ผลไม้ในกลไกการซื้อขายล่วงหน้า
โดย : ดร.พีรพล ประเสริฐศรี
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในช่วงที่ผ่านมา สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดส่งผลกระทบต่อผลผลิตมะนาว
ทำให้ราคามะนาวได้ปรับตัวขึ้นไปในรอบเกือบ 10 ปี จากส่งที่แม่ค้าเคยรับมาในกระสอบละ 300-500 บาทปรับขึ้นเป็น 1,500 บาท โดยได้นำมาคัดเกรดแบ่งขนาดจำหน่ายปลีก ราคาขนาดเล็กลูกละ 5 บาทจนถึงมะนาวแป้นขนาดใหญ่ลูกละ 12-15 บาท ผู้บริโภคบางส่วนต้องหันไปพึ่งมะนาวเปลือกหนาที่ราคาถูกกว่าแต่ไม่มีน้ำ ขณะที่บางส่วนก็หันไปใช้น้ำมะนาวขวดที่มีทั้งแบบมะนาวจริง 100% หรือ แบบมะนาวผสมหัวน้ำส้มสายชู(ซึ่งมีราคาถูกกว่า) ซึ่งด้วยราคามะนาวที่สูงเป็นที่เย้ายวนขนาดนี้ ก็เริ่มมีปรากฏการณ์ที่ผู้ประกอบการ/เกษตรกรหลายท่านได้ตัดสินใจหันไปปลูกมะนาวกันบ้างแล้ว
จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ชวนให้นึกไปถึงทฤษฎีเก่าแก่อย่าง “ทฤษฎีใยแมงมุม” หรือ Cobweb Model ที่ว่าด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีลักษณะว่า หากปีใดที่สินค้ามีราคาดี เกษตรกรก็แห่กันไปปลูก แล้วสินค้าก็ออกมามากมายล้นตลาดทำให้ปีนั้นราคาสินค้าดิ่งลง เกษตรกรก็เจ๊งและขาดทุน และเมื่อเกษตรกรลด/เลิกปลูกในปีถัดไป ผลผลิตก็ลดลง ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น ชักนำให้ผู้คนหันไปปลูกสินค้าเพิ่มกันอีก ซึ่งเมื่อวาดกราฟออกมาดูมันก็วนเวียนไปอย่างนี้คล้ายกับ “ใยแมงมุม” ซึ่งเป็นปัญหาวนเวียน ซ้ำซาก ที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่มาตั้งแต่อดีตและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อมิให้ถูกครอบงำโดยวงจรที่น่าอดสูภายใต้ทฤษฎีใยแมงมุม ทั้งในส่วนของภาคเอกชนเองจนรวมไปถึงจากการผลักดันจากภาครัฐ จึงได้พยายามคิดริเริ่ม และประยุกต์ใช้เครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถมองเห็นราคาสินค้าเกษตรที่ตนจะผลิต รวมถึงกลไกที่จะทำให้เครื่องมือดังกล่าวสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงด้านราคาของผู้ผลิตได้ (มิต้องให้ตกอยู่ภายใต้วงจรใยแมงมุม) นั่นคือ “กลไกการซื้อขายล่วงหน้าผ่านตลาดล่วงหน้า”หรือ กลไกของ futures tradingนั่นเอง
เป็นที่รู้กันดีว่า การซื้อขายล่วงหน้าในลักษณะของ Futures มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว โดยแม่แบบที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแม่แบบของตลาดสินค้าล่วงหน้าต่างๆ ได้มีการพัฒนาต่อๆ กันมา คือ ตลาด Chicago Board of Trade (CBOT) ที่เมือง ชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของพ่อค้าผู้ผลิตสินค้าเกษตรแถบละแวกเมืองชิคาโก บริเวณซึ่งเมื่อผลผลิตออกมาก ราคาสินค้าเกษตรมักจะถูกกดราคาโดยผู้ซื้ออยู่เสมอ จนบางครั้งผู้ผลิตบางราย(ที่ไม่สามารถตกลงขายสินค้าได้) ถึงกับต้องนำผลผลิตตนไปDump ลงทะเลสาบ Michigan เลยก็มี
การซื้อขายสินค้าล่วงหน้าใน CBOT เปิดให้ซื้อขายครั้งแรกในสินค้าข้าวโพด เมื่อปี ค.ศ.1852 (160 ปีที่แล้ว) โดยในช่วงต้น การซื้อขายล่วงหน้ายังเป็นในลักษณะของ Forward กล่าวคือซื้อขายกันในลักษณะของสัญญาล่วงหน้าที่ยังไม่เป็นมาตรฐาน (เงื่อนไขสัญญาเป็นไปตามความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย) ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.1865 CBOT จึงได้ริเริ่มให้มีการ ซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นสัญญามาตรฐาน (Standardized Contract) ที่เรียกกันว่า "Futures Contract" ซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นแม่แบบของการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าในตลาดต่างๆ ทั่วโลกและในเวลาต่อมา ข้าวโพด หรือ Corn จึงถือว่าเป็นสินค้าแรกที่มีการซื้อขายล่วงหน้า (Futures Trading) ใน CBOT
ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ ที่เพาะปลูกกันมากในบริเวณ Midwest แถบนั้น ได้แก่ ข้าวสาลี (Wheat) หรือ ถั่วเหลือง (Soybean) ต่างค้าขายสินค้าของตนโดยใช้บริการ Futures Trading ของ CBOT ด้วย โดยในช่วงเริ่มแรกนี้การซื้อขายล่วงหน้ายังจำกัดวงอยู่เพียงสินค้าเกษตรทำให้กระบวนการการกำกับดูแลต่างๆ ของ Futures Trading เวลานั้นกระทำโดยกระทรวงเกษตร (USDA) เป็นหลัก
ในบรรดาสินค้าเกษตร หรือสินค้ากลุ่ม Agriculture ที่มีการค้าขายแบบ Futures Trading ใน Futures Exchange ทั่วโลกจากอดีตมาถึงในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มย่อย ได้แก่
1. กลุ่ม Cereals/Grains เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวเจ้า Azuki bean
2. กลุ่ม Oilseeds เช่น ถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน เมล็ดดอกทานตะวัน
3. กลุ่ม Livestock เช่น วัวเป็น (Live Cattle) เนื้อหมู (Lean Hog) หมูสามชั้น (Pork Belly)
4. กลุ่ม Forest เช่น ไม้ท่อน (Lumber) ไม้อัด (Plywood)
5. กลุ่ม Fiber เช่น ฝ้าย (Cotton) ขนแกะ (Wool)
6. กลุ่ม Diary เช่น นมดิบ ผลิตภัณฑ์เนย
7. กลุ่ม Fishery เช่น กุ้งแช่แข็ง
8. กลุ่ม Soft เช่น ยางพารา น้ำส้ม น้ำตาล กาแฟ โกโก้
ย้อนกลับมาที่เรื่องมะนาวของเราที่เป็นสินค้าประเภทผลไม้ เมื่อพิจารณาไปในกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีการซื้อขายล่วงหน้ากันในช่วงที่ผ่านมากว่า 100 ปี สินค้าประเภทที่เป็น ผลไม้ หรือ Fruit ก็มี เพียงสินค้าน้ำส้ม หรือ Frozen Concentrated Orange Juice (FCOJ) ของ ตลาด ICE ซึ่งเริ่มซื้อขายเมื่อปี ค.ศ. 1966 (44 ปีที่แล้ว) ซึ่งท่านผู้อ่านคงประหลาดใจใช่ไหมครับว่า เหตุใดสินค้าในกลุ่ม ผลไม้ จึงมีเพียงสินค้า FCOJ ที่สามารถเข้ามาทำการค้าขายในระบบ Futures Trading ได้
จะตอบคำถามข้างต้นได้ ก็คงต้องเข้าใจก่อนครับว่าสินค้าที่เหมาะสมที่จะทำการซื้อขายล่วงหน้านั้นอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ตามตำราก็ระบุไว้ชัดครับว่า สินค้าที่เหมาะสำหรับเข้ามาในระบบ Futures Trading จะต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานรวมถึงต้องบังคับใช้มาตรฐานนั้นได้ ต้องมี ความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าการซื้อขายหรือขนาดตลาดที่ใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของราคา เป็นต้น
เมื่อพิจารณาแล้วผลไม้ส่วนใหญ่อาจจะมีขนาดตลาดที่เล็กเกินไป รวมถึงการบังคับใช้มาตรฐานส่วนใหญ่อาจจะทำได้ค่อนข้างยาก
ในช่วง 2 - 3 ปีมานี้ ก็มีตลาดล่วงหน้าสนใจที่จะนำสินค้า "Fruit Futures" เข้ามาซื้อขาย อาทิ ตลาด Minneapolis Grain Exchange (MGEX) ที่สหรัฐฯ ได้ทำการเปิดให้ซื้อขาย Futures และ Options สำหรับน้ำแอปเปิลเข้มข้น (Apple Juice Concentrate หรือ AJC) เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2555 และที่ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ได้มีการนำสินค้าสับปะรดเข้าซื้อขายในปี 2555
เชื่อว่า ตลาดทั้ง 2 คงพิจารณาดีแล้วว่าFruit Futures ทั้ง AJC Futures หรือ Pineapple Futures น่าจะมีขนาดตลาดที่ใหญ่เพียงพอ อีกทั้งเป็นสินค้าที่ผ่านการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไปเรียบร้อย จึงทำให้สินค้ามีทั้งความเป็นมาตรฐานและการบังคับใช้มาตรฐานสามารถกระทำได้อย่างเคร่งครัด และสามารถผ่านเงื่อนไขเบื้องต้นของการเข้ามาซื้อขายได้
อย่างไรก็ตามผลปรากฏว่า Fruit Futures ทั้งคู่ไม่ว่าจะเป็น Apple หรือ Pineapple ต่างก็ไม่สามารถดึงดูดผู้ประกอบการรวมถึงนักลงทุนทั่วไป ให้เข้ามาซื้อขายในระดับที่มากเพียงพอให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่เป็นที่ยอมรับได้
ทั้งนี้ อาจจะเพราะผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมิได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ประกอบกับผู้ลงทุนผู้สนใจใน Sector ของ Agri-Commodity ซึ่งเป็น sector ย่อยของสินค้าโภคภัณฑ์อีกทีอาจพิจารณาแล้วเห็นว่าสินค้าจำพวก fruit ใน Asset Class ประเภทนี้มีเพียงน้ำส้มหรือ FCOJ อย่างเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต