สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนะ5ข้อปกป้องสิทธิเจออาหารไม่ได้คุณภาพ

จาก โพสต์ทูเดย์

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะ 5 วิธีปกป้องสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน เมื่อเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหาร เผย ปี 56 มียอดผู้ร้องเรียนถึง 152 ราย

จากกรณีที่หญิงสาวรายหนึ่งโพสต์ภาพขณะพบเจอแมลงสาบในถ้วยไอศกรีมช็อกโกแลตซันเดย์ที่ซื้อจากร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ขณะที่ทางร้านได้ชี้แจงโดยระบุว่าลูกค้าซื้อไอศกรีมและนำสินค้าออกนอกร้านไปแล้วก่อนที่จะกลับมาแจ้งว่าพบแมลงสาบหลังเวลาผ่านไป 2 ช.ม.พร้อมระบุว่าได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานแล้ว ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง โดยมีการตั้งคำถามว่าหากเป็นผู้พบกับเหตุการณ์ดังกล่าวควรปฏิบัติตัวเช่นไร

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าขณะนี้เจ้าทุกข์ยังไม่ได้เข้ามาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่หากต้องการคำปรึกษาก็ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้ทางร้านคู่กรณีควรแสดงความรับผิดชอบ เร่งเยียวยาผู้เสียหายโดยเร็ว มากกว่าจะออกแถลงการณ์ขู่ฟ้องดำเนินคดีกลับ

"คงไม่มีผู้บริโภคคนไหนเอาแมลงสาบมาใส่ไว้ในถ้วยเองแน่ๆ คำตอบที่จะได้รับจากทางร้านก็คงซ้ำๆเดิมๆคือตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องยากของผู้บริโภคบ้านนี้เมืองนี้ที่จะพิสูจน์ และทำให้เกิดกลไกที่ดีในการที่จะได้รับความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น สิ่งที่ทางร้านต้องทำคือแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ และหามาตรการเยียวยาผู้เสียหายจนพึงพอใจโดยเร็วที่สุด ด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก"สารีกล่าว

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำถึงวิธีการจัดการตนเองเมื่อเจอสถานการณ์ว่า

1.ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

2.ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน

3.นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน

4.โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

5.ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจนซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด

สารีกล่าวอีกว่า ผู้เสียหายยังสามารถร้องเรียนได้ด้วยตัวเองผ่านช่องทาง 1556 หรือแจ้งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-248-3737  ว่าด้วยเรื่องสิ่งแปลกปลอมในอาหาร ตามพรบ. อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 (1) เรื่อง อาหารไม่บริสุทธิ์ มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานเฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเพื่อจัดการปัญหาด้านอาหารให้กับผู้บริโภคของศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลาและสตูล ระหว่างเดือนกันยายน 2555 ถึง ธันวาคม 2556 พบปัญหาด้านอาหารทั้งสิ้น 152 กรณี ประกอบด้วยอาหารปนเปื้อน 31 ราย บรรจุภัณฑ์ชำรุดบกพร่อง/คุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 29 ราย แสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง 28 ราย โฆษณาอาหาร-ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฏหมาย 22 ราย จำหน่ายสินค้าหมดอายุ 14 ราย อาหารเป็นพิษ/ได้รับอันตรายจากการบริโภอาหาร 13 ราย ราคาแพงเกินจริง/ไม่ติดป้ายราคา/ราคาไม่ตรงกับป้าย 8 ราย อาหารเสียก่อนวันหมดอายุ 3 ราย แหล่งผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ 2 ราย น้ำมันทอดซ้ำ 2 ราย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : แนะ5ข้อ ปกป้องสิทธิ เจออาหาร ไม่ได้คุณภาพ

view