จากประชาชาติธุรกิจ
โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
การ ออกมาแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-มูลนิธิชีววิถีได้สร้างความตระหนัก รู้ให้กับผู้บริโภคถึงพิษภัยของข้าวถุงสารพัดยี่ห้อ สิ่งที่มูลนิธิแจ้งเตือนก็คือปัจจุบันมีสารตกค้างของยากำจัดมอดและแมลงใน ข้าวถุงจากกระบวนการรมยา
เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้จากตัวอย่าง ข้าวถุงที่ขายในท้องตลาด 46 ตัวอย่างพบว่า มี 12 ยี่ห้อไม่พบสารตกค้าง แต่อีก 34 ยี่ห้อ หรือคิดเป็นร้อยละ 73.9 พบสารตกค้างจากการรมยาในระดับ 0.9-67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
ขณะที่องค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex ให้ค่าความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่ควรจะมีสารตกค้างจากการกำจัดมอด/แมลงเกินกว่า 50 มิลลิกรัม/กก.หมายความว่า ณ วันที่มีการเก็บตัวอย่างข้าวถุงในท้องตลาด มีมากเกินครึ่งเกิดการตกค้างของยากำจัดมอดแมลง และมี 1 ยี่ห้อ (โค-โค่) พบสารตกค้างเกินกว่าที่ Codex กำหนด และอีกหลายยี่ห้ออยู่ในระดับปริ่ม ๆ
ถามว่า ยาหรือสารเคมีกำจัดมอด/แมลง ในที่นี้คือสารเคมีอะไร ?
ทาง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ให้ข้อมูลวิธีการกำจัดมอด/แมลงในข้าวปัจจุบันมี 3 วิธีที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ 1) การใช้สารเคมีเมทิลโบรไมด์ ระยะเวลาในการรมประมาณ 1 วัน ค่าสารเคมี 2-5 บาท/ตัน แต่ถึงปี 2558 จะไม่สามารถใช้ได้ เพราะประเทศไทย (กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา) ในฐานะภาคีพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน มีพันธกรณีจะต้องยกเลิกการใช้สารเคมีประเภทนี้ทั้งหมด
2) การใช้สารเคมีฟอสฟีน ระยะเวลาในการรม 5-7 วัน ค่าสารเคมี 12 บาท/ตัน และ 3) การเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ วิธีการนี้จะทำมอด/แมลงเบื่ออาหารและตายไปเอง เป็นวิธีที่ไม่ใช้สารเคมีอันตราย ใช้เวลาในการดำเนินการฆ่ามอด/แมลง 15 วัน แต่มีค่าใช้จ่ายคิดเป็นค่าก๊าซสูงถึง 110 บาท/ตัน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการใช้กับข้าวอินทรีย์บางยี่ห้อในประเทศ แต่ราคาจำหน่ายต่อถุงก็สูงมาก
สรุป สารเคมีที่ใช้ในการรมยา ยอดนิยมของผู้ประกอบการข้าวถุงในขณะนี้ก็คือสารฟอสฟีน และนับวันจะใช้มากขึ้น เนื่องจากสารเมทิลโบรไมด์มีราคาถูกกว่า จะอนุญาตให้ใช้ได้อีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า
ขณะที่หน่วยงานราชการ กระทรวงพาณิชย์ และเกษตรฯ กลับจัดแสดง Road Show บริโภคข้าวไทยกันยกใหญ่ มีพรีเซ็นเตอร์เป็นถึงระดับนายกรัฐมนตรี ลงทุนทานข้าวโชว์สื่อ นัยว่าเพื่อต้องการสื่อว่าข้าวไทยปลอดภัย สามารถบริโภคได้โดยสนิทใจ
แต่ ไม่ยอมสื่อสารต่อผู้คนในประเทศว่ามีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่เราจะไม่ต้องใช้ สารเคมีรมยาฆ่ามอด/แมลงให้เกิดการตกค้าง หรือถ้ายังมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ รัฐบาลมีวิธีการตรวจสอบหรือติดตามอย่างไรที่จะให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคได้ ว่ามีการตกค้างน้อยที่สุดหรือไม่เกินกว่ามาตรฐานที่ Codex กำหนด
ทำไมต้องตั้งคำถามข้างต้นกับรัฐบาล ?
อย่า ลืมเป็นอันขาดว่ากรณีข้าวถุงโค-โค่ที่มีการตกค้างเกินกว่า 50 มิลลิกรัม/กก. หรือเกินไปถึง 67 มิลลิกรัม/กก.นั้น รัฐบาลมีวิธีการจัดการกับบริษัทนี้อย่างไร มาตรการแสดงความรับผิดชอบด้วยการเรียกเก็บข้าวถุงโค-โค่ออกจากท้องตลาดเพียง พอหรือไม่กับความปลอดภัยของผู้บริโภค และเชื่อได้อย่างไรว่าในอนาคตจะไม่มีการตกค้างเกินกว่ามาตรฐานจากผู้ประกอบ การข้าวถุงรายอื่น ๆ อีก
การกินข้าวโชว์หรือเดินสายพาสื่อดูโรงงานผลิตข้าวถุงจะไม่เกิดประโยชน์อันใด หากไม่มีมาตรการแก้ปัญหาที่ ตัวผู้ประกอบการ เรื่องนี้มีคำตอบที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติโฆษณาให้เลยก็ได้ว่าบริษัทนคร หลวงค้าข้าว-บริษัทสยาม มอเตอร์เฟลมมีวิธีเพิ่มก๊าซไนโตรเจน/ลดก๊าซออกซิเจนฆ่ามอด/แมลงตายเห็นผลโดย ไม่ต้องใช้สารเคมี แถมมีต้นทุนค่าใช้จ่ายก๊าซถูกแค่ 10 บาท/ตัน แต่ติดปัญหาเครื่องดูดอากาศเพิ่ม/ลดก๊าซยังแพงอยู่
รัฐบาลหาเงินมาช่วยต่อยอดสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติลดต้นทุนไม่ดีกว่าหรือ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต