สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สองนครา - จะเลือกบ้านป่าหรือว่าเมืองเถื่อน?

สองนครา - จะเลือกบ้านป่าหรือว่าเมืองเถื่อน?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เรื่องนี้มีที่มาจากรายงานเบื้องต้นของพ.อ.หญิง ชดาษา พนาเวศร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ. รมน.)

ที่เดินทางเข้าไปในจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ จุดมุ่งหมายของคณะทำงานได้แก่การศึกษาตัวอย่างการอนุรักษ์ป่าชุมชนของ “กลุ่มอาสาพิทักษ์ป่าดงทำเล-ดอนใหญ่” เพื่อจะนำไปเผยแพร่เป็นแบบอย่างสำหรับการบริหารจัดการป่าชุมชนในท้องถิ่นอื่นเนื่องจากรายงานของ กอ. รมน. จังหวัดบ่งว่ากลุ่มอาสาดังกล่าวประสบความสำเร็จสูง การศึกษานั้นส่งผลให้คณะทำงานเรียนรู้เกี่ยวกับสองหมู่บ้านซึ่งต่างกันปานหน้ามือกับหลังมือทั้งที่อยู่ห่างกันเพียง 40 กม.

หมู่บ้านแรกชื่อบ้านหนองบั่วซึ่งอยู่ในตำบลช้างเผือก อำเภอสุวรรณภูมิ หมู่บ้านที่สองชื่อบ้านหนองอ่างซึ่งอยู่ในตำบลกำแพง อำเภอเกษตรวิสัย บ้านหนองบั่วเป็นเป้าหมายในการศึกษาเนื่องจากชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมใจกันพิทักษ์รักษาป่าชุมชนซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ไว้ได้ทั้งที่อิทธิพลจากรอบด้านกดดันให้ตัดต้นไม้ การเข้าไปศึกษาและจัดวงเสวนาของคณะทำงานเปิดโอกาสให้ชาวบ้านหนองอ่างเข้าร่วมและเชิญคณะทำงานไปดูหมู่บ้านของตนด้วย

สิ่งที่คณะทำงานสรุปได้คือความแตกต่างดังที่เห็นในภาพ ทางซ้ายเป็นภาพของหนองบั่ว ภาพทางขวามาจากหนองอ่าง ปัจจัยที่ทำให้บ้านหนองอ่างมีลักษณะคล้ายทะเลทรายได้แก่การตัดต้นไม้ในป่าเดิมเกือบ 4 พันไร่แล้วปลูกต้นยูคาลิปตัสขึ้นมาแทนตาม “โครงการอีสานเขียว” ของรัฐบาล ณ วันนี้ ชาวบ้านหนองบั่วยังเข้าไปในป่าเพื่อแสวงหาอาหารตามฤดูกาลได้โดยไม่ต้องซื้อหาดังที่เคยทำกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด ไม่ว่าจะเป็นเห็ดชนิดต่างๆ หน่อไม้ หรือไข่มดแดง ส่วนทางบ้านหนองอ่าง ชาวบ้านทำเช่นนั้นไม่ได้ จึงต้องดิ้นรนออกไปแสวงหางานนอกหมู่บ้านทำเพื่อหารายได้มาใช้ซื้ออาหาร ชาวบ้านหนองบั่วส่วนใหญ่พอใจในสภาพความเป็นอยู่ในหมู่บ้านของตน ส่วนชาวบ้านหนองอ่างโดยทั่วไปตกอยู่ในภาวะคับแค้นใจ จึงพากันโค่นต้นยูคาลิปตัสทิ้งพร้อมกับเรียกร้องให้ภาครัฐปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นสภาพป่าให้กลับคืนมาดังเดิม

รายงานของ พ.อ. หญิง ชดาษา ทำให้ผมคิดถึงกระบวนการพัฒนาจากหลายแง่มุม เรื่องความสำคัญของป่าน่าจะเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงยากที่จะเข้าใจว่าเพราะอะไรรัฐบาลไทยและคนไทยส่วนใหญ่ดูจะไม่จริงใจกับการปกปักรักษาป่า จะเป็นไปได้หรือว่าชนชั้นผู้นำไทยส่วนใหญ่จะมีจิตใจคล้ายผู้อยู่ในเมืองเถื่อนซึ่งไม่เคยอ่านหนังสือสำคัญๆ เกี่ยวกับป่า อาทิเช่น A Forest Journey : The Story of Wood and Civilization ของ John Perlin และ Collapse : How Societies Choose to Fail or Succeed ของ Jared Diamond อยากจะเรียนว่าญี่ปุ่นพัฒนาไปได้ไกลเพราะรักษาป่าไว้มากถึงคลุมพื้นที่ราว 74% ของประเทศ ส่วนสังคมที่ล่มจมในอดีตทำลายป่าโดยไม่ตระหนักว่านั่นคือการทำลายตัวเอง

ในวันที่ 15 พฤษภาคม นี้ กอ. รมน. จังหวัดร้อยเอ็ดนัดกับหลายฝ่ายให้เข้าไปร่วมกันปลูกป่าตามคำเรียกร้องของชาวบ้านหนองอ่าง เมื่อถึงวันนั้น หวังกันว่าฝนจะตกลงมาจนทำให้พื้นดินตรงที่จะปลูกป่าชุ่มชื้นเพียงพอและชาวบ้านได้วางแผนการที่จะดูแลต้นไม้ปลูกใหม่ให้อยู่รอดตลอดไปจนในที่สุดป่าจะฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง ไม่เหมือนดังที่ผมเห็นมามากต่อมากซึ่งหลังจากขึ้นป้ายถ่ายรูปกันเสร็จแล้วก็พากันกลับไป ส่วนต้นไม้จะเป็นอย่างไรมิได้ใส่ใจกันอย่างจริงจัง ซ้ำร้ายในหลายๆ กรณี ไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะปลูกกันตอนไหน จะเตรียมพื้นดินอย่างไรและจะดูแลต่อไปอย่างไรต้นไม้ปลูกใหม่จึงจะรอด

อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ได้แก่การบริหารจัดการน้ำ เทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก เมืองไทยโชคดีที่มีฝนตกมากทุกปี การที่เราปล่อยพื้นที่ให้มีสภาพคล้ายทะเลทรายจึงเข้าใจยากมาก ในหลายส่วนของโลก ประชาชนมักตระหนักดีถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องเพราะถ้าทำผิดหมายถึงชีวิตของพวกเขา นอกจากนั้น พวกเขายังมักใช้การ “เกี่ยวฝน” กันอย่างจริงจังอีกด้วย การเกี่ยวฝนทำได้หลายวิธี น้ำฝนที่เกี่ยวได้ก็อาจเก็บไว้ได้หลายวิธีเช่นกัน จากตุ่มขนาดใหญ่ไปจนถึงบึงขนาดย่อม หลายแห่งทำกันในรูปของการขุดสระจำนวนมาก หรือทำฝายไว้ในพื้นที่และปลูกต้นไม้พร้อมกันไปด้วย สระน้ำและต้นไม้ช่วยกันรักษาดินให้ชุ่มชื้นในช่วงที่ไม่มีฝนตก การเกี่ยวฝนควรจะได้รับการศึกษาว่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับเมืองไทยได้อย่างไรบ้างรวมทั้งในโครงการปลูกป่าที่บ้านหนองอ่างด้วย หากทำได้ บ้านหนองอ่างจะเป็นแบบอย่างให้ท้องถิ่นอื่น

ดังที่ผมได้เสนอไว้ในคอลัมน์นี้ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมองว่าการปลูกป่าและการเก็บรักษาน้ำฝนไว้ให้มากๆ จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสำหรับการรับมือกับภาวะโลกร้อน ป่าและน้ำจะทำให้เมืองไทยร่มเย็นคล้ายเป็นบ้านป่าซึ่งต้องดีกว่าสภาพกึ่งทะเลทรายแน่นอนเพราะความร้อนของผิวโลกที่เพิ่มขึ้นไปอาจทำจิตใจคนไทยให้โหดร้ายจนกลายเป็นคนเถื่อน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : สองนครา จะเลือก บ้านป่า เมืองเถื่อน

view