จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์
หลัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสียสละเพื่อชาติเพราะสถานการณ์กำลัจะนำประเทศไปสู่วิกฤต “โพสต์ทูเดย์” มีโอกาสสัมภาษณ์ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เคยเป็นคนกลางเข้ามาแก้วิกฤตของประเทศถึงสองครั้งในอดีต เป็นคนที่มีทั้งประสบการณ์ครบครันที่สุด อาจให้มุมมองที่จะกระตุ้นให้ทุกฝ่ายได้ช่วยกันหาคำตอบว่าจะหลุดจากวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างไร
อานันท์ ระบุว่า รัฐบาลควรนำสิ่งที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวไปพิจารณา พร้อมเตือนว่าเศรษฐกิจอาจวิกฤตถึงขนาดทำให้ประเทศหายนะได้ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากยังปล่อยให้วิกฤตการเมืองครั้งนี้ยืดเยื้อต่อไป คู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายควรจะเจรจากันก่อนประเทศชาติจะฉิบหาย ทั้งหมดมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ถาม : ท่านประเมินและกังวลสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้อย่างไรบ้าง
“ทุกคนก็ทราบดีว่าเมืองไทยมีวิกฤต ความจริงตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย มันก็มีวิกฤตตลอดเวลา แต่วิกฤตในอดีตมันเป็นวิกฤตทางด้านการเมือง วิกฤตของการแย่งอำนาจ วิกฤตของการคัดค้านรัฐธรรมนูญ วิกฤตของการคัดค้านรัฐบาลทหาร ฯลฯ แต่คราวนี้เป็นวิกฤตที่หนักที่สุด หนักกว่าเมื่อปี 2535 เพราะตอนปี 2535 นั้นตัวละครมีไม่กี่คน และประเด็นมีไม่กี่ประเด็นตอนนั้นก็มีคุณจำลอง ศรีเมือง กับคุณสุจินดา คราประยูร เท่านั้น
“ส่วนวิกฤตอื่นๆ วิกฤตเมื่อปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง อันนั้นก็เป็นวิกฤตเศรษฐกิจโดยตรง แล้วก็เศรษฐกิจก็เสียหายมาก โดยเฉพาะธนาคาร แต่ธนาคารทั้งหลายเขาก็เรียนรู้ จากข้อผิดพลาด ไม่ใช่ข้อผิดพลาดของในเมืองไทยอย่างเดียว แต่ข้อผิดพลาดของทุกประเทศ ทุกรัฐบาล ทุกธนาคาร เพราะฉะนั้นตอนที่มีวิกฤตซับไพร์ม เมื่อ 5-6 ปีก่อน ธนาคารเมืองไทยได้รับบทเรียนมาแล้ว และเตรียมตัวป้องกันไว้ดี เมื่อ 6-7 ปีก่อนตอนที่มีวิกฤตซับไพร์ม ลามไปถึงยุโรปด้วย เมืองไทยก็รอดมาได้ หลังจากนั้น เราก็มีวิกฤตน้ำท่วม
“แต่วิกฤตที่ผ่านๆ มา แม้แต่วิกฤตที่มีการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ต่างก็เป็นวิกฤตระยะสั้น และไม่กระทบกระเทือนเรื่องทางด้านเศรษฐกิจมากมายเท่าไร แต่คราวนี้ตัวละครเล่น ตัวเล่นมันมีมาก อาจจะมี 2 พรรค อาจจะมี 2 ฝ่าย แต่แต่ละฝ่ายแต่ละพรรคก็ไม่ใช่มีตัวเล่นคนเดียวกัน แต่ยังมีพวกตัวเล่นที่อยู่วงรอบนอก ยังมีอีกมาก ประเด็นก็มากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางด้านรัฐธรรมนูญ ประเด็นทางด้านระบบการเมือง ประเด็นทางด้านการปกครอง วีธีการปกครอง ประเด็นทางด้านระบบพรรคการเมือง ฯลฯ
“เพราะฉะนั้นการที่จะให้เกิดกระบวนการที่จะมาปรองดองกัน มันค่อนข้างจะยาก แต่คราวนี้ ถ้าเกิดเรามองข้าม ตอนนี้มันถึงจุดที่ว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป รัฐบาลไม่อยู่ในฐานะที่จะปกครองได้ เพราะมันมีอารยะขัดขืน มีต่อต้าน มีคนไม่เชื่อถือ มีคนไม่รับรัฐบาลนี้ มีคนที่มองเห็นรัฐบาล มีคนเห็นเรื่องของการโกงกิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยกขึ้นมานั้น จะจริง 100% หรือจริง 90% ก็แล้วแต่ บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ แต่คนที่เชื่อ มันมีมากขึ้น แต่ต้องเข้าใจว่า ในทางการเมืองนั้น สิ่งที่คนรู้สึกมันคือ ความเป็นความจริง หรือที่สำนวนภาษาอังกฤษ เขาว่า Perception is a reality
“ที่ผ่านมา ต่างคนก็ต่างพยายามบอกว่าความจริงคืออะไร ความจริงของแต่ละฝ่ายก็ไม่ตรงกัน แต่ถามแค่ว่าปัญหาอยู่ที่นั่นหรือเปล่า? ปัญหาอยู่ที่ต่างคนต่างมองคนละแง่คนละมุม ต่างคนต่างมองอาจจะเพียงแค่ผลประโยชน์ตัวเอง หรือแค่ผลประโยชน์พวกพ้อง แต่ถ้าเรามัวแต่พูดว่าอะไรจริง อะไรผิด อะไรถูก มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะคนที่เขาเชื่ออย่างนั้น มันก็เชื่ออย่างนั้น คนที่เขาไม่เชื่อ เขาก็ไม่เชื่อ
“ปัญหาขณะนี้คือ คนที่เชื่ออย่างนี้ คนที่ไม่เชื่ออย่างนี้ มันก็เป็นจำนวนคนก็อาจจะใกล้เคียงกัน แต่ผมว่าในปัจจุบันนี้ มันเลยเถิดไปแล้วที่จะนั่งเถียงกันว่าใครผิดใครถูก มานั่งเถียงกันว่าใครเป็นประชาธิปไตยมากกว่าใคร จะมานั่งเถียงกันว่าการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ผมว่ามันเลยเถิดไปแล้ว แล้วยังมีตัวแปรในเรื่องของความเจ็บใจจากการที่มีการนำเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มันก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก
“ในเรื่องปัญหาจากการรับจำนำข้าว นั้นไม่ใช่เรื่องที่มันเพิ่งคุขึ้นมาไม่กี่สัปดาห์ก่อน จริงๆ เรื่องข้าวพูดกันมา 3 ปีแล้ว หลายฝ่ายก็พยายามอธิบายให้รัฐบาลกับผู้กำหนดนโยบายฟังว่ามันแพ้ตั้งแต่แรกแล้ว เพราะว่าจุดเริ่มต้นไปบอกว่ารับจำนำ มันไม่ใช่จำนำ
“คุณเคยไปโรงจำนำหรือเปล่า ถ้าคุณไปโรงจำนำ คุณเอานาฬิกามูลค่าหนึ่งหมื่นไปจำนำ เขาก็จะตีราคาให้คุณได้แค่ 5,000 – 6,000 ประมาณ 60% เพื่อที่ว่าเมื่อคุณมีเงินหมื่นเมื่อไร คุณจะได้ไปถอนมา แต่ถ้าราคาตลาดมันหมื่นบาท แล้วโรงจำนำเขาบอกว่า คุณเอาไปหมื่นห้า อย่างนี้มันก็เจ๊งใช่ไหม มันตรรกะนะ เป็นของธรรมดานะ
“ที่ผ่านมาคนหลายคนก็ออกมาพูดแล้วนะครับว่า มันไม่ถูก ไม่ว่าทั้งในหลักทฤษฎี หรือในทางปฏิบัติ รัฐบาลบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือการช่วยชาวนา อันนี้มันก็มีคนเขาพูดว่า การช่วยชาวนามันมีอีกหลายอย่าง ให้เงินเปล่าก็ช่วยชาวนาได้แต่ไม่มีภาระ แต่อันนี้ไปรับจำนำซึ่ง ผมว่าคิดผิด
“ปีหนึ่งมาแล้ว ตอนตรุษจีนเมื่อปีที่แล้ว ผมมีโอกาสนั่งติดกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่งานเลี้ยงรับประทานอาหาร ตอนนั้นเริ่มจำนำข้าวมาได้แล้ว 1 ปีกว่าๆแล้ว ผมจำได้เพราะตอนเจอกันเป็นวันตรุษจีนพอดี เป็นวันที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯเยาวราช แล้วแวะเสวยพระกายาหาร ที่ไทยพาณิชย์จัดถวายที่สำนักงานตลาดน้อย เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบคุณยิ่งลักษณ์ แล้วมีโอกาสสนทนากันจริงๆจังๆ นอกเหนือจากที่เคยพบปะในที่ต่างๆแล้วก็ไหว้กันไปไหว้กันมา แต่ไม่เคยพูดกันเลย
“โอกาสนั้นผมก็ถือวิสาสะเรียนคุณยิ่งลักษณ์ว่า เรื่องข้าวนี่อันตรายนะ นายกฯยิ่งลักษณ์ก็รับฟังดีนะ แล้วผมก็อธิบายให้ฟังว่า ผมจะไม่พูดถึงว่าเป็นนโยบายที่มันก่อให้เกิดการกินโกงกันมากมาย ผมจะไม่พูดถึงเรื่องนี้เพราะคนอื่นเขาพูดมาแล้ว เรื่องโกงกิน เรื่องความไม่โปร่งใส ฯลฯ นั้นเขาพูดกันไปหมดแล้ว"
“ผมเล่าว่า เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ตอนที่นายพลเนวินทำการรัฐประหาร เพื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีและเริ่มนโยบายที่เรียกว่า Burmese road to socialism หรือ ถนนแบบพม่าเดินไปสู่ลัทธิสังคมนิยม โดยหนึ่งในนโยบายดังกล่าว คือการเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกข้าว ให้เป็นกิจการของรัฐ ทำให้จากเดิมที่พม่าเคยเป็นผู้นำการส่งออกข้าวไปยังตลาดโลกช่วงปี 2500 กลับทำให้พม่า กลายเป็นประเทศที่ไม่เคยส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศอีกเลย
“ผมบอกท่านนายกฯ ว่า ผมเป็นห่วงนโยบายอันนี้ คือผมบอกว่าเรียกว่านโยบายจำนำข้าวมันก็ไม่ถูกแล้ว มันไม่ใช่จำนำ อันที่สอง คือผมเป็นห่วงว่ามันจะทำลายอุตสาหกรรมข้าวของเราทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออก เพราะประเทศไทยเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าพ่อค้าข้าวของเรานี้เยี่ยม ที่เราครองโลกเป็นที่ 1 มา เป็นเวลา 50-60 ปี มันเพราะความเก่ง ความเฉลียวฉลาด ความคล่องตัว แล้วมีระบบการบริหารที่ดี รู้จักตลาดที่ดี ของพ่อค้าของเราทั้งนั้น แต่ถ้าพอคุณทำแบบนี้ คือ โอนเป็นของชาติ เพราะคุณรับซื้อข้าวหมด แล้วพอรัฐบาลรับซื้อข้าวหมดแล้ว ก็หมายความว่าต่อจากนี้ ภาคเอกชนไม่มีโอกาสซื้อข้าวเลย แล้วไม่ใช่ซื้อข้าวอย่างเดียว รัฐบาลขายข้าวเองด้วยทั้งหมด แล้วผมก็บอกว่ามันจะกลายเป็นแบบพม่านะ ต้องระวังนะ
“แล้วที่บอกว่า โอ๊ว.. เราเป็นพ่อค้ารายใหญ่ เป็นผู้ส่งออกของข้าวนั้นต้องเข้าใจว่า ข้าวนี้มันไม่เหมือนกับสินค้าเกษตรอื่นๆ นะ คุณมีน้ำมันมาก คุณตุนน้ำมัน คุณเก็บขายได้ แต่คุณก็ยังไม่สามารถคุมราคาตลาดโลกได้ ยางพาราก็เหมือนกัน มีการตั้ง สภาคณะกรรมการยางระหว่างประเทศ หรือ International Tripartite Rubber Council สุดท้ายก็ไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งข้าวนี่ไม่สามารถคุมได้แน่นอนเลย
“ไทยนึกว่าเราเป็นเจ้าทางข้าวของโลก ปีหนึ่ง อาจจะผลิตข้าวเปลือกได้ปีละประมาณ 30-35 ล้านตัน ออกมาเป็นข้าวสาร ก็ 17-18 ล้านตัน กินในประเทศ 4-5 ล้านตัน ขายออก 12-13 ล้านตัน แต่ปรากฎว่าคนทั่วโลก ซื้อข้าวกินแค่ 30 ล้านตันเท่านั้น และไทยเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุด เพราะอินเดียเองก็ผลิตจำนวนมาก แต่ประชากรอินเดียกินเองเกือบหมด ขณะที่จีนเองก็ผลิตข้าวมาก แต่คนจีนก็กินเองเกือบหมดเช่นเดียวกัน ส่วนประเทศที่ซื้อข้าวมากที่สุดคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย และประเทศบางประเทศในอาหรับ
“อีกทั้ง ข้าวก็ไม่ใช่สินค้าเกษตรที่ไม่สามารถเก็บสำรองไว้ได้ จึงไม่มีหนทางที่จะกำหนดราคาเองได้เลย
“เพราะฉะนั้นไทยเราจึงไม่สามารถคุมราคาข้าวในตลาดโลกได้ ในเมื่อผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่จำเป็นต้องซื้อข้าวจากเรา หรือถ้าเกิดซื้อข้าวจากต่างประเทศเองก็ซื้อเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปคิดว่า เราจะสามารถคุมราคาโลกได้ อยากให้ขึ้น อยากให้ลง ตามเรามันไม่มีทาง ขนาดโอเปค ยังไม่มีประสิทธิภาพ 100% เลย
“ฉะนั้น ถ้าคุณไปดึงเรื่องข้าวมาเป็นของชาติแบบนี้ คุณทำลายแล้ว ถ้าเผื่อโครงสร้างของการปลูกข้าว การส่งออก ถูกล้มไป เพราะรัฐบาลมาทำ ก็จะเห็นปรากฏการณ์ได้เลย ไม่ว่า ขายไม่ออก หรืออะไรก็ตาม แล้วสุดท้ายระบบต่างๆจะเป็นง่อยกว่าจะฟื้นขึ้นมาต้องใช้เวลาอีกนาน
“ตอนที่พูดเรื่องข้าวให้คุณยิ่งลักษณ์ฟังนี่ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ก็นั่งอยู่ติดกับผม คุณยิ่งลักษณ์นั่งซ้ายผม คุณกิตติรัตน์นั่งขวาผม เวลาผมพูดกับคุณยิ่งลักษณ์ ผมก็ขอให้คุณกิตติรัตน์ฟังด้วย วันนั้นคุณกิตติรัตน์ไม่ได้พูดอะไรเท่าไร แต่คุณยิ่งลักษณ์เขาบอกว่า ขอบพระคุณมากค่ะ ที่ได้ให้ความเห็น ความรู้มา จะขอรับไปศึกษา แล้วก็ปรึกษา หารือ แล้วจะนำไปบูรณาการต่อไป
“นี่เกินหนึ่งปีแล้วที่พูดไว้
“รัฐบาลอย่าไปมองว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องข้าว ที่กำลังติเตียนการทำงานของรัฐบาลอยู่ เป็นเรื่องสี มันไม่ใช่เรื่องของสี แล้วก็ไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์การเมืองนะ เพราะว่าขนาด ดร.โกร่ง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลก็เคยระบุว่าไม่เห็นด้วย และยังเขียนบทความบอกว่าจะทำให้ประเทศชาติเข้าสู่หายนะ เพราะฉะนั้นที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเขียนจดหมายเปิดผนึกนั้น เขาก็เคยมีข้อวิจารณ์เรื่องพวกนี้มาหลายครั้งแล้ว
ผมก็ยังมีความหวังว่ารัฐบาลน่าจะฟังด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าเผื่อรัฐบาลยอมรับข้อนี้ว่าข้อมูลที่เขาให้มา เขาให้ด้วยความหวังดี ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าฟังแล้วไปดูว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ใจผมคิดว่า รัฐบาลน่าจะรู้นะ ถ้ารัฐบาลเปิดหูเปิดตาหน่อยก็จะเห็นว่าเสียงมันก้องไปหมด”
ใช้เบรกฉุกเฉิน-แนะสองฝ่ายเจรจา
“หากปล่อยให้ วิกฤตนี้เพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จากปัญหาทางการเมืองจะเปลี่ยนกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจแทน เพราะว่าปัจจุบันนี้ การลงทุนจากต่างประเทศไม่มีแล้ว ขณะที่การลงทุนในไทยเองก็ชะลอลง ส่วนเงินตราต่างประเทศที่จะเข้ามา ทั้งจากโดยการลงทุน หรือจากการท่องเที่ยวก็ดี หากปล่อยไปอีก 3-4 เดือน รายได้ทุกตัวจะหายทั้งหมด
“เหตุเพราะว่านักลงทุนไม่ลงทุน ก็แสดงว่าไม่มีการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม บริษัทที่เป็นผู้ผลิตทางด้านอุตสาหกรรม เขาอาจจะลดกำลังการผลิตลงไป เพราะฉะนั้นไปหวังการส่งออกก็ไม่ได้ ขณะนี้การส่งออกอาจจะดีชั่วคราว เพราะเงินบาทต่ำ แต่มันก็ไม่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์เราอาศัยอุตสาหกรรมส่งออกมาเป็นเวลาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว แล้วเหตุผลที่เราพ้นจากวิกฤต เมื่อ 2540 ก็ดี ตอนมีรัฐประหารปี 2549 ก็ดี หรือน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ก็ดี เราสามารถพ้นจากวิกฤตเหล่านั้นได้เร็ว เพราะว่าอุตสาหกรรมส่งออกแข็งขันมาก การลงทุนก็แข็งขัน การท่องเที่ยวก็เพิ่ม
“พอลงทุนก็ไม่มี อุตสาหกรรมการผลิตก็ลดลงไป ท่องเที่ยวก็จะหมดไป การจ้างแรงงานก็จะลดน้อยลงไป กำลังซื้อชาวนาก็หมดไป ถ้าเกิดชาวนายังไม่ได้รับเงินจากที่ขายข้าวได้ วิกฤตเศรษฐกิจมากเลย แล้วสุดท้ายถ้ามันเป็นอย่างนี้อีก 3-4 เดือน บัญชีเดินสะพัดของประเทศก็เสร็จไปด้วย ที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Current Account Deficits ถ้าขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเมื่อไรถึง 5-6% ของจีดีพีนะ เสร็จเลย ทีนี้ทุกอย่างมันจะทวีคูณมากขึ้นๆ อันนี้ตรงกับที่ดร.วีรพงษ์พูดว่าประเทศไทยจะหายนะ
“เพราะฉะนั้น นับวันๆ ผมถึงบอกว่ามัวแต่เถียงกันเรื่องกฎหมาย มัวแต่พูดกันว่าอันนี้เป็นประชาธิปไตย อันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ฉันรักประชาธิปไตยมากกว่าเธอ เธอรักประชาธิปไตยมากกว่าฉัน หรือ เรื่องนี้ทำไม่ได้เพราะกฎหมายเป็นอย่างนั้น กฎหมายเป็นอย่างนี้ ฯลฯ ผมว่า อีก 3 เดือน ข้างหน้าคนไทยจะไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย คนไทยจะจมน้ำตายกันหมด อันนี้จะเป็นตัวแปร ถ้าเกิดอีก 3 เดือนยังเถียงกันว่าเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง หรืออันนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ออกไม่ได้ ถอยไม่ได้ มันก็ไม่มีความหมายแล้ว สิ่งที่คุยกันต่อไปคือ “จะอยู่รอดอย่างไร” แทน
“เราควรพักร้อนประเด็นต่างๆ ที่เถียงกันขณะนี้เสียก่อน เนื่องจากแต่ละประเด็น เป็นเพียงความพยายามเอาชนะในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น “ฉันเป็นประชาธิปไตยมากกว่า ฉันทำตามกฎหมายมากกว่า บางเรื่องที่ขอให้ฉันทำ ฉันทำไม่ได้เพราะมันมีข้อจำกัดอย่างนั้นอย่างนี้ อีกฝ่ายก็บอกว่า ไม่จริงๆ ก็อ้างกันคนละมาตรา แต่ทั้งหมดนี้มันไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
“ตอนนี้มันเหมือนกับเราขับหัวจักรรถไฟ แล้วมันเป็น Runaway Train คือเบรกมันเสียไง แล้วจะมามัวแต่เถียงกันว่าเบรกแตกเพราะอะไร เพราะคุณไม่บำรุงรักษาให้ดีเหรอ ไม่ตรวจตราเหรอ หรือคุณใช้มันผิดวิธี หรือ อะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้ มัวแต่นั่งเถียงกัน Runaway Train ไม่ฟังแล้ว มันจะถึงจุดหนึ่งที่หายนะ เมื่อเบรกก็ใช้ไม่ได้ เราต้องใช้ Emergency Brake (เบรกฉุกเฉิน) ใช่ไหม เพราะปัญหาทั้งหมด เป็นปัญหาการเมือง
“ผมไม่เชื่อนะ ที่นักกฎหมายบอกว่า แก้ไม่ได้ ผิดกฎหมายนั่น ผิดกฎหมายนี่ ในเมื่อกฎหมายคนเขียน แม้แต่เวลาการประชุมนี่ คุณก็สามารถเปลี่ยนกฎการประชุมได้ คุณอาจจะมีกระบวนการขั้นตอนอย่างนี้ แต่เมื่อคุณเขียน rule of procedure มา คุณก็สามารถเปลี่ยนได้ คืออย่ามานั่งถกเถียงกันว่ามันเป็นประชาธิปไตยไหม มันเป็นปัญหาโลกแตก เถียงกันไม่รู้จบหรอก”
ถาม : แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ต่างมีกำลังที่สามารถดุลกันได้อยู่ แล้วทำอย่างไรมันถึงจะเขยื้อนหรือคลี่คลายไปได้?
ผมไม่คิดว่าแต่ละฝ่ายจะถอยนะ ผมรู้จักคุณทักษิณมานาน แล้วผมก็เคยชอบพอกับคุณทักษิณนะ เคยพูดจากัน ก็ต่างคนต่างให้ความนับถือซึ่งกันและกัน ผมก็พูดตรงไปตรงมากับคุณทักษิณ แล้วคุณทักษิณก็รู้ว่าผมเป็นคนอย่างไร คุณทักษิณก็พูดกับผมอย่างตรงไปตรงมานะ บางอย่างก็ไม่เห็นด้วย ตอนนั้นคุณทักษิณยังไม่ถึงกับเต็มขั้นทางการเมือง จนกระทั่งคุณทักษิณเป็นนายกฯ ครั้งแรก ตอนเป็นนายกฯ ครั้งแรกก็ยังคุยกัน ตอนนี้ก็ไม่ได้พบกัน ไม่ได้คุยกัน 6 ปีแล้ว
ผมว่า คุณทักษิณต้องคิดให้หนัก คือตอนนี้ต้องนึกถึงประเทศชาติแล้ว คือการพักร้อนไม่ใช่ลืม แต่ต้องพักไว้ชั่วคราว เรื่องอื่นๆ จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นไปอย่างดร.วีรพงษ์พูด นี่พูดถึงเรื่องนโยบายข้าวอย่างเดียว ที่จะถึงหายนะ แต่ยังไม่นับอีกหลายเรื่องนะ ที่เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการน้ำ โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ฯลฯ อีก
ตอนนี้คุณไปถามนักธุรกิจที่ไหน เขาก็พูดแบบนี้ อันนี้คือความรู้สึกจริงๆ แล้วอย่าไปหาว่านักธุรกิจเห็นแก่ตัว มันไม่ใช่นะ มันเป็นสัจธรรม ธุรกิจเจ๊งเนี่ย ไอ้คนทำงานเจ๊งหมดนะ คือทุกคนมีผลประโยชน์จากมีงานทำ มีผลผลิต อันนี้ไม่ใช่ผลประโยชน์ของธุรกิจเลย นี่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ
แล้วสำคัญที่สุดคือตอนนี้มีอะไรที่ฟังแล้วไม่ชอบ ก็โต้ตอบทันทีแบบ Non-Sense คนเขารับไม่ได้เหมือนกันนะ
อย่างเรื่องข้าว ถ้ารัฐบาลมีข้อมูลอะไร คุณก็อธิบายสิ คนจะได้เข้าใจ ว่ามีข้าวอยู่เท่าไร เหลืออยู่เท่าไร ขายให้ใคร ราคาเท่าไร แค่นี้ตอบไม่ได้ ผมว่าความเชื่อถือก็หมด จีนเป็นมิตรประเทศกับเรา เขายังรับไม่ได้นะ บริษัทซื้อขายของมณฑล พอมีข่าวว่าคอร์รัปชัน เขาตีตัวออกห่างเลย
ถาม : เท่าที่รู้จักคุณทักษิณ และคุณทักษิณเองก็น่าจะมองเห็นว่า ประเทศกำลังอยู่ในสภาพการณ์แบบนี้ ท่านคิดว่าคุณทักษิณควรจะทำอะไรเพื่อจะหยุดหายนะนี้หรือไม่?
ผมก็ไม่รู้ว่าใครเป็นเพื่อนสนิทที่คุณทักษิณพูดแล้วจะเชื่อถือ ผมไม่รู้นะว่าจะฟังหรือเปล่า ผมไม่รู้ แต่ผมคิดว่า มันต้องมีคนจัดฉากให้ที่ ถ้าเกิดจะทำอะไร ต้องเป็นคนที่สองฝ่ายยอมรับนับถือ จะชอบไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่งนะ อย่างน้อยยอมรับว่า คนๆนั้นเป็นคนตรง เป็นคนที่มี Impartial (เป็นธรรม) เป็นคนที่มี Integrity (ความถูกต้องชอบธรรม หรือความซื่อตรง มองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เสมอต้นเสมอปลาย) เป็นคนที่มีคุณธรรม เป็นคนที่ยุติธรรม ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว
ส่วนจะได้คนนั้นมาอย่างไร ผมว่าคนที่เป็นตัวละครทั้งหลายก็น่าจะจับเข่าคุยกัน อันนี้กำลังพูดถึงคนที่ทุกฝ่ายต้องการ เพราะไม่มีคนไหนที่จะเข้าไปได้ โดยไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายใช่ไหม เพราะโอกาสสำเร็จก็มี โอกาสไม่สำเร็จมันมีมากกว่า คนกลางอาจจะไม่ได้หมายถึงว่าคนเดียว มันอาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งก็ได้นะ แต่ถ้าเผื่อภาษาอังกฤษจะต้องใช้คำว่า facilitate (อำนวยความสะดวก) ให้กระบวนการมันเดินไปได้ แล้วต้องคุยกันเงียบๆ
ถาม : ความจริงท่านเองก็น่าจะเป็นคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายให้ความเคารพ?
พูดอย่างนี้เดี๋ยวผมก็ใช้คำหยาบคาย (หัวเราะ) คุณต้องไปถามเจ้าของเรื่อง ผมเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ เดี๋ยวนี้วันๆ ผมก็ตื่นสาย ขี้เกียจ ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องวิกฤตอะไร มีเวลาก็อ่านหนังสือ อ่านหนังสือพิมพ์ที่มีความรู้ ตอนเย็นก็ไปกินข้าวกับเพื่อนบ้าง ดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ดูฟุตบอลบุนเดสลีก้า ดูรักบี้ ดูเทนนิส นอนไม่หลับก็ออกมาดูหนังต่อ นี่คือชีวิตประจำวันของผม ผม 81 ครึ่งแล้วนะคุณ (หัวเราะ) คุณจะเอาผมถึงไหน
ถาม : ขอให้ท่านขยายความคำว่า พักประเด็นอีกหน่อย
ประเด็นที่เถียงกันมันเหมือนกัน แต่คำถามมันคนละอย่างกัน เพราะฉะนั้นต้องพักประเด็น ที่ยังร้อน ที่มันยังจับไม่ได้ จับเข้าไปก็นิ้วไหม้ คือพักร้อนไม่ใช่ตลอดกาลนะ เพราะวันหนึ่งต้องกลับมา แต่ประด็นคือ ต้องพักร้อน เพราะต่อไปประเด็นพวกนี้จะไม่มีความหมายแล้ว เพราะว่าชาติจะฉิบหายก่อน
สมมติคุณไม่ทำอะไรเลย แล้วไม่ตั้งใจพักร้อน เศรษฐกิจมันก็ดิ่งไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจมันก็จะดิ่งไปถึงจุดหนึ่ง ต่างคนบอกว่าจะไปอย่างนี้ สุดท้ายมันจะหายนะ คือทำตามหลังปัญหาไปเรื่อยๆ เขาเรียกว่า "You always behind the curve”
ถาม : แล้วข้อเสนอเรื่องปฏิรูปประเทศจะเคลื่อนอย่างไร สิ่งที่กรรมการชุดที่ท่านและคณะทำไว้หยิบมาใช้ได้เลยไหม?
ปฏิรูปนี่เป็นสิ่งที่ตกลงกันได้ เป็น Agenda ได้ ผมเคยพูดหลายรอบว่า เรื่องที่ถกเถียงกันมา แล้วมันไม่มีทางจบเนี่ยะ พักไว้ก่อน ควรจะมาพูดเรื่องการต่อสู้ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ก็มันอยู่ใน Agenda ของทั้งสองฝ่าย แล้วทำไมคุณไม่พูดเรื่องนี้ก่อน แล้วพอคุณมาพูดเรื่องนี้ มันจะทำให้เกิดนิสัยของการคุยกัน เถียงกันไม่ใช่ทะเลาะกันนะ แล้วพยายามหาฉันทามติ ถ้าเผื่อมีประสบการณ์แบบนี้แล้วต่อไป ก็ทำเรื่องที่ยากขึ้น เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ระบบการเลือกตั้ง แต่ถ้าตูมแก้รัฐธรรมนูญ แก้ระบบการเลือกตั้ง มันไม่มีทาง
แต่ส่วนที่ผมทำ มันไม่มีเรื่องที่เถียงกันอยู่ เราทำแต่การกระจายอำนาจ เรื่องแรงงาน การศึกษา ภาษี แต่ สิ่งที่ทำค่อนข้างจะเป็นประโยชน์ แต่ไม่ใช่เอามาใช้ทั้งดุ้นนะ มันจะต้องมีการถกเถียงกันต่อไป ผมทำในกลุ่มคน 20 คน แต่เราคิดว่าเราไปในแนวที่ถูก แต่ถ้าเราไปเคลมบอกว่า นี่คือคำตอบ มันไม่ใช่นะ ถ้าเกิดปฏิรูปแล้วสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ การปฏิรูปก็อาจจะเป็นประเด็นที่ต้องพักร้อนเหมือนกัน (หัวเราะ)
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต