สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส่งสัญญาณเตือนไม่ฟัง พังเพราะจำนำข้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คำเตือนระคายหูจาก"ปปช.-สตง.-นักวิชาการ-หน่วยงานรัฐ"ถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์กรณีจำนำข้าว

เปิดข้อมูลย้อนหลัง "ปปช.-สตง.-นักวิชาการ-หน่วยงานรัฐ" เตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการ"รับจำข้าว" ก่อนถึงหายนะ ค้างจ่ายหนี้เกษตร 1.3 แสนล้าน ระบายข้าวไม่ทัน-จีทูจีล่ม

เปิดข้อเสนอปปช.ต่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์

หลังจากที่ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แจ้งยืนยันผลการศึกษาวิจัยมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต และข้อเสนอแนะที่ ป.ป.ช.ได้เสนอต่อครม.แล้ว จากการติดตามของคณะอนุกรรมการฯ พบว่า การดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีการรับจำนำของรัฐบาลปัจจุบัน ยังคงก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกบังเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรที่ได้เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริต เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นการป้องกันการทุจริตและป้องกันมิให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกก่อให้ความสูญเสียด้านงบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ คือ

1. การดำเนินการตามนโยบายยกระดับราคาข้าว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ควรได้พิจารณา

- กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรแบกรับภาระอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล และไม่บิดเบือนกลไกตลาด

- มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาแนวหาทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าว

- ให้รัฐบาลติดตามและประเมินผลโครงการฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจให้องค์กรเอกชนศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการรับจำนำ แล้วนำมาพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2. การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก การขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกร

- นอกเหนือจากการกำหนดให้มีกระบวนการทำประชาคม และให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองเกษตรกรแล้ว ให้กรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาให้มีและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เฉพาะเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริตที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล

- กำหนดให้มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสมและจริงจังกับเกษตรกรที่ไม่สุจริต

3.การระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล

- เพื่อมิให้ข้าวที่ได้มาจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2554/55 ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมาก ที่มีผลเนื่องมาจากการเก็บรักษาข้าวเป็นเวลานาน ข้าวเกิดความเสียหาย เสื่อมคุณภาพ สูญเสียน้ำหนัก และเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงเป็นการสมควรที่มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีแผนการบริหารจัดการการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ การปิดบัญชีโครงการฯ พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการหรือที่ไม่สามารถไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาโดยเร็ว และต่อเนื่อง

- หลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดในการดำเนินการ และผลของการระบายหรือขายข้าวที่อยู่ในคลัง หรือโกดังกลางที่อยู่ในความดูแลขององค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ประกาศโดยเปิดเผยเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไป และดำเนินการด้วยความโปร่งใส

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะของป.ป.ช.ประการสำคัญ คือ ในเรื่องของการระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีแผนการบริหารจัดการการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ

การปิดบัญชีโครงการฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักเกณฑ์ วิธีการ และ รายละเอียดในการดำเนินการ และผลของการระบายหรือขายข้าวที่อยู่ในคลัง หรือโกดังกลางที่อยู่ในความดูแลของ องค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ประกาศโดยเปิดเผยเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไป และดำเนินการด้วยความโปร่งใส รัฐบาลยังสนองตอบได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร

ป.ป.ช.จี้พาณิชย์ ส่งหลักฐานขายจีทูจี

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่มีมติให้เลขาธิการ ป.ป.ช. แสวงหาข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยให้ขอรายละเอียดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด ตั้งแต่การรับจำนำข้าวว่ามีการดำเนินการอย่างไร มีข้าวในสต็อกเท่าไร รวมถึงให้กระทรวงพาณิชย์ส่งเอกสารหลักฐานการระบายข้าวจีทูจีมาให้ ป.ป.ช. พิจารณาด้วย

ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าการขยายข้าวจีทูจีเป็นความลับ เรื่องนี้ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาแสวงหาข้อเท็จจริงตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งจะอยู่ในอำนาจของเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณา แต่ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน หรือชี้มูลความผิดใคร ส่วนจะเสร็จเมื่อไหร่ ไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก

สตง.เตือนนายกฯยิ่งลักษณ์

น.ส.ประพีร์ อังกินันทน์ รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ลงวันที่ 30 ม.ค.57 เสนอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไป อาจพิจารณาใช้มาตรการ หรือแนวทางการช่วยเหลือในลักษณะอื่นแทน เช่น การสนับสนุนปัจจัยการผลิต และให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรยากจน หรือมีรายได้น้อยเป็นลำดับแรก

สตง.ระบุว่า ได้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลตั้งแต่ ปีการผลิต 54/55 เป็นต้นมา พบว่าการดำเนินงานโครงการมีจุดอ่อน หรือความเสี่ยงทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกร จนถึงการระบายข้าว ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่การสวมสิทธิ์การจำนำ และการทุจริต โดยสตง.ได้สรุปประเด็นปัญหาและความเสี่ยงสำคัญ แจ้งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาให้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานโครงการ ตามหนังสือที่เคยแจ้งถึงนายกรัฐมนตรี มาแล้ว 3 ฉบับ

นอกจากนี้ ยังระบุว่าผลกระทบจากการดำเนินโครงการ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดิน และเกษตรกร ความเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ และไม่เกิดการพัฒนาการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน เนื่องจากการดำเนินโครงการมีผลขาดทุนสูงมาก จากการรายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรของรัฐบาล โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเลือกตามนโยบายรัฐบาล โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 54/55 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 55 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี การผลิต 55/56 (ครั้งที่ 1 ) พบว่า สิ้นสุด วันที่ 31 พ.ค. 56 มีผลขาดทุน 332,372.32 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสูงกว่ายอดการปิดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.56 ซึ่งมีผลขาดทุน 220,968.78 ล้านบาท มากถึง 111,403.54 ล้านบาท ชี้ให้เห็นแนวโน้มผลการขาดทุนสูงขึ้น

สตง.ได้ทำหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับปัญหาการจ่ายเงินให้ชาวนาล่าช้า โดยระบุว่า การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 56/57 จากแหล่งใด ๆ ก็ตาม ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ขัดหรือแย้ง ต่อบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินงานที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องโดยเคร่งครัด และรอบคอบ เพราะหากการดำเนินการดังกล่าว เข้าสู่การวินิจฉัยชี้ขาด โดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แล้วปรากฏว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง ผู้อนุมัติและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลตั้งแต่ปีการผลิต 2554/55 เป็นต้นมา และศึกษาวิเคราะห์จากผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการจำนำข้าวปีการผลิต 2548/49 และ 2549/50 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรปีการผลิต 2552/53 และ 2553/54

จากการตรวจสอบดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้

1. การดำเนินโครงการมีจุดอ่อนหรือความเสี่ยงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกร จนถึงการระบายข้าว ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่การสวมสิทธิ์การจำนำและการทุจริตในโครงการ เช่น พบว่าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่ถูกต้อง เกินความเป็นจริง นอกจากนี้ การจัดเก็บรักษาข้าวของโครงการสูญหาย รวมทั้งการระบายข้าวตามโครงการได้น้อยและล่าช้ามาก ส่งผลให้ข้าวสารคุณภาพเสื่อม

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ณ 15 มกราคม 2557 ได้ตั้งข้อสังเกตว่าองค์การคลังสินค้าและองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร รายงานข้อมูลปริมาณข้าวสารคงเหลือในคลังสินค้ากลางไม่ถูกต้องครบถ้วนและล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีการแก้ไขข้อมูลบ่อยครั้ง ทำให้ไม่สามารถปิดบัญชีได้ทันเหตุการณ์ อีกทั้งยังมีการขอปรับเพิ่มปริมาณข้าวสารคงเหลือ ณ 27 มิถุนายน 2556 สูงถึง 2.98 ล้านตัน แต่ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันความถูกต้องได้

2. ผลกระทบที่ทำให้เกิดความเสียหาย มีความเสี่ยงว่าจะมีความไม่โปร่งใสและน่าเชื่อว่ามีการทุจริตสูง และยังมีผลการดำเนินงานขาดทุนจำนวนหลายแสนล้านบาท อีกทั้งโครงการนี้รัฐบาลกลายเป็นพ่อค้าขายข้าวแข่งกับเอกชน ซึ่งนำไปช่องทางการทุจริต

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติพิจารณาดำเนินการดังนี้

1. ทบทวนและยุติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไป โดยให้การช่วยเหลือในรูปแบบอื่นแทน

2. กำหนดมาตรการเยียวยากรณีที่จ่ายเงินเกษตรกรล่าช้า

3. เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เพื่อทำรายงานในทุกโครงการตั้งแต่ปีการผลิต 2547/48 เป็นต้นมา ส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบโดยเร็ว

4. พิจารณาให้มีการบูรณาการแก้ไขปัญหาการผลิตข้าวอย่างเป็นระบบครบวงจร ยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตข้าวไทยให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง

ทีดีอาร์ไอเตือนโครงการจำนำส่อทุจริต

นายนิพนธ์ พัวพงศกร กับ นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เขียนบทความหัวข้อ "ใครต้องโชว์ใบเสร็จทุจริตจำนำข้าว" มีเนื้อหาบางตอนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะข้อเสนอที่มีไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่าด้วยแก้ปัญหาการทุจริตในโครงการ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีบอกว่า ถ้า นางสาวสุภา ปิยะจิตติ มีข้อมูลการทุจริตข้าวทุกระดับให้ส่งหลักฐานเข้ามาพร้อมดำเนินคดีจนถึงที่สุด

แต่วันต่อมา กลับมีข่าวว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลัง สั่งให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ไปให้ข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจวุฒิสภา ว่าโครงการรับจำนำข้าว มี “ความเสี่ยงและโอกาส” ที่จะเกิดการทุจริตทุกขั้นตอน

อันที่จริง หาก นายกรัฐมนตรี มีความจริงใจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในโครงการรับจำนำข้าว นายกฯ สมควรจะแสดงความชื่นชมต่อการทำงานของข้าราชการที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่แบบตรงไปตรงมา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินตามที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานตามกฎหมาย และสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว แทนการสอบสวน นางสาวสุภา

นายกรัฐมนตรี น่าจะรู้ดีว่าผู้ปิดบัญชีโครงการ เมื่อพบข้อบกพร่องในการทำบัญชีและภาวะขาดทุนของโครงการฯ ผู้ปิดบัญชีจะต้องระบุสาเหตุ เพื่อให้ผู้บริหารนำไปแก้ไข

จากการแถลงข่าวของ รัฐมนตรีวราเทพ รัตนากร ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏข้อเท็จจริงว่านอกจากการขาดทุนเนื่องจาก การตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกราคาสูงกว่าราคาตลาด การขาดทุนยังเกิดจากสาเหตุสำคัญอีก 2 ประการ คือ (1) มีข้าวสารจำนวน 2.9 ล้านตัน ที่ยังไม่ได้ส่งมอบและอาจสูญหายจากโกดังกลาง ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 และ (2) การขาดทุนเนื่องจากการระบายข้าวของรัฐในราคาต่ำกว่าราคาตลาด

ปัญหาข้าวสารจำนวน 2.9 ล้านตัน ที่ยังไม่ได้ลงบัญชี ทำให้รัฐบาลสั่งการให้มีการตรวจสต็อกข้าวทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 แต่ดูเหมือนว่าเป็นเพียงปฏิบัติการผักชีโรยหน้า

หากรัฐบาลประมูลขายข้าวแบบโปร่งใส ก็จะขายได้ในราคาใกล้เคียงราคาตลาด แต่เป็นที่ทราบกันดีในวงการค้าข้าวว่ารัฐบาลระบายข้าวผ่านช่องทางแคบๆ ที่มีพ่อค้าเพียง 3-4 รายเท่านั้น โดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้าทั้งๆ ที่การระบายข้าวส่วนใหญ่เป็นการขายในประเทศ ไม่ต้องขายแข่งกับประเทศใด การที่รัฐบาลยังคงปกปิดราคาและปริมาณการขายข้าวชวนให้นึกว่าเป็นเหตุผลทางการค้าจริง หรือต้องการปกป้องใครบางคน

การขาดทุนจากการขายข้าวจำนวนมาก (7-10 ล้านตัน) ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นเรื่องที่จะต้องมีการสอบสวนโดยเร่งด่วน จริงอยู่รัฐบาลแก้ตัวว่าการขาดทุนส่วนหนึ่งเกิดจากการขายข้าวราคาถูกให้ผู้บริโภคและหน่วยราชการ รวมทั้งการบริจาคให้ต่างประเทศ แต่การศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ของวุฒิสภาพบว่าปริมาณข้าวถุงราคาถูกที่ส่งให้ร้านถูกใจ อาจมีปริมาณเพียง 5-10% ของปริมาณข้าวถุงราคาถูก ที่ครม.อนุมัติ (1.8 ล้านตัน) แปลว่า นอกจากข้าวถุงราคาถูกในร้านถูกใจแล้ว หน่วยงานรัฐขายข้าวทั้งหมด (7-10 ล้านตัน) ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดมาก ดังนั้นจึงต้องมีการสืบสวนโดยเร่งด่วน ว่า ทำไมหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ จึงขายข้าวในราคาต่ำกว่าตลาดมาก ขายให้พ่อค้าคนใด ราคาเท่าใดและจำนวนเท่าใด และได้รับเงินค่าขายข้าวหรือยัง

กระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถอ้างความลับทางการค้า เพื่อปฏิเสธการให้ข้อมูลเหล่านี้ เพราะว่าข้าวจำนวนนี้ขายไปหมดแล้ว และข้าวส่วนใหญ่ก็ขายในประเทศ บัดนี้เวลาก็ล่วงเลยมาเกือบสองปีแล้ว ข้ออ้างเรื่องความลับทางการค้าฟังไม่ขึ้นอีกแล้ว ประชาชนเจ้าของเงินที่ใช้จำนำข้าวมีสิทธิร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องได้ข้อมูลดังกล่าว

รัฐบาลต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้ เพราะว่า "หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ออกใบเสร็จ" มีแต่คนนอกที่ไม่รู้ข้อมูลว่ารัฐบาลเป็นเจ้าของใบเสร็จทุกใบ ป่วยการที่จะสั่งให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว นำใบเสร็จมาโชว์

ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จะต้องเร่งสั่งการให้หน่วยงานรัฐ ส่งต้นขั้วใบเสร็จการระบายข้าวให้แก่ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนว่ามีการทุจริตกันอย่างไร แล้วนำเสนอรายงานต่อรัฐสภา โดยเร่งด่วน

8 ประเด็นความโปร่งใสจำนำข้าว

- ข้าวไม่ลงบัญชี 2.9 ล้านตัน

- นำเข้าข้าวเพื่อนบ้านสวมสิทธิเปาเกา

- อนุ กขช. ยกเลิกคำสั่งสีแปรใน 7 วัน

- การขายข้าวจีทูจี 1.76 ล้านตัน

- การขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาดมาก

- การขายข้าวถุงราคาถูก การส่งมอบ

- การลักลอบขายข้าวใหม่จากโกดัง สลับบัญชี

- การซื้อข้าวผ่านนายหน้าราคาถูก

สศช.เสนอรื้อโครงการจำนำทั้งระบบ

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงการ

1.ควรกำหนดราคาจำนำให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับภาวะราคาข้าวในตลาดโลก โดยอาจคำนวณจากต้นทุนการผลิตข้าว บวกค่าขนส่ง และกำไรที่เหมาะสมของเกษตรกร ทั้งนี้ในระยะแรก ควรพิจารณาจำกัดปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรต่อครัวเรือน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรรายย่อย และในระยะต่อไปควรพิจารณากำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ข้าวในตลาดโลก

2.ควรจำกัดปริมาณและ/หรือพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยที่ยากจน มีพื้นที่นาน้อยหรือต้องเช่านาจากผู้อื่นและเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม

มอบคลังเกาะติดกระแสเงินสด

3.ควรเร่งรัดการออกเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความรวดเร็ว และพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเกษตรกร 4.ควรเน้นความโปร่งใสในการระบายข้าวและเร่งระบายให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคาตลาดโลก เพื่อลดต้นทุนการเก็บรักษาและการเสื่อมสภาพ

4.การดำเนินการควรกำหนดเป้าหมายการขาดทุนของโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไม่เกิน 1 แสนล้านบาทต่อปี ในระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

5.สนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพข้าว เร่งรัดการจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตร 6.ส่งเสริมกลไกตลาดซื้อขายเกษตรล่วงหน้าให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ 6.มอบหมายให้กระทรวงการคลังติดตามควบคุมกระแสเงินสดของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปรับปรุงการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าและระบบการประกันภัยพืชผลสินค้าเกษตร เพื่อใช้เป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและสร้างความมั่นคงและพึ่งตนเองในระยะยาว

สำนักงบประมาณเตือนโครงการจำนำ

การใช้เงินงบประมาณเพื่อโครงการรับจำนำข้าว ตามนโยบายของรัฐบาล ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยสำนักงบประมาณซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลการใช้จ่ายของรัฐ ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินนโยบายรัฐบาล ต้องระบายข้าวออกจากสต็อกก่อน เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนใช้ในโครงการ ด้านกระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/56 อีกครั้งในวันที่ 25 ก.ย.นี้ เพื่อให้สามารถเปิดรับจำนำได้ทันในวันที่ 1 ต.ค. นี้ หลังจากที่โครงการถูกตีกลับจาก ครม. ในการประชุมวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา

นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้เสนอความเห็นในที่ประชุม ครม. เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการว่า ควรพิจารณารับจำนำข้าวนาปรังประจำปี 2554/55 ที่กระทรวงพาณิชย์ขอขยายปริมาณรับจำนำข้าวเพิ่มอีก 2 ล้านตัน ภายใต้กรอบวงเงินที่เหลืออีก 2.6 แสนล้านบาทให้หมดก่อน ที่จะเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ประจำปี 2555/56 วงเงิน 4.05 แสนล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์ต้องจัดทำแผนแสดงรายละเอียด ปริมาณสต็อกข้าวของรัฐบาล ปริมาณข้าวที่มีการระบาย ตัวเลขรายได้ จากการระบายข้าว รวมถึงประเทศที่ซื้อข้าวแบบจีทูจี หรือผู้ส่งออกข้าวที่ประมูลซื้อข้าวในสต็อก เพื่อเสนอที่ประชุมครม.ครั้งต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดการระบายข้าวและสต็อกข้าวที่ชัดเจนต่อที่ประชุม

"กระทรวงพาณิชย์ควรจะทำแผนและรายละเอียดการระบายข้าว รายได้จากการขายข้าว และสต็อกข้าวที่มีทั้งหมด เพื่อประเมินว่า จะมีเงินไหลเข้ามาจำนวนเท่าไรและรัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณไว้อีกจำนวนเท่าไหร่ เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำรอบใหม่ โดยที่ประชุมไม่อยากให้กระทรวงพาณิชย์คำนึงถึงปริมาณข้าวที่จะรับจำนำ แต่ให้เปิดรับจำนำจนกว่ากรอบวงเงินที่มีอยู่จะหมดไป จากนั้นกระทรวงการคลังจะได้จัดหาแหล่งเงินมาสมทบให้ใหม่โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีที่ใช้เงินกู้ของ ธ.ก.ส.หมดแล้ว" นายวรวิทย์ กล่าว

ชี้ภาระหนักหากคลังค้ำเงินกู้ไม่ได้

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำนักงบประมาณสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 ของรัฐบาล เพียงแต่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์มีการระบายข้าวในสต็อกออกไปบ้าง เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนไหลกลับเข้ามาบ้าง และเพื่อให้มีช่องว่าง ที่จะไม่ทำให้เพดานการค้ำประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลังเต็มเพดานในการก่อหนี้ ในกรณีที่ต้องหาแหล่งเงินเพื่อให้ ธ.ก.ส.กู้เงินไปใช้ในโครงการรับจำนำรอบใหม่ ซึ่งหากกระทรวงการคลังไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.ได้ จะทำให้มีต้นทุนเงินสูงกว่าเงินกู้ที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน

"ครม.เป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการสต็อกข้าวของรัฐบาล ว่ามีเหลืออยู่จำนวนเท่าไร รวมถึงแผนการระบายข้าวที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้แจกแจงรายละเอียดมากนัก โดยเฉพาะตัวเลขการระบายข้าวที่ชัดเจน ข้อเสนอแนะนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่สนับสนุนโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ตามนโยบายรัฐบาล แต่ต้องการให้ดำเนินการรับจำนำไปจนกว่าเงินจะหมด แล้วค่อยเริ่มโครงการใหม่ และต้องมีแผนระบายข้าวที่ชัดเจนด้วย เพื่อให้เงินหมุนเวียนกลับมาด้วยเพื่อไม่ให้เพดานค้ำประกันหนี้ของกระทรวงการคลังเต็มเพดานไปก่อน" นายวรวิทย์ กล่าว

หน่วยงานรัฐรุมเตือนโครงการจำนำ

สำนักงานเลขาธิการ ครม.ให้ความเห็นเสนอครม.ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 และการขอขยายปริมาณ และกรอบการใช้เงิน โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 เป็นการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ตามนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีการผลิต 2555 และ มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งมีปริมาณผลผลิตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำเป็นต้องมีงบประมาณ เพื่อดำเนินการรับจำนำเพิ่มเติมให้เพียงพอด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรังในครั้งนี้ จะมีผลให้ปริมาณข้าวเปลือกสะสมที่รัฐบาลรับจำนำไว้แล้วทั้งหมดสูงถึงประมาณ 50 ล้านตัน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาถึงการบริหารจัดการสต็อก และการระบายข้าวเปลือกให้เหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุด รวมทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงบประมาณ ควรต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดเป็นภาระงบประมาณของประเทศ ที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินสินเชื่อ และเงินจ่ายขาด ซึ่งในภาพรวมจะเป็นหนี้ของประเทศจำนวนสูงมาก

สศช.ชี้งบจำนำ 2 ปี พุ่ง 9.22 แสนล้าน

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่า การขอวงเงินเพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าวอีกกว่า 405,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินจ่ายขาดให้ ธ.ก.ส. ไปดำเนินการอีก 11,771.25 ล้านบาท เพื่อรับจำข้าวเปลือกอีก 26 ล้านตันนั้น นั้นเป็นวงเงินที่สูงมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อให้คุ้มค่าสูงที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับงบประมาณแผ่นดิน

ทั้งนี้ วงเงินที่ใช้รับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 และข้าวนาปรังปี 2555 นั้นได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 517,958 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องเร่งระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลในเวลาและปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศให้ตกต่ำ และไม่ทำให้เกิดผลขาดทุนและเป็นภาระด้านงบประมาณมากเกินควร เพื่อให้มีเงินเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 และนาปี 2555/56 ต่อไป

นอกจากนี้เห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้มงวดการดำเนินการ เพื่อป้องกันการทุจริตและรั่วไหล พร้อมส่งเสริมให้ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าข้าวให้สูงสุดเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นและรองรับการรวมกลุ่มของประเทศอาเซียนในปี 2558 ด้วย

สำนักงบชี้กระทบคลังค้ำประกัน

ขณะที่สำนักงบประมาณได้ให้ความเห็นว่าสำหรับวงเงิน 4.05 แสนล้านบาทที่ขออนุมัติมานั้น เห็นสมควรให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเร่งระบายข้าวปี 2554/55 ออกมาก่อน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรับจำนำในฤดูกาลต่อไป หากยังไม่มีการระบายผลผลิต จะส่งผลต่อกระทบต่อความสามารถกระทรวงการคลัง เป็นภาระการคลังในการค้ำประกันเงินกู้ ที่ทำให้รัฐบาลต้องรับภาระดอกเบี้ย ในอัตราที่สูงกว่าการจัดหาเงินกู้โดยที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ส่งสัญญาณ เตือนไม่ฟัง พังเพราะ จำนำข้าว

view