สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เทคโนโลยีชีวภาพกับภาคการเกษตรไทย : บทเรียนจากอียู

เทคโนโลยีชีวภาพกับภาคการเกษตรไทย : บทเรียนจากอียู

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประเทศเกษตรกรรมและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของโลกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ บราซิล และอาร์เจนตินา

หันมาใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของตน อาทิ เพื่อเพิ่มผลผลิตในการเกษตร รวมทั้งเพื่อพัฒนาตัวสินค้าเกษตรและอาหารให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น เทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นที่รู้จักคุ้นหูกันมากที่สุด ได้แก่ เทคโนโลยีการตัดแต่งทางพันธุ์กรรม (Genetically Modified Organism - GMO) หรือจี เอ็ม โอ

สัตว์ พืช หรือสิ่งที่มีชีวิต GMO ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นพืชเพาะปลูก (crop plant species) ที่ใช้เป็นวัตถุดิบทั้งในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง เมล็ดพืชเร็ปซีดเพื่อผลิตน้ำมัน และฝ้ายประเภทต่างๆ เพื่อให้พืชนั้นสามารถต่อต้านแมลงศัตรูพืชบางประเภทและมีความทนทานต่อยาปราบศัตรูพืชบางประเภทได้มากขึ้น (ส่วนใหญ่นำไปใช้อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหาร และอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมกระดาษ เป็นต้น) นอกจากนั้น ยังมีสินค้าอาหารที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นประเภท GMO อาทิ พืชและผักผลไม้ที่สามารถขยายระยะเวลาการสุกงอมออกไปให้ได้ยาวนานขึ้น ปลาแซลมอน GMO ที่ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพและคุณสมบัติทางพันธุกรรมที่พิเศษและดีขึ้น (อาทิ ทนต่อความหนาวได้ดีขึ้น) และยังมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กประเภท microorganisms ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ในการผลิตวิตามิน สารเพิ่มรสอาหาร และสารปรุงแต่งอาหารได้ในขณะที่สินค้าพืชวัตถุดิบ GMO นั้นใช้อยู่แพร่หลายในเชิงพาณิชย์ สินค้า GMO ประเภทผักและผลไม้ยังไม่มีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์มากนัก อย่างไรก็ดี ประเทศและบริษัทผู้ผลิตสินค้า GMO เหล่านั้นก็ยืนยันว่าสินค้า GMO ที่ได้รับการอนุญาตให้เพาะปลูกและใช้ในเชิงพาณิชย์ได้นั้นได้ผ่านการค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม

ตั้งแต่ปี 2539 - 2553 สถิติแสดงว่ามีการเพาะปลูกพืช GMO ในโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นประมาณ 150 ล้านเอเคอร์ทั่วโลกในปี 2553 ประเทศที่เพาะปลูกพืช GMO มากที่สุดในโลก (โดยเพาะปลูกเกิน 1 ล้านเอเคอร์) ได้แก่ สหรัฐฯ (66.8 ล้านเอเคอร์) บราซิล (25.4 ล้านเอเคอร์) และอาร์เจนตินา (22.9 ล้านเอเคอร์) ตามมาด้วย อินเดีย (9.4 ล้านเอเคอร์) แคนาดา (8.8 ล้านเอเคอร์) จีน (3.5 ล้านเอเคอร์) ปารากวัย (2.6 ล้านเอเคอร์) ปากีสถาน (2.4 ล้านเอเคอร์) แอฟริกาใต้ (2.2 ล้านเอเคอร์) และอุรุกวัย (1.1 ล้านเอเคอร์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบราซิลมีพื้นที่เพาะปลูกพืช GMO เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2553-2554 พื้นที่ที่ใช้เพาะปลูกถั่วเหลืองกว่าสามในสี่ของบราซิลเป็นการเพาะปลูกแบบ GMO

ในปริบทที่ความห่วงกังวลเกี่ยวกับประเด็น food security (อาทิ การขาดแคลนอาหารโลกภัยแล้ง และผลผลิตการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค) มีมากขึ้นส่งผลให้กระแสการเพาะปลูกและการค้าGMO มาแรงและได้รับความสนใจมากขึ้นด้วย ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำเทคโนโลยีชีวภาพและเป็นผู้ส่งออกและผู้ใช้สินค้า GMO หลักของโลก ซึ่งผู้บริโภคสหรัฐฯ เปิดกว้างยอมรับสินค้า GMO ค่อนข้างมาก ฝ่ายยุโรปโดยเฉพาะประเทศสมาชิกหลายประเทศ อาทิ ออสเตรีย ฝรั่งเศส กรีซ ฮังการี เยอรมัน ลักเซมเบิร์ก โปแลนด์ และอิตาลี มีนโยบาย GMO-Free และเป็นฝ่ายคัดค้านและปิดกั้นการค้าสินค้า GMO (แต่ก็มีประเทศสมาชิกบางประเทศที่สนับสนุนการเพาะปลูก GMO อาทิ สเปน โปรตุเกส)

สำหรับยุโรปการกำหนดนโยบาย GMO ของอียู ไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะที่อียูผ่านคณะกรรมาธิการยุโรปมีท่าทีผ่อนปรนและเปิดกว้างขึ้นบ้างเกี่ยวกับสินค้า GMO โดยมีการอนุญาตให้มีการเพาะปลูกและนำเข้าสินค้า GMO บางประเภท (ปัจจุบันมีสินค้า GMO ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ในอียูแล้ว 49 รายการ) ซึ่งเป็นประเภทที่ผ่านการประเมินความเสี่ยงจากองค์กร European Food Safety Agency (EFSA) แล้ว ว่าไม่มีอันตรายให้เพาะปลูกและ/หรือวางจำหน่ายได้ในอียู แต่ประเทศสมาชิกหลายประเทศยังมีท่าทีคัดค้าน GMO และได้ออกมาตรการห้ามการเพาะปลูก และในบางประเทศห้ามการจำหน่ายสินค้า GMO บางประเภท ซึ่งก็เป็นนโยบายสวนทางกับนโยบายกลางของอียู

อาจกล่าวได้ว่านโยบาย GMO ของอียูจึงไม่ได้เป็นเพียงประเด็นด้านเทคนิคหรือการมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิงว่าสินค้าประเภทนั้นปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่กลับกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่มีความอ่อนไหว และประเทศสมาชิกต้องระมัดระวังในการกำหนดนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่ม NGOs ที่คัดค้าน GMO มักยกประเด็นเรื่องความเสี่ยงของสินค้า GMO ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในยุโรป และข้ออ้างที่ว่าประชากรส่วนใหญ่ในยุโรปไม่สนับสนุนการบริโภคสินค้า GMO และผู้บริโภคยุโรปมีความอ่อนไหวต่อเรื่อง GMO ค่อนข้างมาก มานำเสนอผ่านสื่อมวลชนและใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศสมาชิกออกมาตรการต่อต้าน GMO

แต่ที่สำคัญ นโยบาย GMO ของอียูมีนัยสำคัญที่เกี่ยวกับการดำเนินการค้าและการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สาม รวมทั้งประเทศไทย ด้วย โดยเฉพาะประเด็นการปนเปื้อนของ GMO (ประเภทที่อียูไม่ได้อนุญาต) มากับสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ที่นำเข้ามาจากประเทศที่สามมายังสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นประเด็นที่อียูให้ความสำคัญมากและมีการกำหนดนโยบายในลักษณะ zero-tolerance เกี่ยวกับระดับการปนเปื้อนของ GMO ในสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ที่ส่งออกไปยังตลาดอียู กล่าวคือ ไม่สามารถมีการปนเปื้อนได้เลย หรือการปนเปื้อนในระดับ 0 โดยอ้างว่าเป็นมาตรการเพื่อปกป้องและคุ้มครองความปลอดภัยของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในยุโรป เพราะเกรงว่า GMO อาจปนเปื้อนไปในแหล่งเพาะปลูกและพื้นที่เกษตรกรรมของสหภาพยุโรปซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกพืชปกติและเป็นการทำเกษตรอินทรีย์

สำหรับประเทศไทย แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีนโยบายนโยบายไม่อนุญาตให้มีการเพาะปลูกหรือนำเข้าพืชหรือเมล็ดพันธุ์ GMO เพื่อเพาะปลูกในทางพาณิชย์ ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยที่ดำเนินการในโรงเรือนหรือแปลงทดลอง (และไม่ให้ดำเนินการในไร่นาของเกษตรกร) ดังนั้น ตามหลักการแล้วสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ที่ส่งออกจากไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปจึงควรปลอด GMO โดยปริยาย อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปยังคงตรวจพบสินค้าเกษตรของไทยที่มีการปนเปื้อนของ GMO อยู่บ้าง

ดังนั้น การเฝ้าสังเกตและเรียนรู้ประสบการณ์ของอียูในการกำหนดทิศทางนโยบาย GMO น่าจะเป็นประโยชน์ในการวางยุทธศาสตร์และกำหนดนโยบาย GMO ของไทยให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจจากประสบการณ์ของอียูคือ แทนที่จะห้าม GMO ทุกประเภท แต่ก็มีการประสานประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม โดยอาจศึกษาประโยชน์ของพืชและสินค้า GMO (บางประเภทที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ทั้งในสหรัฐฯ และในยุโรป) ว่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาภาคการเกษตรหรืออุตสาหกรรมใดบ้างของไทย อาทิ สหรัฐฯ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพได้เปิดเผยถึงการพัฒนาข้าว GMO ที่มีการเพิ่มพูนสารอาหารมากขึ้น พร้อมกันนั้น อาจศึกษาระบบการให้อนุญาตสินค้า GMO ของยุโรป ว่าอาจจะเป็นรูปแบบที่จะช่วยพัฒนาระบบการควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าหรือห้ามนำเข้าพืช GMO ของไทยให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร


ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เทคโนโลยีชีวภาพ ภาคการเกษตรไทย  บทเรียนจากอียู

view