้าปุ๋ย หวั่นส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในระยะยาว
       
       นับว่าเป็นเรื่องสั่นคลอนวงการเกษตรกรรมไม่น้อย เมื่อมีนักวิชาการผู้หนึ่งได้ออกหนังสือ “ปลูกพืชอินทรีย์ ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม” ซึ่งได้ออกภายใต้ตราประทับของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีในวงการว่าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของ ประเทศที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นแหล่งรวมงานวิจัยและนักวิชาการชั้นนำทางด้าน เกษตรอันดับหนึ่งของประเทศ
       
       ชื่อหนังสือดังกล่าวทำให้คนในแวดวงเกษตรกรรม ตื่นตัวและลุกขึ้นมาตั้งคำถามไม่น้อยถึงอุดมการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว คนเขียนหนังสือเล่มนี้ก็มิใช่ใครอื่น ซ้ำยังเป็นนักวิชาการของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แน่นอนว่าเมื่อมีตราของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ ไม่น้อย
       
       “ผมทำหน้าที่นักวิชาการที่ดีแล้ว รู้อะไรก็พูดไปตามที่รู้ ท่านจะคิดอย่างไรคงไปจับมือทำไม่ได้ แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่สิ่งดีที่สุดจริง อยากให้สังคมรู้ว่า ผมได้ทักท้วงแล้ว” ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้เขียนหนังสือ ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
       
       เมื่อไม่นานมานี้ สภาเกษตรแห่งชาติและภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “ความจริง...เรื่องเกษตรอินทรีย์” ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์หนังสือดังกล่าวว่าเป็น ตรรกะที่ป่วยที่สุดของวงการเกษตรกรรม
       
       หนึ่งในผู้ที่ออกมาวิพากษณ์ก็คือ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี นักพัฒนาผู้คร่ำหวอดในวงการ NGOs มายาวนานกว่า30ปี ได้ให้สัมภาษณ์ ASTVผู้จัดการ วิพากษ์ถึงเบื้องหน้า-เบื้องหลังของหนังสือเล่มดังกล่าว
       
       ถาม : คิดว่าจุดประสงค์หลักของการออกหนังสือเล่มนี้คืออะไร?
       ตอบ : เรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีมันเป็นความเชื่อของกลุ่มนักการเกษตรกลุ่มหนึ่งและ กลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีและเป็นหลักของหนังสือเล่มนี้ เราอาจจะต้องตั้งคำถามกลับกันว่าแท้จริงแล้ว ระบบเกษตรกรรมเท่าที่ผ่านมาและในอนาคตจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้สารเคมี ขอย้อนหลังเสียหน่อยว่าปุ๋ยเคมีในอดีตเพิ่งจะถูกนำมาใช้ในการเกษตรได้ไม่นาน มานี้ หลังจากมีการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ จัสตัส วอน ลีบิก (Justus von Liebig) ประกาศทฤษฎีว่า ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ไนโตรเจนช่วยให้ใบเจริญเติบโต ฟอสฟอรัสช่วยให้รากและดอกเติบโต ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการนำเอาปุ๋ยเคมีนำมาใช้ในการเกษตรและปุ๋ยเคมีที่ ถูกนำมาใช้จำนวนมากเป็นผลสืบเนื่องมาจากระเบิดซึ่งต้องใช้ปุ๋ยยูเรีย เช่นเดียวกันสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลงต่างๆ แรงจูงใจในการผลิตก็มาจากเรื่องสงคราม
       
       ประเด็นก็คือว่าการตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้ปุ๋ยเคมี มันมีเหตุผลเบื้องหลังที่แตกต่างกัน ทางเราไม่เคยพูดว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นการผิดหลักเกษตรกรรม ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้บอกว่าการเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นทางเลือกเดียว ซึ่งการเลือกใช้ปุ๋ยทั้งสองชนิดมันมีบริบทการใช้ของมันอยู่ สิ่งสำคัญที่หนังสือเล่มนี้คือทำขึ้นมาเพื่อโจมตีปุ๋ยอินทรีย์อย่างเห็นได้ชัด แล้วยังลามไปถึงการโจมตีเกษตรอินทรีย์อีกด้วย

ชำแหละตรรกะนักวิชาการ ม.เกษตรฯ โจมตี “เกษตรอินทรีย์” เชียร์ “ปุ๋ยเคมี” ออกนอกหน้า

        ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยเข้าไปสู่วงจรการผลิตและเพื่อส่งออกซึ่งจะเน้นหนักไปทางการเร่งผล ผลิตและปริมาณเป็นหลัก นอกจากนั้น มีการพัฒนาเรื่องพันธุ์พืชรวมไปถึงการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้นภายในทศวรรษที่ผ่านมาปุ๋ยเคมีจึงมีบทบาทสำคัญภายใต้บริบทที่ว่ามา เวลาผ่านไปเราก็พบว่าหากยิ่งใช้ปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมากในพืชเชิงเดี่ยว ผลผลิตของมันไม่ได้มากดังที่เราต้องการแต่กลับมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซ้ำจะเกิดปัญหาแมลงและโรคระบาดตามมา เกิดปัญหาในเรื่องคุณภาพของดินถึงขนาดที่ว่าการผลิตแบบนี้ของประเทศไทยมีผล ต่อการแข่งขันระดับประเทศและระดับภูมิภาค
       
       ทิศทางในเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีที่ผ่านมาในเชิงเดี่ยวจึงไม่ควรจะเป็น ทิศทางหลักของวงการเกษตรบ้านเรา มันต้องกลับไปสู่เรื่องเกษตรอินทรีย์ และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงบำรุงดินในวิธีชีวภาพมากขึ้น อยู่มาวันหนึ่งก็มีนักวิชาการบางคน เอาชื่อของมหาวิทยาลัยพิมพ์หนังสือขึ้นมา เพื่อโจมตีเรื่องเกษตรอินทรีย์โดยปราศจากความเข้าใจ เนื้อหาและข้อมูลไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการทางวิชาการ ตรรกะที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ผมถือว่าเป็นตรรกะป่วย ไม่มีความสมเหตุสมผล นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่พวกเราต้องออกมาตอบโต้
       
       ถาม : ในหนังสือมีการระบุเป็นข้อๆ เช่นว่าคุณสมบัติของปุ๋ยเคมีดีกว่า อาทิปลูกได้ผลผลิตสูงกว่า ไม่สร้างมลพิษ ความโปร่งแข็งของหน้าดิน
       ตอบ : หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาโดยใช้ตรรกะที่ว่าเมื่อมีการใส่ปุ๋ยเคมีเข้าไปจะ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อยู่ดีๆ ก็มีตรรกะนี้ขึ้นมาลอยๆ โดยที่ไม่ได้มีผลการทดลองหรือทฤษฎีมารองรับเลย จากนั้นก็ใช้วิธีเปรียบเทียบเช่นถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลผลิตพืช เท่ากับปุ๋ยเคมีจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ขนาดเท่าไหร่ ในเมื่อปุ๋ยอินทรีย์มีสารเอ็นพีเคน้อยคุณจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มหาศาล ซึ่งจะได้ผลิตที่มาก ตรรกะนี้จึงล้มเหลวแต่ต้น
       
       ส่วนตัวเห็นว่ารายละเอียดต่างๆ ในหนังสือมีความผิดเพี้ยนจึงไม่จะโต้ตอบ เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ มีตัวธาตุอาหารเอ็นพีเคไม่เท่ากับปุ๋ยเคมีอยู่แล้ว เนื่องจากมันเป็นการสังเคราะห์ขึ้นมา แต่การทำเกษตรกรรมอินทรีย์ไม่ได้เพิ่มเน้นธาตุหลักเหล่านี้ เกษตรอินทรีย์เป็นวิธีการเกษตรที่มองถึงองค์รวม นอกจากนั้นปุ๋ยก็ไม่ได้มีเพียงตัวเดียว แต่ในหนังสือเลือกที่จะพูดถึงเอ็นพีเคเป็นหลัก เป็นการเลือกเอามาพูดเพียงเสี้ยวเดียว สารเสี้ยวเดียวก็ใช่ว่าจะใส่ไปเท่าใดก็ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นนะ เพราะว่าในระบบนิเวศการที่พืชจะใช้ประโยชน์จากสารอาหารมันไม่ได้ใช้โดยตรง ไม่ได้ช่วยในเรื่องของดินและไม่ได้รับประกันว่าผลผลิตจะมากขึ้นด้วย
       
       ถาม : ในทางปฏิบัติมีข้อพิสูจน์ออกมาแล้วว่าการใช้ปุ๋ยเคมีมาก ก็ไม่ได้หมายความว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น?
       ตอบ : ที่หนังสือกล่าวอ้างมาในทางปฏิบัติ คุณต้องทำให้เห็น ยิ่งในทางปฏิบัติมีการใช้ปุ๋ยเคมีมากๆ ยิ่งทำให้ผลิตจะลดลงด้วยซ้ำ ในระบบนิเวศตามธรรมชาติ ตามหลักการเกษตรอินทรีย์จะเน้นไปถึงการจัดการในระบบนิเวศทางเกษตรทั้งหมด เพื่อเกื้อกูลกันในทุกส่วน การให้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นกับดิน ไม่จำเป็นต้องมีธาตุเอ็นพีเคสูงก็ได้ แต่จะทำให้กิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในดินให้อยู่ในรูปที่พืชจะใช้ประโยชน์ได้ รากของพืชสามารถดูดสารอาหารเหล่านี้มาได้ ดังนั้น ปุ๋ยอินทรีย์จะเหมาะกับกระบวนการแบบนี้สูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี
       
       ในทางปฏิบัติหากใช้ปุ๋ยเคมีในครั้งแรกกับพืชจะเห็นว่าเราจะได้ผลผลิต เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจริง เป็นเพราะว่าโครงสร้างของดินและสิ่งมีชีวิตในดินนั้นสมบูรณ์อยู่แล้วปุ๋ย เคมีจึงมีส่วนในการช่วยกระตุ้น แต่เมื่อเราใช้ปุ๋ยเคมีต่อไปเรื่อยๆ กลับพบว่าผลผลิตพืชจะน้อยลงไป ผมได้ดูงานวิจัยนาข้าวที่ศึกษามาเป็นร้อยปีก็ได้ข้อมูลตามที่ว่ามา ผลวิจัยระบุว่าในปี 2491 - 2495 หากใช้ปุ๋ยเคมีจำนวน 1 ตัน สามารถให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 15 ตัน ขณะเดียวกัน ผลเมื่อปี 2502 - 2504 ตัวเลขลดลงมาเหลือ 10 ตัน แล้วจากนั้นผลผลิตในปีต่อไปจะลดลงเรื่อยๆ การใช้ปุ๋ยเคมีไม่ได้ให้ผลผลิตตามที่เราใช้หรือต้องการให้เป็นเสมอ เป็นเพราะว่าความอุดมสมบูรณ์ของดินยังดีอยู่
       
       ผลเสียของปุ๋ยเคมีมีอยู่ 2 เรื่องใหญ่คือ มันเข้าไปทำลายวงจรธรรมชาติระบบนิเวศของดินซึ่งมีสิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต่อ พืชอยู่ ในทางเกษตรอินทรีย์ถ้าพูดถึงดิน ก็คือดินที่มีชีวิต คนละด้านกับปุ๋ยเคมีที่เป็นเชิงจักรกลคือเน้นการใส่ธาตุอาหารลงไปเอง เรื่องที่สองคือเรื่องโครงสร้างของดิน ดินที่เราเห็นเกิดขึ้นมาของการผุพังหินอายุเป็นล้านปีกว่าจะมาเป็นโครงสร้าง ของดินเหล่านี้ที่เป็นอยู่ รวมไปถึงซากพืชซากสัตว์ก็รวมมาเป็นดินเหล่านี้ เมื่อใส่ปุ๋ยเคมีลงไปมันมีส่วนไปกระทบโครงสร้างของดินจากการศึกษาและลงไปใน พื้นที่พบว่าสภาพดินที่ถูกใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานานจะพบดินที่แน่นขึ้น ไม่ร่วยสุย ระบายน้ำไม่ดี เกิดปัญหาทางชีวภาพและกายภาพ การรักษาความชื้นในดินจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
       
       ถาม : แสดงว่ามีความบกพร่องในหนังสืออยู่หลายจุดมาก หากลงลึกไปในรายละเอียดใช่ไหม?
       ตอบ : เราพบว่าหนังสือเล่มนี้มีความบกพร่องทางเนื้อหาจำนวนมาก เป็นการไปยกเอางานทดลองเพียงแค่ชิ้นสองชิ้นมากล่าวอ้าง แล้วมาสรุปว่าเป็นข้อมูลทั่วไป ซึ่งในทางปฏิบัติการใช้วิธีลักษณะนี้มันเชื่อถือไม่ได้
       
       สิ่งสำคัญที่อยากจะพูดถึงที่สุดคือเบื้องหลังของเรื่องผลประโยน์ที่ เกี่ยวข้องกับงานในแต่ละชิ้นของผู้เขียน ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งในเล่มที่ได้ไปอ้างอิงการวิจัยของสมาคมโปแตสฯ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ขายปุ๋ยโปแตส เพื่อมาสนับสนุนสมมติฐานของงานเขียนตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ประหนึ่งว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้จัดพิมพ์ และมีการแจกจ่ายเป็นจำนวนมากแบบไม่จำกัดจำนวน มีคนตั้งคำถามเช่นกันว่ามันมาจากงบประมาณของทางมหาลัยวิทยาลัยเกษตรฯหรือ เปล่า
       
       ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเล่มนี้ก็เคยเขียนหนังสือในลักษณะนี้ออกมาคล้ายกัน เนื้อหาหลายส่วนในเล่มที่เราวิพากษ์ก็ถูกดึงข้อมูลมาจากหนังสือเล่มแรก ที่ถูกจัดพิมพ์โดยสมาคมพ่อค้าปุ๋ยแห่งประเทศไทย และที่สำคัญผู้เขียนยังมีชื่ออยู่ในกรรมการผู้ค้าปุ๋ยอีกด้วย ทำให้คนในแวดวงเกษตรกรรมต้องตั้งคำถาม
       
       ถาม : คุณวิฑูรย์กำลังจะบอกว่ามีนักวิชาการด้านเกษตรเป็นตัวแทนเครือข่ายนายทุนปุ๋ยเคมีหรือเปล่า?
       ตอบ : การพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาก็ชัดเจนว่ามาจากการสนับสนุนเรื่องผลประโยชน์ เรื่องปุ๋ยเคมี เนื่องจากผู้เขียนยังเคยเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการของสมาคม เล่มก่อนหน้านี้ผู้ที่เขียนคำนำก็ยังเป็นนายกสมาคมผู้ค้าปุ๋ยอีกต่างหาก เรียกว่ามีผลประโยชน์สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก นอกเหนือจากคนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ยังมีกลุ่มนักวิชาการเกษตรที่ว่าด้วยเรื่องปุ๋ย เรื่องปฐพีวิทยา อีกกล่มหนึ่งที่คอยสนับสนุนวิธีคิดคล้ายหนังสือเล่มนี้อยู่
       
       ถาม : เครือข่ายของบริษัทปุ๋ยเคมีและกลุ่มนักวิชาการ เชื่อมโยงกันอย่างไร?
       ตอบ : ประเทศไทยได้เข้าสู่เกษตรกรรมแบบปฏิวัติเขียว มีการใช่เทคโนโลยีในการผลิต เช่นการผสมพันธุ์พืชสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง การใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น โดยทิศทางเกษตรบ้านเราถูกครอบงำมาในทิศทางนี้มาโดยตลอดในช่วง 4-5 ทศวรรษ นักวิชาการจำนวนมากก็ตกอยู่ในวิธีคิดลักษณะนี้ ภาควิชาปฐพีมีจำนวนมากและที่ร่ำเรียนมาด้านปุ๋ยเคมี ในช่วงหลังมีการเรียนในเรื่องระบบนิเวศดินมากขึ้น
       
       ถาม : เหตุผลที่ไม่อยากตอบโต้เนื้อหาในหนังสือเป็นรายข้อ
       ตอบ : เขามองแค่เพียงว่าเกษตรอินทรีย์คือการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมันไม่ใช่แต่มันคือการจัดการเชิงระบบ ครั้นพอจะมานั่งเถียงเป็นข้อๆ ก็เหมือนเราเข้าไปสู่ในเกม วาทกรรมของเขา บางเรื่องที่มีปัญหาเรื่องตรรกะป่วยจริงๆ ก็ตอบโต้ไปบ้างเช่นกัน ปุ๋ยอินทรีย์ทำให้เกิดโลกร้อน เราก็ตอบกลับไปเหมือนกันว่าไม่จริง หรือเรื่องคุณค่าทางอาหารในหนังสือคุณก็ไปอ้างเอาแค่งานวิจัยบางชิ้นมาเท่า นั้น ซึ่งการจะนำข้อมูลมาอ้างอิงแบบถูกต้องนั้นควรจะทำในแบบสำรวจเชิงวรรณกรรม เป็นจำนวนมาก นำข้อมูลจำนวนมากมาสังเคราะห์ นำมาไล่เรียงคัดเลือกว่างานวิจัยชิ้นไหนน่าเชื่อถือที่สุด อย่างเรื่องต้นทุน เกษตรอินทรีย์มีต้นทุนต่ำกว่าจากข้อมูลของทีดีอาร์ไอ ที่ทำการสำรวจการปลูกข้าวอินทรีย์ทั่วประเทศเมื่อปี 2557 กล่าวได้ว่าหนังสือที่ออกมาไม่ได้มีความหนักแน่นทางวิชาการเลย นับเป็นความอับอายของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ที่ปล่อยสิ่งพิมพ์แบบนี้ออกมาได้โดยมีตราประทับรับรอง
       
       ถาม : บริษัทยักษ์ใหญ่เกี่ยวกับวงการปุ๋ยเคมี พอจะมีใครเป็นผู้เล่นหลักๆ บ้าง?
       ตอบ : บริษัทที่ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อันดับที่ 2 บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่มาแรงคือ บริษัทเทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด ของเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี นอกจากนั้นยังมีบริษัทข้ามชาติก็มี ปุ๋ยตราเรือใบยาร่า จากประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกเรื่องปุ๋ยเคมี วงการนี้ผู้เล่นเยอะและเงินที่หมุนเวียนก็เป็นจำนวนสูง มูลค่านำเข้าปุ๋ยแต่ละปีมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท ส่วนมูลค่าตลาดของปุ๋ยเคมีตกปีละ 150,000 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย จึงเห็นได้ว่ามีผลประโยชน์มหาศาลทับซ้อนอยู่ ในช่วงหลัง 4-5ปี มานี้จะเห็นได้ว่ามีทิศทางที่ผู้ให้การสนับสนุนจำนวนมาก ทางฝ่ายการเมืองพูดถึงเรื่องเหล่านี้กันมากขึ้น
       
       ทัศนคติของประชาชนในการใช้ปุ๋ยเคมีจึงเป็นไปในทางลบมากขึ้น แม้แต่ละครหลังข่าวยังมีการสอดแทรก ยกตัวอย่างพวกปุ๋ยเคมีจะเป็นพวกผู้ร้ายในละคร เทียบกับยอดขายตอนนี้คงยังไม่กระทบมากนักแต่อาจจะส่งผลในระยะยาว การออกหนังสือดังกล่าวก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่กลุ่มผลประโยชน์ได้ออกมาโจมตี ปุ๋ยอินทรีย์และปกป้องผลประโยชน์ของเขาแบบหนึ่ง
       
       ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ที่เราเห็นการรวมตัวของกลุ่มทุนปุ๋ยเคมี สารเคมีและสิ่งกำจัดศัตรูพืช ก่อนหน้านี้เคยเกิดมาครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีนโยบายผลักดันในเรื่องเกษตรยั่งยืน จะมีการตั้งกองทุนสนับสนุนเรื่องเกษตรยั่งยืน โดยมาจากภาษีของสารเคมี เป็นแค่ความคิดที่เสนอขึ้นมายังไม่ได้ถูกผลักดันเป็นกฎหมาย เป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นว่ากลุ่มผลประโยชน์เรื่องปุ๋ยเคมีลุกขึ้นมาคัดค้าน ซึ่งหลายคนในจำนวนนั้นก็ยังมาอยู่ในกลุ่มที่ต้องการเผยแพร่ความรู้ผิดๆ ด้านการเกษตรออกไปสู่ประชาชน
       
       ถาม : หนังสือเล่มนี้ส่งผลอะไรต่อความคิด ความเชื่อของเกษตรกรบ้าง?
       ตอบ : ด้วยเหตุที่หนังสือนี้ถูกผลิตขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรฯ แต่คนในมหาวิทยาลัยที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้มีจำนวนมาก อาจจะถูกปิดปากไม่กล้าพูดถึงนัก หลายคนที่เป็นศิษย์เก่าหลายคนถึงกับรับไม่ได้กับหนังสือเล่มนี้ ผิดหวังกับมหาวิทยาลัยมาก ที่ปล่อยให้มีนักวิชาการบางกลุ่มเข้าไปใช้ชื่อมหาวิทยาลัยและออก ส่วนหนังสือก็ถูกนำไปแจกจ่ายในเวทีวิชาการ แจกจ่ายไปในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนั้น ยังมีหนังสือนำโดยหัวหน้าภาควิชาปฐพีวิทยาส่งไปเบื้องต้นด้วย แน่นอนว่าสร้างความลังเล สงสัย ความไม่แน่ใจ ให้กับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงเกษตร เนื่องจากอาจไม่มีความเข้าใจด้านนี้ดีพอให้ไขว้เขวได้ ซึ่งคงจะมีผลอยู่พอสมควร ส่วนด้านผลกระทบต่อเกษตรกรมองว่าอาจส่งผลในระยะยาวมากกว่า

ชำแหละตรรกะนักวิชาการ ม.เกษตรฯ โจมตี “เกษตรอินทรีย์” เชียร์ “ปุ๋ยเคมี” ออกนอกหน้า

ชำแหละตรรกะนักวิชาการ ม.เกษตรฯ โจมตี “เกษตรอินทรีย์” เชียร์ “ปุ๋ยเคมี” ออกนอกหน้า



 ฟังอีกด้าน ‘ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์’ หลังโดนวิพากษ์หนังสือปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิดฯ
เขียนวันที่วันอาทิตย์ ที่ 17 พฤษภาคม 2558 เวลา 08:35 น.
เขียนโดย isranews

ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์’ โต้เอ็นจีโอวิพากษ์หนังสือ ‘ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิดฯ’ เขียนหนุนปุ๋ยเคมี เตือนระวังพูดไม่ดีเสี่ยงละเมิดสิทธิ ระบุทำตามหน้าที่นักวิชาการ รู้อะไรพูดไปอย่างนั้น เดินหน้าคัดค้านต่อ

natdanai160558

เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่สิ่งดีที่สุด สิ่งดีที่สุด คือ เกษตรปลอดสารพิษ

นี่คือคำยืนยันของ ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้เขียนหนังสือ ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเครือข่ายภาคประชาสังคมว่า มีวาระซ่อนเร้น ยัดเยียดข้อมูลผิด ๆ เพื่อหวังเปลี่ยนแนวคิดให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยเคมีแทนอินทรีย์มากขึ้น

โดยความตอนหนึ่งในคำนำของหนังสือ ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ เขียนไว้ว่า “ปัจจุบัน ได้เกิดกระแสความคิดและหรือความเชื่ออย่างกว้างขวางในระดับโลก รวมถึงในประเทศไทยว่า การผลิตพืชอินทรีย์เป็นการผลิตที่ดีที่สุด ทั้งในแง่ต้นทุนการผลิตพืชต่ำ มีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดมลพิษ หรือมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง ไม่มีสารพิษในผลผลิต ทำให้โรคและแมลงทำลายพืชน้อย และคุณภาพด้านโภชนาการของผลผลิตสูง

การ ผลิตพืชอินทรีย์ในที่นี้ หมายถึง การผลิตพืชที่ไม่ใช่ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีเลย เช่น ไม่ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง ไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช รวมทั้งไม่ใช้ปุ๋ยเคมี การห้ามใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นสารที่ให้ธาตุอาหารพืช เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า ขัดกับหลักความจริงและหลักวิชาการ โดยความจริงปุ๋ยเคมีมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ทำได้ดีกว่าและมีความได้เปรียบ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ...”

ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ เล่าว่า หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลผลงานวิจัยต่าง ๆ ส่วนใหญ่หลังปี 2544 เพื่อนำมาสรุป ฉะนั้นรายละเอียดทั้งหมดจึงมีเอกสารอ้างอิง และตั้งใจแจกให้แก่ทุกคนเพื่อชี้ให้เห็นว่า ความจริงเป็นอย่างไร

"แต่จะเชื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ ซึ่งน่าเสียดายหากปล่อยให้เกษตรกรเดินผิดทาง โดยเลือกเชื่อหลักเกษตรไสยศาสตร์มากกว่าเชื่อหลักวิชาการ"

ผู้เขียนหนังสือ ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม  ทราบ ดีถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่รู้สึกน้อยใจ แต่ลึก ๆ แล้ว เขาบอกว่า  ดีใจด้วยซ้ำ เพราะทำให้มีคนสนใจอ่านหนังสือเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อจะได้ทราบความจริงเป็นอย่างไร และได้แจ้งให้สังคมทราบแล้ว จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็นอนตายตาหลับ แต่ขอเตือนคนพูดไม่สร้างสรรค์ต้องระมัดระวังอาจเข้าข่ายล่วงละเมิดสิทธิส่วน บุคคลหรือสถาบันการศึกษาได้

“ผมทำหน้าที่นักวิชาการที่ดี แล้ว รู้อะไรก็พูดไปตามที่รู้ ท่านจะคิดอย่างไรคงไปจับมือทำไม่ได้ แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่สิ่งดีที่สุดจริง อยากให้สังคมรู้ว่า ผมได้ทักท้วงแล้ว”

นักวิชาการ มก. ยืนยันว่า หากเขาไม่ทำหน้าที่ อนาคตอาจมีคนถามหาอาจารย์อำนาจอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ศึกษาเรื่องนี้ให้สังคมได้รู้

ต่อให้อีก 50 ปี ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า อินทรีย์ 100%

อาจารย์อำนาจ ยอมรับ การปลูกพืชอินทรีย์นั้นมีข้อดี เพราะปลอดสารพิษ แต่ผลวิจัยที่ศึกษามา ต่างไม่ยืนยันว่า เกษตรอินทรีย์ดีต่อสิ่งแวดล้อม ตรงกันข้ามกลับก่อให้เกิดมลพิษ และมีโอกาสสะสมคราบโลหะหนักในดินและทำให้ดินแข็งได้

อีกอย่างหนึ่ง คือ เปิดช่องให้มีการหลอกลวงผู้บริโภค เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พืชที่อ้างว่า ‘อินทรีย์’ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีตามกฎที่กำหนดหรือไม่ ต่อให้อีก 50 ปี ก็ไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่า เป็นพืชอินทรีย์ 100% นอกจากบังคับให้ใส่ปุ๋ยเคมีในรูปไอโซโทปเท่านั้น แต่หากบังคับไม่ได้ ก็พิสูจน์ไม่ได้เช่นกัน

“ใครปลูกอะไรก็อ้างเป็นอินทรีย์ มะพร้าวอินทรีย์ ข้าวหอมอินทรีย์ แต่ไม่มีใครรู้ว่า แอบใส่ปุ๋ยเคมีหรือไม่ ดังนั้น จึงสนับสนุนให้ ‘ปลูกพืชปลอดสารพิษ’ เเละ 'ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษ' มากกว่า โดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ใช้ปุ๋ยเคมีได้ เพราะไม่นับเป็นสารพิษ และสามารถนำพืชตรวจหาสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน หากพบผู้กระทำผิดก็ลงโทษได้”

ถ้าไม่เชื่อเขาท้าให้ลองไปสอบถามชาวไร่ อ้อยที่ทำด้วยตัวเองและพูดความจริง จะทราบว่า การใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียว แม้จะช่วยให้ลำต้นใหญ่ แต่กลับไม่เกิดความหวาน เพราะอ้อยต้องการโพแทสเซียม ดังนั้นจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารดังกล่าวด้วย เช่นเดียวกับการปลูกผลไม้ชนิดต่าง ๆ

พร้อมตอกย้ำหนักแน่นว่า  ข้อมูลทั้งหมดมีงานวิจัยรองรับ ทุกอย่างมีเหตุมีผล มิได้พูดขึ้นจากความคิดส่วนตัว

แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า งานวิจัยที่อ้างอิงถูกต้องสมบูรณ์ นักวิชาการ มก.ตอบทันทีว่า ให้หานักวิชาการที่เป็นกลางมาอ่านงานวิจัยและประเมินว่า ผลสรุปถูกต้องหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะให้ไปเชื่อใคร เราจะเลือกใช้ความเชื่อและปฏิบัติตามหลักเกษตรไสยศาสตร์เชียวหรือ ก่อนเปรียบการทำไปตามความเชื่อเหมือนถูต้นไม้ขอเลขแทงหวย แทงร้อยรายก็ถูกสักราย เพราะแต่ละคนเห็นตัวเลขแตกต่างกัน

หากยังไม่มีวิธีตรวจสอบพืชอินทรีย์ 100% จริงหรือไม่ ในอนาคตต้องทำอย่างไร ซึ่ง ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ ไม่เห็นทางออกเช่นกัน นอกเสียจากควบคุมแปลงปลูกพืชอินทรีย์ตลอดเวลา ซึ่งกลางวันตรวจได้ แต่กลางคืนอาจตรวจไม่ได้ และจะกลายเป็นจังหวะให้แอบนำปุ๋ยเคมีมาใส่

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีองค์กรรับรองมาตรฐาน ถามว่า เมื่อคนรับรองกลับบ้านแล้ว เกษตรกรก็อาจแอบใส่ปุ๋ยเคมีก็ได้ แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เป็นพืชอินทรีย์จริง นอกจากอาศัยความเชื่อใจเท่านั้น

“ถ้าเห็นทางออกก็ช่วยบอกหน่อย ผมจะได้เปลี่ยนคำสรุปในหนังสือ ยินดีจะเปลี่ยนคำสรุปให้ หากเห็นทางว่ามีวิธีตรวจอย่างไร”

ทั้งนี้ คำสรุปในหนังสือ ระบุว่า การปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยทั้งสามอย่าง ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยเคมี ให้เหมาะสมกับดินและพืช ทำให้ต้นทุนผลผลิตต่ำกว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษน้อยกว่า หรือมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่า ทำให้พืชและแมลงทำลายพืชน้อยกว่า และคุณภาพด้านโภชนาการของผลผลิตสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชอินทรีย์

“การปลูกพืชอินทรีย์ไม่ใช่สิ่งดีที่สุด แต่คงห้ามใครให้เลิกทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ เพียงแค่ต้องการให้ผู้บริหารประเทศทราบว่า ความจริงคืออะไร และควรเลือกดำเนินนโยบายรูปแบบใด"

ทั้งนี้ ยืนยันจะคัดค้านต่อไป เเต่คงไม่ถึงขั้นวางระเบิด .


 3 มุมมองคนเกษตรอินทรีย์ วิพากษ์หนังสือนักวิชาการมก.เขียนหนุน “ปุ๋ยเคมี”
เขียนวันที่ วันอาทิตย์ ที่ 10 พฤษภาคม 2558 เวลา 09:08 น.
เขียนโดย thaireform

หนังสือ เล่มนี้ เป็นตรรกะป่วยที่สุดเท่าที่เคยเจอ แล้วหนังสือเล่มยังส่งไปยังสถานที่ราชการ หน่วยงานต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่เกิดขึ้นสถาบันการเกษตรที่มีชื่อเสียง

10055801

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาเกษตรแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “ความจริง...เรื่องเกษตรอินทรีย์” ณ อาคารวิทยบริการ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน  ช่วงหนึ่งในเวทีมีการวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเรื่อง “ปลูกพืชอินทรีย์ ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม”  

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นงานต่อมาจากหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เขียนโดยคนเขียนคนเดียวกัน คือสมาคมการค้าปุ๋ย ซึ่งแปลกใจมากว่าเผยแพร่ออกมาในนามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อย่างไร ถือเป็นเรื่องน่าอับอาย มีการใช้งานตำแหน่งของงานวิชาและชื่อมหาวิทยาลัย ซึ่งมีชื่อเสียงมายาวนานเพื่อเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ของบริษัทขายปุ๋ย

หนังสือเล่มนี้แย่อย่างไรนั้น ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เกษตรแบบอินทรีย์เป็นการเกษตรแบบองค์รวม แต่ในหนังสือเล่มนี้เป็นตรรกะป่วย ใส่ความเชื่อผิดๆ เป็นความเชื่อที่ว่า ถ้าใส่ปุ๋ยเคมีลงไปเท่าไหร่จะได้ผลผลิตมากเท่านั้น ปุ๋ยเคมีเท่ากับผลผลิตพืช ต้องใส่เท่าไหร่ถึงจะคุ้มค่า เป็นตรรกะป่วยที่สุดเท่าที่เคยเจอ แล้วหนังสือเล่มยังส่งไปยังสถานที่ราชการ หน่วยงานต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่เกิดขึ้นสถาบันการเกษตรที่มีชื่อเสียง

“การใช้ปุ๋ยเคมีในการทำ เกษตรกรรมมีการศึกษามาโดยตลอด การใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไปนั้นจะเห็นว่า ผลผลิตยิ่งน้อยลง และเลวร้ายกว่าเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมีด้วยซ้ำ มีสารตกค้างในพืชผลไม้เกินกว่ามาตรฐาน”นายวิฑูรย์ กล่าว และว่า หนังสือเล่มนี้บอกเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มาตรฐาน แต่ความเป็นจริงตรงกันข้าม แม้ในตอนนี้เกษตรกรหลายท่านเห็นผลแล้ว แต่เราอยากให้เห็นผลในอนาคตด้วย

ส่วนนายวิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้อำนวยการ Green net กล่าวถึงผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ เขียนขึ้นโดยปราศจากความเข้าใจกลไกความสัมพันธ์ของวงจรแร่ธาตุอาหารที่ซับ ซ้อนดังกล่าว ลดทอนความสัมพันธ์ของการเจริญเติบโตของพืชกับปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี โดยชักจูงให้เชื่ออย่างผิดๆ โดยปราศจากการทดลองหรือการศึกษาใดๆ รองรับว่า “ปริมาณการใส่ปุ๋ยเคมีมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลผลิตที่ได้รับ” และ “การปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตเท่ากันต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณมาก เพื่อให้มีธาตุอาหารหลักมากในระดับเดียวกับปุ๋ยเคมี”

นอกจากนี้  นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ผู้เขียนยังเปรียบเทียบ “ผลผลิตพืชที่ได้” โดยเปรียบเทียบ “ธาตุอาหารหลัก” (N-P-K) ที่มีใน “ปุ๋ยเคมี” กับที่มีใน “ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก” แล้วสรุปเอาเองว่า การซื้อปุ๋ยเคมี เปรียบเทียบกับการซื้อปุ๋ยอินทรีย์ ถ้าให้ได้ผลผลิตพืชเท่ากันจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 8-70 เท่า ขณะเดียวกันยังมีความเชื่อแบบผิดๆ ของชาวเกษตร ว่า เกษตรแบบอินทรีย์มีผลผลิตน้อยกว่าการเกษตรแบบเคมี จริงๆแล้วไม่ได้เป็นข้อสรุปตายตัว แต่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็ได้ "แต่บอกได้เลยเกษตรแบบอินทรีย์ให้ผลผลิตที่ดีกว่าเกษตรเคมีเป็นกี่เท่าก็ ได้"

ด้านนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งข้อสังเกตหนังสือเล่มดังกล่าวเช่นเดียวกันว่า เขียนขึ้นมาแบบรู้ไม่จริง แถมมีอีแอบด้วยจ้างพิมพ์ แล้วเอามาแจกฟรี โดยไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้สนับสนุน

“สารเคมีดีตรงไหน มีแต่ทำลายล้าง ผลกระทบที่ตามมามีมากมาย แล้วจะมาบอกว่า เกษตรเคมีดีกว่า เป็นไปได้หรือ แล้วยังจะมาบอกว่าปุ๋ยเคมีไม่มีสารพิษ แค่เขียนคำนำก็ผิดแล้ว คนอ่านหนังสืออ่านคำนำกับสารบัญ ก็พอรู้แล้วว่า เนื้อหาข้างในน่าจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นการไม่รู้แล้วเอาเขียนจะยิ่งทำให้คนไม่รู้ ยิ่งไม่รู้เข้าไปอีก การมาว่า ระบบอินทรีย์นั้นแสดงว่าคนเขียนรู้จักอินทรีย์ยังไม่ดีพอ เพราะระบบอินทรีย์ต้องแบบองค์รวม คน สัตว์ พืช การทำเกษตรเคมีทำให้เกษตรยากจน ไม่มีคนไหนที่จะร่ำรวย แต่บางคนก็ยังทำต่อ”

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ  กล่าวด้วยว่า การทำเกษตรแบบอินทรียีเป็นการคิดแบบองค์  เกษตรอินทรีย์เป็นเกษตรแบบธรรมมะ แต่เกษตรเคมีเป็นฝ่ายอธรรม “ผมพูดตามหลักธรรม แล้วการเกษตรแบบเคมีเป็นธรรมมะตรงไหนไม่มีเลยแม้น้อย แถมเพิ่งเกิดด้วย และกำลังจะย่อยสลายลงไป เพราะไม่ใช่เป็นการเกษตรแบบยั่งยืน”


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ชำแหละตรรกะ นักวิชาการ ม.เกษตรฯ โจมตี เกษตรอินทรีย์ เชียร์ ปุ๋ยเคมี ออกนอกหน้า

view