สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนวิวาทะ เรียกแขก ของ ปลอดประสพ 2 ปี 3 คำจาก น้ำไม่ท่วม สู่ ป่าสร้างได้

จากประชาชาติธุรกิจ

เขาเป็นหนึ่งในรัฐมนตรี 7 คนที่บริหารราชการแผ่นดินคู่ขนานกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มาตลอด 2 ปี 2 เดือน

เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่เลือกผันตัวจากตำแหน่งข้าราชการมาใช้ชีวิตในวังวนถนนการ เมือง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในตำแหน่งรัฐมนตรี-รองนายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลยุคปัจจุบัน

และเขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่มักประกาศตนว่าเป็น "อำมาตย์" แต่ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับมวลชนคนเสื้อแดงที่ถูกเรียกว่า "คนรากหญ้า"

6 ปีบนเส้นทางการเมืองของ "ปลอด ประสพ สุรัสวดี" นอกจากจะได้รับตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงบนเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี เขายังได้รับมอบหมายให้คุมเมกะโปรเจ็กต์ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

เป็นความไว้วางใจจาก "ยิ่งลักษณ์" ที่เชื่อมือว่า "ปลอดประสพ" อดีตข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะสามารถบริหารจัดการงบประมาณ-โครงการให้สำเร็จตลอดรอดฝั่ง

แม้โปรเจ็กต์น้ำจะล่วงเลยมาถึงการเฟ้นตัวภาคเอกชนรับผิดชอบทั้ง 9 โมดูลได้สำเร็จ แต่ผ่านมาแล้ว 3 เดือน ดูเหมือนว่ายังไม่มีโครงการใดสามารถเริ่มต้นได้อย่างจริงจัง แต่กลับมีภาพคัดค้าน-แรงต้านเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะโมดูลการสร้างเขื่อนที่นับวันเริ่มปรากฏมวลชนลุกขึ้นมาต่อต้าน

อัน สะท้อนให้เห็นจากปรากฏการณ์เดินเท้าจากป่าสู่เมือง ระยะทาง 300 กิโลเมตร เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกนำโดย "ศศิน เฉลิมลาภ" เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กระทั่งวันนี้กระแสรวมตัว-คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ดูจะขยายใหญ่ขึ้นกว่ายุคแรก เริ่ม ขยายผลจากโลกออนไลน์สู่ท้องถนน กระทั่งข้อพิพาทระดับประชาชนนำไปสู่การตั้งโต๊ะหาทางออกของภาครัฐตามคำสั่ง ผู้นำฝ่ายบริหาร

มุมหนึ่งอาจถูกยกให้เป็นความสำเร็จของ "ศศิน" ในการปลุกพลังเงียบให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวได้สำเร็จ แต่อีกมุมหนึ่งก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า เชื้อเพลิงชั้นดีในการปลุกมวลชนให้ตื่นขึ้น มาจากคำพูดของ "ปลอดประสพ" ที่ระบุว่าแม้เขื่อนแม่วงก์จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 1% ก็ยืนยันที่จะสร้างเขื่อนต่อไป

ยังไม่นับรวมวิวาทะแรกเริ่ม "ป่าสร้างได้ สัตว์ป่าสร้างได้ แต่ถ้าน้ำท่วมไม่มีคนไทย ประเทศก็อยู่ไม่ได้" ยิ่งทำให้ประชาชน-นักอนุรักษ์ เกิดแรงต่อต้านเพิ่มขึ้นอีกทวีคูณ

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "ปลอดประสพ" เลือกใช้วาทกรรมที่แม้กระทั่งคนในฝ่ายรัฐบาลยังนิยามว่า "เรียกแขก" อยู่เสมอ

ใน ปี 2554 หลังจาก "ยิ่งลักษณ์" นำคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศได้เพียงเดือนเศษ ก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดตั้ง "ศปภ." ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบริหารจัดการเหตุดังกล่าว

"ปลอดประสพ" ซึ่งดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน

เขา กล่าวว่า "ผมมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองหมื่นเปอร์เซ็นต์ และล้านเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่ท่วมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพราะเป็นพื้นที่ที่เราต้องปกป้อง"

แต่ผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์ พื้นที่ดอนเมืองก็ถูกปกคลุมไปด้วยน้ำ และ ศปภ.ก็มีออกคำสั่งด่วนย้ายศูนย์กลางบริหารงานไปอยู่ที่อาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ หรือสำนักงานใหญ่ ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต

และวาทกรรม "เรียกแขก" ครั้งที่ 1 ก็ส่งผลให้ความเชื่อมั่น-ความคาดหวังจากประชาชนที่มีต่อ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ลดลงในเวลาต่อมา

หลังจากที่พยายามปลุกปั้นแผนบริหารจัดการน้ำกว่า 2 ปี กระทั่งสามารถผ่านร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทได้สำเร็จ และกลั่นกรองโปรเจ็กต์ก่อสร้างออกมาสู่ 9 โมดูลในปัจจุบันในช่วงกลางปี 2556 "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" จึงเร่งแผนฟื้นความเชื่อมั่น-ประชาสัมพันธ์ผลงานทันที

หนึ่ง ในแผนงานสำคัญคือ การเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 โดยใช้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่เป็นสถานที่ และในช่วงเวลาเดียวกัน นักวิชาการ กลุ่มมวลชน เอ็นจีโอ ก็ออกมาเคลื่อนไหวโจมตีแผนบริหารจัดการน้ำ และมีแนวโน้มว่าจะไปจัดเวทีชุมนุมที่เชียงใหม่ในช่วงเวลาการประชุม ส่งผลให้ "ปลอดประสพ" ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่งานโดยอัตโนมัติ ต้องออกมาแสดงความเห็น-ตอบโต้ ที่ถูกตีความว่า "เรียกแขก" เป็นครั้งที่ 2

"หากมีการชุมนุมประท้วง ก็จะสั่งให้ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงทั้งหมดไปดำเนินคดี ผมขอเตือนว่าอย่ามาชุมนุมประท้วงเด็ดขาด เพราะสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่สถานที่จัดการประท้วง"

"เราจะไม่จัดสถานที่ไว้ให้ มีแต่จัดคุกไว้ให้เท่านั้น และจะไม่มีการเจรจาใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่จับอย่างเดียว และคนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้คนพวกนี้ที่เหมือนขยะมาเกะกะด้วย"

แม้ ว่าเขาจะออกมาอธิบายแก้ต่างในภายหลังว่า "ขยะ" ที่ได้กล่าวไปนั้น ในทางวิชาการแล้วในต่างประเทศ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Garbage" แปลว่า "ไม่ได้เรื่อง" ไม่ใช่ถ้อยคำหยาบคาย แต่ก็มิอาจลดกระแสต่อต้านที่ถูกบ่มเพาะขึ้นอีกครั้งได้สำเร็จ

กระทั่ง เหตุการณ์ล่าสุด กรณีคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงไม่แปลกที่วาทกรรมที่ออกจากปากรองนายกรัฐมนตรีจะถูกจับตาดูอีกครั้ง และถือเป็นวิวาทะ "เรียกแขก" ครั้งที่ 3 ที่สะท้อนให้เห็นมวลชน-แรงต้าน ที่ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

เป็นวิวาทะจาก "ปลอดประสพ" รองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ยังคงได้รับความไว้วางใจให้บริหารงานคู่กับ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ตลอด 2 ปี 2 เดือนที่ผ่านมา


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : ย้อนวิวาทะ เรียกแขก ปลอดประสพ 3 คำ น้ำไม่ท่วม ป่าสร้างได้

view