สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาลปกครองสูงสุดสั่ง กฟผ. ฟื้นฟูแม่เมาะ คืนธรรมชาติเหมือนเดิม ทำม่านน้ำ 800 ม.กันฝุ่น

จากประชาชาติธุรกิจ

ชาวบ้านเฮ! ศาล ปค.สูงสุดตัดสินให้ กฟผ.สร้างม่านน้ำ 800 เมตร แก้มลพิษแม่เมาะ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีที่ นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม 318 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดมลพิษโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 11 ราย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.16 31/2553 กรณี กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ที่เป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผังโครงการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 กระทั่งก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้ผู้ฟ้องได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและทรัพย์สิน โดยที่ รมว.อุตสาหกรรม, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการทำเหมืองแร่ของ กฟผ.กลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และอธิบดี คพ. ผู้ถูกฟ้องที่ 5-6 ควบคุมมลพิษ รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจาก กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ขณะที่ผู้ถูกฟ้องที่ 8-11 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก็ไม่มีคำสั่งให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ยุติหรือระงับการกระทำดังกล่าว

ผู้ฟ้องทั้งหมดจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 11 รายเพิกถอนประทานบัตรของ กฟผ.ดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องที่ 8-11 ร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับฟื้นคืนสู่ธรรมชาติ และให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 หยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษและอธิบดี คพ. ผู้ถูกฟ้องที่ 5-6 เรียกค่าเสียหายจาก กฟผ.และอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง โดยให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ฟ้องด้วย

โดยศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาว่า กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ละเลยต่อหน้าที่ จึงให้ กฟผ.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมี, ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ ด้วยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทน รวมทั้งให้ยื่นแก้ไขมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อ 2.6 ที่กำหนดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) จากเดิมที่ให้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ไปกำจัด ให้เปลี่ยนเป็นใช้ระบบ Anaerobic Bacteria และการกำหนดพื้นที่บัฟเฟอร์โซน ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และให้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อมทุก 2 ปี โดยจะต้องมีรายงานตรวจสอบทุกผลกระทบที่เกิดขึ้น ที่เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบ และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ตรวจสอบ กำกับดูแลการประกอบกิจการ กฟผ.ให้ทำตามเงื่อนไขประทานบัตร

ขณะที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯและ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 7 ยื่นอุทธรณ์คดี

โดยศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 รื้อม่านน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นมาตรการป้องกันฝุ่นละอองในบรรยากาศที่ให้มีความยาว 800 เมตร บริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ทิ้งดินกับบ้านหัวฝายออก และได้ทำการปลูกต้นสนประดิพัทธ์เป็นแนวกำบังแทน โดยยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 จากการที่มีแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่

เช่นเดียวกับการที่ กฟผ.ไม่ดำเนินการอพยพราษฎรบ้านห้วยคิงทั้งหมดออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร และการไม่จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาการอพยพที่เป็นการกำหนดมาตรการป้องกันโดย สผ. จึงถือว่า กฟผ.ยังปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามมาตรการ รวมทั้งการที่ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ไม่ได้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน และไม่ขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำ และการไม่วางแผนจุดปล่อยดินตามฤดูกาล และการไม่กำหนดพื้นที่บัฟเฟอร์โซนรวมทั้งบังเกอร์ ก็เป็นการละเลยต่อหน้าที่

อย่างไรก็ดี ในการเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ได้ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงบางข้อให้ถูกต้องตรงกับที่ กฟผ.ได้เปลี่ยนวิธีการทำเหมืองจากเดิมที่กำหนดไว้ โดยได้รับความเห็นชอบจาก สผ.แล้ว เพียงแต่การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯและ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ประกอบกับการใช้อำนาจเพิกถอนประทานบัตรย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนมากกว่าผลดีที่จะได้รับ

ดังนั้นการที่ รมว.อุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ออกคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรจึงยังไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ แต่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ได้ทราบถึงการกระทำของ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 แล้วไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 138 เป็นการละเลยต่อหน้าที่

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยสั่งให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ดำเนินการดังนี้ 1.ติดตั้งม่านน้ำ ความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้ เพื่อลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ 2.ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกันพิจารณาการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยให้อพยพออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร 3.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ ด้วยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ.นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นขุมเหมืองไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ 4.ให้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน ขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำ 5.ให้ทำการขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน และให้วางแผนจุดปล่อยดินโดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ, ให้กำหนดพื้นที่บัฟเฟอร์โซน ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็นบังเกอร์ โดยให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของบังเกอร์ ขณะที่การปล่อยดินจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่ต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตร หาก กฟผ.ไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.แร่ฯโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯและ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 7 ดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีต่อคำพิพากษาของศาลครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านได้รับชัยชนะอีกก้าว หลังจากต่อสู้เรียกร้องมานาน อยากให้ กฟผ.หันหน้าเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง อย่าพยายามเลี่ยงปัญหาที่ก่อขึ้น ขอให้ กฟผ.ยอมรับปัญหาต่างๆ ไว้เป็นบทเรียนแล้วเริ่มต้นใหม่กับชาวบ้าน เพื่อให้ทั้ง กฟผ. โรงไฟฟ้า เหมืองลิกไนต์ และชาวบ้านอยู่ร่วมกันได้ต่อไป "แม้ศาลไม่สั่งให้ กฟผ.จ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือ ชาวบ้านก็ยอมรับ ถือว่าภาพรวมคำตัดสินของศาลเป็นที่น่ายินดี เป็นข่าวดีรับปี 2558 ส่วนเงินเยียวยา ยอมรับว่าชาวบ้านไม่ได้ยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าคดีนี้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และสมควรได้รับการเยียวยาจริง ซึ่ง กฟผ.ควรรู้แก่ใจว่าทำผิดเงื่อนไขต่างๆ จริง จนกระทบชาวบ้าน ขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ อย่างถูกต้อง เป็นธรรม ไม่มีนอก มีใน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน และกระทบสิ่งแวดล้อมอีก" นางมะลิวรรณกล่าว




ที่มา : นสพ.มติชน


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ศาลปกครองสูงสุด กฟผ. ฟื้นฟู แม่เมาะ คืนธรรมชาติ เหมือนเดิม ทำม่านน้ำ กันฝุ่น

view