จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ปราโมทย์"ยันมีกระบวนการนำข้าวถุงอคส.ขายพ่อค้ากินส่วนต่างตันละ 6,875 บาท จากราคาตลาด 14,500 บาท หลังอคส.จำหน่ายออกไปราคาต้นทุน 7,625 บาท
กรณีรัฐบาลอนุมัติให้องค์การคลังสินค้าผลิตข้าวถุงจำหน่ายให้ประชาชนราคาถูกถุงขนาด 5 กก.โดยจำหน่ายถุงละ 70 บาทนั้นอนุกรรมการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่าข้าวถุงที่ผลิตไม่ได้เป็นไปตามโครงการเดือนละ 3 แสนตัน โดยทั้งหมดในระยะเวลา 6 เดือนสามารถทำได้เพียง 1.4 แสนตันหรือ 30 ล้านถุงเท่านั้นจากกรอบที่อนุมัติ 1.8 ล้านตันหรือ 360 ล้านถุง ทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นายปราโมทย์ วานิชชานนท์ คณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการระบายข้าวรัฐบาล หนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ ที่มี พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจทีวี ช่วง" Zoom in" ว่าการผลิตข้าวถุง ขายประชาชนราคาถูก ถ้าขาดทุนเพื่อชาวนาคิดว่าประชาชนพอใจและเต็มใจขาดทุนโดยสุจริต
แต่กรณีอ้างประชาชนโดยขาดทุนขายข้าวถูกกว่าราคาตลาดถึง 50% แล้วบอกว่าเป็นมติประชาชน จะได้รับข้าวถุงๆละ 70 บาท มติตรงนี้เป็นมติของคณะอนุกรรมการระบายข้าว เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2555 กำหนดไว้ว่าตั้งเดือนม.ค.-มิ.ย.2556 จะต้องทำข้าวถุงเดือนละ 3 แสนตัน ซึ่งจะมีข้าวขายประชาชนราคาถูกเดือนละ 60 ล้านถุง ในราคาถุงละ 70 บาท
เผยข้าวถึงมือประชาชน 5-10%
ทั้งนี้มีมติขายข้าวให้อคส.ต่ำกว่าราคาตลาดตันละ 7,625 บาท นั่นหมายความว่ารัฐบาลเต็มใจที่จะให้ขาดทุน ยอมขายขาดทุนเพื่อเอาข้าวจำนวนนี้ไปขายให้กับประชาชน เพื่อลดค่าครองชีพ แต่คณะอนุกรรมาธิการฯ ตรวจพบสิ่งผิดปกติ เพราะข้าวถึงมือประชาชนเพียง 5-10% ส่วนที่เหลือกำลังติดตามอยู่ว่าหายไปไหน เราก็พบข้อมูลพอสันนิษฐานได้ว่าข้าวจำนวนที่หายไป ตันละ 7,625 บาท แต่เอาไปขายในราคาตลาดตันละ 14,500 บาท รับส่วนต่างตรงนี้ไป 6,875 บาทต่อตัน เพราะในวงการค้าข้าว แจ้งว่ามีการเอาข้าวไปขายแบบยกกระสอบเลย
เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช ปรากฏว่าทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ทราบมีข้าวประเภทนี้ช่วยเหลือประชาชน ที่ผ่านมาได้เรียกโรงงานผลิตถุงมาให้ข้อมูลพบว่าตัวเลขที่ทำให้ได้มีไม่ถึง 5% มีหลายประเด็นที่พบมีพิรุธมาก
รัฐเสียหายยับส่งปปช.สอบต่อ
นายปราโมทย์ ย้ำว่าโครงการนี้รัฐเสียหายหมื่นล้านบาทขึ้นไป ส่วนข้าวที่หายไปไม่ได้หายไปไหน แต่มีการนำไปขายให้พ่อค้า เพราะมีพ่อค้ามายืนยันกับคณะกรรมาธิการฯ ว่าได้มีการขายให้ในราคาตันละ 14,500 บาท จากต้นทุน 7,625 บาท ส่วนต่างที่เกิดขึ้นคำนวณจากปริมาณข้าวที่เหลือได้
"เรื่องนี้ต้องให้ปปช.ตรวจสอบว่าขาดทุนเท่าไหร่ เงินหายไปไหน แต่ผมบอกได้เลยขาดทุนเกินหมื่นล้านบาทแน่ แต่หากยังมีพฤติกรรมอย่างนี้ต่อไปก็จะขาดทุนเพิ่มมากขึ้นๆ ถ้ายังไม่มีการหยุดยั้งหรือตรวจสอบ ประเภทอ้างประชาชนแล้วเอาตรงนี้ไปแสวงหาผลประโยชน์ คาดภายใน1-2เดือนสรุปผลทั้งหมดได้"
"ยุทธนา"เผยพบข้อมูลผิดปกติอื้อ
พล.ต.ท.ยุทธนา กล่าวว่าจากการลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้า ปรากฏว่าหลายพื้นที่ไม่พบเห็นข้าว อคส.ราคาถูกถุงละ 70 บาท แต่มีบางร้านที่มีอยู่บ้าง แต่กลับพบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นมากมาย "มีการวางแผนโยงใยเต็มไปหมด เป็นเรื่องไม่ปกติ มีการหาผลประโยชน์จากโครงการนี้ชัดเจน ผมลงพื้นที่พบหลักฐานการโอนเงินที่แปลกๆอยู่ "
โรงสีค้ากำไรส่งขายร้านค้าถุงละ80บาท
แหล่งข่าว จากคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบร้านค้าขายข้าว อคส.ที่จ.ชุมพร ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก โดยเจ้าของร้านแจ้งว่าได้ขายข้าว อสค.แต่ต้องไปขนสินค้าเองจากโรงสีที่เข้าร่วม "เขาขายให้ถุงละ 80-90 บาท ไม่ใช่ 60บาท และต้องขนสินค้าเอง" เป็นเรื่องประหลาดมากทั้งๆที่อคส.รวมค่าขนส่งให้โรงสีแล้วแต่กลับไปหาผลประโยชน์เพิ่มจากร้านค้า ตรงนี้คณะอนุกรรมาธิการฯมีข้อมูลชัดเจนแล้ว พร้อมใบเสร็จรับเงิน
กขช.รับตัวเลข"สุภา"ขาดทุน2.2แสนล้าน
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)โดยในที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ให้นำวิธีการคำนวณการปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี โครงการจำนำสินค้าเกษตรที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เป็นแนวทางคำนวณมูลค่าข้าวค้างสต๊อกและมีมติยอมรับผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2554/2555 และ ปรังฤดูกาลผลิต 2555 ขาดทุน 136,896.80 ล้านบาท ซึ่งการคำนวณของอนุฯปิดบัญชีนี้เป็นการคำนวณผลกำไร(ขาดทุน)สุทธิ ซึ่งใช้สมมุติฐานว่าขาดทุนสูงสุดเพราะใช้ราคาตลาดต่ำสุด ณ วันปิดบัญชีมาคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ
ในส่วนของข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 55/56 ยังไม่ได้ข้อสรุปตัวเลขขาดทุนจาก เนื่องจากยังมีข้าวที่อยู่ระหว่างการแปรสภาพและยังไม่ได้ตีมูลค่า อีก 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก โดยตั้งคณะทำงานตรวจสอบสต็อกดังกล่าวก่อน แต่เบื้องต้นคาดว่าหากนับรวมยอดปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวนาปี 55/56 จะทำให้ยอดประมาณการขาดทุนอยู่ที่ 2.2 แสนล้าน
ซึ่งนายวราเทพย้ำว่าตัวเลขการขาดทุนนี้เป็นการคาดการณ์เท่านั้นเพราะผลการขาดทุนที่แท้จริงจะชัดเจนต่อเมื่อรัฐบาลสามารถระบายได้ทั้งหมดและโครงการรับจำนำสิ้นสุดลง
"วราเทพ"ชงครม.ลดราคารับจำนำ
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการปิดบัญชีโครงการรายไตรมาส โดยจะเริ่มรอบการปิดบัญชีครั้งต่อไปจะสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 2556 ซึ่งจะได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นายวราเทพได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง จัดทำตัวเลขให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้(18 มิ.ย.)ต่อไป ส่วนจะมีการปรับรูปแบบโครงการ โดยการลดปริมาณและราคาการรับจำนำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการ กขช. แต่ตนมีแนวคิดที่จะเสนอ ครม.ปรับลดเพดาน ราคารับจำรวมถึงปริมาณข้าว เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบตัวเลขขาดทุนที่แท้จริงจากโครงการรับจำนำข้าว
บอร์ดปิดบัญชีปัดตัวเลขข้าวเปลือกวราเทพ
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นางสาวสุภา ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ หลังจากที่นายวราเทพ มีหนังสือขอให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ หารือด่วนในช่วงเช้าวานนี้ (17 มิ.ย.) ก่อนที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)
ทั้งนี้ เพื่อหาข้อยุติตัวเลขขาดทุนในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 54/55 หลังจากนายวราเทพ พบว่ามีข้อมูลเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไม่มีการบันทึกปริมาณข้าวเปลือกที่อยู่ระหว่างการแปรสภาพเป็นข้าวสารอีกปริมาณ 2.5 ล้านตัน ลงในรายงานปิดบัญชี ซึ่งหากคิดตามวิธีคำนวณของคณะอนุกรรมการฯ จะมีมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท หากนำไปหักลบกลบหนี้กับตัวเลขขาดทุนก็จะลดลง
น.ส.สุภา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้นำตัวเลขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการรับจำนำข้าวประมาณ 9-10 หน่วยงานมาใช้ ในการจัดทำรายงานปิดบัญชีโครงการ โดยที่ผ่านมาวิธีคิดแบบนี้ไม่เคยมีปัญหาในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาและในข้าวรอบปี 2554/2555ของรัฐบาลนี้ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมครั้งนี้จึงกลับมีปัญหา
รายงานข่าวเปิดเผยภายหลังการประชุมของคณะอนุกรรมการฯว่า ที่ประชุมไม่รับตัวเลขข้าวเปลือกที่อยู่ระหว่างแปรสภาพเป็นข้าวสารอีก 2.5 ล้านตันมาลงบันทึกเป็นรายได้ที่จะเข้ามาในอนาคต เพราะการบันทึกบัญชีจะลงเฉพาะที่เป็นข้าวสารพร้อมขายแล้วเท่านั้น อีกทั้งต้องลงไปตรวจสอบก่อนว่ามีข้าวเปลือกดังกล่าวอยู่จริงหรือไม่ ขณะนี้ทางคณะอนุกรรมการปิดบัญชี จึงยังยืนยันตัวเลขการขาดทุนเท่าเดิมที่ประมาณ 1.36 แสนล้านบาท
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต