จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เฉลา กาญจนา
มีคนตั้งคำถามมากมาย วนเวียนอยู่ขณะนี้ว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะขาดทุนเท่าไหร่
จะคงสภาพนี้ตลอดไปหรือไม่? รัฐบาลได้ระบายข้าวจีทูจีให้ประเทศไหนบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ แล้วจะคืนเงินโครงการรับจำนำข้าวให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เท่าไหร่
ข้อมูลจาก บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ก่อนหน้านี้ ระบุว่า จะระบายข้าวสต็อกรัฐบาลปี 2556 แบบจีทูจี ออกไปอีก 6-7 ล้านตัน ซึ่งจะไม่รวมกับการระบายข้าวปี 2555 ที่ขายจีทูจีไปแล้ว 7.3 ล้านตัน พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ตอนนี้มีรัฐบาลต่างประเทศ ทั้งไนจีเรียและประเทศในทวีปแอฟริกา สนใจซื้อข้าวจากไทย และล่าสุด รมต.บุญทรง ยังหวังจะใช้เวทีประชุมข้าวนานาชาติปี 2556 ขายข้าวจีทูจีให้กับหลายประเทศ อย่างประเทศโตโก แถมคุยฟุ้งอีกว่า กำลังร่างเอ็มโอยู ขายให้เกาหลีใต้อีก 1 ล้านตัน
ทว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่สมมติฐาน ว่าจะขายข้าวได้เท่านั้นเท่านี้
โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ถามว่าดีไหม ตอบเลยว่า "ดี" แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือเรื่อง "ระบบการจัดการ" ยังถือว่า "ง่อยไปหน่อย" เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้จริงจังกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบ ถูกละเลย จนไม่มีใครคิดว่า สิ่งที่กำลังจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ เกิดจากการรั่วไหลในโครงการรับจำนำ
ทุกวันนี้ ไปในพื้นที่จังหวัดไหนที่มีการรับจำนำข้าว ก็จะได้ยินแต่เสียงวิจารณ์ว่า "โครงการนี้มันกำลังเละ" นั่นหมายถึง การปล่อยให้เกิดการรั่วไหลทุกขั้นตอน ตั้งแต่ เปิดช่องให้มีการเรียกเก็บค่าหัวคิว เบี้ยบ้ายรายทางเต็มไปหมด
แม้กระทั่งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการนำข้าวเข้าโกดัง จุดนี้ โรงสีที่เข้าร่วมโครงการก็ "ถูกรีด" จากโกดังเก็บข้าวแลกกับการเก็บข้าว ตันละ180-250 บาทเป็นอย่างต่ำ แยกย่อยเป็นค่าเซอร์เวเยอร์กระสอบละ 10-20 บาท ค่าเหยียบแผ่นดินอีก 10-20 บาท ซ้ำร้ายยังบวกเพิ่มค่าแรงกรรมกรแบกข้าวอีกกระสอบละ 3-5 บาท
ฉะนั้นข้าว 1 ตัน 6 กระสอบ ก่อนจะเข้าโกดังเก็บข้าวได้ ก็ต้องจ่ายรายทางไม่น้อยทีเดียว หากต้องนำข้าวเข้าโกดังนับล้านๆ ตัน แล้วจะต้องเสียอีกสักเท่าไหร่ ซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นกฎระเบียบที่รัฐบาลให้เรียกเก็บได้ หรือว่าในพื้นที่กำลังหาผลประโยชน์จากโครงการกันเอง
ซ้ำร้าย ตอนนี้ยังเริ่มมีบริการจาก "ขาใหญ่" ตั้งโต๊ะรับ "เปาเกา" จากโรงสี โดยใช้วิธีการง่ายๆ คือ ปกติโรงสีต้องนำข้าวจากโครงการรับจำนำเข้าโกดังที่รัฐบาลจ้างมา แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่นำข้าวเข้าโกดัง กลับนำข้าวส่วนนี้ไปขายในตลาด แล้วนำข้าวคุณภาพไม่ดีใส่เข้าโกดังแทน ซึ่งวิธีการนี้ มีทั้งโรงสีทำเองและจ้างให้ผู้อื่นกระทำการแทน จนกลายเป็นกิจการใหญ่โต
หากเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ต่างกับการ "เวียนเทียนข้าว" แล้วประเทศชาติจะต้องสูญเสียงบประมาณไปอีกสักเท่าไหร่ เรื่องนี้ผู้มีอำนาจทั้งหลาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบเร่งด่วน และดำเนินการกับ "พวกเหลือบ" ให้ได้
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่มีคนพูดกันหนาหูว่า โครงการรัฐบาล ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่ง "พุงกาง" กันเป็นทิวแถว ส่วนเกษตรกร ไม่แน่ใจว่าจะได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่
สิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องตรวจสอบและเอาจริงกับเรื่องนี้ มิฉะนั้นผู้คนจะนินทาได้ว่า "เป็นใจ"
อยากฝากไปถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะหัวเรือใหญ่ของรัฐบาลด้วยว่า อย่าปล่อยให้โครงการรับจำนำข้าวกลายเป็นโครงการหากินของใครก็ไม่รู้ แล้วแก้ปัญหาด้วยการ "โยกย้าย" ผู้ที่ไม่ทำตัวเป็น"เสือคล้อย"
ล่าสุด กรณีของ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง สตรี "ปากกล้า" ท่านหนึ่ง ที่พยายามออกมาส่งสัญญาณ ที่จะให้ปรับเปลี่ยนนโยบายจำนำข้าว เพราะเห็นตัวเลขชัดเจนแล้วว่า ประเทศชาติจะต้องสูญเสียงบประมาณไปเท่าไหร่
คำเตือนของรองปลัดสุภา นอกจากผู้มีอำนาจจะ "ไม่ยอมรับรู้" แล้ว ความหวังดียังกลับกลายมาเป็น ดาบทิ่มแทง ตัวเองทันที เมื่อกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้ท่าน "งด" กำกับดูแลงานกรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พร้อมๆ กับให้ พ้นจากคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ฤดูผลิตปี 2554/2555 โดยอ้างข้อหาใหญ่ว่า "ไม่ปกปิดตัวเลข"
เวลานี้เริ่มมีข่าวเล็ดลอดออกมาแล้วว่า โครงการนี้ รัฐบาลจะขาดทุนหนัก เขาว่ากันว่า ตัวเลขจะปาเข้าไป "3 แสนกว่าล้าน" รัฐบาลจะว่ายังไง
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต