สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อวสานโครงการจำนำข้าว เงินหมดหน้าตัก-ทุจริตจีทูจี พาณิชย์ โละสต๊อกขายถูก

จากประชาชาติธุรกิจ

ปิดฉากโครงการรับจำนำข้าว หลัง ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา "ทุจริต" ข้าว G to G "บุญทรง-ภูมิ" โยงสอบถึง "ยิ่งลักษณ์" ถูกเรียกไต่สวนด้วยเหตุ ไม่ยับยั้งความเสียหาย ด้านชาวนาชุมนุมใหญ่ปิดถนนเข้าร่วม กปปส.กดดันรัฐ "โต้ง-นิวัฒน์ธำรง" ออกตัวพัลวัน โบ้ยความผิด กกต.-พรรคประชาธิปัตย์ เหตุกู้เงินจำนำข้าวต่อไม่ได้



หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกติดต่อกันมา 3 ฤดูกาล (2554/55-2555/56 และ 2556/57) ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งจากนักวิชาการ-อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง-อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงผู้คนในวงการค้าข้าว ปรากฏผลการขาดทุนจากการรับจำนำข้าวไม่ต่ำกว่า 250,000-300,000 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านี้ การดำเนินโครงการยังส่อทุจริตทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลแบบรัฐต่อรัฐ หรือ GtoG ความล้มเหลวในการระบายข้าวไม่เป็นไปตามแผนจนปริมาณข้าวที่เหลืออยู่ในสต๊อกมากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบไปถึงการขาดเงินหมุนเวียนที่จะใช้ในการจำนำข้าวต่อ เกิดการประท้วงของชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวตามใบประทวน จนกล่าวได้ว่าโครงการรับจำนำข้าวได้เดินทางมาถึงจุดจบแล้ว

ชาวนาร่วมชุมนุม กปปส.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่ากลุ่มชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำหลายจังหวัดได้ออกมารวมตัว "กดดัน" รัฐบาล หลังเลยเส้นตาย 15 วันที่กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินให้กับชาวนาที่ถือใบประทวนทุกคน โดยมีชาวนาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางได้ออกมารวมตัวปิดถนนสายนครสวรรค์-พิษณุโลกที่สี่แยกโพธิ์ไทรงามจ.พิจิตร กับรวมตัวประท้วงที่ศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์

นายประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ได้เตรียมหารือกับตัวแทนชาวนาในจังหวัดต่าง ๆ เช่น กาญจนบุรี-เพชรบุรี เพื่อกำหนดท่าทีรวมกัน โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะนำกลุ่มชาวนาที่เห็นด้วยมาร่วมชุมนุมกับ กปปส. และอีกด้านหนึ่งจะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งหมด รวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่ใช้นโยบายการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดราคาตันละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท จนสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร

ในขณะที่สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย โดยนายวิเชียร พวงลำเจียก กลับทำหนังสือถึงคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังหรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ดำเนินการจัดหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาทั่วประเทศโดยด่วน

ทุจริตข้าวพันยิ่งลักษณ์

ส่วนความเคลื่อนไหวอีกด้านในวันที่16 มกราคมที่ผ่าน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้รายงานความคืบหน้าการไต่สวนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

โดยที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหากับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

รวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสยามอินดิก้า ในฐานะผู้แทนไทยที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้แทนจีน (บริษัท Guangdong stationery & sporting goodsImp & exp.corp. กับบริษัท Hainan grain &oil industrial trading company 2 รัฐวิสาหกิจจีน) ได้แก่ นายรัฐนิธ โสจิระกุล,นายสมคิด เอื้อนสุภา, นายลิตร พอใจ กระทำการ "ทุจริต" ในโครงการรับจำนำข้าวไม่มีการซื้อขายข้าวด้วยวิธีรัฐต่อรัฐ หรือ GtoG กับรัฐบาลจีนตามที่กล่าวอ้าง

อีกทั้งปริมาณข้าวที่อ้างว่าขายให้กับรัฐบาลจีนก็ไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศ แต่ข้าวจำนวนนี้กลับถูกนำมาขายวนเวียนอยู่ในประเทศ ซึ่งตรวจสอบพบจากหลักฐานที่ผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศนำไปบันทึกบัญชีต้นทุน และการชำระภาษี โดยกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับบริษัทสยามอินดิก้าที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกับบริษัทค้าข้าวทั้งรายเล็กและรายใหญ่อีก17 ราย โดยผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเหล่านี้มีพฤติกรรม

เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล

ที่สำคัญก็คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังมีมติให้คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จากกรณีมีเหตุอันควรสงสัยตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ละเลยไม่ดำเนินการระงับหรือยับยั้งการทุจริตที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้ง ๆ ที่ ป.ป.ช.เคยมีหนังสือท้วงติงและแสดงความกังวลเกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้นแจ้งไปยังรัฐบาลให้ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วนบริษัทค้าข้าวอีก 17 รายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

1) ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่มีการซื้อขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาล หรือซื้อขายข้าวกับตัวแทนบริษัทสยามอินดิก้า

2) กลุ่มผู้ประกอบการข้าวถุงที่ซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลแทนตัวแทนบริษัทสยามอินดิก้า

3) บริษัทพ่อค้าข้าว (หยง) และ 4) กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีที่นำข้าวมาหมุนเวียนกลับสู่โครงการจำนำข้าว

โต้งแก้ตัวพัลวันโยนฝ่ายค้านผิด

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไม่ได้หนักใจจากผลการพิจารณาของ ป.ป.ช.และพร้อมที่จะต่อสู้ตามกระบวนการภายใต้กรอบของกฎหมาย "ผมจะไม่ยอมให้ถูกกลั่นแกล้งโดยเด็ดขาด

ด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังคงยืนยันว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 (รอบแรก-นาปี) ต่อไปจนสิ้นสุดโครงการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.ไต่สวนจนพบข้อเท็จจริงว่าไม่เคยมีการขายข้าว GtoG ให้กับรัฐบาลจีนนั้น "ผมไม่ทราบ" เพราะเป็นเรื่องที่ดำเนินการก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์

ส่วนการจ่ายเงินให้กับชาวนาที่นำข้าวเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 56/57 (รอบแรก) กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วว่าจะดำเนินการกู้เงินจำนวน 130,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการรับจำนำได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา หาก กกต.ไม่อนุมัติ กระทรวงการคลังก็ต้องหาทางดำเนินการอื่นต่อไป

และเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดประมูลข้าวเป็นการทั่วไปประมาณ 200,000-300,000 ตัน และการเปิดประมูลข้าวผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) วันที่ 22 มกราคมนี้อีกประมาณ 140,000 ตัน รวมถึงยังเปิดให้ภาคเอกชนที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมาขอซื้อจากกระทรวงโดยตรง หรือเปิดให้ลูกค้าต่างประเทศติดต่อขอซื้อเข้ามาได้โดยตรงด้วย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เหตุที่การจ่ายเงินจำนำข้าวปี 2556/57 ล่าช้านั้น เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งกรณีงบประมาณประจำปีที่บังคับใช้ล่าช้ากว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เนื่องจากมีฝ่ายค้านร้องเรียนศาล การที่ฝ่ายค้านลาออกจาก ส.ส.จำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องยุบสภา จนทำให้การดำเนินงานติดขัด และการที่มีผู้ชุมนุมปิดกระทรวงการคลังก็กระทบกับการทำงาน

สบน.แจงเงินกู้จข้าวติดล็อก

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ที่อยู่ระหว่างรออนุมัติจาก ครม.นั้น ในภาพรวมที่มีการปรับลดวงเงินบริหารหนี้ลงประมาณ 5,000 ล้านบาท ไม่ได้มีปัญหา แต่เนื่องจากมีส่วนที่ต้องค้ำประกันเพิ่มเติมให้รัฐวิสาหกิจ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องมีมติ ครม.อนุมัติ เข้าใจว่าครม.อยู่ระหว่างขอความเห็นไปที่ กกต.

"การปรับแผนในภาพรวมทำได้ เพราะกฎหมายบอกว่า ถ้าไม่เกินวงเงินที่อนุมัติไปแล้ว ก็รายงานเพื่อทราบได้เลย แต่เนื่องจากมีการปรับวงเงินค้ำประกันของรัฐวิสาหกิจบางแห่งเพิ่ม ซึ่งเป็นกฎหมายคนละมาตรากัน จึงต้องให้ ครม.มีมติก่อน โดยเรา (สบน.) ก็รอมติ ครม. ส่วนจะเข้า ครม.เมื่อไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต." นางสาวจุฬารัตน์กล่าว

นางสาวจุฬารัตน์กล่าวยืนยันว่า แม้จะมีการค้ำประกันเพิ่มเติมให้ ธ.ก.ส.อีก 130,000 ล้านบาทก็จะยังไม่เต็มเพดานค้ำประกันเงินกู้และให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 20% ของ

งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปีนี้มีเพดานที่ทำได้กว่า 500,000 ล้านบาท โดยยังมีช่องให้ค้ำประกันได้อีกกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งยืนยันว่าการปรับแผนค้ำประกันเงินกู้รัฐวิสาหกิจที่มีบางแห่งปรับลด บางแห่งปรับเพิ่มนั้น ไม่ใช่การเกลี่ยวงเงินมาให้ธ.ก.ส. เพราะเป็นการปรับตามความต้องการของรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก ซึ่งบางแห่งขอปรับลดเนื่องจากมีรายได้ของตัวเองเพียงพอหรือบางแห่งอาจจะกู้ เงินไม่ได้ตามแผนส่วนวงเงินที่ยังเหลือจากโครงการรับจำนำข้าวส่วนที่ไม่เกิน กรอบ500,000 ล้านบาทอีกประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนที่ สบน.ต้องกู้ให้ ธ.ก.ส.ประมาณ 13,000 ล้านบาท และส่วนที่เป็นเงินของ ธ.ก.ส.เองอีก 22,000 ล้านบาท ซึ่งได้มาจากการที่กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวและโอนเงินคืนมาให้เพื่อลดจากยอด 500,000 ล้านบาท แต่เนื่องจาก สบน.ได้รับเงินช่วงปลายปีงบประมาณ "เราจึงกู้ให้ไม่ทัน" ต้องกู้ในปีงบประมาณใหม่ ซึ่งต้องขอ ครม.มีมติอนุมัติก่อนเช่นกัน

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การจ่ายเงินจำนำข้าวแก่เกษตรกรในส่วนที่เป็นเงินซึ่งรัฐบาลต้องจัดหาเพิ่มเติมให้ ธ.ก.ส. จำนวน 130,000 ล้านบาท ขณะนี้ต้องรอการชี้ขาดจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ธนาคารได้สอบถามเรื่องการใช้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. 55,000 ล้านบาท จ่ายไปพลางก่อนว่า ทำได้หรือไม่

แต่เนื่องจากประเด็นที่รัฐบาลถามไปที่ กกต. ก็ครอบคลุมอยู่แล้ว ธ.ก.ส.จึงไม่จำเป็นต้องถามซ้ำ

"ถ้ากกต.เห็นชอบว่ารัฐบาลสามารถกู้เพิ่มเติมมารับจำนำข้าวได้ เราก็จะมีเงินไปจ่าย แต่อยู่ดี ๆ จะมาเอาสภาพคล่องของธนาคารที่เป็นเงินฝากของประชาชนไปจ่ายอย่างที่นายกิตติรัตน์กับนายทนุศักดิ์ต้องการนั้นทำไม่ได้"

มต ป.ป.ช.ปลดล็อกข้าวรัฐบ

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงการส่งออกข้าวปี 2556 คาดว่าจะมีปริมาณเพียง 6.7 ล้านตัน หรือลดลง 3-4% จากปี 2555 ที่ส่งออกปริมาณ 6.9 ล้านตัน ส่วนมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท หรือลดลง 7-8% จากปีก่อน ส่วนยอดส่งออกในเดือนมกราคม 2557 คาดว่าอยู่ระหว่าง 500,000-700,000 ตัน ไม่น่าจะลดลง เพราะขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงประมาณ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ประกอบกับรัฐบาลถือครองสต๊อกข้าวไม่ต่ำกว่า 15 ล้านตันข้าวสาร และมีการระบายออกมาต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ซัพพลายข้าวในตลาดมีมาก ผู้ซื้อไม่ต้องรีบซื้อ บางรายชะลอดูว่าหากผลผลิตข้าวนาปรังปี 2557 ออกมาอีกประมาณ 9-10 ล้านตันข้าวเปลือก

ก็มีโอกาสที่ราคาส่งออกข้าวของไทยจะลดลงไปได้อีก จากปัจจุบันที่ขาย "ต่ำกว่า" ข้าวเวียดนามแล้ว โดยราคาข้าวขาว 5% เวียดนามที่ 410-415 เหรียญสหรัฐ ไทยอยู่ที่ 375-385 เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าช่วงก่อนใช้โครงการรับจำนำเคยขายได้ 600 เหรียญสหรัฐ

"ราคาข้าวสาร 410 เหรียญสหรัฐ คิดทอนกลับมาเป็นต้นทุนข้าวสารในประเทศประมาณ 12,000-13,000 บาท ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ โอกาสราคาจะลดลงไปอีก ถ้าหากยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้นโยบายจำนำนาปรังต่อหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาบริหารประเทศคงไม่มีการรับจำนำข้าวอีกแล้ว" นายเจริญกล่าว

ส่วนนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า ผลการตั้งข้อกล่าวหา ป.ป.ช. น่าจะทำให้กระบวนการระบายข้าวของรัฐบาลโปร่งใสมากขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ได้เข้าถึงข้าวของรัฐบาลได้ และช่องทางพิเศษที่เคยทำมาต้องหยุด เพราะเมื่อไม่มีทางออก รัฐบาลก็ต้องเร่งระบายข้าว เพื่อลดความเสียหายของสต๊อกช่วงไตรมาส 1/2557 ซึ่งผลผลิตของเวียดนามยังไม่ออกสู่ตลาด อาจทำให้ราคาข้าวลดลงไปอีก จากปัจจุบันราคาข้าวเก่าปี 2556 ข้าวขาว 5% ตันละ 370-375 เหรียญสหรัฐ ส่วนข้าวใหม่ปี 2557 ตันละ 415-420 เหรียญสหรัฐ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : อวสาน โครงการจำนำข้าว เงินหมดหน้าตัก ทุจริตจีทูจี พาณิชย์ โละสต๊อก ขายถูก

view