สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอาข้าวกูคืนมา ม็อบชาวนาปิดเกมไล่ยิ่งลักษณ์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ถึง วันนี้ไม่ต้องสาธยายให้มากความก็เห็นชัดๆ กันแล้วว่า การดันทุรังเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวง ชาวนาล่มจมกันทั่วทั้งแผ่นดินขนาดไหน โทษใครไม่ได้นอกจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ทำเจ๊งคามือชนิดจะหันหน้าไปกู้ ที่ไหนก็มีแต่ถูกเมินหน้าหนี อย่างว่าสถานการณ์เยี่ยงนี้ คนมีสมองตรึกตรองถ้วนถี่จะมีใครกล้าให้กู้ และจะไม่เมินหน้าหนีได้อย่างไรก็ประตูคุกเปิดอ้ารออยู่ แถมต้องเสี่ยงรับผิดใช้หนี้หัวโตแบบที่ว่าตายอีกสิบชาติก็ยังชดใช้ไม่หมด
       
       ด้วยประการฉะนี้ การตกเขียวชาวนาก่อนเลือกตั้งว่าจะหาเงินมาจ่ายหนี้ให้ชาวนาได้ไม่ต้องห่วง ขอให้ไปหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลเสียก่อน โดยเงินก้อนแรกจะทยอยจ่ายหลังเลือกตั้ง 2 ก.พ. และโปรยยาหอมว่าจะเคลียร์หนี้ให้จบทั้งหมดก่อนสิ้นเดือนมี.ค.นี้ สุดท้ายก็เป็นแค่การโกหกคำโตอีกเช่นเคย เพราะเม็ดเงินที่คาดว่าจะมาจากการกู้ธนาคารต่างๆ นั้น สุดท้ายยังไม่มาแม้แต่สตางค์แดงเดียว
       
       วันนี้ ชาวนายังถูกลอยแพ และรวมตัวประท้วง ปิดถนน อย่างต่อเนื่องทั่วทุกภาค พร้อมกับนัดรวมพลขี่อีแต๋นบุกทวงเงินค่าข้าวที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา หากไม่มีเงินให้ก็ขอให้ "เอาข้าวกูคืนมา" อย่าโกงกันหน้าด้าน ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มชาวนาจากจังหวัดพิจิตรกว่าร้อยคนที่ได้รับความเดือด ร้อนจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เดินทางมาที่พระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายฎีการ้องขอความเป็นธรรมด้วย
       
       ผลจากการเคลื่อนไหวบุกกรุงของชาวนา ทำให้รัฐบาลแก้ผ้าเอาหน้ารอดเฉพาะหน้าโดยโยนให้โรงสีรับใบประทวนที่เกษตรกร ยังไม่ได้รับค่าข้าวจากธ.ก.ส.เป็นหลักทรัพย์และขอให้โรงสีเป็นผู้จ่ายเงิน ให้เกษตรกรร้อยละ 50 - 60 ของราคาจำนำข้าวในใบประทวน เมื่อเกษตรกรได้เงินค่าข้าวจาก ธ.ก.ส.แล้วค่อยนำไปคืนโรงสีโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพราะรัฐบาลจะเป็นผู้รับ ผิดชอบในส่วนนี้ให้ชาวนา โดยเบิกงบกลาง 1,200 ล้านบาท มาช่วยบรรเทาผลกระทบต่อชาวนา ส่วน ธ.ก.ส.ก็ให้ยืดหนี้ออกไป 6 เดือนและปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ชาวนานำไปลงทุนในฤดูกาลผลิตต่อไปด้วย
       
       แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ทำเอารักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ระส่ำระสาย แม้แต่เสี่ยงทำผิดกฎหมายขอกู้เงินแบงก์ก็ทำ โดยเรื่องนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ลุยเปิดประมูลกู้เงินจำนำข้าว 130,000 ล้านบาท ทั้งที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เตือนด้วยความหวังดีว่า ระวังเสี่ยงผิดกฎหมายนะนายจ๋า แต่ทว่านายกิตติรัตน์ คงอยู่ในอาการหน้ามืด ตามัว หูดับ จึงไม่สนเสียงเตือน ยืนยันกู้ลูกเดียว แต่ธนาคารที่ได้ชื่อว่าเป็นเสือนอนกินกลับไม่ผลีผลามงับเหยื่อก้อนโต ปฏิเสธไม่เข้าร่วมประมูล หรือไม่ก็เสนอดอกเบี้ยโหดเหมือนปฏิเสธไปในตัวว่าไม่ให้กู้
       
       สาเหตุที่ทำให้นายกิตติรัตน์ หน้าแหกไม่มีแบงก์ไหนให้กู้ ว่ากันว่า เป็นเพราะความเห็นของสบน.ที่ทำไปถึงนายกิตติรัตน์ ที่ว่านี่เป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายและเสี่ยงถูกฟ้องร้องดำเนินคดี บรรดาแบงก์จึงถอยกรูดกันเป็นแถว เป็นเหตุให้นายกิตติรัตน์ ฉุนขาดสั่งล่าหาต้นตอคนปล่อยหนังสือให้ความเห็นของ สบน. ต่อสาธารณะ
       
       เมื่อ “โต้ง จนตรอก” อยากปกปิดหนักหนา ก็ต้องนำมาเผยแพร่ให้รู้กันถ้วนทั่ว โดยเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.orgระบุว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผอ.สบน.ได้ทำบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด เลขที่ กค 0900/192 ถึงรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เพื่อขอให้นำเรียนข้อสังเกตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อกรณีการค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต2556/2557 โดยท้ายบันทึกข้อความระบุความเห็นของ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะว่า
       
        "สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จึงมีข้อสังเกตว่า การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต2556/2557 ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น อาจถูกวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ฯ ต่อไปได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา181(3) หรืออาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้
       
       “อย่างไรก็ตาม สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะตระหนักดีว่า กระทรวงการคลังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 และวันที่ 21 มกราคม 2557 ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น จึงเห็นควรนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาทบทวน หรือสั่งการยืนยันให้ดำเนินการดังกล่าวต่อไป”
       
       บันทึกข้อความของ สบน. ฉบับนี้ ได้ถูกนำเสนอตามขั้นตอนสายงานราชการ จนกระทั่งไปถึงมือนายกิตติรัตน์ และเขามีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “... ยืนยันให้ดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 21 ม.ค. 2557 ต่อไป...”
       
       ที่ต้องเน้นย้ำก็คือ สบน.บอกแล้วว่าเสี่ยงผิดกฎหมาย แต่นายกิตติรัตน์ ก็ยังยืนยันเดินหน้าต่อ ดังนั้น การทำหนังสือจากสบน.ไปถึงนายกิตติรัตน์ จึงเป็นการหาหลักฐานที่สบน.จะนำไปไว้ใช้สู้คดีกรณีที่อาจถูกฟ้องร้อง โดยเฉพาะกรณีนายพงษ์ภาณื เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่เซ็นลงนามการกู้เงินครั้งนี้ว่ากระทำไปตามคำสั่งของนายกิตติรัตน์ ซึ่งจะต้องเป็นผู้รับชอบทางกฎหมายทั้งหมด
       
       ไม่ใช่แค่ สบน. เท่านั้นที่ทักท้วงนายกิตติรัตน์ ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือเตือนถึงนายกิตติรัตน์ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 56/57 จากแหล่งใดๆ ก็ตาม ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ขัดหรือแย้งต่อบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินงานที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องโดยเคร่งครัดและรอบคอบ เพราะหากการดำเนินการดังกล่าว เข้าสู่การวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แล้วปรากฏว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง ผู้อนุมัติและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
       
       อย่างไรก็ตาม การประมูลเงินกู้แบบ Term Loan ครั้งที่ 1 จำนวน20,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ล้มไปโดยปริยายเพราะธนาคารที่เข้าร่วมประมูล 5-6 ราย เสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้มาก โดยแบงก์ที่เข้าประมูลอ้างว่ามีความเสี่ยงผิดกฎหมายจึงต้องคิดดอกเบี้ยแพง
       
       อาการหลังพิงฝาหาเงินจ่ายหนี้ชาวนาของรักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่ง ลักษณ์ ยังทำให้มีข่าวร่ำลือกระฉ่อนจะว่ามีการบีบคอแบงก์กรุงไทยให้ปล่อยกู้จำนำ ข้าว พนักงานแบงก์กรุงไทยจึงเป่านกหวีด แต่งดำ รวมตัวเฝ้าหน้าห้องประชุมบอร์ดกรุงไทย เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา
       
       สุดท้าย นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์กรุงไทย เปิดแถลงข่าวสยบกระแส และย้ำจุดยืนของความเป็นมืออาชีพไม่ใช่ขี้ข้านักการเมือง โดยยืนยันว่า ธนาคารไม่มีวาระประชุมอนุมัติปล่อยกู้โครงการรับจำนำข้าวแน่นอน เพราะยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายว่า รัฐบาลรักษาการ สามารถกู้เงินหรือค้ำประกันเงินกู้ได้หรือไม่ แบงก์ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและลูกค้าเงินฝากรายย่อย จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายเด็ดขาด
       
       ซ้ำยังศอกกลับ “... มั่นใจว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เคยเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คงจะเข้าใจ และทราบระเบียบธรรมาภิบาลของตลาดเป็นอย่างดี” และย้ำอย่างมั่นใจว่าเข้ามาดำรงตำแหน่งด้วยความเป็นมืออาชีพ ไม่ได้มาจากการเมือง จึงไม่ต้องตอบแทนบุญคุณใคร และยืนยันว่า ธนาคารกรุงไทย จะไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ใครอย่างแน่นอน
       
       ในจังหวะเวลาเดียวกันนี้ อดีตขุนคลังยังออกมาเขย่าปอดผู้บริหารแบงก์และนายกิตติรัตน์ นั่นคือนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า มีข่าวว่ารัฐบาลจะบีบให้แบงค์กรุงไทยให้กู้เพื่อจำนำข้าว ซึ่งแบงก์กรุงไทย จะเสี่ยงกว่าแบงก์พาณิชย์อื่นๆ เป็นสองเท่า
       
       "รัฐบาลใหม่ หากไม่ใช่ชุดเดิม ถ้าเห็นว่าการกู้นี้ผิดกฎหมาย มาตรา 181 (3) ก็อาจจะไม่ยอมชำระหนี้ หรือหากจะชำระหนี้ ก็จะต้องให้มีการดำเนินคดี เพื่อเอาผิดคนที่เกี่ยวข้องก่อน อาจจะใช้เวลาหลายปี แต่นอกจาก 181 (3) แล้ว แบงก์กรุงไทยเข้าข่ายเป็นบุคคลตามมาตรา 181 (4) ด้วย จึงจะมีความผิดกรณีนี้ด้วย และหากรัฐบาลใหม่ เห็นว่าแบงก์กรุงไทย มีเจตนาไปสมคบกับรัฐมนตรีคลัง เพื่อฝ่าฝืนมาตรา 181 (4) เสียเอง ก็ยิ่งมีเหตุผลที่จะไม่ชำระหนี้ รัฐบาลใหม่ย่อมต้องเรียกให้แบงก์กรุงไทย ต้องรับผิดชอบ ชดเชยความเสียหายจากการกระทำความผิดให้แก่รัฐบาลใหม่อีกด้วย ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ทำอย่างนั้นตัวเองก็จะมีความผิดตามมาตรา 157 สรุปแล้ว แบงก์กรุงไทย จะมีความเสี่ยงพิเศษ มากกว่าแบงค์พาณิชย์อื่นๆ สองเท่า บอร์ดที่ลงมติจะต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเป็นการส่วนตัว"
       
       นอกจากนั้น นายธีระชัย ยังเตือนไปถึง ธ.ก.ส.ด้วยว่า รมว.คลัง ไม่สามารถคุ้มครองความเสี่ยงให้กับธ.ก.ส.ได้ โดยยกกรณีที่สบน.ทำบันทึกแย้งเสนอให้รมว.คลังทบทวนเกี่ยวกับเงินกู้ 1.3 แสนล้าน หาก รมว.คลังสั่งการยืนยันก็ต้องรับผิดคนเดียวเต็มๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ข้าราชการสามารถจะปกป้องตนเองได้ เพราะ รมว.คลัง เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่วิธีนี้ ไม่สามารถคุ้มครองผู้บริหาร ธ.ก.ส. ได้ เพราะไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา ธ.ก.ส. เป็นเพียงประธานคณะกรรมการ ธ.ก.ส. จึงมีคณะกรรมการเป็นอิสระ มีดุลพิจนิจของตนเอง ดังนั้น ถ้าเห็นว่ามีความเสี่ยงผิดกฎหมาย ธ.ก.ส. ย่อมจะปฏิเสธได้ และถ้าทำไปทั้งที่เห็นว่าเสี่ยงผิดกฎหมาย ธ.ก.ส. จะต้องรับผิดชอบเอง
       
       "มีคนถามว่า หากสมมุติมีแบงก์พาณิชย์กล้ามาประมูลให้กู้แก่ ธ.ก.ส. โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน ผู้บริหาร ธ.ก.ส. ยังเสี่ยงหรือไม่ ผมคิดว่ายังเสี่ยงต่อมาตรา 181 (4) อยู่ดี เพราะ ธ.ก.ส. เป็นแบงก์รัฐ และการกระทำนี้มีผลต่อการเลือกตั้งที่ยังไม่สมบูรณ์ อาจมองได้ว่า รมว.คลังสมคบกับผู้บริหาร ธ.ก.ส. เพื่อหาทางให้พรรคร่วมรัฐบาลได้เปรียบในการเลือกตั้งที่ยังไม่จบสิ้น ผู้บริหาร ธ.ก.ส. เสี่ยงมีความผิดในฐานะตัวการหรือผู้สนับสนุน และยังมีประเด็นอีกว่า การที่กระทรวงการคลังค้ำประกันนั้น จะถูกต้องตามมาตรา 181 (3) หรือไม่อีกด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อฐานะของ ธ.ก.ส.โดยอาจทำให้ผู้ฝากเงิน ธ.ก.ส. กังวลได้"
       
       ส่วนแบงก์ทหารไทย นายธีระชัย ก็โพสต์เฟซบุ๊กเตือนว่า การปล่อยกู้ในครั้งนี้ธนาคารทหารไทยอาจเสี่ยงผิดกฎหมาย "..... ถ้าผู้ฝากเงินเห็นพฤติกรรมว่า แบงก์ไม่ได้ยึดหลักการบริหารงานอย่างระมัดระวัง ผู้ฝากเงินอาจจะเร่งถอนเงินกัน ดังเกิดขึ้นแล้วที่ ธกส. และ แบงก์ออมสิน ความเสี่ยงนี้เรียกว่าReputation Risk หรือความเสี่ยงทางชื่อเสียง สุดท้าย ผู้บริหารยังจะมีสิทธิโดนผู้ถือหุ้นฟ้องคดีแพ่ง เป็นการส่วนตัวอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบัน เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
       
       “.....ขณะนี้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง เขาเปลี่ยนใจแล้ว และเขาทำหลักฐานเพื่อวิงวอนให้รัฐมนตรีคลังฉุกคิดแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ บัดนี้ เขาตระหนักกันแล้วว่าการกู้ 1.3แสนล้านนี้ น่าจะผิดกฎหมาย จึงขอให้ กก.ผจก.ธนาคารทหารไทย รับทราบข้อมูลนี้ไว้ด้วย เพราะแบงค์นี้มีแบงค์ต่างประเทศระดับใหญ่สุดของโลกถือหุ้นอยู่ด้วย .... "
       
       ลองนึกดูแค่มีข่าวว่า แบงก์ถูกรัฐบาลบีบคอให้ปล่อยกู้จำนำข้าวก็ยังป่วนกันขนาดนี้ โดยนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ยอมรับว่า แบงก์ที่มีชื่อพัวพันปล่อยกู้จำนำข้าวมีประชาชนแห่ถอนเงินจากแบงก์เกือบ หมื่นล้าน โดย 2 แบงก์รัฐเจอหนักกว่าเพื่อนถูกถอนเงินออกไป 6,000ล้านบาท ดังนั้น ถ้าหากแบงก์ไหนใจถึงกล้าปล่อยกู้สงสัยคงมีลูกค้าแห่ถอนจนแบงก์เจ๊งล้มหายตาย ไปจากสาระบบเพราะโครงการจำนำข้าวเป็นแน่
       
       มาถึงนาทีนี้ รัฐบาลจะได้เงินกู้จากไหนมาใช้หนี้ชาวนาก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่เรื่องที่แน่ๆ และอาจเพราะกลัวคุกด้วยกระมังที่ทำให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรมว.กระทรวงพาณิชย์ ออกมายอมรับโดยดุษฎีแล้วว่า จีนยกเลิกคำสั่งซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยจำนวน 1.2 ล้านตันแล้ว หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบถึงความโปร่งใสในข้อตกลงการค้าข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือจีทูจีว่า มีอยู่จริงหรือไม่ ทำให้จีนขาดความเชื่อมั่น
       
       ทั้งนี้ สัญญาจีทูจีดังกล่าว ได้มีการลงนามกันในเบื้องต้นระหว่างรัฐบาลไทย โดยกรมการค้าต่างประเทศกับรัฐบาลจีน โดยบริษัท Beijing Great Northern Wilderness Rice Industryสังกัดบริษัท เป่ยต้าฮวง กรุ๊ป ของกรมการเกษตร มณฑลเฮยหลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา
       
       เมื่อหาเงินกู้ไม่ได้ จะมีทางออกอย่างไร แน่นอนกระทรวงพาณิชย์ ต้องเร่งระบายข้าวที่มีอยู่ในสต็อก 10 กว่าล้านตันออกสู่ตลาดเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้ชาวนาให้เร็วที่สุด หรือไม่อีกทางหนึ่งก็ทำตามข้อเสนอของแกนนำชาวนาจังหวัดพิจิตร ที่ให้ชาวนานำใบประทวนข้าวที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกให้เกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวเพื่อนำไปยื่นรับเงินจาก ธ.ก.ส. ไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นโดยรัฐบาลต้องไปขอร้องให้สถาบันการเงินเข้า มาช่วยเหลือ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายรัฐธรรมนูญ
       
       แต่ถ้าถาม "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รองนายกรัฐมนตรี อดีตรมว.คลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องบอกว่าให้ลาออกไปเสียแต่โดยดี โดยเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา หม่อมอุ๋ย เปิดแถลงข่าวที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย พร้อมกับอ่านจดหมายเปิดผนึกความยาว 6 หน้าที่จะส่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยสรุปความได้ว่า รัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจสำคัญๆ ให้ลุล่วงไปได้
       
       กล่าวคือ ทั้งไม่สามารถจ่ายเงินค่าข้าวให้กับชาวนา ทำให้เดือดร้อนทั่วถ้วนหน้า รวมถึงการให้ประชาชนเลือกตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ ร่วมจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทยแต่ไม่มีองค์กรใดให้ความร่วมมือ ตอกย้ำว่ารัฐบาลฯไม่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาเพราะผลจากการบริหารประเทศที่ ล้มเหลว มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ฯลฯ
       
       โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของ ชาติเป็นจำนวนสูงมาก ซ้ำยังโต้แย้งบิดเบือนข้อมูลไม่ยอมทบทวนโครงการเพื่อหาวิธีใหม่ที่จะช่วย เหลือชาวนาโดยไม่ให้เกิดความเสียหายมากเกินไปดังที่เกิดขึ้นมาแล้ว แต่ดึงดันใช้วิธีการรับจำนำแบบเดิมในฤดูกาลถัดไปเป็นการลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงทักท้วงใดๆ ทำให้ประชาชนจำนวนมากสงสัยว่าจะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกๆ โครงการที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ริเริ่ม ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ หรือโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมูลค่า 200,000 ล้านบาท กระทั่งออกมาชุมนุมประท้วงไม่ต้องการให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไป
       
       นอกจากนั้นแล้ว การเลือกตั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาจะยืดเยื้ออีกนาน ซึ่งจะส่งผลให้การประท้วงน่าจะรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศรุนแรงขึ้น ดังนั้นเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ การตัดสินใจลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ เปิดทางให้มีการแต่งตั้งคนกลางเข้ามาบริหารประเทศต่อไป ผู้ประท้วงจะหยุดประท้วงทันที กิจการต่างๆ ในบ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไป และรัฐบาลใหม่ที่ประชาชนยอมรับย่อมสามารถดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกัน หาทางปฏิรูปประเทศอย่างได้ผล
       
       ทุกกระแสเสียง ทุกความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีม็อบชาวนาที่จะมาปิดเกม เป็นเครื่องยืนยันว่า รักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ อยู่ไปก็ไร้ค่า นี่ถ้าไม่ละโมบโลภมากทุจริตโกงกินกันจนฉิบหาย และใช้สติปัญญาไตร่ตรองคำทักท้วงของหลายฝ่ายตั้งแต่แรก รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ คงไม่ต้องเจอกับภาวะจนตรอกและชาวนาก็คงไม่ต้องมาเดือดร้อนล้มละลายกันทั้ง ประเทศ .... แล้ววันนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ จะมาร้องคร่ำครวญของความเห็นใจหาพระแสงอันใดไม่ทราบ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เอาข้าวกูคืนมา ม็อบชาวนา ปิดเกม ไล่ยิ่งลักษณ์

view