สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หวั่นแก้ก.ม.อุทยานฯ-สัตว์ป่า เปิดช่อง ทุนใต้ดิน ฮุบทรัพยากร

หวั่นแก้ก.ม.อุทยานฯ-สัตว์ป่า เปิดช่อง'ทุนใต้ดิน'ฮุบทรัพยากร
โดย : ดารากร วงศ์ประไพ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หวั่นแก้ก.ม.อุทยานฯ-สัตว์ป่า เปิดช่อง "ทุนใต้ดิน" ฮุบทรัพยากร

ประเด็นการแก้กฎหมายป่าไม้และสัตว์ป่า จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. .... ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามในการผลักดันแก้ไขร่างดังกล่าวมาแล้วเมื่อปี 2548 – 2550 เพื่อให้นโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติสอดคล้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว


แต่ในมุมของภาคประชาชน ฝ่ายวิชาการ รวมถึงนักอนุรักษ์ โดยเฉพาะ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นั้น ไม่เห็นด้วย
เห็นได้จากก่อนหน้านี้ที่ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ชะลอการเสนอกฎหมายทั้ง 2 ฉบับออกไป เพราะยังขาดข้อมูลทางวิชาการมารองรับ และขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน


นอกจากนี้ยังมองว่า ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับมีเจตนาในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ


ประเด็นเหล่านี้ถูกสะท้อนผ่านเวทีเสวนาวิชาการ “แก้กฎหมายป่าไม้-สัตว์ป่าประโยชน์เพื่อใคร” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆ นี้


นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เห็นว่า ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามในการหยิบยกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาดำเนินการตั้งแต่ช่วงปี 2548-2550 แต่ถูกยกเลิกไปเนื่องจากกระแสสังคมไม่เห็นด้วย
แต่ขณะนี้กรมอุทยานฯ กำลังนำกลับมาพิจารณาดำเนินการอีกครั้ง โดยมีเจตนานำพื้นที่ป่าอนุรักษ์และทรัพยากรสัตว์ป่ามาแปลงเป็นทุนให้เอกชนบางรายเช่าระยะยาว เพื่อประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในผืนป่าอนุรักษ์


นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้อำนาจรัฐมนตรีในการตัดสินใจนั้นจะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจในการสั่งการ โดยเอื้อประโยชน์ให้อธิบดี ผ่านการเสนอจากหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ในการดำเนินการเปิดพื้นที่ต่างๆ


“หากปล่อยให้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สัตว์ป่าออกมาจะทำให้สัตว์ป่ามีมูลค่าที่สูงขึ้น และจะเกิดศูนย์กลางในการค้าสัตว์ป่า ประเทศไทยจะเอาอย่างนี้หรือไม่”


นายอนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า หากอ่านกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะพบว่ามีเนื้อหาที่คล้ายกัน และยึดคนเป็นศูนย์กลางให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปประเทศที่ให้ศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชน แต่พื้นฐานสำคัญในการผลักดันกฎหมายลักษณะนี้ควรต้องยึดถือธรรมชาติ สัตว์ป่า และป่าไม้ เป็นศูนย์กลาง


เขาบอกว่า ปัจจุบันสภาพสัตว์ป่าอยู่ในสภาพวิกฤติ อีกทั้งการกำหนดให้มีพื้นที่ผ่อนปรนนั้นควรมีความชัดเจน นอกจากนี้ในร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีการลดระดับการล่าสัตว์ป่าให้มีเขตพื้นที่ผ่อนปรนได้ หากหัวหน้าอุทยานอนุญาตก็จะเกิดปัญหาในข้อปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อย่างมหาศาล และมีความหมิ่นเหม่ต่อการกระทำความผิด ถ้าเราไม่ใช้กฎหมายที่เข้มข้นก็จะไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น “อย่าไปผ่อนปรน”
ขณะที่การประกอบธุรกิจการค้าสัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.นี้ที่ให้มีสัตว์ป่าที่มาจากการเพาะเลี้ยงถือว่าขัดกับหลักการของการอนุรักษ์ที่ไม่สนับสนุนให้มีการล่าสัตว์ที่มาจากการเพาะเลี้ยง


ดังนั้นเขาจึงมองว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการฟื้นฟูสัตว์ที่มาจากป่าและถิ่นที่อาศัย
เช่นเดียวกับ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ


เขาเห็นว่าจะเป็นกลยุทธ์กลวิธี “เปิดป่าในรูปแบบที่ถูกกฎหมาย” โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ที่ให้มีคณะกรรมการอุทยานและให้มีที่ปรึกษาคณะกรรมการนั้น เป็นการให้อำนาจหัวหน้าอุทยานมากเกินไป
ขณะที่อำนาจของอธิบดีกรมอุทยานฯ มีอำนาจในการเปิดพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวก็ได้ ตรงนี้จะเกิดความเสียหายตามมา


ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สัตว์ป่า นายศรีสุวรรณ เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวจะมีผลดีต่อ “กลุ่มทุนใต้ดิน” ทำให้นายทุนเข้ามาทำธุรกิจค้าสัตว์ป่าได้โดยชัดเจน


“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการแปรรูปทำให้สวนสัตว์ที่เป็นสวนสัตว์สีขาวสีดำในขณะนี้กลายเป็นสวนสัตว์ที่ถูกกฎหมายขึ้นมาในทันที”


ด้าน นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับในทางกฎหมาย


เริ่มจาก ร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เขาบอกว่า ประเด็นที่สำคัญอยู่ที่ มาตรา 38 ที่ให้เอกชนเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในพื้นที่ผ่อนปรนได้


ขณะที่ มาตรา 39 ระบุให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบต่อการดำเนินการต่างๆ เท่านั้น


ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่อง “ไม่สมเหตุสมผล” และควรจะมีกลไกให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนหากเห็นว่ามีการกระทำผิดเพื่อระงับโครงการได้


และหากให้เป็นไปตามกระบวนการที่ระบุไว้ในกฎหมาย กระบวนการในการพิจารณาในชั้นศาลต้องใช้เวลานาน ซึ่งเอกชนเหล่านั้นจะประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าการพิจารณาจะสิ้นสุด ความเสียหายตรงนี้จะมีมูลค่าเท่าไร ดังนั้นในส่วนของการบริหารจัดการชุมชนจึงอยากให้มีการเขียนให้ชัดเจน


ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สัตว์ป่า เขามองว่า เป็นแนวคิดในการนำของใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินโดยการขึ้นทะเบียนและจัดการให้มีการขายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นการนำเข้า-ออกสัตว์ป่าสงวนควรมีการรับฟังความเห็นหรือไม่


ส่วนการกำหนดบทลงโทษนั้นเห็นว่า ควรมีการเพิ่มโทษปรับโดยยึดราคาสินค้าต่อราคาตลาด เพราะจะทำให้คนที่คิดทำผิด คิดมากขึ้น


อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ การนำเอกชนเข้ามาร่วมประมูล เพราะการประมูลกับรัฐนั้นมีขั้นตอน และคุณสมบัติต่างๆ ค่อนข้างมาก จึงกังวลว่าท้ายที่สุดแล้วจะเหลือเอกชนไม่กี่รายที่สามารถร่วมประมูลกับรัฐได้


อย่างไรก็ดี นายนิติพงษ์ แสนจันทร์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย กรมอุทยานฯ ชี้แจงประเด็นเรื่อง “เขตผ่อนปรน” ว่า ในวงการป่าไม้ยังมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และอยากให้มีแผนที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการ โดยยึดความต้องการตามธรรมชาติแทน


นอกจากนี้ยังมีผู้เห็นว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ผ่อนปรนนั้นจะต้องเป็น “สมาชิกอนุรักษ์ธรรมชาติ” ด้วย


“ข้อเสนอต่างๆทางกรมพร้อมรับฟังและนำไปปรับปรุงให้มีความเหมาะสม โดยจะเปิดรับฟังความเห็นอีกครั้งภายในเดือนนี้”


ทั้งนี้ เขายืนยันว่า การแก้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวนั้นเป็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องในปัจจุบัน โดยนำข้อดีของกฎหมายปี 35 มาบรรจุไว้


........................................


50ปีอำนาจกฎหมาย พิทักษ์“ผืนป่า-สรรพสัตว์”


ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดทำบันทึกเหตุและข้อเสนอแนะของมูลนิธิฯ ต่อร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ โดยตอนหนึ่งได้ให้ข้อมูลถึงที่มาของกฎหมาย ดังนี้


พ.ศ.2502 : จุดเริ่มต้นการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดย นพ.บุญส่ง เลขะกุล เรียกร้องและผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า


พ.ศ.2503 : ประกาศใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 ฉบับแรก เนื่องจากสัตว์ป่าที่มีค่าบางชนิดได้ถูกล่าและทำลายจนสูญพันธุ์ไปแล้ว


พ.ศ.2504 : ประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เพื่อรักษาพันธุ์ไม้ของป่าสัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ป่าและภูเขาให้อยู่ในสภาพธรรมชาติ


พ.ศ.2535 : พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

พ.ศ.2535 ซึ่งปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ


พ.ศ.2548-2550: มีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า ด้วยเหตุผลว่ากฎหมายเดิมใช้มานานหลายปีและต้องการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ถูกยกเลิกไปเพราะกระแสสังคมไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างกฎหมายที่มุ่งเชิงเศรษฐกิจมากเกินไป


การบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับตลอดระยะเวลา 50 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยยังคงรักษาพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าเอาไว้ได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่ใช่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศก็ตาม เพราะหากพิจารณาพื้นที่ป่าที่ยังเหลืออยู่จากภาพถ่ายดาวเทียม เมื่อปี 2556 จะพบว่าป่าไม้ของประเทศไทยแทบจะเหลือแต่เฉพาะพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เท่านั้น



ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : หวั่น แก้ก.ม.อุทยานฯ สัตว์ป่า เปิดช่อง ทุนใต้ดิน ฮุบทรัพยากร

view