จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สิรินาฏ ศิริสุนทร
วันที่ 1 กันยายนที่พึ่งผ่านไป เป็นวันที่สังคมสูญเสียนักอนุรักษ์อย่าง"สืบ นาคะเสถียร"
อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ที่ปลิดชีวิตตัวเองด้วยกระสุนปืน ในรุ่งสางของวันที่ 1 ก.ย. เมื่อปี 2533 เพื่อปลุกกระแสอนุรักษ์ป่า ซึ่งขณะนั้นต้องยอมรับว่า ไม่ต้องพูดกันเรื่องของการอนุรักษ์เพราะมีเพียงคำว่าพัฒนา ทำให้การพัฒนาหลายโครงการไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ขณะที่คนในสังคมเองก็ไม่ได้รับรู้ถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนเป็นทั้งผู้ทำลายและผู้ปกป้องได้ในเวลาเดียวกัน การเสียชีวิตของ"สืบ"ในวันนั้น จึงไม่ต่างจากไม้ขีดไฟที่จุดตัวเองเพื่อดึงดูดดอกทานตะวันที่สนใจเพียงพระอาทิตย์ แม้จะเป็นแสงน้อยนิดจากไม้ขีดไฟดอกเล็กๆ แต่สามารถดึงความสนใจของคนในสังคมได้ไม่น้อย
หลังการเสียชีวิต ประเทศไทยเร่งมีมาตรการในการควบคุมและถ่วงดุลการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหากจำกันได้ในปี 2535 เริ่มมีกฎหมายว่าสิ่งแวดล้อม ออกมาบังคับใช้ และมีมาตรการให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือว่า อีไอเอ ในโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ขณะที่กระแสการคัดค้านโครงการที่ก่อสร้างแล้วจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มมีการตรวจสอบมากขึ้น
แต่หากย้อนกลับไปจากวันนั้นมาถึง วันนี้ การอนุรักษ์ในสังคมไทยหรือความเข้าใจต่อธรรมชาติมีมากน้อยแค่ไหน คงต้องบอกว่ามีกระแสมากขึ้น แต่ความเข้าใจหรือตระหนักถึงการสร้างความสมดุลยังไม่ชัดเจนมากนัก ในวงการนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเองก็ดูจะไม่เติบโตมีเพียงองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนไม่มากที่ออกมาเคลื่อนไหว
ส่วนมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายกำหนดก็เป็นเครื่องที่ไม่แข็งแรงพอที่จะสร้างความสมดุลกับธรรมชาติได้ทำให้หลายโครงการที่มีผลกระทบจำนวนมากเช่นกรณี เขื่อนปากมูลที่ชาวบ้านยังคงออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวก็สามารถดำเนินการได้
เพราะการทำอีไอเอยังเป็นการทำที่ไม่ต่างจาก พิธีกรรมของโครงการที่ศึกษา แต่ไม่มีอำนาจชี้ขาดว่าควรหรือไม่ควรสร้าง แม้จะมีบ้างเช่นกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ ทุ่มงบประมาณศึกษาความคุ้มค่าและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกมาค่อนข้างชัดเจนว่าไม่คุ้มควรจะเก็บผืนป่าสักทองแห่งนี้เอาไว้ แต่ก็มีความพยายามสร้างกันทุกรัฐบาล
ขณะที่การผลักดันตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ทำให้องค์กรที่ตั้งขึ้นมาเป็นเพียงองค์กรชั่วคราวที่อ่อนแอไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้จริง
เครื่องไม้เครื่องมือในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในวันนี้แม้จะดูมีกระแสมากกว่าเมื่อ 23 ปีของการเสียชีวิต ของ "สืบ นาคะเสถียร" แต่ต้องบอกว่าเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ขึ้นสนิมอ่อนเปลี้ยไม่มีการขัดบำรุง ขณะที่ในสภาพปัจจุบันปัญหาที่เรียกว่าผลกระทบสิ่งแวดล้อมขยับเข้าใกล้คนมากขึ้นทุกครั้ง
เมื่อ 23 ปีที่ผ่านมา "สืบ นาคะเสถียร"พยายามอย่างมากที่จะบอกว่าการทำลายป่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ป่าต้นหายไป แล้ง น้ำท่วม ซึ่งวันนี้คนในสังคมไทยเผชิญมาทั้งหมดและขยับเข้าใกล้มากขึ้น ทั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แผ่นดินไหว ความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกร้อนที่กระทบผลผลิตทางการเกษตร
คงบอกได้ว่า ตลอด 23 ปีที่ผ่านมาวงการอนุรักษ์ไทยทำได้แค่การสร้างถุงผ้าเพื่อดูแลโลกหรือเพียงแค่มุมซีเอสอาร์ภาพลักษณ์องค์กร แต่เรายังไม่เข้าไปถึงแก่นในการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ได้ วันนี้ยังคงมีรีสอร์ทรุกเข้าไปปลูกในพื้นที่ป่า โดยที่เจ้าหน้าที่เอาผิดไม่ได้ ..วันนี้กับวันนั้นหลังการเสียชีวิต"สืบ นาคะเสถียร"การอนุรักษ์ของบ้านเราจึงไม่ไปไหน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต