สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จัดการขยะรีไซเคิล สร้างมูลค่าเพิ่มให้ชุมชน

จากประชาชาติธุรกิจ

ถึงวันนี้ปัญหาการจัดการขยะถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ เนื่องจากปริมาณขยะนับวันยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยะบางส่วนยังไม่สามารถรวบรวมเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง

ด้วยเหตุนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ TIPMSE ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านส่งเสริมและสร้างสรรรค์สังคมรีไซเคิล จึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) ภายใต้การสนับสนุนจาก 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมควบคุมมลพิษ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น,กรุงเทพมหานคร

รวมถึงสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการศึกษาวิจัยในโครงการ "การศึกษาการพัฒนาระบบการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับประเทศไทย (ระยะที่ 1)" เพื่อศึกษาปริมาณ องค์ประกอบขยะ อัตรารีไซเคิล และนำเสนอแนวทางนโยบายการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับประเทศไทย

ในการศึกษาครั้งนี้ "รศ.ดร.กำพล รุจิวิชญ์" หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทมีอัตราการรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 50% โดยอัตรารีไซเคิลประเภทเหล็กและอะลูมิเนียมสูงเกินกว่า 99% ส่วนแก้วและกระดาษอยู่ในระดับ 75% ประเภทพลาสติกและกล่องเครื่องดื่มอยู่ในระดับ 50%

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอัตราการนำมาใช้ใหม่ยังมีข้อบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรงว่า ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีอัตราการรีไซเคิลที่มาจากขยะมากน้อยแค่ไหน เพราะขยะที่นำมาศึกษาได้รวมการบริโภคในเชิงสินค้าคงทนรวมอยู่ด้วย



"ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์จำพวกเหล็กและอะลูมิเนียมมีการบริโภคในเชิงสินค้าคงทนสูง เนื่องจากวัสดุหลักดังกล่าวเป็นส่วนประกอบโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องมืออุปกรณ์ มากกว่าการอยู่ในรูปของบรรจุภัณฑ์ที่มีการใช้ประโยชน์ในช่วงสั้น ๆ ก่อนถูกทิ้งในรูปขยะ เช่นเดียวกับกระดาษ ซึ่งอยู่ในรูปของการจัดเก็บเอกสารสิ่งพิมพ์ที่การใช้งานมีลักษณะเหมือนกับสินค้าคงทน แต่สำหรับกระดาษนั้นกลับมีจำนวนมากที่อยู่ในรูปของบรรจุภัณฑ์ที่มีการใช้ประโยชน์สั้น ๆ ก่อนถูกทิ้งในรูปขยะ"

นอกจากการค้นพบอัตราการรีไซเคิลที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตแล้ว ยังพบว่าปัญหาขยะที่แท้จริงมาจากขยะเศษอาหาร โดยการสำรวจพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ในปี 2556 ในส่วนเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีปริมาณเกือบ 50,000 ตันต่อวัน คิดเป็นอัตราเฉลี่ยต่อคน 0.8 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งองค์ประกอบขยะมูลฝอยสูงที่สุดคือ ขยะเศษอาหาร 29.5% รองลงมาเป็นขยะประเภทพลาสติก 19.5% กระดาษ 12.6% ไม้/ใบไม้ 10.4% แก้ว 7.4% โลหะ 5.1% ผ้า 4.0% ยาง/หนัง 3.6% หินและกระเบื้อง 3.1% ตามลำดับ ส่วนขยะมูลฝอยรวมที่ไม่สามารถแยกประเภทได้มี 4.6%

ผลการสำรวจครั้งนี้ "รศ.ดร.กำพล" วิเคราะห์ว่า แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ร่วมมือกับภาครัฐและสนับสนุนโดยภาคเอกชนที่ดำเนินการมานั้นถูกทางแล้ว

"เห็น ได้จากอัตรารีไซเคิลจากขยะทุกประเภทมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนั่นคือสัญญาณที่ดีที่ทำให้เรารู้ว่าประชาชนได้ให้ความสำคัญต่อการคัด แยกขยะรีไซเคิลมากขึ้น แต่สำหรับขยะเศษอาหารเราจำเป็นต้องส่งเสริมการรณรงค์การแก้ปัญหาการจัดการ กับขยะเหล่านี้ให้ถูกต้องเพื่อเป็นการลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืนต่อไป"

สำหรับแนวทางในการดำเนินการต่อไปหลังจากได้ทำการศึกษาครั้งนี้ "สุพันธุ์ มงคลสุธี" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการพัฒนาระบบการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่เหมาะสมกับประเทศไทยไว้ 2 แนวทาง ประกอบด้วย

หนึ่ง แนวทางการจัดการปัญหาระยะสั้น (สำหรับท้องถิ่น) โดยกำหนดแผนดำเนินการออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้ท้องถิ่นสามารถจัดการขยะมูลฝอยที่ถูกต้อง รวมถึงสามารถคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

2.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอย โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการจัดการขยะมูลฝอยของท้องถิ่น และส่งเสริมกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยโดยรอบชุมชน

3.สร้างเครือข่ายประชาสังคมในการจัดการขยะท้องถิ่น โดยพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยครบวงจรเชิงพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนบทบาทซาเล้งและอาชีพผู้รับซื้อของเก่ารายย่อยในการเพิ่มอัตราการรีไซเคิล

สอง แนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการรีไซเคิลอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งสามารถนำมาเป็นวัสดุรีไซเคิลผ่านการแปรรูปเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและการตลาด เพื่อรองรับขยะรีไซเคิลต่อไป

โดยทั้ง 2 แนวทางดังกล่าว "สุพันธุ์" หวังว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะให้กับประเทศ ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมให้สมาชิกและกลุ่มอุตสาหกรรมร่วมรณรงค์การนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้สามารถ

นำกลับมาใช้ใหม่ และคัดแยกขยะรีไซเคิลที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน รวมถึงสานต่อกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐและประชาชนผลักดันแนวทางการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาขยะที่เหมาะสมให้กับประเทศไทยในระยะยาว

ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังและสรรค์สร้างสังคมรีไซเคิลให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างยั่งยืน


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : จัดการ ขยะรีไซเคิล สร้างมูลค่าเพิ่ม ชุมชน

view