สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตือนเสี่ยงผิดกม.โยกเงินจ่ายจำนำข้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หน่วยงานรัฐเตือน"เสี่ยง"ผิดกฎหมาย โยกเงินจ่าย "จำนำข้าว" ชี้หากมีปัญหา รัฐบาลอาจเจอข้อหาขัดรัฐธรรมนูญ โทษถึง "อาญา"

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 21 ม.ค. มีวาระสำคัญคือ อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ซึ่งมีการเพิ่มโครงการจำนำข้าวเอาไว้ในแผนบริหารหนี้ รวมกว่า 1.4 ล้านบาท แต่ยังเป็นที่ถกเถียงว่าสามารถทำได้หรือไม่

มติครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ที่มีวงเงินปรับลดลง 5,168.92 ล้านบาท จากเดิม 3,321,499.76 ล้านบาท เหลือ 3,316,330.84 ล้านบาท

แม้รัฐบาลจะอ้างเหตุผลว่า"ภาระหนี้"รัฐบาลในอนาคตลดลง และ ไม่ใช่"โครงการใหม่" อีกทั้งยังอยู่ในกรอบเพดานหนี้เดิมที่ครม.อนุมัติไปแล้ว แต่ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ส่งเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายอีกครั้งเพื่อความรอบคอบ

เพราะหากมีปัญหา รัฐบาลอาจเจอข้อหาขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษ"อาญา"

ที่สำคัญการปรับปรุงแผนบริหารหนี้ครั้งนี้ ได้ปรับเปลี่ยน"รายการ" ก่อหนี้ คือ ได้"ยกเลิก" แผนกู้เงินในโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท ที่เดิมมีแผนจะกู้เงินในปี 2557 ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทออก เนื่องจาก พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และแผนการก่อหนี้ใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ให้ปรับลดวงเงินกู้ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท

จากนั้น มีเพิ่มรายการหนี้ "ใหม่" จำนวน 2 รายการ ในวงเงินใกล้เคียงกัน รวมเงิน 143,244 ล้านบาท ได้แก่ 1.เงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล 13,244 ล้านบาท และ 2.เงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก(นาปี) ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 130,000 ล้านบาท

ด้าน นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งกำลังพิจารณา "คำปรึกษา" จากรัฐบาล เห็นว่า การเสนอปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ในที่ประชุมครม.เป็นการเสนอในหลักการ ซึ่งก็ต้องดูในรายละเอียดโครงการที่จะมีการเสนอมา หากอยู่ในกรอบวงเงินเดิม ก็สามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้กระทบงบประมาณปีต่อไปและไม่ได้เป็นภาระผูกพันกับรัฐบาลในอนาคต

" ถึงแม้จะเป็นอำนาจรัฐบาลรักษาการ แต่การปรับปรุงยังอยู่ในกรอบที่ครม.ทำได้ เนื่องจากไม่กระทบกรอบงบประมาณที่ครม.อนุมัติไว้ก่อนมีมติยุบสภา และมีการปรับลดหนี้สาธารณะลงประมาณ 5,000 ล้านบาท ทำให้ไม่เป็นภาระผูกพันกับรัฐบาลในอนาคต"เลขากฤษฎีกากล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ทำเรื่องเสนอครม. แนบท้ายเอกสารการพิจารณา โดยรวมความเห็นข้อกฎหมายและความเห็นของหลายหน่วยงาน มี 3 ประเด็น

1. โดยที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 และมีผลใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2556 เป็นต้นไป และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 180 และ 181 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และจะต้องไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือ มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2556 กำหนดแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว

2. การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ตามที่รมว.คลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอในครั้งนี้ มีประเด็นข้อเสนอครอบคลุมถึงการรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปี 2557 ครั้งที่ 1 การค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจต่างๆ และการกู้เงินของกระทรวงการคลัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อหนี้และการเปลี่ยนแปลงการดำเนินโครงการของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง โดยการปรับเปลี่ยนแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวที่ไม่เกินกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้เดิม พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 (ข้อ 4.2) ได้บัญญัติให้อำนาจของคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะและรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

แต่การดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการกู้เงินภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว บางกรณียังไม่มีความชัดเจนแน่นอนว่าสมควรจะดำเนินการในแนวทางใด เช่น กรณีกู้เงินตาม(ร่าง)พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....ซึ่งอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

3. ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณและสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นควรรับทราบการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557ครั้งที่ 1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะรัฐมนตรีสามารถรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะได้

สำหรับกรณีการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ปรับปรุงครั้งที่ 1 และการขออนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าหากการที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามกรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว และการพิจารณาอนุมัติดังกล่าวจะไม่มีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป คณะรัฐมนตรีก็ย่อมพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามที่เสนอได้

จากเหตุผลเลขาธิการคณะรัฐมนตรีข้างต้น มีประเด็นสำคัญในขณะนี้คือเป็นโครงการมีผลผูกพันกับรัฐบาลใหม่หรือไม่

แต่ไม่ว่าสำนักงานกฤษฎีกาจะให้ความเห็นอย่างไร และจะแตกต่างจากที่ทำความเห็นเสนอครม.หรือไม่ แต่ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของข้าราชการกระทรวงการคลังต่อกรณีนี้

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารหนี้รายหนึ่ง เห็นว่า"เป็นเรื่องของความเหมาะสมว่าควรจะทำหรือไม่ เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ โดยเฉพาะการก่อภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลใหม่ แล้วโครงการที่ปรับเปลี่ยนนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลใหม่อาจไม่ดำเนินการตามนโยบายเดิมก็ได้ ที่สำคัญโครงการรับจำนำข้าวเดิมกำหนดไว้ว่าจะต้องใช้เงินหมุนเวียนของโครงการมาใช้ดำเนินการรอบใหม่ หมายถึงการระบายขายข้าว แล้วนำเงินกลับมาหมุนเวียนใช้รับจำนำรอบใหม่"

ก่อนหน้านี้ ได้เสนอความเห็นไปแล้วว่าไม่สามารถดำเนินการ เพราะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงรายการก่อหนี้ จากลงทุน"โครงสร้างพื้นฐาน" มาเป็น "โครงการรับจำนำ" แม้รัฐบาลอาจจะใช้วิธีออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อนำเงินมาให้ธ.ก.ส.ใช้ดำเนินโครงการรับจำนำ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้

"เจ้าหน้าที่พยายามค้านการเปลี่ยนรายการก่อหนี้แล้ว เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน" เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว

ดังนั้น หากกฤษฎีกาเห็นว่าทำได้ ยังมีอีก"ด่าน"ที่ต้องเผชิญ คือ ข้าราชการกระทรวงการคลัง ใครจะกล้าร่วม"ลงนาม"

เพราะกรณีคล้ายกันนี้เคยมีบทเรียนมาแล้ว จากคดีหวยบนดิน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เตือน เสี่ยงผิดกม. โยกเงิน จ่ายจำนำข้าว

view