สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขยาย 4 เลนทางหลวง 304 ผ่าผืนป่ามรดกโลก เขาใหญ่-ทับลาน

จากประชาชาติธุรกิจ

นับจากปี 2552 ที่ "ทล.-กรมทางหลวง" เริ่มให้บริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โครงการถนนสาย 304 หรือสายกบินทร์บุรี-ปักธงชัย และทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ล่าสุด หลังจากใช้เวลาพิจารณาร่วม 5 ปี ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) สิ่งแวดล้อมยุค "คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา



ปี"58 เริ่มประมูลก่อสร้าง

"สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์" ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขั้นตอนต่อจากนี้กรมทางหลวงจะเดินหน้าประกวดราคา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการประมาณภายในพฤศจิกายน 2558 ลงนามว่าจ้างในเดือนธันวาคม 2558 และเริ่มก่อสร้างต้นปี 2559 โดยโครงการนี้ได้ของบประมาณปี 2558 เพื่อเดินหน้าก่อสร้าง งบฯ ผูกพัน 3 ปี วงเงินรวม 2,997 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน แล้วเสร็จในปี 2560

แยกเป็น 1.ก่อสร้างทาง 4 ช่องจราจร ถนนสาย 304 ตอน อ.กบินทร์บุรี-ปักธงชัย (ช่วง กม.42-57) ค่าก่อสร้าง 1,600 ล้านบาท 2.ทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกบนถนนสาย 304 ค่าก่อสร้าง 1,397 ล้านบาท



แก้คอขวด-เสริมโลจิสติกส์อีสาน

ด้าน "ชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ" อธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า โครงการขยายถนนสาย 304 ช่วงก.ม. 26-29 และกม. 42-47 เป็นพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลานใน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี และเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ

สำหรับทางหลวงสายนี้ยาวประมาณ 130 ก.ม. เป็นเส้นทางหลักเชื่อมการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองรับการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ท่าเรือแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด

"ปัจจุบันการจราจรคับคั่ง เกิดอุบัติเหตุสูง ซึ่งเป็น 4 เลนเกือบทั้งสาย ยกเว้นในช่วง กม.26-29 และ กม.42-57 มี 2 ช่องจราจรและเป็นคอขวดอยู่ จึงต้องเร่งขยายให้เป็น 4 เลนทั้งหมด ที่ผ่านมาติดปัญหาเพราะบริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่มรดกโลก จะต้องออกแบบการก่อสร้างให้อยู่ร่วมกับสัตว์ป่าได้ ตลอดจนชาวบ้านในย่านนั้นด้วย"

สร้างทั้งถนน-ทางลอด-ยกระดับ

สำหรับรูปแบบในช่วงกิโลเมตรที่ 26-29 รูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการเชื่อมผืนป่า ได้แก่ แนวทางเชื่อมผืนป่าแบบผสมผสาน ประกอบด้วยถนนระดับดินขนาด 4 ช่องจราจร กั้นรั้วตลอดแนวสองฝั่งถนน 4 ช่วง ระยะทางรวม 2.41 กม. ทางยกระดับ 1 ช่วง ยาว 580 เมตร และอุโมงค์ชนิดตัดดินและถมกลับ 2 จุด ความยาว 430 เมตร

ส่วนรูปแบบในช่วง กม. 42-57 ออกแบบเป็นถนน 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง และใช้กำแพงคอนกรีตกั้นแบ่งทิศทางการจราจร ใช้ถนนเดิมเป็นคันทางของทิศทางจราจรด้านขาขึ้นและขยายคันทางใหม่ไปด้านขวา ซึ่งคันทางเป็นรูปแบบต่างระดับ

อีกทั้งมีการปรับปรุงช่องทางหยุดรถฉุกเฉินเดิมบริเวณ กม. 48 ให้มีความยาวมากกว่าเดิม จาก 100 เมตร เป็น 200 เมตร เพิ่มช่องทางหยุดรถฉุกเฉินอีก 1 แห่งที่ กม. 46 ความยาว 260 เมตร มีจุดกลับ 6 แห่ง ได้แก่ จุดเริ่มต้นโครงการ, ทางเข้าผางามรีสอร์ท, ใกล้ห้วยซับบอน, บ้านแสนสุข, โรงเรียนบ้าน และทางแยกไปเขาแผงม้า และมีสะพานลอยคนข้าม 2 แห่งที่บริเวณโรงเรียน และโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ

ผุดทางสัตว์ผ่าน 2 ผืนป่า

ด้านรูปแบบทางสัตว์ผ่าน จะมีการก่อสร้างถนนเป็นทางยกระดับให้รถยนต์วิ่งด้านบนและสัตว์ป่าเดินลอดด้านใต้ ในบริเวณช่วง กม. 42+600 ถึง กม. 42+930 โดยออกแบบเป็นทางยกระดับ 2 สะพานคู่กัน สะพานแต่ละฝั่งมีช่องทางรถยนต์ 2 ช่องจราจร จักรยานยนต์ 1 ช่องทางและทางเท้า ติดตั้งแผงป้องกันเสียงดังรบกวนจากยานพาหนะต่อสัตว์ป่าตั้งแต่ กม. 42-43+080 รวมทั้งให้มีทางข้ามสำหรับสัตว์ที่อาศัยเรือนยอดต้นไม้หรือสะพานลิง ด้านใต้ทางยกระดับของโครงการบริเวณ กม. 42+750 และ กม. 42+8004  ซึ่งโมเดลถนนสายนี้ อธิบดีกรมทางหลวงจะใช้เป็นโครงการนำร่องสำหรับเส้นทางอื่น ๆ ในอนาคต เพื่อแสดงให้เห็นว่าการอนุรักษ์และการพัฒนาสามารถดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันได้


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

view