สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วัณโรค สำคัญกว่าที่คุณคิด

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย...นพ. กำพล สุวรรณพิมลกุล
       แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
       
       จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อวัณโรคที่อยู่ในระยะแฝง ซึ่งไม่แสดงอาการอยู่มากถึง 1/3 ของประชากรทั่วโลก หรือเทียบเท่ากับ 2,000 ล้านคนทั่วโลก โดยผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดจากการรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่า อุบัติการณ์ (incident) การเกิดโรควัณโรคสูงถึง 8.6 ล้านคน ใน 1 ปี และในผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่าเสียชีวิตจากวัณโรคสูงถึง 1.3 ล้านคนต่อปี
“วัณโรค” สำคัญกว่าที่คุณคิด
นพ. กำพล สุวรรณพิมลกุล
       ส่วนในประเทศไทยจากรายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกปี พ.ศ.2555 พบผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยทั้งหมด 61,208 รายที่มีการลงทะเบียนทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมกับผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้มี การลงทะเบียนซึ่งเชื่อว่ามีอีกจำนวนมาก
       
       เชื้อวัณโรค หรือ TB (tubercle bacillus) จัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่มีการเจริญเติบโต หรือการแบ่งตัวช้ากว่าแบคทีเรียทั่วไปชนิดอื่นๆ โดยแบคทีเรียกลุ่มนี้ชื่อว่า ไมโครแบคทีเรีย มีหลายสายพันธุ์ซึ่งก่อให้เกิดวัณโรคได้ แต่สายพันธุ์ที่พบบ่อยและก่อปัญหามากที่สุดในมนุษย์คือ เชื้อ Mycobacterium tuberculosis
       
       มนุษย์สามารถติดเชื้อวัณโรคได้โดย ผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ล่องลอยในอากาศเข้าไปภายในปอด และต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด เชื้อในปอดหรือต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดอาจมีการแพร่กระจายทางเลือดหรือระบบ น้ำเหลือง และอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ได้ทั่วร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ ม้าม กระดูก หรือเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น แต่วัณโรคที่ปอดเป็นตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดเนื่อง จากเชื้อสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้โดยการไอและเชื้อแขวนลอยอยู่ในอากาศ
       
       โดยปกติเชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายโดยเชื้อที่แขวนลอยอยู่ในอากาศจะเข้า สู่ทางเดินหายใจและปอด ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะมีการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ที่อยู่ที่ปอดเพื่อต่อสู้กับเชื้อวัณโรคที่เข้ามาอยู่ในร่างกาย ผลของการตอบสนองจากระบบภูมิคุ้มกันดังกล่าวแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เชื้อวัณโรคจะถูกกำจัดได้หมดโดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ไม่มีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย
       2.เชื้อวัณโรคจะเข้ามาอยู่ในร่างกาย แต่จะอยู่ในระยะแฝงของการติดเชื้อวัณโรค โดยจะมีเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ โอบล้อมเชื้อวัณโรคอยู่ทำให้เชื้ออยู่ในระยะสงบหรือระยะแฝง ซึ่งจะไม่ก่อโรคหรือที่เรียกว่า Latent tuberculosis ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการใดๆ และจะไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อ แต่เมื่อไหร่ที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันเสื่อม เม็ดเลือดขาวที่โอบล้อมเชื้ออยู่ไม่สามารถควบคุมเชื้อได้ก็จะทำให้ผู้ติด เชื้อป่วยเป็นโรควัณโรคได้
       
       และ 3.กลุ่มผู้ป่วยที่กลายเป็นโรควัณโรค (active tuberculosis) หลังจากที่มีการสัมผัสเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ
       
       ถ้าเราอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค เราจะมีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้มากน้อยเพียงใด?
       
       นิยามของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด (Close contact) คือ ผู้ที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน เช่น บ้านเดียวกัน ห้องนอนเดียวกัน ห้องเรียนเดียวกัน มีการสัมผัสใกล้ชิดที่ต่อเนื่องตั้งแต่ 8 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน ถ้าเป็นการสัมผัสไม่ต่อเนื่องให้คิดเวลารวมตลอดเดือนหากมากกว่า 120 ชั่วโมงขึ้นไปถือว่าสัมผัสใกล้ชิด โอกาสการติดเชื้อวัณโรคจากบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปริมาณเชื้อวัณโรคของผู้ป่วย ลักษณะการระบายอากาศของห้องที่อยู่ร่วมกัน เป็นต้น
       
       ยกตัวอย่างพอสังเขปให้ง่ายขึ้น คือ ผู้ ป่วยที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอดในห้องเดียวกัน 100 คน โดยเฉลี่ยแล้ว จะมี 70 คนที่ร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อไปได้หมด ส่วนที่เหลือ 30 คนจะมีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย และ ใน 30 คนนี้ จะมีประมาณ ร้อยละ 5 ที่จะป่วยเป็นวัณโรคในระยะเฉียบพลัน ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ดี ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันต่างๆ เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 95 จะติดเชื้อวัณโรคที่อยู่ในระยะแฝงที่ไม่แสดงอาการ ถ้าผู้ป่วยแข็งแรงดีเชื้อก็จะอยู่ในระยะแฝงต่อไปเรื่อยๆ โดยผู้ติดเชื้อจะไม่เป็นโรค และไม่แพร่กระจาย แต่จะป่วยเป็นโรคได้เมื่อมีภูมิต้านทานลดลง (reactivation)
“วัณโรค” สำคัญกว่าที่คุณคิด
       การตรวจว่าเรามีเชื้อวัณโรคที่อยู่ในระยะแฝงในร่างกายเราหรือไม่อย่างไรนั้น มีวิธีการตรวจที่เรียกว่า Tuberculin skin test (TST) เป็นการทดสอบที่มีการใช้มานานกว่า 100 ปี ใช้หลักการของการตอบสนองโดยกลไกภูมิคุ้มกันของร่างกาย (delay-type hypersensitivity reaction) ที่จะสามารถให้ผลบวกได้ระหว่าง 2 ถึง 8 สัปดาห์ หลังจากที่ได้รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยฉีด purified protein derivation (PPD) ขนาด 0.1 มล ซึ่งเป็นสารที่สกัดจากเชื้อวัณโรค เข้าบริเวณท้องแขนชั้น intradermal และวัดผลการตอบสนองภายใน 48-72 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ความไวและความจำเพาะของการทดสอบวิธีนี้ค่อนข้างจำกัด
       
       อาการที่พบบ่อยของวัณโรคปอด คือ ไอเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะหรือไอแห้งๆ ก็ได้ มีน้ำหนักลด รับประทานอาหารลดลง อาการไข้ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน หรือมีอาการไอเป็นเลือด ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการไอเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ เพียงอย่างเดียวก็ได้โดยที่ไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย การวินิจฉัย คือการส่งเสมหะเพื่อตรวจย้อมเชื้อวัณโรค และการส่งเพาะเชื้อวัณโรค ร่วมกับการถ่ายเอกซเรย์ปอด จะช่วยในการวินิจฉัย
       
       วัณโรคสามารถรักษาได้หายขาด แต่จะกลับเป็นซ้ำได้ ถ้ารับประทานยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง เนื่องจากเชื้อบางส่วนจะหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ ทำให้ต้องรักษาด้วยยาร่วมกันหลายขนานในช่วง 2-3 เดือนแรก และต้องรักษานานอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อลดโอกาสการดื้อยาและการกลับเป็นซ้ำ ถ้าเป็นวัณโรคปอด หลังจากรับประทานยาไปแล้วอาการไข้ หรือ ไอ ดีขึ้นห้ามหยุดยาโดยเด็ดขาด ถ้าหยุดยาก่อนแพทย์สั่งจะมีผลต่อการดื้อยาและการกลับเป็นซ้ำจะทำให้รักษาหาย ขาดได้ยากขึ้น ยกเว้นเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงที่สงสัยว่าเป็นจากยาต้านวัณโรค เช่น คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือ มีผื่นขึ้นรุนแรงทั่วตัว เป็นต้น ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
       
       โดยทั่วไปถ้าเป็นการรักษาวัณโรคปอดที่ไม่ดื้อยา ส่วนใหญ่หากตรวจย้อมเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรคแล้ว 2-3 ครั้งหลังทำการรักษาก็ถือว่าอยู่ในระยะปลอดภัยในการแพร่กระจายของเชื้อ แต่ถ้าวินิจฉัยวัณโรคจากอาการ และภาพเอกซเรย์ปอด โดยที่ย้อมสีเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรคตั้งแต่แรก โดยทั่วไปแล้วเชื้อมักจะไม่แพร่กระจายหลังจากที่รักษาด้วยยาต้านวัณโรคไป แล้ว 2-3 สัปดาห์
       
       ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดตามนิยามดังที่กล่าวข้างต้น กลุ่มเสี่ยงที่สุดและคุ้มค่าในการให้ยาป้องกันการเป็นวัณโรคมากที่สุดคือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงสูงสุดที่จะป่วยเป็นวัณโรค และถ้าเป็นแล้วจะมีโอกาสกระจายทั่วร่างกาย และเป็นวัณโรคในเยื่อหุ้มสมองได้สูง (การฉีดวัคซีน BCG จะช่วยลดอุบัติการณ์การเป็นวัณโรคทั่วร่างกายและวัณโรคในเยื่อหุ้มสมองได้มา ประมาณร้อยละ 60) ในทางปฏิบัติเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปีที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคโดยทั่วไปแล้วแนะนำให้รับ ประทาน ยา isoniazid เพื่อป้องกันการเป็นวัณโรค 6-9 เดือนทุกราย แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนให้ยาป้องกันว่าเด็กไม่ได้เป็นวัณโรคอยู่ก่อน แล้ว (ควรถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดก่อนให้ยาป้องกัน) ส่วนเด็กที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 5 ปีให้พิจารณาเป็นรายๆ ไปตามผลการทดสอบ Tuberculin skin test
       
       สิ่งสำคัญในการปฏิบัติตนเมื่อมีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้าน?
       
       ควรแยกห้องกับสมาชิกในครอบครัวให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2-3 สัปดาห์แรก ภายในห้องควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และให้แสงแดดส่องถึงเนื่องจากแสงแดดจะทำลายเชื้อวัณโรคได้ดี หมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด ควรสวมหน้ากากหรือผ้าปิดจมูก และเปลี่ยนให้สม่ำเสมอเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และเสมหะควรบ้วนลงภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด

ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : วัณโรค สำคัญกว่า คุณคิด

view