สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความจริง ที่บริษัทนมผงไม่กล้าบอก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ข้อมูลจาก เซกชั่น Good Health Smart Life ของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 กันยายน 2557
       
       
       • วิกฤติสุขภาพเด็กไทย
       โรคร้ายแห่จองกฐินตั้งแต่วัยแบเบาะ
       • ออนซ์ต่อออนซ์“นมผง”VS “นมแม่” ใครดีกว่ากัน
       • แฉเล่ห์ กลลวงบริษัทนมผง...แหกตาคนไทย
       • วิบากกรรม “นมแม่” 23 ปี ยังไม่มีวันคลอด ?
       • 8ใจความสำคัญของ Code นม ที่คนไทยต้องรู้

       
       หนึ่งในข่าวสุขภาพเขย่าโลก ที่ถูกกระแสถังน้ำแข็ง Ice Bucket Challenge กลบจนเงียบเป็นเป่าสาก คงเป็นข่าว “มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย” ร่วมกับ“เทศบาลตำบลท่าม่วง” อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ประกาศสัญญาประชาคม จับมือองค์กรภาคีเครือข่ายและภาคประชาสังคม เร่งผลักดัน “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยว ข้อง CODE (International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes )” ปกป้องสิทธิของเด็กทารกให้ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน
       
       หากเป็นสังเวียนผ้าใบ ศึกเต้าชนเต้า “นมผง VS นมแม่” ไฟต์นี้ คงเป็นมวยคู่เอก ที่แฟนมวยต้องเกาะเวทีตะโกนเชียร์ให้นายกฯคนที่ 29 ของเมืองไทย “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา”ส่งสุขภาพดีให้เด็กไทยกันสุดเสียง เพราะศึกครั้งนี้ “กุมชะตา” สุขภาพเด็กไทยทั้งประเทศ
       
       แปลกเว้ยเฮ้ย! ทั้งๆที่องค์การอนามัยโลก (WHO)และประเทศสมาชิก ประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (Code นม) แถมยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า “ทารกที่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีระดับสติปัญญาดีกว่าทารกที่กินนมผงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522
       
       กอปรกับความพยายามจะคุ้มครองเด็กไทยจากกระทรวงสาธารณสุข,ศูนย์นมแม่ แห่งประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนของ สสส. และภาคเอกชน อีกว่า 20 ปี ...ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ถึงกับมีนโยบายส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ให้ได้ร้อยละ 60 ภายในปี 2558
       
       แต่...“พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (CODE)”ในประเทศไทย ก็ยังไม่คลอดออกมาคุ้มครองเด็กไทยเสียที
       
       การปล่อยให้บริษัทนมผงข้ามชาติแย่งชิงทารกจากอกแม่ได้อย่างเสรี ทำให้สุขภาพเด็กไทยเข้าขั้นวิกฤติ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีอาถรรพ์ อาถรรพ์อะไร เซกชั่น Good Health Smart Life ของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ล้วงลึกทุกคำตอบ
       
       วิกฤติสุขภาพเด็กไทย โรคร้ายจองกฐินตั้งแต่แบเบาะ
       
       ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตัวเลขเด็กไทยที่โตด้วยนมแม่ ร้อยละ 12 ก่อให้เกิดวิกฤติสุขภาพเด็กไทยวันนี้ แน่นอนว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการรอคอย พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารก และเด็กฯ” แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เผย พร้อมกับบอกว่า
       
       “ทั้งนี้เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ต้องใช้นมผสม ในระยะ 6 เดือนแรก เป็นการป้องกันเบื้องต้นต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ เนื่องจากทารกที่กินนมแม่จะไม่ได้รับโปรตีนแปลกปลอม จากนมผสมซึ่งท􀄢ำมาจากนมวัว หรือนมแพะ
       
       รายงานการวิจัย โดยติดตามทารกจ􀄢ำนวน 1,105 ราย ตั้งแต่ แรกเกิดไปจนอายุ 6 ปี ในปี ค.ศ. 2012 จากประเทศนิวซีแลนด์ พบว่า เด็กที่เคยกินนมแม่ เพียงอย่างเดียวนานกว่า 3 เดือน เป็นโรคหืดเมื่ออายุ 6 ปี น้อยกว่าเด็กที่เคยกินนมแม่ไม่ถึง 3 เดือนประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายความว่าการกินนมแม่เพียงอย่างเดียว อย่างน้อย 3 เดือน ช่วยป้องกันการเกิดโรคหืดให้เด็กไปจนถึงอายุ 6 ปี
       
       ขณะที่ทารกที่กินนมผง มีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดโรคมากมาย อาทิ โรคเบาหวาน , โรคมะเร็ง , การติดเชื้อที่หู หูชั้นกลางหรือแก้วหูอักเสบ และทางเดินหายใจ , การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร , โรคหอบหืด , โรคภูมิแพ้, โรคหัวใจ และโรคอ้วน โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคขาดสารอาหาร โรคผิวหนังอักเสบออกผื่นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน รวมถึงโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะด้วย
       
       ออนซ์ต่อออนซ์ “นมผง”VS “นมแม่” ใครเหนือกว่าใคร
       
       แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช บอกอีกว่า “การให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนแรกของชีวิต ทารกจะได้รับสารอาหารที่ดีที่สุด มีประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ได้เป็นอย่างดี
       
       แพทย์และนักวิชาการต่างยืนยันว่า นมแม่มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์สมองและระบบประสาท ส่งผลให้ IQ ของเด็กเพิ่มสูงขึ้น 2 - 12 จุด ทั้งนี้ แม้มีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กรรมพันธุ์ อาหาร และการเลี้ยงดู แต่หัวใจสำคัญของการให้นมแม่คือ แม่จะมีโอกาสสัมผัสลูกน้อยอยู่ในอ้อมกอด การสัมผัสจะช่วยกระตุ้นการรับรู้และพัฒนาการทางสมอง ยิ่งกอด ยิ่งหอมแก้ม - ยิ่งเพิ่มการเชื่อมโยงของเส้นใยสมอง เส้นประสาทจะรับสัญญาณการเรียนรู้เร็วขึ้น เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องใช้สมองเพื่อความอยู่รอด น้ำนมของมนุษย์จึงมีสารจำเป็นสำหรับการพัฒนาสมองของลูก และเป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารก
       
       เหนืออื่นใดในนมแม่มีองค์ประกอบของสารอาหารและสารต่างๆ มากกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์และ ความโดดเด่นในตัวเอง แตกต่างจากอาหารชนิดอื่นใดในโลก ได้แก่ น้ำ 87.1% ไขมัน 4.5% น้ำตาลแลคโตส 7.1% โปรตีน 0.8 - 0.9% น้ำนมแม่ 100 กรัมให้พลังงาน 72 กิโลแคลอรี
       
       เมื่อมองจากมุมนี้ การให้เด็กกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เป็นวิธีการป้องกัน “โรคภูมิแพ้” และโรคอื่นๆ ตั้งแต่เริ่มแรก และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เกิดจากการรักษาโรคภูมิแพ้โดยไม่จำเป็นอีกต่างหาก
       
       เพราะน้ำนมแม่ในช่วงแรก คือ หัวน้ำนม (colostrum) ที่มีสีเหลืองข้น อุดมด้วยสารอาหารจำเป็น ได้แก่ โปรตีน เกลือแร่ วิตามิน โดยเฉพาะวิตามินเอ และวิตามินเค สารช่วยการเจริญเติบโต และที่โดดเด่นที่สุด คือ หัวน้ำนมมีสารภูมิคุ้มกันในปริมาณที่สูงมาก เทียบได้กับ “วัคซีนหยดแรก” ที่มีคุณสมบัติ ป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิดเลยทีเดียว (ดูตารางน้ำนมจากแม่ - ให้แต่ประโยชน์)
       
       แฉเล่ห์กลลวง บริษัทนมผง...แหกตาคนไทย
       
       ทั้งๆ ที่ “นมแม่” มีคุณค่าเหนือกว่า “นมผง” มากมาย แต่อิทธิพลโฆษณาจากบริษัท “นมผง” ก็ สร้างภาพและความเชื่อว่านมผงดีเทียบเท่านมแม่ กระทั่งทำให้แม่เกิดความเข้าใจผิด และหันไปใช้นมผงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่มีอาหารอะไรที่มีคุณค่า และสามารถทดแทนนมแม่ได้เลย
       
       สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยลดต่ำลงเหลือ เพียงร้อยละ 12 ซึ่งน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดในกลุ่มประเทศอาเซียน” ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง ตัวแทนคณะผู้วิจัยจาก “โครงการการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่และผลักดันร่างพ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กฯ” เผย
       
       พร้อมแจกแจงให้ฟังว่า “การวิจัยกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของบริษัทนมผงและการละเมิด CODE พบว่า อุตสาหกรรมนมผงได้ใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการโดยมีเครื่องมือ การสื่อสารที่สำคัญ 7 ประการได้แก่ การโฆษณา, การส่งเสริมการขาย, พนักงานขาย, การขายตรง, การตลาดอินเตอร์เน็ต, การแสดงสินค้า ณ จุดขาย และบรรจุภัณฑ์
       
       ซึ่งรูปแบบดังกล่าวล้วนแต่เป็นการละเมิด CODE ทั้งสิ้น และจากอิทธิผลของการสื่อสารการตลาดเหล่านี้ได้สร้างวาทกรรมและมายาคติที่ส่ง ผลต่อความคิด และความเชื่อแก่แม่ว่าสารอาหารในนมผงมีเทียบเท่ากับนมแม่ผ่านการใช้ภาษาทาง วิทยาศาสตร์การแพทย์ อีกทั้งการใช้ภาษาโฆษณายังสร้างความกังวลใจให้กับแม่ว่านมแม่อาจมีสารอาหาร ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความลังเลใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก
       
       การสื่อสารการตลาดที่ละเมิด CODE ในปัจจุบัน มีผลให้แม่เชื่อและลังเลว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้วใช่นมผงร่วม หรือจะใช้นมผงอย่างเดียว” ดร.บวรสรรค์ กล่าว
       
       ก่อนจะกระซิบดังๆว่า “ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลกระทบต่อการ ตัดสินใจ คือการใช้บุคลากรทางการแพทย์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารการตลาดในรูปแบบ ต่างๆ อาทิ การเป็นวิทยากร การแจกตัวอย่างนม หรือการใช้พื้นที่ของสถานพยาบาลแสดงเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของนมผง”
       
       23 ปี มหากาพย์วิบากกรรม “นมแม่”
       
       จากหลายเหตุหลายปัจจัย ก่อเกิดมหากาพย์ วิบากกรรม “นมแม่” ที่ ยืดเยื้อนานกว่า 23 ปี จนสังคมไทยตั้งคำถาม ว่าเกิดอะไรกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ “จริงๆแล้วเราต้องรู้ก่อนว่าเราไม่ได้มาขัดขวางการขายนมนะ” อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เผยเจตนาในการผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้ฟัง พร้อมกับยืนยันว่า
       
       “เราไม่ได้มาขัดขวางธุรกิจนม แต่เราลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิให้กับเด็ก ซึ่งไม่สามารถปกป้องคุ้มครองตนเองได้ ตรงนี้ทุกภาคส่วนที่จะเข้ามาทำจะต้องเห็นตรงกันก่อนว่า เราจะต้องคุ้มครองเด็ก เพื่อจะให้เด็กไทยได้กินนมแม่มากขึ้น
       
       เมื่อเห็นไม่ตรงกันวิบากกรรมทจึงเกิดขึ้น เพราะภาคธุรกิจที่ทำเรื่องอาหารทารก มองว่าถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมาแล้วจะไปขัดขวางการทำมาหากินของเขา เพราะกลัวว่าจะทำให้ขายผลิตภัณฑ์สินค้าได้น้อยลง พอมองกันคนละมุมอย่างนี้ จึงจูนเข้าหากันไม่ได้ มันก็เลยเกิดวิบากกรรมอย่างที่เป็นอยู่
       
       หลังศึกษาดูว่า ทำไมหลายประเทศถึงออกกฎหมายฉบับนี้ออกมาคุ้มครองสิทธิเด็กสำเร็จ ทั้งๆที่ทำภายใต้เงื่อนไขทางภาคธุรกิจที่ทำกับตลาดทารก ?
       
       ประเด็นนี้ฟังดีดีนะครับ ประเทศเหล่านั้นไม่มีข้อตกลงร่วมกับภาครัฐบาล สรุปง่ายๆก็คือCODE นมจะประสบความสำเร็จ ทุกภาคส่วนจะต้องเห็นดีเห็นงามพร้อมกัน มันถึงจะเป็นไปได้ ทีนี้ถามว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่ไปไหน เพราะทุกภาคส่วนยังมองไม่เห็นประโยชน์ร่วมกัน มันก็เลยเกิดการขัดแย้งกัน คือยังจูนคอนเซ็ปต์ไม่ตรงกัน ระหว่างภาครัฐบาลที่จะผลักเรื่องนี้ กับภาคธุรกิจ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้มีการประชุมกันเยอะมาก
       
       แต่มีอยู่บางจุดที่ทางภาคธุรกิจเขียนว่า “ไม่สามารถปฏิบัติได้” อัน นี้อาจารย์ไม่ขอลงรายละเอียดนะว่ามันคืออะไร พอเขาบอกว่าปฏิบัติไม่ได้ปุ๊บ ภาครัฐฯ ก็ไปศึกษาจากต่างประเทศว่าทำไมในประเทศที่ทำเสร็จแล้ว จึงยอมทำตามเงื่อนไข แล้วทำไมภาคธุรกิจในประเทศไทยจึงไม่ยอม
       
       ทีนี้ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า เหตุใดตลาดอาหารทารกในประเทศไทยจึงไม่ยอมเดินทางตามสากล ที่เขาดำเนินกันอยู่
       
       ถ้าถามว่าแล้วจะเดินหน้าต่ออย่างไรในมุมมองของอาจารย์ สิ่งที่เป็นไปได้จริง จะต้องเกิดจากโต๊ะเจรจา คือต้องมีการเจรจาแล้วให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ จากนั้นทำให้ภาคอาหารทารกเกิดความรู้สึกว่า เขาไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย “ยังขายได้อยู่ แต่ขายอย่างถูกที่ถูกทาง ขายอย่างถูกกฎหมายซะ” ก็แค่หันไปทำธุรกิจนมสำหรับเด็กโต
       
       ส่วนเด็กเล็ก ถ้าคิดว่า พ.ร.บ.นี้ออกมาแล้วจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลง คุณก็ต้องเห็นแก่เด็กไทยที่เป็นลูกหลานของคุณเหมือนกัน เพราะงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า ถ้าขืนปล่อยให้ตลาดนมผงเกลื่อนกลาดอยู่อย่างนี้ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะลดลงอีก แล้วลูกหลานเราจะเติบโตได้อย่างไร ?
       
       ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องทำเรื่องนี้ คนที่เป็นแม่ก็ต้องเรียกร้อง ประชาชนเองก็ต้องเรียกร้อง เพื่อช่วยกันขับเคลื่อน พ.รบ.ฉบับนี้ จากทุกภาคส่วนตามความต้องการของประชาชน
       
       เราคงไม่สามารถบอกได้ว่า ถ้าไม่มี พ.ร.บ.นี้ออกมา จะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศเท่าไร เพียงแต่เราบอกได้ว่า นมแม่ จะทำให้เด็กไทยมีศักยภาพในการเจริญเติบโตเต็มตามศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันในการเจ็บป่วยน้อยลง เด็กไทยจะมีไอคิวที่ดีขึ้น เด็กไทยจะมีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น
       
       ตรงกันข้ามถ้าไม่ได้กินนมแม่อย่างถูกต้อง และเพียงพอ เด็กไทยที่โตขึ้นก็อาจจะมีศักยภาพในการเจริญเติบโตที่ด้อย เป็นผู้ใหญ่ที่มีสมรรถภาพในการทำงานต่ำกว่าความเป็นจริง ฉะนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น มันก็จะครบทุกด้านของประเทศไทย พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเด็กไทยไม่ได้กินนมแม่ในวันนี้ คุณภาพและศักยภาพของคนไทยในอนาคตมันก็จะด้อยลง และมีผลต่อการพัฒนาประเทศทุกด้านเช่นกัน”
       
       สุดท้ายอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ แนะว่า ที่สำคัญคนไทยต้องรู้ว่า “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยว ข้อง CODE (International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes ) มีประโยชน์กับลูกหลานเราแค่ไหน มีใจความสำคัญอย่างไร (อ่านล้อมกรอบ 9ใจความสำคัญของ Code นม ที่คนไทยต้องรู้ ) ทั้งนี้เพื่อเราจะได้เท่าทันกลเกมการตลาดบริษัทนมผง ที่สำคัญเด็กไทยจะได้เติบโตเต็มตามศักยภาพ เด็กไทยจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีครับ
       
       9ใจความสำคัญของ Code นม ที่คนไทยต้องรู้
       
       1.บริษัทผู้ผลิต และผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็ก ห้ามโฆษณาและทำการตลาดสินค้าในทุกรูปแบบ ทุกช่องทางของการโฆษณา ไม่ว่าโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ (Website) หรือ นิตยสารต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งนิตยสารที่เกี่ยวกับแม่และเด็กโดยตรง รวมถึงสถานที่สาธารณะทุกแห่ง
       
       2.ห้ามพนักงานขายติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว ในอดีตพนักงานบริษัท อาศัยช่องทางจากการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข โดยเสนอความช่วยเหลือจัดชั้นสอนสุขศึกษา ผลิตสื่อต่าง ๆ ให้ ขณะเดียวกันก็ได้สอดแทรกโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนเข้าไปด้วย ทำให้แม่เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าพนักงานบริษัทได้รับการเห็นชอบจากเจ้า หน้าที่ของโรงพยาบาล
       
       3.ห้ามบริจาคนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็ก การบริจาคนั้นไม่ได้เป็นการกุศล แต่เป็นวิธีการตลาดที่รู้กันว่ามีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงไม่ควรให้การบริจาคมีส่วนเข้ามาแทรกแซงการส่งเสริมการเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่
       
       4.บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กควรปฏิบัติตาม CODE แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะของCODE นมก็ตาม
       
       5.ห้ามสถานบริการสาธารณสุข ส่งเสริมธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็ก
       
       6.ห้ามสถานบริการสาธารณสุข ติดสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัท ไม่รับและติดแสดงสื่อของบริษัท อาทิ โปสเตอร์ เอกสาร ปฏิทินตั้งโต๊ะ ที่มียี่ห้อสินค้าและเครื่องหมายการค้าของบริษัทตามห้องตรวจแพทย์ หอผู้ป่วย หรือพื้นที่ที่ให้บริการ
       
       7.ห้ามสถานบริการสาธารณสุข สนับสนุนด้านการเงิน เพื่อจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการไม่เป็นการละเมิด CODE แต่ต้องกระทำโดยเปิดเผย ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ ซ่อนอยู่
       
       8.ห้ามบุคลากรสาธารณสุข เสนอข้อมูลสินค้าของบริษัทที่ให้แก่แพทย์ พยาบาล และนักโภชนาการ จะต้องเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเป็นจริง ไม่ใช่ข้อมูลในเชิงโฆษณา
       
       9.ห้ามบุคลากรสาธารณสุข รับตัวอย่างนมผง
       
       147 ปี...เส้นทางนมผง
       
       • 2410 คือปี พ.ศ.ที่นมผงถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้
       
       • 2493-2503 คือปี พ.ศ.แห่งการเลี้ยงดูทารกด้วยนมผงรุ่งเรืองในยุโรปและอเมริกา กระทั่งเป็นแบบอย่างการเลี้ยงทารกให้กับเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา ซึ่งมีอัตราการเกิดสูง
       
       • 2513 คือปี พ.ศ.ที่ชุมชนสากลเริ่มตระหนักว่ากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทางสุขภาพ
       
       • ต้นศตวรรษที่ 20 นมผงกลายเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ล่าสุด นัยว่าเพื่อให้ระบบสาธารณสุขสนับสนุนเป้าหมายการตลาดของบริษัท จึงมีโฆษณานมผงในวารสารการแพทย์ให้รายละเอียดอ้างถึงความเหนือชั้นของนมผง
       
       • จากนั้นมีการตกลงกับโรงพยาบาล หรือคลินิก ที่เห็นแก่ได้เพื่อขอสิทธิ์ แจกตัวอย่างนมผงฟรีแก่แม่หลังคลอด ข้อตกลงเหล่านี้มักมาพร้อมกับเงิน “ของขวัญ” จนเป็นที่มาการให้อาหารทารกด้วยการชั่งตวงวัดและ “การสั่งการรักษา”
       
       • การโฆษณาอย่างต่อเนื่องบริษัทนมผง ทำให้ผู้หญิงเชื่อมั่นว่านมผงดีเท่ากับนมแม่ และเหนือกว่านมแม่ ทั้งๆความจริงแล้วแทบจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้
       
       • 2522 คือปี พ.ศ.ที่ผู้แทนจาก WHO , Unicef และผู้ให้บริการทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกัน พร้อมแนะนำให้ร่าง “Code” เพื่อควบคุมการตลาดของผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่
       
       • ก่อนปี พ.ศ.2523 บริษัทนมผงพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและระบบสาธารณสุข เพราะความถี่โฆษณาต่อสาธารณชนในอเมริกาเหนือลดลง
       
       • 2523 คือปี พ.ศ. ที่บริษัทนมผงยักษ์ใหญ่ทำการตลาดโดยตรงกับพ่อแม่และสาธารณชน โดยลงโฆษณาในนิตยสารเกี่ยวกับการดูแลเด็ก จัดทำคู่มือแม่และเด็ก คู่มือการเลี้ยงทารก เสนอบทความที่เขียนโดยกุมารแพทย์ หรือ หนังสือนิทาน ลงโฆษณาทางสื่อออนไลน์ ส่งตัวอย่างนมผงฟรีถึงบ้าน
       
       • ทุ่มเงินสนับสนุนวารสารทางการแพทย์ การวิจัย การประชุมวิชาการ และให้ของขวัญ เพื่อรบกวนบุคลากรทางการแพทย์ มอบตัวอย่างนมผงฟรี หรือแจกบทความที่สนับสนุนนมผงให้แก่แม่ตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด
       
       • 2524 คือปี พ.ศ.ที่WHO และ Unicef เล็งเห็นว่าการโฆษณานมผงเป็นสาเหตุทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดต่ำลง และก่อวิกฤติการตายของทารกในประเทศที่ยากจน นำไปสู่การยอมรับ the International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes ที่ World Health Assembly ครั้งที่ 34
       
       • สมาชิก 118 จาก 119 ประเทศออกเสียงสนับสนุน มีเสียงคัดค้านเพียงหนึ่งเดียวมาจาก USA ด้วยเกรงว่า International Code อาจมีผลกระทบต่อกำไรโดยรวม เพราะเป็นผู้ผลิตนมผงรายใหญ่ของโลก
       
       • 2537 คือปี พ.ศ. ที่ WHO รายงานว่าทุกๆปีทารกประมาณ 1.5 ล้านคน เสียชีวิตเพราะไม่ได้กินนมแม่ อีกหลายล้านคนเป็นโรคขาดอาหารและโรคอื่นๆ
       
       • ผลเสียจาการกินนมผงโดยไม่จำเป็นมีเหมือนกันทั่วโลก ในทวีปอเมริกาเหนือ ทารกที่กินนมผงมีโอกาสเสี่ยงทางสุขภาพและปัญหาพัฒนาการมากขึ้นอย่างมีนัย สำคัญ ทั้งผลระยะสั้นคือโรคติดเชื้อ และผลระยะยาวคือ ภาวะโรคเรื้อรัง ผู้ที่อยู่ในชุมชนยากจนยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเหล่านี้รุนแรงขึ้น
       
       • 2547 คือปี พ.ศ. ที่ประเทศมากกว่า 27 ประเทศ ได้ผ่าน Code เป็นกฎหมาย อีก 33 ประเทศมีหลายบทใน Code เป็นกฎหมาย อีก 18 ประเทศมีนโยบายหรือมาตรการแบบสมัครใจ และอีก 33 ประเทศกำลังร่างข้อตกลงและรอความเห็นชอบขั้นสุดท้าย การนำ code ไปใช้อย่างจริงจังยังคงเป็นเป้าหมายของพ่อแม่ ผู้ให้บริการสุขภาพ และประชาชน
       
       • ประเทศไทย ได้มีการประกาศ หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยว ข้อง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 หลังมีกระแสข่าวนมผงสำหรับทารกในประเทศจีนปนเปื้อนเมลามีน ทำให้เด็กป่วยจำนวนมากและเสียชีวิตจำนวนมาก ส่งผลให้ทั่วโลกตื่นตัวต่ออันตรายจาการสารปนเปื้อนในนมผง พยายามรณรงค์ให้ลูกได้กินนมแม่กันมากขึ้น
       
       • พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขและภาคประสังคมมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการได้รับการรับรองจากภาคีเครือข่ายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่ง ชาติครั้งที่ 3 เมื่อปี 2553 โดยคณะรัฐมนตรีได้รับรองมติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2554 แต่ปัจจุบัน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอยู่ในระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบและประกาศ เป็นกฏหมายที่มีผลบังคับใช้ต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ความจริง บริษัทนมผง ไม่กล้าบอก

view