สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้านเขื่อนแม่วงก์กระตุกมวลชนหวงป่า

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง "แสนชื่อปกป้องแม่วงก์ ปลุกล้านคนต้านเขื่อน 3.5 แสนล้าน" โดย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า ตั้งแต่ปรากฏการณ์ต้านเขื่อนแม่วงก์และต้าน EHIA ที่นำมวลชนจำนวนนับหมื่นเข้ามารวมพลังต่อต้านได้สำเร็จนั้น ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่กระตุกสถานการณ์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเปิดเผยข้อมูลความไม่ชอบมาพากลต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ หลังจากการนำเสนอข้อมูลวิชาการมาหลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เมื่อข้อมูลถูกส่งต่อไปตามกระแสโซเชียลมีเดียพบว่า มีความชัดเจนและได้รับการตอบรับจากสังคมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือเป็นโอกาสดีที่จะตรวจสอบเงินกู้ดังกล่าวนำไปสู่การยุติพฤติกรรมแบบทีเผลอ ของรัฐบาลได้ อย่างน้อยก็ชะลอการพิจารณา EHIA ของรัฐบาลไปสักพัก ซึ่งหากหยุดดำเนินการเชื่อว่า โครงการอีกหลายแห่งอาจจะเกิดขึ้นทีละขั้นโดยที่สังคมไม่ทันตั้งตัว

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว

ดร.สรณรัชฎ์ กล่าวว่า อย่างแรกที่ต้องช่วยให้สังคมจดจำและเห็นข้อมูลข้อเท็จจริง อย่างเต็มรูปแบบ คือ การสร้างความน่าสนใจของข้อมูล ซึ่งบทเรียนจากเขื่อนแม่วงก์ หลักคือ การทำข้อมูลสื่อสารเผยแพร่สู่สาธารณะ ตามความถนัดของแต่ละคนที่ช่วยกระจายออกไปสู่สาธารณะทางสังคมออนไลน์ แล้วนำมาสู่สื่อกระแสหลักในที่สุด เช่น คนทำกราฟฟิก โพสต์ภาพกราฟฟิก คนวาดรูปก็วาดอธิบายป่าแม่วงก์ ป่าห้วยขาแข้งและงบ 3.5 แสนล้านที่มีความผิดปกติ หรือบางคนทำ ข้อมูลแบบวิดีโออธิบายข่าวสารที่แตกต่างกันไป สื่อกระแสหลักก็พยายามนำเสนอ ขณะที่สถานการณ์การแทรกแซงสื่อสายข่าวสิ่งแวดล้อมมีความแรงขึ้นเช่นกัน เป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลในปัจจุบันจึงต้องเน้นความร่วมมือในลักษณะเครือข่าย จึงจะสำเร็จ

“สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมในกรณีเขื่อนแม่วงก์ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเยอะ เพราะเป็นประเด็นที่ไม่มุ่งเรื่องการเมือง เป็นแนวสันติวิธี และไม่ชี้นำเรื่องความแตกแยก เปิดทางให้คนที่เบื่อการเมืองมีสี เข้าร่วมมากขึ้น ก่อเกิดเป็นพลังที่ดี ซึ่งคิดว่า วิธีการนี้เป็นผลดีในเชิงสังคมและสามารถปรับใช้ในเครือข่ายอื่นได้ต่อไป” ดร.สรณรัชฎ์ กล่าว

ด้านดร.สมิทธิ์ ตุงคะสมิต รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลผลกระทบเป็นเรื่องจำเป็น แต่การสร้างพลังสังคมในการต่อต้านก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน โดยขณะนี้ทีมภาคีเครือข่ายที่ไม่เห็นด้วยกรณีเขื่อนแม่วงก์ และการทำ EHIA ที่ไม่เหมาะสมกำลังล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org ได้ประมาณ 1.1 แสนรายชื่อ ซึ่งขณะนี้ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ กลุ่มคนรุ่นใหม่ พบว่าตั้งแต่มีการตั้งกระทู้ใน เว็บไซต์ดังกล่าวนั้น ถือว่าเดือนกันยายนประสบความสำเร็จมากที่สุด และจะยังคงใช้ต่อไปให้บรรลุเป้าหมายเพื่อคัดค้านโครงการ 3.5 แสนล้าน

ดร.สมิทธ์ กล่าวต่อว่า จากกรณีที่ข่าวสารเขื่อนแม่วงก์ มีการแทรกแซงและแบนจากสื่อกระแสหลักบางส่วน จุดประกายให้เกิดกลุ่มอิสระ ที่พยายามต่อต้านการกระทำของรัฐบาลและรณรงค์ให้รัฐบาลโปร่งใสต่อการนำเสนอ ข้อมูลโครงการ 3.5 แสนล้านมากขึ้น โดยสื่ออิสระที่เกิดขึ้นเรียกว่าเครือข่ายกรีน มูฟ (Green move) ทำหน้าที่สื่ออาสา ทำงานเข้ากับสื่อหลัก เชื่อมโยงภาคประชาชน ให้เห็นภาพที่แท้จริงของผลเสียในโครงการฯ ซึ่งไม่ใช่องค์กรจัดตั้ง จากภาคธุรกิจใดๆ โดยหน้าที่ของเครือข่าย คือ บันทึกข้อมูลและนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างสมดุลในเรื่องของความสมบูรณ์ด้าน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและความเสี่ยงต่อการสูญเสียหากมีการสร้างเขื่อน โดยจะมีการเปิดตัวในวันที่ 9 ตุลาคมที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และในวันที่ 19 ตุลาคม จะรวบรวมรายชื่อที่ต่อต้านโครงการฯ ออกเดินรณรงค์จาก หอศิลป์ฯ ไปยังทำเนียบรัฐบาล สำนักงานยูเนสโก้ และสำนักงานสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เพื่อประกาศการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ให้คนไทยและต่างชาติเข้าใจบทบาทของภาค ประชาชนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

สมิทธ์ ตุงคะสมิต

“สิ่งที่น่ากลัวคือการแทรกแซงสื่อของรัฐบาลและการนำเสนอ เพื่อผลักดันโครงการ 3.5 แสนล้านนั้น มีการจัดนิทรรศการบอกกล่าวประชาชนด้วยความจริงเพียงครึ่งเดียว เช่น พยายามสร้างภาพให้คนกลัวน้ำท่วมเช่น ใช้ข้อความว่า คุณรู้ไหมว่าน้ำท่วมปี 54 เสียหายเท่าไหร่ ทำให้สถานการณ์การต่อต้านเขื่อนอยู่ในสถานการณ์อึมครึม หรือบางครั้งมีการตั้งคำถามว่า ในโครงการ 3.5 แสนล้านนั้นคุณคิดว่า อะไรสำคัญที่สุด จงเรียงลำดับจาก โมดูล เอ 1 -5 ประมาณนี้ นี่คือ ความน่าเกลียดของฝ่ายการเมืองที่มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจผิดเชิงประชา สัมพันธ์แก่ประชาชน” ดร.สมิทธ์ กล่าว

ดร.สมิทธ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้พบในโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมด ตามแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน กล้าพูดได้เลยว่า มีผลทำลายระบบนิเวศของประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เช่น อ่าวตัวกอที่มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจในพื้นที่อ่าวไทยก็เสี่ยงจะพังทลายลง หากการสร้างคลองผันน้ำใหม่ตามโครงการ โดยเฉพาะเส้นทางผันน้ำจากนครสวรรค์สู่ กาญจนบุรี เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้น เพราะมันชี้ชัดว่าไปทำซุเปอร์ไฮเวย์ที่มุ่งเน้นความสวยงาม แต่เปลี่ยนทิศทางน้ำทั้งระบบ บอกเลยว่าประเทศจะเสียหายอย่างมาก ในด้านการบริหารทรัพยากรและการจัดการระบบนิเวศ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

ขณะที่นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า โครงการฯ ทั้งหมด มี 9 โมดูลเท่านั้นตามที่ออกมาตามสาธารณะ แต่ในความจริงแล้วยังโครงการย่อยจำนวนมาก ทั้งนี้สิ่งที่หนักที่สุดคือ โมดูลเอ 1 มีทั้งเขื่อนคลองชมภู แม่วงก์ด้วย ,โมเอ 3 เรื่องการปรับปรุงพื้นที่ชลประทาน ที่มีการพัฒนาทุ่งบางระกำเก็บน้ำหลาก และ เอ 5 หนักสุด คือ เรื่องการทำ flood Chanel มีการสร้างคลองผันน้ำ พยายามทำแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ที่มีมูลค่ากว่า 2 .8 แสนล้านบาท

“คนรู้จักโครงการในโมดูลต่างๆ แต่นอกโมดูลยังมีโครงการอีกเพียบ รัฐพยายามยัดใส่ แล้วแบ่งรายได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกระจายการบริหารงบไปยังภาคส่วน ต่างๆ บางแผนพบว่ามีการรื้อเอาโครงการโขง ชี มูล มาปัดฝุ่นอีกครั้ง พร้อมแทรกโครงการ สร้างถนนผ่าน ยกทางสูงอีกประมาณ 1 .2 แสนล้าน คำถามสำคัญคือ ใครจะบอกเราได้ว่า ความชัดเจนของงบประมาณไปอยู่ที่ใดบ้าง แล้วถนนตัดผ่านหลายสายที่เกี่ยวข้องทำไมไม่มีการเสนอข้อมูล EIA และ EHIA ทำให้ชาวบ้านสับสน แถมยังประโคมข่าวน้ำท่วมปี 54 เป็นภาพหลอนเรื่อยๆ” นายเลิศศักดิ์ กล่าว

นายโม คำพูน ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำชมภูกล่าวว่า กระแสการสร้างเขื่อนไม่ว่า จะกล่าวมุมมองใด ตนก็มองไม่เห็นข้อดี แต่ที่อยากให้รับรู้คือ ชาวบ้านธรรมดาถูกปิดหู ปิดตา มาโดยตลอด ไม่เคยมีสักครั้งที่จะโปร่งใสในโครงการแต่ละอย่างของรัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง ในปัจจุบัน อย่างกรณีเรื่องผลเสีย ผลดี ของเขื่อนแต่ละแห่งในแต่ละโมดูล 3.5 แสนล้าน มีมากเพียงใด ไม่มีใครรู้ กรณีเขื่อนวังชมภู รัฐกล่อมเสมอจนหลายคนเชื่อว่า สร้างเขื่อนแล้วจะทำนาได้ 4 ครั้ง ต่อปี เป็นข้อมูลที่ไม่มีการพิสูจน์

นายโม กล่าวว่า ขณะนี้หลังจากโครงการบริหารจัดการน้ำถูกฟ้องศาลและศาลมีคำพิพากษาให้ทำประชา พิจารณ์ ชาวบ้านค้นข้อมูลและได้รับความช่วยเหลือจากภาคพัฒนาเอกชนทราบว่า มีการเผยแพร่กำหนดการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน โดยจัด 19 ครั้งใน 38 จังหวัด แต่ลุ่มน้ำชมภู ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการสร้างเขื่อน กลับไม่มีข่าวว่าจะประชาพิจารณ์ แต่กระแสข่าวกลับระบุว่า ในวันที่ 18 ตุลาคม จะมีการจัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิษณุโลกซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่คลองชมภูกว่า 100 กิโลเมตร

“ชาวบ้านไม่มีเงินค่ารถไปฟังทุกคนแน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้น พวกเราไม่ได้แพ้ แค่คิดว่ากระบวนการรับฟังมันไม่สอดคล้องกับปัญหาที่มี จะสร้างเขื่อนที่หนึ่ง แต่ดันไปฟังความเห็นอีกที่ ใครจะเดินทางไปได้ทั้งหมด” นายโม กล่าว

ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ฯ กล่าวต่อไปว่า ความรู้ของชาวบ้านทั่วไป ไม่มีอะไรมาก มีแค่สายตา ใบหู ที่รับฟัง รับรู้และเข้าใจว่า สิ่งที่เจอในพื้นที่คือความจริง คือ ความผูกพันและคือมรดกของพื้นที่ กรณีที่กล่าวหลายครั้ง คือพื้นที่ลุ่มน้ำชมภูได้มีการค้นพบพลักฐานที่สะท้อนว่าเป็นชุมชนเก่าแก่นับ ร้อยปีนับพันปี เช่น จระเข้สายพันธุ์ไทย โดยพันธุ์น้ำจืดที่พบนั้น ไม่มีอันตรายไม่ทำร้ายคน และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบไข่จระเข้พันธุ์น้ำจืดแล้ว แต่กรมป่าไม้ไม่มีการรายงานข่าวคราวหลังจากค้นพบ น่าแปลกที่ข้อมูลถูกเปิดเผยในพื้นที่โดยชาวบ้าน แต่พอมีกระแสสร้างเขื่อน หน่วยงานรัฐนิ่งเฉย พวกเราได้แต่ตามหาข้อเท็จจริงอย่างเวิ้งว้าง เพราะไม่มีเครื่องมือบันทึกหลักฐานอะไรมากมาย นอกจากกล้องถ่ายรูปและคำบอกเล่า นอกจากนี้ยังมีการพบตุ๊กก่าย ลักษณะคล้ายตุ๊กแก พบดอกไม้ศิลาวารีพันธุ์โบราณ ซึ่งในประเทศไทยพบเพียงที่เดียวเท่านั้น ที่เขตทุ่งแสลงหลวง จะออกดอกในช่วงปลายฝนต้นหนาว

“วิถีชีวิตของชาวชมภูอยู่กับป่ามานาน รู้จักกิน รู้จักใช้ หน้าฝนมีหน่อไม้ พวกเราหวงทรัพยากรไม่ต่างจากพวกท่านหวงผลประโยชน์ อยากให้เข้าใจว่า เรามีความรักในทุกอย่างและเชื่อว่าการอนุรักษ์สิ่งที่มี มันจำเป็น และสำคัญกว่าการทำลาย” ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ กล่าว

นายเชาว์ เย็นฉ่ำ เลขาเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรของคนลุ่มน้ำชมภู มีมานานตั้งแต่การก่อตั้งโรงโม่หิน ซึ่งเรายืนยันว่า พื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำชมภูเป็นพื้นที่เก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน หากมีการสร้างเขื่อนจะทำลายชุมชนเก่าโดยเฉพาะเนินกระเบื้อง ที่คนในยุคก่อนนำมาทำภาชนะต้มเกลือสินเทา และบริเวณรอบๆ มีบังเกอร์ช่วงสงครามในอดีตตั้งอยู่ ซึ่งสามารถลงพื้นที่ดูได้ เพราะเราไม่ได้เก็บเป็นผลิตภัณฑ์ และ มีวัตถุโบราณอีกหลายอย่าง เราอยากให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องโบราณคดี แล้วพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และประวัติศาสตร์มากกว่าการสร้าง เขื่อน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ต้านเขื่อนแม่วงก์ กระตุกมวลชน หวงป่า

view