จาก โพสต์ทูเดย์
โดย..ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
หมายเหตุ : การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ได้มีการพิจารณาข้อซักถามของสมาชิกสนช.เพื่อซักถามนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบในคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาไม่ระงับยับยั้งความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 11 ข้อ โดยกรรมการป.ป.ช.ได้ตอบข้อซักถาม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
1.ป.ป.ช.มีการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวอย่างไรบ้าง?
ป.ป.ช.ให้ความสนใจกับโครงการระบายพืชผลทางการเกษตรทุกชนิด ไม่ใช่เฉพาะแค่ข้าวอย่างเดียว ตลอดเวลา 10 ปี เราตรวจสอบทุกรัฐบาล ไม่ได้เจาะจงตรวจสอบเฉพาะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การรับจำนำข้าวในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีปัญหารุนแรงมาก คือ มีการทุจริต เราเห็นว่านโยบายของรัฐบาลแม้จะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์ แต่เมื่อมันเปิดช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต เราก็ได้ขอให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอได้ดำเนินการวิจัยว่าการแทรกแซงพืชผลทางการเกษตรอย่างมันเส้นนอกเหนือจากโครงการรับจำนำข้าว กระบวนการแทรกแซงราคราพืชผลทางการเกษตรทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด เกิดความเสียหายจำนวนมาก
จากนั้นเราได้มีมติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 ที่ให้อำนาจป.ป.ช.เสนอข้อเสนอแนะได้เพื่อให้คิดใหม่ทำใหม่ ที่ให้ดำเนินการประกันราคาข้าวแทน เพื่อไม่ให้เอาทุกเมล็ดมาอยู่ในโรงสีป้องกันการทุจริตโดยเฉพาะการสวมสิทธิ์ ซึ่งในรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์เราก็เสนอความเห็นไปเหมือนกันว่าขออย่าดำเนินการนโยบายรับจำนำข้าว รัฐบาลในขณะนั้นก็ได้ปรับและเอาไปใช้
อย่างไรก็ตาม แม้เป็นนโยบายการประกัน แต่ก็เกิดการทุจริตในเชิงนโยบายเช่นกัน ซึ่งก็อยู่ในระหว่างการไต่สวนของป.ป.ช. เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ดำเนินการสองมาตรฐานแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่ยังล่าช้าเพราะมีปัญหาในการส่งเอกสาร แต่ในครั้งล่าสุดเราได้ดำเนินขบวนการ เป็นความผิดเกี่ยวกับการฮั้วตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นคดีที่มีความแตกต่างกันจากคดีจำนำข้าว ซึ่งการประกันราคาข้าวไม่ได้ใช้ระบบจีทูจี แต่มีปัญหาในเรื่องฮั้วฮั้ว และกำลังจะแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้องเร็วๆนี้
สำหรับกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อเราพบปัญหาและการทุจริต เราเลยมีมาตรการโดยแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบตามมาตรา 19 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 เพื่อขอให้เลิกโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูง ซึ่งร้ายแรงกว่ารัฐบาลทักษิณ เพราะการรับจำนำทั้งหมดในราคาสูงจะทำให้ชาวนาไม่ยอมไถ่ถอนข้าวคืน แบบนี้ไม่เรียกว่าการรับจำนำ และเมื่อป.ป.ช.ได้แจ้งไปแล้ว ทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2555 มีหนังสือของคณะรัฐมนตรียืนยันกลับมาว่านโยบายดังกล่าวมีประโยชน์กับเกษตรกร และมอบหมายให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สั่งการหน่วยงานตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ต่อมาป.ป.ช.ยังได้เสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สองว่าควรยกเลิกโครงการดังกล่าว เพื่อป้องกันการทุจริต ภายหลังมีผลการศึกษาวิจัยออกมา
สรุปแล้วเราเตือนไปสองครั้งแต่รัฐบาลนิ่งเฉยพร้อมกับยืนยันจะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป และเมื่อมีการร้องเรียนในกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ในคดีที่เกี่ยวกับการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทุจริตในทุกระดับชั้นทั่วประเทศ กระบวนการเหล่านี้เราเพิ่งสรุปหลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้พ้นสภาพ ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนเตรียมชี้มูลความผิดเบื้องต้น 15 คนในตำแหน่งระดับสูง รวมไปถึงบริษัทค้าข้าวกว่า 100 บริษัท เราจะเห็นได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลร้ายรุนแรงอย่างที่เราได้คาดการณ์ไว้ มันถึงเวลาสิ้นสุดของโครงการจริง เพราะเกิดความเสียหายที่นับค่าไม่ได้
2.กรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดตามพรบ.การบริหารราชการแผ่นดิน ป.ป.ช.ทราบถึงการทุจริตเมื่อไหร และมีหลักฐานอะไรบ้าง และได้ดำเนินการอย่างไร?
เราเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการกล่าวโทษต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์และร้องขอถอดถอนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต่อเมื่อไต่สวนคดีคุณบุญทรงไประยะหนึ่ง พบว่าเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว ป.ป.ช.จึงได้ดำเนินการตรวจสอบน.ส.ยิ่งลักษณ์ในข้อกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และตอนนี้แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วแต่ก็ยังมีโทษทางการเมืองอยู่ คือ 5 ปี เราจึงแยกสำนวนการถอดถอนส่งมาให้สนช.ก่อน
ขณะเดียวกัน เรากำลังดำเนินการไต่สวนทางอาญาอยู่ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่วมกันของอัยการสูงสุดและป.ป.ช. โดยมีข้อสรุปว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งอัยการสูงสุดเตรียมพิจารณาฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเร็วๆนี้ และในวันที่ 20 ม.ค.ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดในคดีโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี แสดงให้เห็นว่าป.ป.ช.ได้ดำเนินการตรวจสอบทุกด้านเพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ผล
3.น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงว่าได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วจึงไม่เข้าองค์ประกอบที่จะถูกถอดถอนตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 ดังนั้น เหตุใดป.ป.ช.จึงยังคงชี้มูลความผิดและส่งให้สนช.ถอดถอนต่อไป?
แม้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้วตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่ใช่เป็นการให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะการพ้นจากตำแหน่ง คือ การถอดถอนบุคคล ที่ต้องมีโทษตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีหากถูกถอดถอน
นอกจากนี้ การไต่สวนในเรื่องของการถอดถอนบุคคลของป.ป.ช.ในอดีต ปรากฏว่าไม่เคยสำเร็จเลย เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง แต่กระนั้นขอกราบเรียนว่าในกระบวนการถอดถอนนั้นสว.ได้มีมติยืนยันแน่ชัดว่าแม้บุคคลจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่วุฒิสภายังมีอำนาจถอดถอนอยู่ ทำให้ป.ป.ช.ดำเนินการเช่นนี้เรื่อยมา เพราะที่ผ่านมาผู้ที่ถูกไต่สวนเรื่องถอดถอนล้วนไม่อยู่ในตำแหน่งในขณะนั้นแล้วทั้งสิ้น ซึ่งวุฒิสภาไม่ต้องการให้เกิดการเลี่ยงบาลี ต่อมาศาลปกครองก็ได้วินิจฉัยในเรื่องการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นที่พ้นจากตำแหน่งไปก่อนว่า การให้พ้นจากตำแหน่งอันเนื่องมาจากการถอดถอนมีเจตนารมณ์ที่ต้องการแสดงถึงความผิดของบุคคลคนนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น ดังนั้น ป.ป.ช.จึงได้ยึดแนวทางในการทำงาน
4.เหตุใดป.ป.ช.ไม่ยอมรับข้อมูลเพิ่มเติมและปฏิเสธการสืบพยานที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เสนอ ป.ป.ช.มีหลักฐานแสดงหรือไม่ว่าได้ให้โอกาสกับน.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างเป็นธรรม ?
ป.ป.ช.ไม่เคยปฏิเสธข้อมูลหลักฐานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา เราได้แจ้งสิทธิให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีอะไรบ้าง โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้สิทธิทีได้รับมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น การแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งป.ป.ช.ก็รับเอาไว้ในสำนวน รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ตัวแทนของผู้ถูกกล่าวหามาตรวจเอกสารหลักฐาน เพื่อให้เกิดการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ป.ป.ช.ไม่เคยอนุญาตมาก่อน เพราะตามหลักแล้วผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเดินทางมาเอง
เรื่องตัดพยานของผู้ถูกกล่าว่า ขอชี้แจงว่ากระบวนการของป.ป.ช.ก็เป็นไปตามกระบวนการของศาล คือ ให้โอกาสอย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าใครส่งอะไรแล้วจะต้องรับไว้ทั้งหมด เช่น กระบวนการไต่สวนพยานของศาลก็ไม่ได้ดำเนินการทั้งหมด เพราะถ้าผู้ถูกกล่าวหายื่นมาพยานมาเป็นพันปากและขอให้สืบพยานทั้งหมด แบบนี้สืบกี่ชาติถึงจะหมด ดังนั้น การพิจารณาไต่สวนจะต้องดูว่าพยานคนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่
เช่น การไม่ไต่สวนนายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานที่ปรึกษาและจัดทำนโยบายรับจำนำข้าวให้แก่พรรคเพื่อไทยในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพยานของผู้ถูกร้อง เพราะป.ป.ช.เห็นว่านายโอฬารไม่ได้มีอำนาจหน้าที่หรือเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา กล่าวคือ เป็นที่ปรึกษาในชั้นของพรรค ไม่เกี่ยวอะไรกับนโยบาย หรือ จะถือว่าพรรคมีความสำคัญสูงสุดเหนือรัฐบาล ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงอาจก่อให้เกิดความเสียหาแก่ประเทศยิ่งกว่าอีกนะครับ และทำให้มองเห็นว่าพรรคพูดอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น หรือเหตุที่เลิกโครงการไม่ได้เพราะพรรคหรือเปล่า แต่สุดท้ายท่านก็ยื่นข้อมูลเข้ามาเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2557 ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งป.ป.ช.ก็รับเอาไว้อยู่ในสำนวน
5.การดำเนินการของป.ป.ช.ในการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทางป.ป.ช.ดำเนินการโดยไม่เป็นธรรมและใช้เวลาสั้นและเร่งรีบหรือไม่ ?
กระบวนการไต่สวนของป.ป.ช.ถือว่าได้ใช้ระยะเวลาพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือ คดีนี้เป็นคดีที่สำคัญ เป็นความเป็นความตายของประเทศ แต่เราก็ไม่ได้เร่งรับ เร่งรัด อย่างที่น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่าป.ป.ช.ใช้เวลาเพียง 21 วัน ดังนั้น จึงขอชี้แจงว่าป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุไต่สวนคุณบุญทรงในคดีทุจริตการระบายข้าวมาก่อน ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้เป็นผู้กำหนดนโยบาย จึงเป็นเหตุสงสัยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้รายงานให้คณะกรรมการป.ป.ช.และต่อมาป.ป.ช.ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยรวมไว้กับคดีการถอดถอน ซึ่งรวมเวลาการไต่สวนน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วป.ป.ช.ใช้เวลาไป 1ปี 10 เดือน และเราให้โอกาสอย่างมาก แม้เวลานั้นจะมีการก่อความรุนแรงกับป.ป.ช.ก็ตาม
6.ความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวอยู่ในส่วนบ้าง และมีผลกระทบต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศอย่างไร ?
หัวหน้ารัฐบาลได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติในส่วนรวม โดยเฉพาะสร้างความเสียหายให้กับระบบการเงินการคลังของประเทศ กล่าวคือ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ
โดยคณะอนุกรรมการฯได้จัดทำรายงานปิดบัญชีและให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบในฐานะประธานกขช.จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 ผลการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 พ.ค. 2555 มีผลขาดทุนเบื้องต้น 32,301 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ผลการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 ม.ค.2556 มีผลขาดทุนรวม 220,968 ล้านบาท ครั้งที่ 3 ผลการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 พ.ค.2556 มีผลขาดทุนสะสมจำนวน 332,372 ล้านบาท หลังจากนั้นในปัจจุบันได้มีการแถลงครั้งที่ 4 ผลการปิดบัญชี ณ วันที่ 22 พ.ค.2557 มีผลขาดทุนสะสม 5.18 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าความเสียหายเป็นตัวเงินมันมหาศาลจริงๆ นี่ยังไม่นับความเสียหายอันจะเกิดจากการขายข้าวขาดทุนอีก
ความเสียหายต่อการเงินการคลังต่อประเทศนั้นเราได้ความจากคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลังว่าระดับหนี้สาธารณะรวมของประเทศหรือจีดีพี มีสถานะ ณ วันที่ 31 ม.ค.2556 อยู่ที่ 44.09% ซึ่งไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ 60% แต่จากการไต่สวนได้ความว่าคณะรัฐมนตรีได้ตั้งวงเงินดำเนินโครงการจำนวน 5 แสนล้านบาท โดยใช้เงินสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือธ.ก.ส.จำนวน 9 หมื่นล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงินจำนวน 4.1 แสนล้านบาท โดยธ.ก.ส.เป็นผู้กู้และกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำ และเงินที่ได้จากการระบายมาเป็นเงินหมุนเวียนนั้นเงินกู้ดังกล่าวมีภาระดอกเบี้ย เมื่อโครงการมีผลขาดทุนรัฐบาลก็ต้องตั้งงบประมาณไปชำระหนี้ดังกล่าวด้วย
จากการไต่สวนรองปลัดกระทรวงการคลังในฐานประธานคณะอนุกรรมการฯพบว่าการที่รัฐบาลมีภาระหนี้จากโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณไปชำระหนี้ ทำให้เงินที่จะไปบริหารงานคลังลดลง และจากการไต่สวนผู้แทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ได้ให้การว่าการที่โครงการมีผลขาดทุนจำนวนมาก จึงเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน และการที่รัฐบาลระบายข้าวล่าช้าทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนมารับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตต่อไป จนต้องกู้เงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้น อันก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการคลังของประเทศ
จึงอาจกล่าวได้ว่าแม้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศต่อจีดีพีจะไม่เกินเพดานก็ตาม แต่โครงการที่ก่อให้เกิดภาระขาดทุนจำนวนมากก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการคลังของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ เราจะต้องแบกรับภาระหนี้สินถึงลูกถึงหลาน อันเนื่องมาจากโครงการนี้อย่างมหาศาล ยังไม่มีโครงการใดๆเลยที่ปรากฏและกระทำให้เกิดขึ้น
7.การถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ นอกเหนือที่ต้องถูกถอดถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีแล้วยังมีความผิดตามกฎหมายอื่นอีกหรือไม่?
ในสภาแห่งนี้คงยุติแค่การถอดถอน แต่เราได้ไต่สวนกระบวนการทางอาญาควบคู่ไปด้วยและเราได้ส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุดแล้ว โดยกล่าวหาว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และคิดว่าน่าจะทราบผลเร็วๆนี้เพื่อส่งไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
8.ตามที่สำนักงานป.ป.ช.มีหนังสือ 003/0118 ลงวันที่ 7 ต.ค.2554 ยืนยันข้อเสนอแนะของป.ป.ช.ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตจากการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยากขอให้นำเสนอข้อมูลความเสียหายจากการประกันราคาข้าวมาเปรียบเทียบกับจำนำข้าวให้ชัดเจน ?
โครงการรับจำนำข้าวเป็นการเอาข้าวเปลือกทั้งหมดมาเก็บไว้ แต่การประกันราคาไม่ได้นำข้าวมาเก็บไว้ เราได้ไต่สวนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการประกันราคาข้าวได้ความว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดราคาไว้ที่ 1หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งชาวนาบอกว่าไม่ได้เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดที่มีการซื้อขายข้าวกันตามปกติ นอกจากนี้ ในหนึ่งสัปดาห์จะมีการตรวจสอบราคาข้าวในตลาดว่าอยู่ที่ราคาเท่าไหร และรัฐบาลจะชดเชยให้จนเต็มจำนวน 1 หมื่นบาทที่กำหนดไว้
สำหรับจำนำข้าวของรัฐบาลผู้ถูกกล่าวหา แม้จะกำหนดราคารับจำนำไว้ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท แต่ต้องมีความชื้นไม่เกิน 15% ถ้าความชื้นเพิ่มขึ้น 1% ชาวนาจะได้รับเงินน้อยลง 200 บาท ซึ่งโดยปกติข้าวที่ชาวนาผลิตได้จะมีอยู่ความชื้นอยู่ที่ 25% ดังนั้น ชาวนาย่อมได้รับเงินหรือไม่ขึ้นอยู่กับความชื้นของข้าว โดยไม่ได้คำนึงราคาข้าวตามกลไกราคาตลาดแต่อย่างใด การกำหนดราคาจำนำข้าวไว้สูงมากเกินต้นทุน ทำให้ต้นการทำนาของชาวนาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่านา ค่าแรง ค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น
9.ป.ป.ช.ได้ทำความเข้าใจกับข้อเสนอแนะชัดเจนหรือไม่ว่าข้อเสนอที่ป.ป.ช.เสนอไปนั้นจะสามารถรัฐบาลนำไปปฏิบัติได้จริง ?
ป.ป.ช.ได้ทำข้อเสนอแนะไปว่าการประกันราคาข้าวจะก่อให้เกิดประโยชน์และความต่อเนื่อง เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการดำเนินการมาก่อนแล้ว จะทำให้การดำเนินนโยบายในทางปฏิบัติมีความราบรื่นด้วยซ้ำไปและไม่ใช่เรื่องยุ่งยากที่รัฐบาลของผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกจะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป โดยรัฐบาลบอกว่าได้ดูแลทุกขั้นตอนแล้ว และให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นคนดูแลการด้านปราบปรามการทุจริต ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่เคยมีการจับทุจริตได้หรือ โดยเฉพาะการเอาข้าวสวมสิทธิ เช่น ข้าวที่มาจากกัมพูชา ลาว พม่า และไม่มีการเอาผิดกับการระบายข้าวจีทูจีที่ไม่เป็นความเป็นจริง ซึ่งจากการตรวจสอบของเรากลับพบการทุจริตมากมาย
การระบายข้าวด้วยวิธีการจำนำข้าวทุกเมล็ด เป็นการทำให้ข้าวทุกเมล็ดมาอยู่ในมือของรัฐบาล เท่ากับว่ารัฐบาลเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในการดูแลข้าวของประเทศทั้งหมด พ่อค้าที่จะส่งออกข้าวก็ต้องมาขอร้องด้วยกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งจะปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวนการระบายข้าวแบบจีทูจี เขาพูดด้วยซ้ำไปว่าเขากระทำกับเราเหมือนกับทาส เพราะไม่ใช่เป็นการแลกเปลี่ยนตามปกติ เพราะจะต้องมีการจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้กับผู้มีอำนาจต่างๆ
10. ป.ป.ช.จะใช้มาตรการใดในการพิจารณาและสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมกับผู้บริหารทางการเมืองในอนาคต?
การจะแก้ไขปัญหาทุจริตจะต้องยับยั้งตั้งแต่ต้น จะปล่อยให้เป็นกระบวนการไม่ได้ ต้องทำงานทุกวันหยุดไม่ได้ ดังนั้น ต้องแก้ไขด้วยการสร้างระบบคุณธรรมจริยธรรม กลั่นกรองผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องมีคุณธรรมจริยธรรมที่สูงกว่าคนในระดับปกติ ไม่ใช่ใครก็มาเป็นได้และทำอะไรโดยไม่จำเป็นสนใจใครและไม่เคารพความคิดเห็นของคนอื่น แบบนี้เรียกว่าขาดความเกรงกลัวและความละอายต่อบาป
11.น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงว่าประเทศอยู่ในช่วงการปฏิรูปประเทศและการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งการถอดถอนจะเป็นอุปสรรคต่อเรื่องดังกล่าว ทางป.ป.ช.มีความคิดเห็นอย่างไร?
กระบวนการในการปรองดองกับกระบวนการในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือมาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าเอามารวมกันก็จะทำให้กลไกการสร้างความปรองดองผิดเพี้ยนไป
หลักการปรองดองในชั้นศาล คือ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้พอใจทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่กระบวนการหยุดยั้งข้อพิพาท แต่ในกระบวนการในทางการเมืองและการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วเป็นกระบวนการที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่าบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้นกระทำผิดหรือถูก ต้องแยกแยะว่าอะไรผิดอะไรถูก ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ถ้าไม่ยึดหลักนี้ก็เท่ากับว่าได้ทำลายหลักการเบื้องต้นที่ต้องทำให้ข้อเท็จจริงกระจ่างชัด
ผมถามว่ากระบวนการที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ จะชดใช้ได้หรือไม่ในชาตินี้ ทั้งชาติก็ชดใช้ไม่ได้ เพราะได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวไทยทั้งประเทศทุกคน 65ล้านคนล้วนแล้วแต่ส่วนเฉลี่ยในความเสียหายเหล่านี้ทั้งหมด เพราะเป็นการเอาภาษีของประชาชนไปละเลงและไปทำให้เกิดผลประโยชน์ส่วนตัว กรณีอย่างนี้จะมาให้ป.ป.ช.ยุติ ผมขอกราบเรียนว่าเป็นกระบวนการปรองดองที่ผิดวิธี เพราะในทางกลับกันเราควรทำความจริงให้กระจ่างชัดเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าประเทศกำลังจะเริ่มต้นใหม่ด้วยระบบที่ดีงาม โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง แนวทางนี้คิดว่าจะช่วยทัศนคติที่ถูกต้องให้กับประชาชนในอนาคตอย่างยั่งยืน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit