สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พฤติกรรมจำนำข้าว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี 

ผมเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์ใหญ่ บุญชู โรจนเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังครับ ผมได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดท่าน เรียนรู้ประสบการณ์และวิธีคิดของการทำงานในช่วงที่คุณพ่อผมเป็นรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยนั้น ถือว่าเป็นผู้ที่ใส่หมวกหลายใบ ที่สำคัญรองจากหมวกที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ การทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร “ธ.ก.ส.” ตามกฎหมาย เพราะธนาคารแห่งนี้คือแขนขาสำคัญของรัฐบาลในการกระจายเงิน กระจายงานลงไปสู่ประชาชนระดับฐานรากที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ประธานกรรมการ ธ.ก.ส. จึงเป็นตำแหน่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้กับ เกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ และเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาจนกระจาย รวยกระจุก

ในขณะที่ท่านบุญชูเป็น สส.จาก จ.นครสวรรค์ หมวกอีกใบหนึ่งของท่านบุญชูในช่วงนั้น คือ ท่านนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง ของสภาครับ

รัฐบาลและฝ่ายค้านสมัยก่อนทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ค้านและตอบหักล้างกันด้วยเหตุด้วยผล

ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำงานเพื่อประชาชน ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นเกิดขึ้นมาตลอด แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดฆ่าฟันให้ตายไปข้างหนึ่งเหมือนในสมัยนี้

ช่วงนั้นพ่อเป็นรัฐบาล พ่อส่งผมเป็นตัวแทนประสานงานกับ สส.ในสภา โดยเฉพาะกับท่านอาจารย์ใหญ่บุญชู ผมโชคดีได้โอกาสระหว่างทำงานให้ท่าน กอบโกยวิชาความรู้จากท่านมามากทีเดียว

เล่ามายาวเพื่อจะบอกว่า โครงการรับจำนำข้าวเริ่มมาจากท่านบุญชู โรจนเสถียร ก็คงไม่ผิดนัก พ่อเป็นประธานกรรมการ ธ.ก.ส. อาจารย์ใหญ่บุญชูเป็นประธานกรรมาธิการ การเงิน การคลัง ก็ร่วมมือช่วยกันหาแนวทางเพื่อช่วยชาวนาไทยให้ลืมตาอ้าปาก ทำงานร่วมกันโดยไม่ได้คิดว่าพวกเขา พวกเรา เพราะมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ทำอย่างไรจะช่วยชาวนาไทยให้หายจน

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกปีเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว คือ ราคาข้าวจะตกต่ำ ช่วงที่ผลผลิตออกมามากก็จะหนักมาก ในแง่การตลาดถือว่าเป็นเรื่องของอุปสงค์ อุปทาน คือ ความต้องการซื้อกับความต้องการขาย แต่ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดระเบียบให้กลไกตลาดเกิดความสมดุล ไม่เช่นนั้นชาวนาไทยก็ไม่มีทางเลือก

ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว รัฐบาลอยากจะบอกชาวนาไม่ให้รีบนำข้าวที่ผลิตออกมาในฤดูการผลิตนั้นออกมาขาย มีความพยายามในการหาทางสนับสนุนให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางใต้ถุนบ้านไว้ก่อน ปริมาณข้าวจะได้ไม่ออกมามากจนล้นตลาด

แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าที่จะพูดตรงๆ เพราะรู้ว่าชาวนาจะสวนกลับแน่ เกษตรกรชาวนาคงโวยวายใส่ทันทีว่า “ถ้าไม่ให้ฉันขายข้าว ฉันจะหาเงินจากไหนมาจับจ่ายใช้สอย ดูแลครอบครัวล่ะ คุณรัฐบาล”

นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดรับจำนำข้าวเพื่อแก้ปัญหาข้าวล้นตลาด

เริ่มต้นอย่างนี้ครับ รัฐบาลขอให้ชาวนาเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. กู้เงินจาก ธ.ก.ส.นำไปใช้หมุนก่อน โดยให้ใช้ข้าวเปลือกที่เก็บไว้ใต้ถุนบ้านมาเป็นหลักประกัน ธ.ก.ส.ก็จะให้เงินกู้แก่เกษตรกรชาวนาในอัตรา 80% ของราคาตลาดสำหรับข้าวที่นำมาจำนำไว้

ส่วนดอกเบี้ยก็จะคิดในอัตราถูกสุด พอราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ชาวนาก็สามารถนำข้าวที่จำนำไว้ไปขายแล้วนำเงินที่ได้มาใช้หนี้

ต่อมารัฐบาลเริ่มคิดไกลขึ้น เดิมให้ชาวนาจำนำข้าวโดยเก็บไว้ที่ใต้ถุนบ้าน แต่มีปัญหา เพราะชาวนาบางคน บางกลุ่ม แอบนำข้าวที่จำนำไว้ไปขาย แล้วไม่ใช้หนี้ที่กู้ไว้กับ ธ.ก.ส.

รัฐบาลเลยเปลี่ยนแนวการรับจำนำข้าวใหม่ คราวนี้รัฐบาลขอเป็นผู้เก็บรักษาข้าวเอง ชาวนานำข้าวมาจำนำไว้ก็นำไปเก็บไว้ที่โกดังที่รัฐบาลเช่าไว้

โครงการรับจำนำข้าวเกิดขึ้นมาอย่างนี้ละครับ

ผมเห็นว่าโครงการรับจำนำถือเป็นแนวคิดที่ดี แก้ปัญหาข้าวล้นตลาดได้ โดยการดึงผลผลิตส่วนหนึ่งออกจากตลาด เก็บข้าวส่วนหนึ่งไว้เพียงระยะสั้นๆ เพื่อไม่ให้ข้าวออกมาสู่ตลาดในปริมาณที่มากเกินจนถูกกดราคาลงมา เมื่อราคาปรับตัวดีขึ้นก็ค่อยทยอยปล่อยข้าวออกสู่ตลาดตามกลไกราคาในภายหลัง

ข้อสำคัญ คือ ต้องรับจำนำในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และต้องไม่รับจำนำทุกเม็ด

ทว่า นโยบาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” กลับเปลี่ยนหลักคิดเดิมทั้งหมด เป็นการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาด (ในราคา 15,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดประมาณ 10,000 บาทต่อตันเท่านั้น) และรับจำนำข้าวทุกเม็ดเพื่อสร้างคะแนนนิยม

หลักคิดของ “ทักษิณ” คือ เป็นการเข้าครอบครองตลาดข้าว เพราะเชื่อว่าถ้าเก็บผลผลิตข้าวไม่ให้ออกสู่ตลาด ราคาข้าวจะปรับสูงขึ้นทันที โดยลืมคำนึงว่าสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีความเสื่อมได้ง่าย ระบบการกักเก็บสินค้าต้องมีคุณภาพ และต้องใช้กระบวนการจัดการที่เป็นระบบ

ถึงวันนี้รัฐบาลได้เดินหน้าโครงการรับจำนำมาเป็นเวลาร่วมสองปี ได้ผลตามแผนหรือไม่ สังคมรับทราบกันดี ไม่ต้องพูดกันให้มากความไปอีก

ความจริงโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาด เริ่มมาก่อนหน้านี้ เริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ชาวนาชอบอกชอบใจกันยกใหญ่ ขายข้าวได้ราคาดี

ส่วนรัฐบาลในขณะนั้นต้องรับภาระซื้อข้าวเปลือกมาแล้วสีเป็นข้าวสารเก็บ ไว้ นำไปทยอยขายในภายหลัง ช่วงที่รัฐบาลขายข้าว ขายขาดทุนอย่างไรไม่เป็นข่าว เพราะกว่าจะปิดบัญชีว่ามีผลขาดทุนอย่างไรก็ข้ามปีไปแล้ว บางทีก็หลายปี เปลี่ยนหน้าไปหลายรัฐบาล เปลี่ยนหน้ารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ไปหลายคน ความหมักหมมของผลขาดทุนจากการแทรกแซงสินค้าเกษตรก็ซุกเก็บไว้ใต้พรม

ก่อนจะคุยกันถึงตัวเลขการขาดทุน ลองไปตรวจสอบกันหน่อยว่า รัฐบาลน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ เขาร่ำรวยมาจากไหน ถึงสามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้ทุกเม็ดในราคาสูงลิบลิ่วกว่าราคาตลาด

คำถาม คือ เงินภาษีจากพวกเราเพียงพอที่จะนำไปซื้อข้าวทุกเม็ด ทุกปีหรือไม่

คำตอบ คือ เป็นไปไม่ได้ เงินภาษีไม่พอแน่นอน รัฐบาลต้องกู้ครับ

แต่รัฐบาลกู้เองก็ไม่ได้ ถ้ากู้เองต้องออกกฎหมาย พ.ร.บ.เงินกู้ ต้องให้รัฐสภา ตัวแทนเจ้าของเงินภาษี (สส.) เขาเห็นชอบ เพราะหนี้ที่เกิดขึ้น คนทำงาน คนจ่ายภาษีเป็นผู้รับผิดชอบ คนอื่นไม่เกี่ยว

รัฐบาลก็แก้ปัญหานี้โดยการกู้ทางอ้อม นั่นคือให้ ธ.ก.ส.เป็นนอมินีกู้เงินจากระบบไปก่อน แล้วสั่งกระทรวงการคลังให้ช่วยหาแหล่งเงินกู้ให้ รวมทั้งค้ำประกันให้

ตัวเลขเงินกู้หน้าตาอย่างนี้ครับ คลังกู้ให้แล้ว 408,750 ล้านบาท ธ.ก.ส.กู้เงินมาสมทบอีก 90,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส.ต้องควักกระเป๋าสำรองเงินมาใช้รับจำนำให้อีก 68,000 ล้านบาท แถมด้วยเงินจากการขายข้าว (ที่ซื้อมาแพง) อีกจำนวน 93,450 ล้านบาท

ผมรวบรวมจำนวนการใช้เงินกู้เพื่อซื้อข้าวทุกเม็ดจากชาวนา ซึ่งอาจจะมีชาวนาไทยบ้าง เพื่อนบ้านบ้าง ได้รับเงินไปแล้ว 661,224 ล้านบาท

วันนี้สังคมออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชี้แจงว่ารัฐบาลใช้เงินกว่า 6.61 แสนล้านบาท ได้ข้าวเปลือกมากี่ตัน สีเป็นข้าวสารได้กี่ตัน แล้วขายออกไปแล้วจำนวนเท่าไหร่ ขายออกไปในราคาใด และเหลือข้าวในโกดังอีกจำนวนเท่าไหร่

คำถามมันไม่ยาก ไม่ซับซ้อนเลยครับ

ทว่า รัฐบาลกลับไม่ยอมตอบ เพราะบอกว่าต้องปิดเป็นความลับ

ความจริงคือความลับไม่มีในโลกนี้ วันหนึ่งข้อมูลก็ต้องถูกเปิดเผย รัฐบาลรู้ประเด็นนี้ดี รัฐบาลเพียงดึงเวลา อย่างน้อยถ้าข้อมูลจะหลุดออกมา ก็ขอให้หลุดหลังจากที่รัฐบาลนี้จากไปก็แล้วกัน

วันก่อนท่าน สส.จากพิษณุโลก คุณหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม อภิปรายในสภา นำข้อมูลมาเปิดเผยว่า ช่วงที่ “โต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ได้อนุมัติให้ อคส. (องค์การคลังสินค้า) นำข้าวที่รับจำนำไว้เมื่อปี 2549 ออกไปขายให้กับโรงสีในราคา 5,700 บาทต่อตัน
วันรุ่งขึ้นโรงสีผู้โชคดีนำข้าวนี้ไปผ่องต่อ ขายให้กับอีกโรงสีหนึ่งในราคา 12,000 บาทต่อตัน ฟันส่วนต่างไปตันละ 6,300 บาท ซื้อ/ขายกันตามหลักฐาน 800 ตัน ทำงานวันเดียวกำไรกว่า 5 ล้านบาท

นี่เฉพาะที่มีใบเสร็จให้เห็นกันจะจะ ที่จับไม่ได้คงมีอีกมาก คิดแล้วก็น่าใจหาย ได้แต่หวังว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะทำหน้าที่ในการค้นหาความจริงมาให้เจ้าของเงินภาษีได้รับทราบโดยเร็ว ท่าน สส.ก็ได้ส่งมอบข้อมูลให้ ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว
ผมไม่แปลกใจหรอกครับ ที่สังคม เจ้าของเงินภาษีเขาเรียกร้องขอคำตอบ

เพราะถ้ามีพฤติกรรมแบบที่ท่าน สส. วรงค์ นำมาเปิดเผย ตัวเลขขาดทุนจากการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลอ้ำอึ้งอยู่ ไม่รู้แม้กระทั่งว่าขายให้ใคร ขายออกไปในราคาเท่าไหร่ ผมว่าความเสียหายคงเป็นหลายแสนล้านบาท

ไม่ใช่แค่ตัวเลข 260,000 ล้านบาท ที่ต้องตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบตัวเลข และนั่งเถียงกันจนหน้าดำหน้าแดงในทุกวันนี้แน่นอน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : พฤติกรรมจำนำข้าว

view