สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โครงการรับจำนำข้าวในมิติคณิตศาสตร์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โครงการรับจำนำข้าวในมิติคณิตศาสตร์

       ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า หลังจากได้ฟังถ้อยแถลงของ “อภิมหาโมฆะสตรีแห่งสยาม” คนนั้น ที่ใช้หน้าจอของ “ทีวีพูล” อ่าน”โพย”บนโพเดียม ในช่วงสายของวันอังคารที่ 18 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ อาจารย์ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นิยามว่ามันคือ การอ่านถ้อยแถลง แห่งความเกลียดชัง ที่ส่งสารที่บิดเบือนและชั่วร้ายอย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งนี้คือแรงกระตุ้นสำคัญที่ ทำให้ต้องตัดสินใจ ลุกขึ้นมาทำการบ้าน ใหม่อีกรอบ เกี่ยวกับเรื่อง โครงการรับจำนำข้าว เพื่อพิสูจน์ให้เห็น “ความจริงเชิงประจักษ์”ว่า
       
       ใครกันแน่? ที่ใช้ชาวนาเป็นตัวประกัน ใครกันแน่ ? ที่กำลังจะทำให้ชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ต้องพิกลพิการ หมดสิ้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์…
       
       ความจริงเกี่ยวกับ โครงการรับจำนำข้าว ในมิติ “คณิตศาสตร์” ที่คุณเห็นอยู่นี้ ได้มาจากการปะติดปะต่อ รวบรวมข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้ จากหลายๆช่องทางเท่าที่แสวงหาได้ ภายใต้สภาวะแห่งการปกปิด บิดเบือน ข้อมูลที่แท้จริงจากรัฐบาล ที่อ้างว่า ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาวนา เห็นใจชาวนา แต่ถูกเกมการเมืองจากฝั่งตรงข้ามเล่นงาน เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผ่านกติกาที่เป็นประชาธิปไตย
       
       แต่...ถึงแม่จะโกหก ปกปิดสังคมอย่างไร ความจริงเชิงประจักษ์ต่อไปนี้คงยากที่จะปฎิเสธ !!!
       
       รัฐบาลชุดนี้ เริ่มดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตามสโลกแกนที่ใช้หาเสียงกับชาวนา คือ รับจำนำข้าวเปลือกตันละ 1.5 หมื่นบาท ทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งและ ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาราว 2 ปีครึ่ง โดยแยกเป็น โครงการข้าวนาปี/นาปรัง 2554255 โครงการข้าวนาปี/นาปรัง 2555/56 และโครงการข้าวนาปี 2556/57
       
       ไม่น่าเชื่อ จนถึง ณ สิ้นปี 2556 จากตัวเลขที่พยายามรวบรวมมา มีการใช้วงเงินรับซื้อข้าวเปลือกไปแล้วรวมทั้งสิ้น 54.75 ล้านตัน คิดเป็นเงินสูงถึงราว 8.7 แสนล้านบาท โดยในปี 2554/55 ใช้เงินไป 3.36 แสนล้านบาท ปี 2555/56 ใช้เงินไป 3.53 แสนล้านบาท และในปี 2556/57 ใช้วงเงินรับจำนำไปแล้ว 1.81 แสนล้านบาท
       
       เฉพาะในปี 2556/57 ที่รัฐบาลไปรับจำนำข้าวเปลือกกับชาวนาไปแล้ว ราว 10.79 ล้านตัน ใช้วงเงินไป 1.81 แสนล้านบาท รัฐบาลเพิ่งมีปัญญาหาเงินมาจ่ายค่าข้าวไปเพียงราว 5 หมื่นล้านบาท ยังเหลือใบประทวนที่ตกค้างอยู่กับชาวนาเกือบล้านราย คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1.3 แสนล้านบาท จนทำให้เกิดปัญหาที่ชาวนาต้อง”ยาตราทัพ”ครั้งยิ่งใหญ่ทุกสารทิศ บุกเข้ามาใจกลางพระนครอยู่ในเพลานี้
       
       ในการรับจำนำข้าวเปลือก นอกจากเป็นการรับซื้อข้าวเปลือกมาในราคาที่สูงกว่าตลาดอย่างมาก และยังมีกลไกที่สุดแสนพิศดาร คือ มีการแปรสภาพเป็นข้าวสารเพื่อนำเข้าโกดัง ซึ่งผิดปกติวิสัยในการทำการค้าข้าวอย่างมาก เพราะรัฐบาลต้องมีภาระ ทั้งการแปรสภาพข้าว มีภาระค่าเช่าโกดัง ค่าขนถ่าย และค่าบริหารจัดการ จนทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ที่จะทำให้ต้นทุนเม็ดเงินที่จะต้องจ่ายจริงของโครงการนี้ อาจจะสูงขึ้น ถึงราว 9.34 แสนล้านบาท !!! (เกือบ ล้านล้านบาท)
       
       ทีนี้เราลองมาดูความเหลวแหลกในการระบายข้าวของรัฐบาล ซึ่งแทนที่จะพยายามระบายข้าวออกมาเป็นระยะๆ เพื่อให้มีเม็ดเงินมาหมุนเวียน และไม่ต้อง”ดัมพ์”ข้าวออกมาขาย จนทำให้ราคาข้าวมีราคาลดต่ำลงจนขาดทุนสูง รัฐบาลกลับพยายามที่จะสร้างวงจร“การผูกขาด”ขึ้นในวงการค้าข้าวภาครัฐ โดยจะมีเพียงบริษัท นอมินี ที่อยู่ในเครือข่ายการเมือง ที่พยายามเล่นแร่แปรธาตุ ซื้อข้าวจากสต็อคของรัฐบาลออกไปในราคาถูก และนำมาขายในราคาตลาดฟันกำไรจากส่วนต่างไปอีกทอด โดยการ “ปั้น”สัญญาขายข้าวระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี ปลอมๆขึ้นมา รวมไปจนถึง การขายออกผ่านโครงการข้าวถึงราคาถูก เพื่อ”ซิกแซก” เอาข้าวออกไปขาย จนทำให้โครงการต้องประสบการขาดทุนอย่างชริดที่เรียกได้ว่า “ยับเยิน” จนหมอไม่รับเย็บ !!!
       
       เฉพาะที่มีการเปิดเผยแบบไม่ค่อยเต็มใจสักเท่าไร รัฐบาลอ้างว่าขายข้าวสารในสต็อคที่มีกว่า 32.84 ล้านตัน (ปี 54/55 จำนวน 12.88 ล้านตัน ปี 55/56 จำนวน 13.48 ล้านตัน และ ปี 56/57 จำนวน 6.47 ล้านตัน) ออกไปแล้ว 14 ล้านตัน ยังเหลือสต็อคคงค้างอยู่สูงถึง 18.84 ล้านตัน
       
       ข้าวที่อ้างว่าขายได้ 14 ล้านตัน ได้เม็ดเงินกลับมา เพียง 1.8 แสนล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนข้าวสารเมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆรวมเข้าไป ราว 4.01 แสนล้านบาท ขาดทุนไปแล้ว 2.21 แสนล้านบาท !!!
       
       สต็อกข้าว 18.8 ล้านตัน ที่ทับอกยังไม่สามารถระบายออกได้ คือ มูลเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเจอทางตัน ไม่สามารถหมุนเงิน กลับมาจ่ายค่า ข้าวเปลือกให้กับชาวนา เนื่องจากวงเงินที่เคยขออนุมัติไว้ตั้งแต่ปีแรก ในวงเงินรวม 5 แสนล้านบาทนั้น ยังเต็มเพดาน คือ ใช้ทั้งวงเงินกู้ 4.1 แสนล้านบาท และวงเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ(ธกส.) อีก 9 หมื่นล้านบาท ไปจนหมดแล้ว
       
       เมื่อยังขายข้าวไม่ได้ วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ที่กำหนดไว้ในปี 2556/57 ตามมติครม.เมื่อ 3 ก.ย. 2556 ก็ไปมัดตัวเองเอาไว้เสียอีก เมื่อไประบุเอาไว้ว่า จะกู้เพิ่มอีก 1.3 แสนล้านบาท ได้ก็ต่อเมื่อสามารถขายข้าวออกไป เพื่อนำไปจ่าย ลดวงเงินกู้กรอบใหญ่ที่กำหนดไว้ 4.1 แสนล้านบาทลง ส่วนอีก 1.4 แสนล้านบาท มติครม.ระบุให้ไปเร่งระบายข้าวเพื่อให้ได้เงินหมุนเวียนกลับมาจ่ายค่าข้าว ให้กับชาวนา
       
       หลังการยุบสภาฯในวันที่ 9 ธ.ค. ทำให้รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงเกิดปัญหาซ้ำซ้อนหนักเข้าไปอีก เนื่องจากไม่อยู่ในฐานะ ที่จะกู้เงินเพิ่ม ที่อาจจะเป็นการไปผูกพันรัฐบาลชุดใหม่ ตามมาตรา 181(3) และ (4) จึงต้องดิ้นรนใหม่อีกครั้ง โดยการไปแก้กรอบวงเงินกู้ ในกรอบงบประมาณปีนี้ ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดยต้องมีมติครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 ให้เลื่อนกรอบการใช้เงิน ราว 1.2 แสนล้านบาท ตาม พรบ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทไปเป็นปีหน้า โดยอ้างว่า ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องให้สามารถกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท มาใช้จ่ายค่าข้าวให้ชาวนา
       
       แต่อุปสรรคก็ยังไม่หมด เพราะรัฐบาลเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า สามารถจะทำได้โดยไม่ขัดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ จนต้องอ้างความเห็น ของเลขากฤษฎีกา ที่ตีความว่าน่าจะกระทำได้ แต่การเปิดประมูลจัดหาเงินกู้แบบ Bridge Financing เพื่อกู้เงินระยะสั้นจากธนาคาร พาณิชย์ทั้งของรัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนจะไม่มีรายใดกล้าเสี่ยง เพราะเกรงจะผิดกฎหมาย
       
       การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยมีความพยายามจะเปิดขายพันธบัตรเงินกู้แบบเฉพาะเจาะจงให้กับ รัฐวิสาหกิจ ของรัฐบางแห่ง เช่น การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยกำหนดจะให้แล้วเสร็จในราว ต้นเดือน มี.ค.นี้ ถ้าแผนไม่มีอันต้องล่มเสียก่อน
       
       ระหว่างที่ยังต้องรอเงิน กระทรวงการคลัง จึงเดินแผนจัดหาเงินกู้ระยะสั้นมาใช้ชั่วคราว โดยใช้วิธีจัดหาเงินกู้ระยะสั้นผ่าน ระบบ “อินเตอร์แบงก์”ระหว่าง ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.แต่ก็มาสะดุดอีกจนได้ เนื่องจากมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ พยายามหาช่องโหว่ ทางกฏหมาย และเหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนเกิด ปฎิบัติการ “จั๋งซี่ มันต้อง ถอน” จนสุดท้าย ผู้อำนวยการออมสิน ต้องตกเป็น”เหยื่อ” สังเวยทางการเมืองไปในที่สุด
       
       ย้อนกลับมาดูตัวเลขสต็อคข้าวที่เหลืออยู่ 18.84 ล้านตัน ที่รัฐบาลนั่งทับอยู่ในเวลานี้ จากการคำนวณแบบโลกสวย เกิด”ปาฎิหารย์” รัฐบาลสามารถขายข้าว”โละ”สต็อกที่มีอยู่ออกไปได้ทั้งหมด (มองโลกในแง่ดีแบบสุดๆ เพราะมีข้าวในสต็อคจริงเท่าไร เสื่อมคุณภาพขนาดไหน ไม่มีใครรู้) โดยขายได้ในราคาเฉลี่ยสักตันละ 11,500 บาท รัฐบาลจะได้เงินกลับมาเพียง 2.16 แสนล้านบาท !!!
       
       ถ้าลองรวมตัวเลข จากการที่ขายข้าวไปแล้ว 1.8 แสนล้านบาท รวมกับข้อสมมุติแบบโลกสวย ได้เงินมาอีก 2.16 แสนล้านบาท จะได้เม็ดเงินจากการขายข้าวกลับมาทั้งหมดเพียง 3.96 แสนล้านบาทเท่านั้น !!!
       
       บทสรุปที่น่าตกใจแทบสิ้นสติสำหรับคนธรรมดาๆก็คือ หากคิดแบบไม่ต้องไปรวมต้นทุนอื่นๆ เอาเฉพาะต้นทุนเนื้อข้าวสารอย่างเดียว จากเม็ดเงินที่ใช้ไป 8.7 แสนล้านบาท หมายความว่า รัฐบาลจะต้องขาดทุนสูงถึง 4.74 แสนล้านบาท แต่หากรวมต้นทุนทุกอย่างเข้าไป ที่มีต้นทุนสูงถึงราว 9.34 แสนล้านบาท หมายความว่า จะมีผลการขาดทุนสูงถึง 5.37 แสนล้านบาท น่าตกใจไหมครับ โอ้อนิจจาประเทศไทย...
       
       คำถามจนถึงบรรทัดนี้ จึงมาอยู่ตรงที่ คุณคิดว่า ใครกันแน่? ที่จับชาวนาเป็นตัวประกัน และจริงหรือ? ที่รัฐบาลชุดนี้ เห็นอกเห็นใจชาวนา เข้าใจดีว่า “ทุกหยาดเหงื่อของชาวนามีค่า”
       
       มีนโยบายและมาตรการรวมถึงวิธีการอีกมากมาย หากจะช่วยชาวนาจริง หากไม่ต้องการจับชาวนาเป็นตัวประกันอย่างทุกวันนี้ และไม่จำเป็นต้อง”ถม”เม็ดเงินภาษีของเราลงไป “ปู้ยี่ปู้ยำ” มากมายมหาศาลขนาดนี้
       
       ปัญหาเรื่อง ไม่มีปัญญาจ่ายเงินค่าข้าวให้กับชาวนา 1.3 แสนล้านบาทเวลานี้ จนต้องออกมาอ่าน “โพย” บีบน้ำตา ที่จริงแล้ว มันก็เกิดเพราะ “อุบัติเหตุ” ที่ตัวเองพลาดเองทั้งนั้น แต่มันก็กลายเป็นส่วนยอดของ”ภูเขาน้ำแข็ง” ของปัญหาที่โผล่พ้นขึ้นมา ให้เราเห็นประจักษ์กันทั้งบ้านทั้งเมืองอยู่ในเวลานี้
       
       ที่มันน่าตระหนก จน”ขนลุก” คือ จุดจบในตอนท้ายสุดของโครงการนี้ ที่เรายังไม่สามารถ”คาดเดา”ได้เลยว่า มันจะสร้างความเสียหาย ในแง่ตัวเงินมหากมายหมาศาลขนาดไหน ไม่นับ การล่มสลาย พังพินาศ ของ ระบบการผลิต การตลาด และการส่งออกข้าวของไทย ที่คงต้องใช้เวลาเยียวยาอีกนานแสนนาน
       
       ตัวเลขประมาณการความเสียหายตั้งแต่ระดับ 4.74-5.37 แสนล้านบาท มันจะเพียงพอหรือไม่ และคำถาม ที่ยังปราศาจากคำตอบ และไร้ซึ่งความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ ใครกันแน่? ที่ต้องรับผิดชอบต่อการ ทำลายชาวนาไทยและประเทศไทยเสียย่อยยับขนาดนี้
       
       ถึงจุดนี้ น่าเศร้าใจที่ รัฐบาลชุดนี้ยังไม่เคยตระหนักถึงความเสียหายทื่สร้างขึ้นไว้กับประเทศไทย ไม่แม้แต่จะยอมรับความผิดพลาด หรือ ขอโทษ ต่อบาปกรรมที่ทำไว้ จนทำให้ต้องมีชาวนาต้อง”เซ่น”สังเวยชีวิตไปแล้วกว่า 10 ราย ยังคงพยายามปิดปิดความผิดของตัวเอง และกล่าวร้ายคนอื่น โยนความผิดไปให้ฝั่งตรงข้าม และหวังจะใช้ การเลือกตั้ง เป็นเครื่อง “ฟอกย้อม”ตัวกลับเข้ามา
       
       ไม่น่าเชื่อจริงๆว่า เธอจะเป็น อภิมหาโมฆะสตรีแห่งสยาม ได้ถึงเพียงนี้ เธอจะรู้บ้างไหมว่า จากนี้ไป ชีวิตของเธอและครอบครัว จะต้องระทมทุกข์ น่าเวทนาขนาดไหน กรรมเวร กรรมเวร จริงๆ...


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : โครงการรับจำนำข้าว มิติคณิตศาสตร์

view