สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละบัญชีจำนำข้าว (ตอน3)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



วิบากกรรมจำนำข้าว "กรุงเทพธุรกิจ"ร่วมเกาะติด ชำแหละบัญชีจำนำข้าว (ตอน 3) เปิด 6ปัญหาใหญ่"จำนำข้าว" ขาดทุน 3.32 แสนล้านใน 3 ฤดูผลิต

คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ได้ทำการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว 14 โครงการ โดยเป็นของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จำนวน 3 โครงการ คือ ข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 และข้าวเปลือกนาปี 2555/56 (รอบ 1)

ตัวเลขการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2556รวม 14 โครงการ มีรายได้ 256,257.00 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 378,021.45 ล้านบาท และมีสินค้าคงเหลือ 231,511.24 ล้านบาท โดยเป็นของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ 3 โครงการ มีรายได้ 61,741.45 ล้านบาท ขาดทุน 220,968.78 ล้านบาทและมีสินค้าคงเหลือ 226,851.58 ล้านบาท

จากนั้นมีการปิดบัญชีอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2556 รวม 14 โครงการ มีรายได้รวม 98,005.39 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 489,934.85 ล้านบาท และมีสินค้าคงเหลือ 165,014.70 ล้านบาท โดยเป็นของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ 3 โครงการ มีรายได้ 98,005.39 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 332,372.32 ล้านบาทแต่มูลค่าสินค้าคงเหลือ ลดลงเหลือ 161,434.02 ล้านบาท

คณะอนุกรรมการฯตั้งข้อสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้น คือ

1.คุณภาพข้อมูลคลาดเคลื่อนและมีข้อจำกัดในการตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง

ข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งเป็นข้อมูลหลักจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่ มีการรายงานข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน และล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีการแก้ไขข้อมูลบ่อยครั้ง ทำให้ไม่สามารถปิดบัญชีได้ทันเหตุการณ์

ดังนั้น เพื่อให้การรายงานข้อมูลของ อคส. และ อ.ต.ก. ซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการโครงการ จึงเห็นสมควรให้ อคส. และ อ.ต.ก. จัดให้มีระบบจัดทำข้อมูลและการรายงานที่มีมาตรฐาน สามารถรายงานข้อมูลด้วยความถูกต้องครบถ้วนและทันต่อเหตุการณ์ เช่น ระบบประมวลผลข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลของโกดังและโรงสีต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่เข้ามาที่ส่วนกลางและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถประมวลผลข้อมูลสินค้าที่เป็นปัจจุบัน และสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

นอกจากนี้ควรตรวจสอบปริมาณข้าวที่เก็บรักษาในโครงการเป็นระยะๆ และเมื่อ อคส. และ อ.ต.ก. พบว่ามีเหตุผิดปกติ หรือ เกิดความเสียหายจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน

2.การปรับปรุงปริมาณสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 27 มิ.ย. 2556

อคส. และอ.ต.ก. ได้ขอปรับเพิ่มปริมาณสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 27 มิ.ย. 2556 จำนวน 2.98 ล้านตัน โดยแจ้งว่าสินค้าจำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำไปสีแปรและยังไม่ได้รับมอบหมายจากโรงสี ณ วันที่รายงานจำนวนสินค้าคงเหลือให้คณะอนุกรรมการ

แต่เนื่องจากปริมาณสินค้าคงเหลือจำนวนดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ โดยยอดสินค้าคงเหลือที่ อคส. และ อ.ต.ก. แจ้งในภาพรวมของโครงการกับยอดสินค้าคงเหลือรายโกดังและโรงสี มีปริมาณไม่สอดคล้องกันซึ่งข้อเท็จจริงปัจจุบัน คณะอนุกรรมการ ยังไม่ได้รับผลการตรวจนับสินค้าคงเหลือของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือของ อคส. และ อ.ต.ก. เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2556 จาก กขช.

คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่สามารถสรุปรายการบัญชีคงเหลือตามปริมาณที่ อคส.และ อ.ต.ก. แจ้งขอปรับได้ จนกว่าจะมีการตรวจสอบและยืนยันปริมาณและคุณภาพข้าวในโครงการ โดยกระบวนการที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับตามหลักการของนโยบายบัญชีที่รองรับเป็นการทั่วไป

จากกรณีนี้ จะเห็นว่า อคส. และ อ.ต.ก. ต้องปรับปรุงการบันทึกให้เป็นปัจจุบันและทันสมัย โดยใช้ระบบที่มีลักษณะ Online Realtime

3.คุณภาพข้าวของโครงการ ที่เกิดปัญหาข้าวเสื่อมสภาพ

สืบเนื่องจากปัญหาข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเกิดการเน่าเสีย อันเป็นผลจากการเก็บรักษาข้าวของโครงการเป็นระยะเวลานาน และขาดระบบการติดตามตรวจสอบคุณภาพและระบบการเก็บรักษาข้าวที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาข้าวเสื่อมสภาพตลอดจนขาดความเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการระบายให้ทันต่อปัญหาข้าวเสื่อมสภาพ เพื่อจัดลำดับความเร่งด่วนในการระบายข้าวของโครงการ

ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการจัดระบบการตรวจสอบคุณภาพและระบบการจัดเก็บรักษาข้าวที่มีความต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียที่เกิดจากข้าวเน่าเสียหรือเสื่อมสภาพ

4.กรรมสิทธิ์ข้าวของโครงการ

การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่ง อคส. และ อ.ต.ก. ดำเนินการเป็นผู้รับข้าวจากเกษตรกรและออกใบประทวนให้เกษตรกรตามปริมาณข้าวที่รับจำนำ และให้ธ.ก.ส. เป็นผู้จ่ายเงินตามใบประทวน ภายในวงเงินที่รัฐมนตรีกำหนด

กรณีนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระบุให้ชัดว่าหน่วยงานใดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในข้าวที่รับจำนำโดยเมื่อเกิดกรณีข้าวเสียหายหรือสูญหาย หน่วยงานใดต้องมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างไร และหน่วยงานใดมีหน้าที่ดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง ควรจัดทำคู่มือใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม

5.การตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เป็นผู้เพาะปลูกข้าว

กรณีที่มีเกษตรกรรายใดนำข้าวเปลือกมาจำนำในโครงการปริมาณสูง ควรมีการสอบทานปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรแต่ละรายคำนวณตามพื้นที่เพาะปลูกผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัดและผลผลิตรวมของเกษตรกร

ทั้งนี้ ให้มีการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวกับพื้นที่เพาะปลูกจริงรายนั้นๆ ด้วย เพื่อป้องกันมิให้มีการนำข้าวเปลือกต่างประเทศเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 โครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 2555 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 ที่มีการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด

ควรมีการตรวจสอบเกษตรกรรายที่มีการนำข้าวมาจำนำในปริมาณมากๆ ว่าเป็นเกษตรกรที่ได้ทำการผลิตจริงตรงตามที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้หรือไม่ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิและสามารถช่วยเหลือเกษตรกรตามวัตถุประสงค์โครงการ เช่น เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านบาท

6.โครงการข้าวธงฟ้า

กขช.และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวมีมติรวม 4 ครั้ง โดยให้ อคส. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมีรายละเอียดและประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยจะกล่าวต่อไปในตอนที่ 4


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ชำแหละบัญชีจำนำข้าว (ตอน3)

view