จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เฉลา กาญจนา
บ้านไหนครอบครัวไหนที่ต้องปลูกข้าวทำนา ตอนนี้คงอยู่ในสภาพ "น้ำตานอง" อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก็ได้
ผลกรรมจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล กับโครงการรับจำนำข้าว โดยกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าที่ตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ราคานี้เรียกว่าสูงกว่าราคาตลาดไม่น้อย แต่ที่หนักไปกว่านี้รัฐบาลคงอยากจะสร้างประวัติศาสตร์ สร้างฐานเสียงผูกมัดชาวนากับคำว่า"จำนำทุกเม็ด"
นโยบายอย่างนี้ช่วงแรกๆ น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของชาวนาอยู่ไม่น้อย เพราะราคาที่รับจำนำแม้จะได้ไม่ทั่วถึงตันละ 15,000 บาท แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นราคาที่ดีกว่าเข็นไปขายให้โรงสี หรือตลาดปกติ นี่อาจเป็นความชื่นชอบของชาวนาที่รัฐหยิบยื่นให้ เพื่อหวังที่จะยกระดับรายได้ชาวนา แต่ใครจะเชื่อว่าบนความเห็นใจชาวนามันก็แฝงไปด้วยคอร์รัปชัน ที่กินกันเป็นกอบเป็นกำ เพียงแค่ใช้นโยบายบังหน้า
โครงการรับจำนำข้าวช่วงปีแรกๆ ดูเหมือนทุกฝ่ายจะชื่นชมและชื่นชอบโดยเฉพาะชาวนา เพราะฤทธิ์เดชของขบวนการเกาะกินชาวนายังไม่ปรากฏชัด การจ่ายเงินให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการยังราบรื่น รัฐบาลยังมีเครดิตในการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ ธกส.ในฐานะเสาหลักของโครงการจ่ายเงินให้ชาวนา ตัวเลขการใช้เงินเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท และนี่คือเงินที่รัฐบาลใช้ไปกับโครงการรับจำนำข้าว
แต่ด้วยแนวคิดของรัฐบาลหวังว่า เมื่อรับจำนำข้าวเข้ามาแล้ว น่าจะมีความสามารถในการระบายข้าวออกไปได้ ทั้งการประมูลขายทั่วไปให้พ่อค้า และขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับรัฐบาลประเทศต่างๆ
2 ช่องทางที่วางไว้น่าจะเป็นช่องทางหาเงินเข้ามาหมุนเวียนได้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นไปดั่งที่วางไว้ กลับกลายเป็นช่องทาง "คอร์รัปชัน" โดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ใช้นโยบายนี้เป็นตัวขับเคลื่อนทำมาหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน สร้างเครือข่ายแบบกลลวงขึ้นมา
กระทั้งฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ได้หยิบยกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา พร้อมด้วยหลักฐานการเชื่อมโยงของกลุ่มบุคคลที่เข้ามาสมคบคิดหาประโยชน์ และหลักฐานการโอนเงินจากโครงการระบายข้าว
แต่สิ่งที่ปรากฏไม่ได้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้มี"สึกนึก"แม้แต่น้อย ตรงกันข้ามยังคงเดินหน้าเสมือนโครงการนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
การปั้นโครงการขึ้นมาใช้งบประมาณแผ่นดิน ย่อมทำให้หลายฝ่ายจับจ้อง กระทั่งรองปลัดกระทรวงการคลัง (สุภา ปิยะจิตติ)ประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ทนไม่ไหวกับภาระขาดทุน ที่เกิดขึ้นกว่า 4 แสนล้านบาท ได้ออกมาเตือนรัฐบาลให้ระมัดระวังการใช้เงินกับโครงการนี้ แต่สิ่งที่สุภาได้รับกลายเป็นถูกตั้งกรรมการสอบวินัย และปลดพ้นหน้าที่ปิดบัญชีโครงการโทษฐานไม่ยอมปกปิดผลขาดทุน
มหากาพย์จำนำข้าวไม่จบสิ้นเพียงแค่คุณสุภาที่ถูกสั่งปิดปากเท่านั้น
สิ่งที่ปรากฏกลายเป็นบ่วงรัดคอรัฐบาล เมื่อวิชา มหาคุณกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ออกมาแถลงผลการสอบสวน ของคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับสาธารณะรัฐประชาชนจีน บอกว่า
"ไม่ใช่การซื้อขายจีทูจีอย่างแท้จริง ไม่มีการส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักรตามที่ได้มีการกล่าวอ้าง ปกติแล้วการซื้อขายข้าวกับจีน ต้องดำเนินการผ่านบริษัทคอฟโก้ แม้มีการยืนยันว่าเป็นรัฐวิสาหกิจจีนจริง แต่ไม่มีหลักฐานการเป็นตัวแทนการค้าข้าวอำนาจเต็มจากรัฐบาลจีน จึงสรุปได้ว่าไม่ใช่การขายข้าวแบบจีทูจี"ฉะนั้นใครที่อยู่ในข่ายกระทำผิดก็ต้องโทษไป
การทำธุรกรรมค้าข้าวแบบ"ลวงโลก"สร้างความกังขาให้กับสาธารณชนไม่น้อย เพราะข้อมูลการระบายที่ผ่านมาถูกปกปิดซ่อนเร้น ทั้งปริมาณและราคาที่ขายออกไป แม้กระทั่งผู้รับซื้อปลายทาง จึงไม่แปลกใจทำไม? โครงการนี้ถูกมองว่ามี"นิติกรรมอำพราง"อย่างเหลือเชื่อ
แต่ผลกรรมของประชานิยมวันนี้ กลายเป็นหอกทิ่มแทง"ชาวนา"แทนที่จะได้รับเงินจากจำนำข้าว กลายเป็นถือ"ใบประทวน"แทนเงินค่าข้าว ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใคร? คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ จะปล่อยให้ชาวนาต้องกู้หนี้ยืมสินนอกระบบอีกเท่าไหร่ หรือจะมีชาวนาอีกสักกี่ราย ที่ต้องมาสังเวยกับประชานิยมอย่างนี้
ถามว่านี่คือ นโยบายประชานิยมที่ชาวนาเรียกร้อง หรือพวกพ้องต้องการ แล้วใคร?คือผู้โกงชาวนาไทย !!
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต