สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถึงเวลาจัดการจริงจัง-ขยะอิเล็กทรอนิกส์-ล้นเมือง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย… นรินทร์ ใจหวัง

ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ผู้คนจำนวนไม่น้อยไล่ตามเทคโนโลยีกันมากขึ้น ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือล้วนมีอายุการใช้งานน้อยลง ต่างคนต่างเปลี่ยนมาใช้ของใหม่ทิ้งของเก่าให้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย

แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเรานั้นกลับเป็นเรื่องที่น่ากังวลยิ่งกว่า

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กำจัดผิดเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2556 ระบุว่า จากปริมาณขยะทั้งหมด 26.7 ล้านตันทั่วประเทศ กว่า 5 % เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคนไทยทิ้งขยะประเภทนี้คนละ  1.5กิโลกรัมต่อคนต่อปี จากประเมินซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 8 ประเภท คือ โทรทัศน์ จำนวน 101,196 ตันต่อปี  เครื่องปรับอากาศ 78,121 ตันต่อปี ตู้เย็น 63,920 ตันต่อปี เครื่องซักผ้า 58,930 ตันต่อปี คอมพิวเตอร์ 53,958  เครื่องเล่น ดีวิดี เครื่องเสียง 17,458 ตันต่อปี โทรศัพท์ 1,620 ตัน และกล้องดิจิตอล 184 ตันต่อปี

ธารา บัวคำศรี  ผู้อำนวยการฝ่ายการรณรงค์กรีนพีช และผู้ประสานงานกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยว่า สภาพการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยในขณะนี้ มีเพียงหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบขยะทั้งหมดรวมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากแหล่งต่างๆด้วย โดยนำซากที่เหลือจากการชำแหละของพ่อค้าของเก่าที่คัดเอาแต่ส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้ออกขาย แล้วทิ้งซากที่ไร้ประโยชน์มาให้หน่วยงานท้องถิ่นทำลาย   ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีฝังกลบรวมกับขยะทั่วไป หรือนำไปเผา  ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่นำไปส่งต่อให้โรงงานรีไซเคิล

“ยกตัวอย่างหมู่บ้านหนึ่งที่ขอนแก่น  มีชุมชนที่รับเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแยกชิ้นส่วนออก เพื่อหลอมเอาสิ่งที่นำไปขายได้ เช่น ทองแดง อลูมิเนียม  โลหะ ทองคำ บางอย่างต้องใช้ความร้อนเพื่อหลอมละลายเอาสิ่งที่มีค่าออกมา ความร้อนนี่เองที่ทำให้สารอันตราย เช่น ปรอท ตะกั่วออกมาด้วย โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ปนเปื้อนลงในดิน ลงสู่น้ำบาดาลทำให้สิ่งแวดล้อมน่าเป็นห่วง”

สอดคล้องกับเจ้าของร้านค้าของเก่ารายหนึ่งในจ.สมุทรปราการ บอกว่า ปกติร้านรับซื้อของเก่าแทบไม่มีใครได้รับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นทีวี ตู้เย็น แอร์ พัดลม หรือแม้แต่มือถือเก่าเลย เพราะจะมีรถซาเล้งหรือร้านที่รับซื้ออุปกรณ์เหล่านี้โดยเฉพาะกว้านซื้อไปจนหมด เพื่อนำไปซ่อมขายเป็นของมือสอง หรือไม่ก็แยกแผงวงจรออกมาสกัดเอาทองแดง อลูมิเนียม ออกมาหลอมส่งขายตามโรงงานที่รับซื้ออีกทอดหนึ่ง

ธาราบอกว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์กระจัดกระจาย ส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน และภาครัฐไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงของขยะว่ามีฐานผลิตที่ใดบ้าง หากกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะสำเร็จ และออกมาบังคับใช้ จะทำให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการนำซากผลิตภัณฑ์ของตนเองกลับไปรีไซเคิล

"ปัจจุบัน เราใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมเป็นแผนแม่บทการจัดการขยะในประเทศไทย โดยมีกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานเป็นเจ้าภาพ แปลงแผนไปสู่จังหวัด และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแต่ละที่ก็จะใช้เทศบัญญัติของตัวเองในการจัดการ ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในแง่ที่มันกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น  เราจะเห็นได้ว่าการจัดการขยะประเภทนี้เป็นไปอย่างสะเปะสะปะ แยกไม่ออกกับการจัดการปัญหาขยะทั่วไป  รวมทั้งภาคอุสาหกรรมเองก็ยังไม่ค่อยอินกับเรื่องนี้ เพราะมันยุ่งยาก และทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น"

พ.ร.บ.การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ …อัศวินขี่ม้าขาว?

แม้จะยังไม่ออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่พ.ร.บ.การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ดูจะเป็นความหวังในการแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเราให้ดีขึ้น

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิชาการด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้พ.ร.บ.การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของกรมควบคุมมลพิษที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเร็วๆนี้

หลักการของพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการใช้หลักการเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิต ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ผู้ผลิตต้องเรียกคืน รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองที่กลายเป็นขยะแล้ว นำไปรีไซเคิล  นอกจากผู้ผลิตแล้ว ภาคส่วนต่างๆก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ตั้งแต่ผู้บริโภคต้องแยกขยะเหล่านี้ออกจากขยะอื่นๆ  และนำส่งคืนกับระบบที่รัฐจัดไว้ให้  หรือผู้ผลิตจะประสานกับร้านค้าปลีกให้ตั้งกล่องรับไว้  เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกส่งคืน  ไม่ให้มีการถอดแยกแบบเดิมเกิดขึ้น 

ต่อจากนี้ผู้ผลิตเป็นตัวหลัก ซึ่งเมื่อเราหารือกับท้องถิ่นเขาก็เห็นด้วย ด้านประชาชนทั่วไปเองก็ต้องทำหน้าที่คัดแยกขยะให้ถูกต้อง  ตรงนี้สำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะมีการจัดการดีแค่ไหน จะนำขยะไปแปลงเป็นไฟฟ้าก็ล้มเหลว ถ้าประชาชนไม่ช่วยกันแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์จากขยะทั่วไปตั้งแต่ต้น"

จุฬารักษ์โลก…จุดเล็กๆที่คิดจะเปลี่ยนโลก

"โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก"ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการของเสียอันตราย เป็นอีกหนึ่งโครงการที่พยายามดึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทโทรศัพท์มือถือกลับคืนสู่ผู้ผลิต ภายใต้การร่วมมือของบริษัทไมโครซอฟท์ เพื่อนำขยะเหล่านี้กลับไปรีไซเคิล ณ บริษัทต้นทาง

ผศ.ดร.มนัสกร ราชากรกิจ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศฯ และผู้จัดการการโครงการจุฬารักษ์โลก เล่าว่าโครงการนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 4 ปี  ซึ่งจุฬาฯ ร่วมมือกับบริษัทไมโครซอฟท์ (โนเกีย) ในขณะนั้นนั้น  เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม โดยรณรงค์ให้ประชาชนนำโทรศัพท์มือถือทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ที่เสีย หรือไม่ใช้แล้ว มาส่งคืน เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ แทนที่จะต้องไปขุดเหมือง เพื่อสกัดแร่ออกมาใช้ใหม่ เพราะแร่ที่มีอยู่ในแผงวงจรโทรศัพท์มือถือค่อนข้างจะบริสุทธิ์อยู่แล้ว  

“ผลตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากนิสิตของเราเองในคณะต่างๆ  ปีแรกๆจัดโครงการทูตโนเกียให้แต่ละคณะแข่งกันว่าคณะไหนยอดโทรศัพท์สูงสุดก็จะได้รับรางวัล ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่เรามองว่าโครงการควรออกไปข้างนอกบ้าง จึงเริ่มจัดแคมเปญตามรถไฟฟ้าจนมีสื่อมวลชนให้ความสนใจ ตึกใหญ่ๆอย่าง เทอร์มินัล 21  เมกาบางนา ก็มาขอกล่องไปตั้ง ถือว่าดีขึ้นมากเลยครับ”

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า 60 % ของคนไทยมีโทรศัพท์มือถือมากกว่าหนึ่งเครื่อง ดังนั้นโทรศัพท์มือถือจึงถือเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีผลกระทบมากกับสิ่งแวดล้อมมาก

ผศ.ดร.มนัสกร บอกว่าโครงการที่รับมือถือจากจุฬารักษ์โลกไปควรมีกระบวนการจัดการอย่างถูกต้อง รีไซเคิลได้อย่างถูกวิธี และต้องมีการจัดการที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

"อย่างค่ายมือถือต่างๆ ก็มีการทำโครงการรับคืนโทรศัพท์ที่ไม่ใช้แล้ว แต่เมื่อเราสังเกตดูพบว่ามันยังไม่ครบวงจรซะทีเดี่ยว  ซึ่งโครงการเราจะรวบรวมมือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อนำส่งทั้งหมดไปยังสิงคโปร์ เพราะประเทศไทยเรายังไม่พร้อมที่รีไซเคิลอุปกรณ์เหล่านี้ได้

ขณะเดียวกันยังคงมีหลุดไปตามจังหวัดต่างๆที่เป็นชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบผิดๆ เช่น กาฬสิน บุรีรัมย์ เขาเผาสายไฟเพื่อเอาชนวนออกมา ทำกันตรงนาข้าวนั่นแหละ สารมันปนเปื้อนไปกับข้าว

ผมแนะนำให้เก็บโทรศัพท์ไว้แล้วนำมาบริจาคกับโครงการจุฬารักษ์โลก จำนวนเครื่องโทรศัพท์ไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินที่ทางไมโครซอฟท์สนับสนุนโครงการแน่นอน แต่มันจะกลายเป็นเงินสมทบแล้วนำไปปลูกป่าชายเลนที่อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เรามั่นใจแบบนี้เพราะเราเชื่อว่าเราสามารถทำอย่างครบวงจร และนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี 

ประชาชนสามารถนำไปอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ หรือโทรศัพท์มือถือมาหย่อนที่กล่องของโครงการ ตามห้างสรรพสินค้าที่ให้การสนับสนุน จะนำมาบริจาคตอนที่เราไปออกงานตามสถานที่ต่างๆ หรือไม่ก็ส่งไปรษณีย์เข้ามาที่โครงการได้เช่นกัน (สามารถเข้าไปดูรายละเอียดสถานที่ติดตั้งกล่องรับบริจาคและที่อยู่เพื่อส่งไปรษณีย์ได้ที่ www.hsm.chula.ac.th) ในอนาคตอาจจะมีโครงการจะรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วย"

แม้จะมีการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ดีแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องใส่ใจ และเปิดใจกับการคัดแยกขยะอย่างจริงจังกันสักที


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ถึงเวลา จัดการจริงจัง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ล้นเมือง

view