สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้ยัง? ยางพารากลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ชาวหาดใหญ่เคยใช้มานานแล้ว

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 โดย..ณขจร จันทวงศ์
       
       คิดไม่ถึงว่ายางพารา หมายถึงยางพาราที่แห้งเป็นแผ่นๆ หรือเป็นเศษยางที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขี้ยาง” ไม่ใช่น้ำยางสีขาวสด คิดไม่ถึงว่ามันสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติเทียบเท่า และใช้ทดแทนน้ำมันเบนซิน หรือน้ำมันดีเซลได้
       
       แต่เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์มานานแล้วว่าสามารถทำได้จริง ผู้ที่คิดค้นการทดลองเป็นคนแรกก็ไม่ได้เรียนจบด็อกเตอร์ แต่เป็นชาวสวนยางใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่มีความผูกพัน และรู้จักใช้ประโยชน์จากต้นยางพาราอย่างรอบด้าน แต่น่าเสียดายว่าประวัติศาสตร์บันทึกชื่อของบุคคลผู้นี้เอาไว้เพียงว่า “ราษฎรตำบลหนึ่ง” เท่านั้น
       
       ต้นความคิดเรื่องการนำยางพารามากลั่นเป็นน้ำมันของราษฎรตำบลหนึ่ง ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาผู้นั้นเกิดขึ้นเมื่อ 74 ปีก่อน สันนิษฐานว่า ไอเดียนี้น่าจะเริ่มมาจากวิถีชีวิตของชาวบ้านที่รู้จักนำเศษยางพาราแห้งมาตั้งไฟให้มันร้อนจนละลายแล้วต้มต่อไปจนเหลว เพื่อนำน้ำยางเหลวนี้ไปทำคบไฟ หรือขี้ไต้ใช้จุดเป็นเชื้อไฟสำหรับหุงหาอาหาร หรือให้แสงสว่างได้เป็นเวลานานเหมือนน้ำมันยางจากต้นยางนา
       
       เมื่อ 74 ปีก่อน นับจากปี 2484-2488 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็น 1 ในสมรภูมิรบของสงครามโลกครั้งที่ 2 จากบันทึกเรื่องเล่าเมืองหาดใหญ่ในเว็บไซต์ www.gimyong.com ระบุว่า นายอำเภอหาดใหญ่ในขณะนั้นคือ นายประเสริฐ กาญจนดุล ซึ่งเป็นทั้งนายอำเภอหาดใหญ่ และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เขียนบันทึกไว้ว่า
       
       เมื่อครั้งเกิดสงครามครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2484 หาดใหญ่ได้รับความกระทบกระเทือนในเรื่องการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคมาก โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง ซึ่งตามปกติเคยใช้รถยนต์ หรือรถโดยสาร ถึงแม้ว่าจะมีผู้พยายามค้นคว้าหาสิ่งอื่นทดแทนสิ่งที่ขาดแคลน เพื่อช่วยตัวเองแต่ก็ไม่ผล โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนเรื่องน้ำมันเบนซิน มีชาวบ้านหลายรายได้ทำการกลั่นน้ำมันเบนซินขึ้นใช้
       
       “วันหนึ่งผมได้รับรายงานว่า ราษฎรตำบลหนึ่งถูกไฟลวกอาการสาหัส จึงได้รีบเดินทางไปช่วยเหลือระงับทุกข์ทันที ปรากฏว่า ราษฎรผู้นั้นได้กลั่นน้ำมันยางพาราโดยปราศจากความรู้ จึงทำให้ไฟลุกขึ้นไหม้ตัวเอง ในฐานที่เป็นนายอำเภอผู้ปกครองท้องที่ ก็ได้ว่ากล่าวสั่งสอนไปตามหน้าที่ แต่ในใจนั้นรู้สึกเลื่อมใสราษฎรผู้นั้นมาก ที่รู้จักคิดค้นทำน้ำมันเบนซินจากยางพารา ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยมีความรู้ในเรื่องนี้มาก่อนเลย”
       
       นายประเสริฐ เป็นคนกรุงเทพฯ เพิ่งรู้จักต้นยางพารา เมื่อมารับราชการทางภาคใต้ในครั้งนี้เอง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นายอำเภอผู้นี้ได้รับข้อคิดหลายประการ
       
       “จากมูลกรณีของเรื่องนี้ทำให้ยึดถือเป็นคติประจำใจตลอดเวลาที่รับราชการว่า ราษฎรนั้น ถึงแม้จะได้รับการศึกษาน้อย แต่จะด้อยความรู้ในบางเรื่องก็หาไม่ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อต้องการสาธิตเรื่องใดแก่ราษฎรมักจะสอบถามราษฎรเสียก่อนเสมอ เมื่อเห็นว่าราษฎรไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นจริง จึงจะสาธิตให้ราษฎรดูตามหลักวิชา”
         
       เรื่องการกลั่นน้ำมันเบนซินจากยางพารานี้ นายประเสริฐ ให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะต้องการจะช่วยแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเบนซินของประชาชนอยู่แล้ว จากบันทึกระบุว่า เมื่อกลับจากไปช่วยเหลือระงับทุกข์ให้ราษฎรแล้วเขาจึงไปหาขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ที่บ้าน
       
       “ปรารภเรื่องนี้ให้ฟังกับได้บอกท่านว่า อยากให้ท่านทดลองกลั่นน้ำมันเบนซินจากยางพาราให้ดู เพราะเห็นว่าท่านเคยทำเหมืองแร่มีความรู้ทางวิศวกรรม ทั้งยังมีหม้อน้ำใหญ่ ที่มีเครื่องวัดความร้อน อาจควบคุมการกลั่นน้ำมันเบนซินให้อย่างปลอดภัยได้ ท่านขุนนิพัทธ์ฯ ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือเราได้ปรึกษาหารือกันถึงกรรมวิธีที่จะกลั่นน้ำมันเบนซินจากยางพาราให้มีคุณภาพดี และปลอดภัย ในที่สุดก็สามารถกลั่นได้เป็นผลสำเร็จ มีคุณภาพพอใช้กับรถยนต์ทุกชนิด”
       
       นายกิตติ จิระนคร บุตรชายคนสุดท้องของขุนนิพัทธ์ฯ เป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่ขุนนิพัทธ์ฯ ทำการทดลองกลั่นน้ำมันจากยางพารา เขาเคยเล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า ขุนนิพัทธ์ฯ ได้ปรึกษากับเสมียนที่มาจากเมืองจีนชื่อ “นายยับฮือ แซ่ฮับ” (ปัจจุบันมีลูกหลานอยู่ที่บ้านทุ่งลุง) ปรากฏว่าเสมียนของขุนนิพัทธ์ฯ มีความรู้ทางเคมี มีสูตรการผลิตน้ำมันจากเมืองจีน ที่มีส่วนผสมทางเคมีหลายอย่าง เช่น ดินประสิว กำมะถัน เริ่มต้นโดยตัดก้อนยางพารามาต้มให้เดือดจนกลายเป็นไอและเกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำมันกลั่นเป็นน้ำมันเกรดต่ำ ที่มีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันก๊าด ส่วนกาก หรือตะกอนกลายเป็นยางมะตอย
       
       “เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำมันขาดแคลนมาก เวลานั้นนำมันเบนซินราคาลิตรละ 25 บาท รถยนต์ต้องดัดแปลงมาใช้ผงถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมัน รถยนต์เวลานั้นจะวิ่งไปไหนสักที จะต้องติดเตาเตรียมไฟอยู่นาน เวลาวิ่งไปก็มีควันโขมง”
       
       ขุนนิพัทธ์ฯ ได้ทดลองนำยางพารามาต้มกลั่นโดยใช้ถังเหล็กทรงกระบอกสองร้อยลิตรจุดไฟข้างใต้แล้วใส่ยางพาราไว้ในถัง 200 ลิตร ประมาณสามส่วนสี่ของถัง ด้านข้างบนสุดใช้กะทะเหล็กใส่น้ำไว้ด้านบน เป็นน้ำเย็นที่จะคอยเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ด้านข้างกระทะที่วางบนถังเหล็กสองร้อยลิตรจะใช้เศษผ้าชุบน้ำอุดแน่นไม่ให้ไอน้ำระเหยออกมา เมื่อยางพาราที่ถูกความร้อนเพราะการต้มจะมีไอระเหยขึ้นไปปะทะกับส่วนล่างของกระทะ เมื่อไอระเหยกระทบกับความเย็นจะจับตัวรวมเป็นหยดน้ำไหลไปรวมกันในที่เก็บ ลักษณะเดียวกับการกลั่นน้ำ หรือกลั่นสุรา
       
       น้ำที่หยดออกมาจากการกลั่นนี้จะมีสีเขียวเหมือนปีกแมลงทับ และเย็นกว่าปกติมาก เป็นน้ำเชื้อหัวแรกของการทำน้ำมันจากยางพารา จะนำไปเทรวมกันในถังขนาดสี่พันลิตร โดยยางพาราที่ต้มในถังสองร้อยลิตรจะแทบไม่มีเศษหลงเหลืออยู่เลย
       
       หัวเชื้อน้ำมันจำนวนสี่พันลิตรที่ได้จะถูกนำไปกลั่นอีกครั้ง การกลั่นครั้งนี้ก็เหมือนเดิมคือ หัวเชื้อที่ได้รับความร้อนจะเกิดไอระเหยไหลออกด้านบนท่อก่อนจะผ่านการควบแน่นด้วยน้ำเย็นก็จะหยดออกมาเป็นชั้นๆ ชั้นแรกคือ น้ำมันเบนซินคุณภาพเทียบเท่ากับน้ำมันเบนซิน 95 ในปัจจุบัน ชั้นต่อมา ก็เป็นน้ำมันก๊าด ถัดมาคือ น้ำมันโซลาร์ หรือดีเซล ท้ายสุดก็คือ ยางมะตอย
       
         
       นายกิตติ เล่าว่า การกลั่นน้ำมันของขุนนิพัทธ์ฯ ใช้การกะความร้อนด้วยสายตา และสังเกตจากสีและกลิ่นของน้ำมันที่ได้ น้ำมันที่ผลิตได้สามารถใช้งานได้เหมือนน้ำมันทั่วไปแต่จะมีปัญหาคือหัวนมหนู ของคาบูเรเตอร์ที่จ่ายน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้เครื่องยนต์มักเกิดปัญหาอุดตันได้ง่าย มีเขม่าจับมาก หรือสกปรกกว่าน้ำมันจากการกลั่นน้ำมันดิบแบบปัจจุบัน
       
       แต่กับเครื่องจักรกล หรือเครื่องยนต์ที่ระบบไม่สลับซับซ้อนการบำรุงรักษาค่อนข้างง่ายกว่าเครื่องจักรกล หรือเครื่องยนต์ในปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่ปัญหาหลักมากนัก ปัญหาหลักๆ คือ การไม่มีน้ำมันใช้มากกว่า
       
       “เรื่องนี้ทางกรุงเทพฯ ก็มีส่งคนมาดูการแปรรูปยางพาราเป็นน้ำมันแล้วมีการนำไปผลิตที่กรุงเทพฯ แต่อ้างว่าค้นพบเอง ศึกษาได้เอง เมื่อมีคนถามว่าผลิตจากอะไร ก็บอกเป็นความลับ”
       
       การค้นพบครั้งนั้นได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่ชาวหาดใหญ่ มีบันทึกว่า นายช่างใหญ่ของยิบอินซอย ที่รับซื้อยางพาราได้ลองผลิตน้ำมันจากยางพาราดูแต่ครูพักลักจำผิดพลาดไป ทำให้ถังที่ต้มยางพาราระเบิดโดนหน้าตาเสียโฉมไปจึงเลิกผลิตไปในที่สุด เหลือแต่ทางขุนนิพัทธ์จีนนคร ผลิตอยู่แต่เพียงเจ้าเดียวในหาดใหญ่ ขุนนิพัทธ์ฯ ได้ทดลองปรับปรุงคุณภาพเพิ่มขึ้นจนสามารถกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานได้ โดยผลิตวันละ 70-280 ปี๊บ จำหน่ายทั่วหาดใหญ่-สงขลา และเมืองชายแดนด้านมาลายู
       
       แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากยางพาราทำให้ต้องโค่นต้นยางพารากว่า 300 ไร่ เพื่อนำมาทำเป็นไม้ฟืนในการต้มยางพาราเป็นการลดต้นทุนการผลิต
       
       เรื่องการกลั่นน้ำมันจากยางพารานี้ ชมรมรวบรวมเรื่องเมืองหาดใหญ่ เคยได้ทำการทดลองผลิตน้ำมันจากยางพาราอีกครั้งโดยใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ผลการทดลองปรากฏว่า เกิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจริง และลงมือทำการทดลองการผลิตขนาดใหญ่ขึ้นที่บ้านขุนนิพัทธ์อีกครั้งหนึ่ง และได้นำผลผลิตไปทดลองใช้กับรถยนต์ที่ใช้วิ่งไป-มาอยู่ ปรากฏว่า สามารถใช้ได้ผลดีดังเช่นนำมันเบนซินทั่วๆ ไป
         
       และเมื่อไม่นานมานี้ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ จิตการค้า อาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำการศึกษาวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากขยะพลาสติกและยาง” โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่าไพโรไลซิส ซึ่งเป็นกรรมวิธีเดียวกับที่ขุนนิพัทธ์ฯ ใช้กลั่นน้ำมันจากยางพาราเมื่อ 74 ปีก่อน
       
       หลักการในการผลิตน้ำมันด้วยวิธีนี้คือ จะเผายาง หรือพลาสติกนั้นโดยไม่ใช้ออกซิเจน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมาจะได้น้ำมันที่มีคุณสมบัติเหมือน น้ำมันเตา ซึ่งทั้งน้ำมันพลาสติกและยางต่างก็เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) แต่แตกต่างกันที่ความยาวของสายโซ่ของสารประกอบยาง และพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากสารมอนอเมอร์ (Monomer) ของปิโตรเลียมแ ละปิโตรเคมี
       
       “เป็นวิธีที่หลายประเทศทำอยู่แล้ว ซึ่งบางประเทศให้ความสำคัญ และบางประเทศก็มองข้ามไปเนื่องจากไม่คุ้มทุน แต่บางประเทศอย่างไต้หวัน สามารถผลิตน้ำมันจากยางที่มีประสิทธิภาพคือได้เป็นน้ำมันเบนซินถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทเอกชนในการลงทุน” ผศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว
       
       แทบไม่น่าเชื่อว่าต้นยางพาราจะเป็นพืชสวนที่มีคุณค่ามากมายมหาศาลแฝงเร้นอยู่มากกว่าเป็นแค่น้ำยางสด ราคา 3 กิโลร้อย หรือเป็นแค่ยางแผ่นรมควันกิโลละ 60 บาท ที่กำลังล้นตลาดอยู่ในขณะนี้
       
       จากสถานการณ์วิกฤตราคายางพาราที่ทำให้เกษตรกรมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ข้าวยากหมากแพงทั้งที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม บางทีการแก้ปัญหาเรื่องยางพาราให้ลุล่วงไป นักการเมืองและข้าราชการคงต้องฟัง และเรียนรู้จากชาวบ้านให้มากขึ้นเหมือนดังที่นายประเสริฐ กาญจนดล อดีตนายอำเภอหาดใหญ่ ได้พบสัจธรรมในการเป็นนักปกครอง หลังจากลงพื้นที่ไปพบกับราษฎรตำบลหนึ่งผู้นั้นที่สามารถคิดค้นนำยางพารามากลั่นใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขาดแคลน ว่า
       
       “รู้สึกเลื่อมใสราษฎรผู้นั้นมากที่รู้จักคิดค้นทำน้ำมันเบนซินจากยางพารา ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยมีความรู้ในเรื่องนี้มาก่อนเลย เรื่องนี้ทำให้ยึดถือเป็นคติประจำใจตลอดเวลาที่รับราชการว่าราษฎรนั้นถึงแม้จะได้รับการศึกษาน้อย แต่จะด้อยความรู้ในบางเรื่องก็หาไม่”
       
       
       อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก
       http://www.csr.chula.ac.th/sufficiency_economy/research/6-research.html
       http://talung.gimyong.com/index.php?topic=10136.30
       http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=ravio&month=06-2011&date=20&group=6&gblog=58
       http://www.khlong-u-taphao.com/index.php?file=forum&obj=forum.view(cat_id=hypc_0,id=16)


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : รู้ยัง ยางพารา กลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ชาวหาดใหญ่ เคยใช้มานานแล้ว

view