สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การพยุงราคาสินค้าเกษตรจะช่วยชาวนาได้มากน้อยเพียงใด

การพยุงราคาสินค้าเกษตรจะช่วยชาวนาได้มากน้อยเพียงใด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




นโยบายจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกอย่างมากที่ดำเนินการโดยพรรคเพื่อไทยนั้นกำลังประสบปัญหาอย่างมาก

เห็นได้จากการที่รัฐบาลรักษาการประสบปัญหาในการหาเงินมาชำระค่าจำนำข้าวที่ค้างจ่ายชาวนาอยู่เป็นแสนล้านบาท ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะรัฐบาลรักษาการมีอำนาจจำกัดในการสร้างหนี้หรือนำเงินงบประมาณมาจ่ายคืนให้ชาวนาและอีกส่วนหนึ่งก็ถูกฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลคัดค้านความพยายามให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แสวงหาเงินกู้หรือออกพันธบัตรมาเพื่อคืนเงินชาวนา ทั้งนี้ รัฐบาลและธ.ก.ส.ต่างมีความแข็งแกร่งทางการเงินเพียงพอที่จะจ่ายคืนชาวนาได้ แต่ประสบข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น

แต่โครงการจำนำข้าวมีจุดอ่อนหลักคือการคาดการณ์ผิดพลาดว่าหากรัฐบาลไทยซื้อข้าวจำนวนมากที่ผลิตได้ในประเทศไทย จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ทำให้รายจ่ายของรัฐบาลไทยไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ดูได้จากการอนุมัติวงเงินค้ำประกันเงินกู้ธ.ก.ส.ที่อนุมัติเพื่อโครงการจำนำข้าว มูลค่าทั้งสิ้น 410,000 ล้านบาท โดยผู้ที่เกี่ยวข้องคงคาดการณ์ว่าโครงการจะมีรายจ่ายประมาณ 60,000-80,000 ล้านบาทต่อปี (ซึ่งเป็นตัวเลขที่อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์เคยกล่าวถึง) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐบาลก็น่าจะเพียงพอให้โครงการเดินหน้าไปได้ 4-6 ปี อย่างไรก็ดี ราคาข้าวในตลาดโลกมิได้ปรับขึ้นแต่ปรับลง เพราะรัฐบาลไทยไม่สามารถผูกขาดตลาดข้าวโลกได้ แม้จะลดการส่งออกของไทยลงอย่างมากราคาข้าวในตลาดโลกก็ไม่กระเตื้องขึ้นเพราะมีการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอินเดียและเวียดนาม นอกจากนั้นสต็อกข้าวของโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาข้าวไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้เลย

เมื่อราคาจำนำ (ซึ่งในความเป็นจริงคือราคาซื้อขาด) สูงกว่าราคาตลาดมาก ก็ทำให้มีแรงจูงใจให้ชาวนาผลิตมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการลักลอบขนข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสมทบด้วย ทำให้รัฐบาลต้องรับภาระการสต็อกข้าวและต้นทุนการเก็บรักษาข้าวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือโครงการจำนำข้าวทำให้ต้องใช้งบประมาณสนับสนุนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยประเมินว่าเงินที่ต้องหามาเติมนั้นสูงเกินกว่าที่ได้เคยประมาณการเอาไว้มาก ทำให้วงเงิน 4 แสนล้านบาทถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็วและแม้ ธ.ก.ส.จะเพิ่มวงเงินปล่อยกู้มาเสริมอีกเป็นแสนล้านบาทก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลยังต้องค้างชำระชาวนาอีก 100,000 ล้านบาทในการจำนำข้าวนาปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลสามารถกู้ยืมเงิน (ออกพันธบัตร) มาจ่ายได้ เพราะรัฐบาลไทยมีหนี้สาธารณะเพียง 45% ของจีดีพีซึ่งในความเป็นจริงนั้นภาระหนี้มีน้อยกว่านั้นเพราะหนี้ 1 ล้านล้านบาทเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟู ซึ่งเป็นหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับภาระตามกฎหมายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้น หนี้สาธารณะที่แท้จริงจะต่ำกว่า 40% ของจีดีพี

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าโครงการจำนำข้าวจะมีอัตราการขาดทุนสูงมาก ทำให้ต้องนำเงินงบประมาณมารับภาระเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ราคาข้าวในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าสภาวการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ นอกจากนั้นภาระที่ต้องเก็บรักษาสต็อกข้าวเป็นจำนวนมาก (คาดการณ์ว่า 15 ล้านตัน) ก็ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นอีกด้วย

สำหรับประเด็นที่บอกว่าชาวนาได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวนั้นก็ต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าภาคการผลิตส่วนใดได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด เช่น หากจะบอกว่าภาคแรงงานได้ประโยชน์ก็เป็นไปได้ เพราะราคาข้าวที่สูงมากขึ้นทำให้แรงงานไหลออกจากภาคการผลิตอื่นๆ เข้าสู่ภาคเกษตร ทำให้แรงงานขาดแคลน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากไทยมีอัตราว่างงานต่ำที่ 1%) และนายจ้างต้องเพิ่มค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเท่ากับทำให้ต้นทุนของภาคการผลิตอื่นๆ สูงขึ้น กล่าวคือมีการแย่งแรงงานกันเพิ่มขึ้น ตรงนี้จึงอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องที่ฝ่ายหนึ่งได้อีกฝ่ายหนึ่งเสียผลประโยชน์สุทธิที่ประเทศโดยรวมได้ จึงอาจไม่มากนักโดยอาจมีความพยายามเพิ่มการนำเข้าแรงงานต่างด้าว แต่ก็จะเป็นการเพิ่มจีเอ็นพีของประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า

ปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่นเครื่องไถนา ปุ๋ย ฯนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้านำเข้า แต่เนื่องจากไทยส่งออกข้าวน้อยลง ก็หมายความว่าน่าจะทำให้การขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น อีกปัจจัยการผลิตหนึ่งคือที่ดินทำนา ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตเดียวที่ปริมาณคงที่มากที่สุด (คือจำนวนที่ดินทำนาเพิ่มขึ้นไม่ได้มาก) ดังนั้น จึงจะทำให้ราคาที่นาและค่าเช่าที่นาปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุด แต่หากเป็นเช่นนั้นก็อาจสรุปได้ว่าเจ้าของที่นา โดยเฉพาะเจ้าของที่นารายใหญ่จึงน่าจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการตั้งราคาจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดโลกอย่างมากครับ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : การพยุงราคา สินค้าเกษตร ช่วยชาวนา มากน้อย เพียงใด

view