สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บางขุนพรหม เสน่ห์ถิ่นเก่า...ไม่เอาสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ป้ายไวนิลแสดงความรู้สึกของชาวบางขุนพรหม
       “บางขุนพรหม” เป็นอีกหนึ่งย่านเก่าในกรุงเทพฯ ที่ฉันรู้สึกคุ้นเคยเป็นอย่างดี เนื่องจากสถานที่ทำงานอยู่ไม่ไกลจากย่านนี้ จึงได้เดินทางผ่านไปมาในบริเวณนี้นับครั้งไม่ถ้วน ได้เห็นถึงความเป็นย่านเก่าแก่และรู้สึกถึงความเป็นชุมชนที่อยู่กันอย่างสงบ มาเนิ่นนาน
       
       แต่ในช่วงนี้ ชาวบางขุนพรหมไม่ค่อยจะอยู่กันอย่างสงบสุขเท่าไรนัก ตั้งแต่ที่มีข่าวว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเร่งเวนคืนที่ดินเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ให้เสร็จภายในสิ้นปี 2556 โดยมีข่าวว่าพื้นที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างสถานีและจุดขึ้นลงนั้นอยู่บริเวณ นับจากแยกบางขุนพรหมเป็นระยะทาง 300 เมตร และทางชุมชนได้มีการเจรจาให้ รฟม. ใช้พื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยแทนเพื่อให้คนในพื้นที่จะได้รับผลกระทบ น้อยลง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนจาก รฟม. ทำให้ในช่วงนี้หากใครผ่านมาทางถนนสามเสน บริเวณแยกบางขุนพรหมมาจนถึงแยกบางลำพูก็จะเห็นป้ายไวนิลที่มีข้อความแสดง ความรู้สึกของคนบางขุนพรหมต่อการสร้างรถไฟฟ้าติดอยู่เต็มไปหมด เช่น “พวกเราไม่ยอมย้ายเด็ดขาด เราเกิดที่นี่ จะขอตายที่นี่” หรือ “รฟม.อย่ารังแกประชาชน เราไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกิน” เป็นต้น
มีแผ่นป้ายติดไว้ทั่วในบริเวณแยกบางขุนพรหมจนถึงซอยสามเสน 3
       เรื่องการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ มักมีความเห็นแตกเป็นสองด้าน ด้านหนึ่งมองว่าการการพัฒนาสิ่งใดๆ ก็ตามแต่จะต้องมีผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม ในขณะที่อีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถูกเวนคืนหรือได้รับความเดือดร้อนก็จะไม่ ยินยอมและต่อต้าน
       
       เรื่องแบบนี้ฉันคิดว่าถ้าบ้านใครไม่โดนเวนคืนก็คงไม่เข้าใจความ รู้สึก โดยเฉพาะคนที่อยู่อาศัยมานานย่อมมีความผูกพันเหนียวแน่นกับสถานที่ ยิ่งเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้วก็ยิ่งน่าเห็นใจ แม้จะมีค่าชดเชยให้แต่ก็ไม่อาจทดแทนความผูกพันที่มีมายาวนาน และโดยส่วนมากค่าชดเชยนั้นก็เป็นราคาประเมินที่ต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้การที่ภาครัฐบ้านเรามักจะทำอะไรไม่โปร่งใส ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านเขาไม่ไว้วางใจ จึงย่อมต้องถูกต่อต้านคัดค้านเป็นปกติวิสัย
       
       อย่างไรก็ดีในวันนี้ที่เรื่องของการเวนคืนที่ดินในย่านบางขุนพรหมยัง ไม่สรุปชี้ชัด ฉันจึงอยากพาทุกคนมารู้จักกับบางขุนพรหมให้ดีขึ้นอีกหน่อย เพราะย่านนี้เป็นย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และมีสถานที่สำคัญหลายแห่งที่น่าสนใจ
พระนอนที่วัดสามพระยา
       ในอดีตช่วงสมัยกรุงธนบุรี ย่านนี้มีชื่อเรียกว่า “บ้านลาน” เป็นชุมชนชาวมอญซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพการผลิตสินค้าจากใบลาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักสานใบลาน รวมไปถึงคัมภีร์และหนังสือใบลานด้วยเช่นกัน โดยบ้านลานนั้นหมายรวมพื้นที่บริเวณวัดสามพระยาและพื้นที่ใกล้เคียงใน ปัจจุบัน
       
       สำหรับวัดสามพระยานั้น แต่เดิมเรียกกันว่า “วัดบางขุนพรหม” ซึ่งตั้งตามชื่อของขุนพรหม น้องชายของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ นายช่างก่อสร้างและควบคุมการปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทสระบุรีในสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยหลวงวิสุทธิโยธามาตย์มีนิวาสถานอยู่ที่บ้านลาน ได้ยกที่ดินบริเวณเหนือปากคลองบางลำพูซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของขุนพรหมน้องชาย ที่เสียชีวิตด้วยไข้ป่าสร้างเป็นวัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศล เรียกว่าวัดบางขุนพรหม ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่าย่านบางขุนพรหมสืบต่อมา
       
       ปัจจุบันนี้ทั้งชื่อและที่มาของชื่อบ้านลานไม่หลงเหลืออยู่แล้ว เหลือเพียงชื่อย่านบางขุนพรหมที่หลายๆ คนคุ้นหู ในวันนี้ฉันจะพาไปดูสถานที่สำคัญของย่านบางขุนพรหม เริ่มจาก “วัดสามพระยา” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดชื่อย่านบางขุนพรหมกันก่อน อย่างที่เล่าไปแล้วว่าหลวงวิสุทธิ์โยธามาตย์ได้ยกที่ดินพร้อมทั้งบ้านเรือน ของขุนพรหมผู้เป็นน้องชาย อุทิศถวายเป็นวัดเพื่อเป็นผลบุญและเป็นอนุสรณ์แก่ขุนพรหมซึ่งเสียชีวิตไป และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดบางขุนพรหมชำรุดทรุดโทรมลง พระยาราชสุภาวดี (ขุนทอง) พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และพระยาเทพอรชุน (ทองห่อ) ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวคนสุดท้อง (พวา) ของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์และขุนพรหม จึงพร้อมใจกันปฏิสังขรณ์วัดจนสำเร็จบริบูรณ์ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 และพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ รับเป็นพระอารามหลวง พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า "วัดสามพระยาวรวิหาร"
หลวงพ่อโตที่วัดอินทรวิหาร
       วัดแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ พระอุโบสถของวัดก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อน 2 ชั้น มุงกระเบื้องลอนเคลือบสีแบบจีน หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ภายในประดิษฐานพระประธานนามว่า "พระพุทธเกสร" เป็นพระพุทธรูปปิดทองปางสมาธิ นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ปางอุ้มบาตร หรือหลวงพ่อนั่ง และพระพุทธไสยาสน์ หรือหลวงพ่อนอน ที่เป็นที่นับถือของชาวบ้านในละแวกนี้ด้วย
       
       นอกจากวัดสามพระยาแล้ว ในย่านบางขุนพรหมยังมีวัดสำคัญอย่าง “วัดอินทรวิหาร” วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมเรียกว่าวัดไร่พริก แต่ต่อมาเปลี่ยนมาเรียกว่าวัดอินทรวิหารตามชื่อของ “เจ้าอินทร์” ชาวเวียงจันท์ที่อพยพมาอยู่บริเวณนี้และเป็นผู้บูรณะวัดแห่งนี้ ภายในวัดมีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต หรือ “พระศรีอริยเมตไตรย” ได้ริเริ่มสร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรขนาดใหญ่ สูงถึง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก บนยอดเกศประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนทรงบาตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
อุโบสถวัดเอี่ยมวรนุช
       นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีอีกสองวัดใกล้เคียงคือ “วัดเอี่ยมวรนุช” และ “วัดใหม่อมตรส” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่ย่านบางขุนพรหมมาช้านานด้วยเช่นกัน
       
       แต่พูดถึงบางขุนพรหม หลายๆ คนคงนึกไปถึง “วังบางขุนพรหม” เป็นอย่างแรก โดยวังบางขุนพรหมนี้เป็นอัครสถานในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สร้างขึ้นในปี 2442 ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากยุคบาโรกและรอกโกโกซึ่งโดดเด่นที่ ลวดลายปูนปั้นประดับอาคารที่งดงามอ่อนช้อยยิ่งนัก
วังบางขุนพรหม ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
       ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังบางขุนพรหมได้ถูกเปลี่ยนแปลงมาใช้เป็นสถานที่ราชการหลายแห่งด้วยกัน และเคยใช้เป็นที่ตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยที่เรียกว่า สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม จนเมื่อปี 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เช่าวังบางขุนพรหมเป็นที่ทำการธนาคารมาจนปัจจุบัน อีกทั้งยังจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย
       
       บริเวณใกล้ๆ กับวังบางขุนพรหม เป็นที่ตั้งอีกหนึ่งวังเก่าแก่ คือ “วังเทวะเวสม์” ซึ่งเป็นวังที่รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อปี 2457 ตัวตำหนักใหญ่วังเทวะเวสม์ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ เป็นอาคารแบบยุโรป 3 ชั้น ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นกัน และได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงวิธีอนุรักษ์โบราณสถานวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์
ตึกแถวย่านบางขุนพรหม ถนนสามเสน
       วันนี้นอกจากฉันจะพามาชมสถานที่ที่กล่าวมานี้แล้ว ฉันยังได้มาพูดคุยสอบถามชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตึกแถวริมถนนสามเสนที่อยู่ใน พื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยคุณลุงท่านหนึ่งเล่าให้ฉันฟังว่า ได้ทำธุรกิจและอาศัยอยู่ในตึกแถวนี้มากว่า 50 ปี แล้ว อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ โดยส่วนตัวคุณลุงบอกว่าไม่อยากให้มาสร้างรถไฟฟ้า เพราะแถวๆ นี้ไม่ได้เป็นย่านการค้า ไม่ได้เป็นย่านที่มีผู้คนพลุกพล่าน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมาสร้าง และทาง รฟม. ก็ไม่มีความชัดเจนทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่ในตอนนี้เห็นว่าอาจจะสร้างจุดขึ้นลงบริเวณปากซอยวัดสามพระยา (ซอยสามเสน 5) และบริเวณหน้าวัดเอี่ยมวรนุชแทน เพื่อให้กระทบกับชาวบ้านน้อยที่สุด แต่ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากให้ต้องมาสร้างรถไฟฟ้าบริเวณนี้มากกว่า
       
       แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน แต่ฉันก็ขอเอาใจช่วยชาวชุมชนบางขุนพรหมให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด และขอให้ทาง รฟม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างโปร่งใส คิดถึงประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ของนายทุน คนบางขุนพรหมจะได้ไม่ต้องวิตกกังวลจนนอนหลับไม่สนิทมาเป็นเดือนๆ อย่างที่ผ่านมา

ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit

Tags : บางขุนพรหม เสน่ห์ถิ่นเก่า ไม่เอา สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

view