สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อุเทน นำสื่อลงพื้นที่จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ย้ำผลาญงบ ปชช.มโหฬาร หวัง รบ.มีสำนึก

อุเทน” นำสื่อลงพื้นที่จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ย้ำผลาญงบ ปชช.มโหฬาร หวัง รบ.มีสำนึก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

อดีตที่ปรึกษานายกฯ นำสื่อลงพื้นที่จังหวัดในโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน แนะระบายน้ำจากสมุทรปราการลงอ่าวไทยให้ยั่งยืน ย้ำแก้น้ำท่วมต้องปล่อยลงทะเลให้เร็ว ใช้งบไม่ถึงแสนล้าน แค่ 1-1.5 หมื่นล้าน ไม่ใช้งบสิ้นเปลืองแบบ ปธ.กบอ. ชี้อุปกรณ์กรมชลฯ พัฒนาได้ รบ.อย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ มีคนแย้งก็อ้าง ปชช. ยันเห็นต่างโครงการ a5 ผลาญงบแสนล้าน กระทบ ปชช. ย้อนถามของใครดีกว่า พร้อมชงนายกฯ รับห้ามไม่ได้ แต่หวังมีสำนึกใช้เงิน ปชช.
              วันนี้ (27 พ.ค.) นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณจังหวัดที่อยู่ในโครงการวางระบบบริหาร จัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคต ประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน
       
       โดยนายอุเทนได้เสนอแนวคิดให้มีการจัดการระบายน้ำของจังหวัด สมุทรปราการลงไปยังอ่าวไทยเพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ไมว่าจะเป็นสถานีสูบน้ำหรือประตูระบายน้ำตำหรุ ที่มีศักยภาพระบายน้ำได้ 1,244,160 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สถานีบางปลาร้าและสถานีบางปลา มีศักยภาพระบายน้ำได้ 1,658,880 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะใช้แนวความคิดเดียวกับโครงการระบายน้ำที่สถานีสุวรรณภูมิที่สามารถ ระบายน้ำได้ 8,640,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้ หากเราสามารถเพิ่มประตูระบายน้ำบริเวณบางปูได้ ตนมั่นใจว่าทางฝั่งตะวันออกจะไม่มีทางมีน้ำท่วม ซึ่งนั่นก็หมายความว่าถนนทางเส้นสุขุมวิทรวมไปถนนเส้นพระโขนงทั้งหมดจะไม่ ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมเหมือนเช่นปี 54 อย่างแน่นอน เพราะการจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้นั่นคือการหาทางให้น้ำไปและปล่อยออกทะเลให้ เร็วที่สุด โดยจะไม่ทำให้กระทบพื้นที่รอบข้าง
       
       นายอุเทนกล่าวต่อว่า งบประมาณในการก่อสร้างไม่รวมค่าเวนคืนที่ดินของประชาชนในภาคฝั่งตะวันออกตาม แนวยุทธศาสตร์ของผมจะใช้เงินไม่ถึงแสนล้านบาท เพียงไม่ 1-1.5 หมื่นล้านก็ทำโครงการนี้ได้ โดยใช้กายภาพแม่น้ำคูคลองที่มีอยู่นำเอาไปปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเท่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องทำแบบใหญโตเหมือนที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) วางแผนเอาไว้ เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองเกินไป
       
       “ผมยืนยันว่าอุปกรณ์เครื่องมือที่มีอยู่ในกรมชลประทานขณะนี้เพียงพอ ที่จะพัฒนาได้ แต่รัฐบาลกำลังพยายามพัฒนาให้เกินกำลังตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ประเทศไทยต้องการที่จะใช้เงินให้มากเข้าไว้ ด้วยข้ออ้างว่าต้องขยายและพัฒนาประเทศ แต่กลับไม่เคยบอกว่าจะขยายอย่างไร พอมีคนแย้งก็เอาประชาชนมาอ้าง สิ่งนี้คือหายนะของข้าราชการไทย” นายอุเทนกล่าว
       
       ทั้งนี้ นายอุเทนได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงพื้นที่ว่า TOR ของแต่ละโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำ A5 เป็นปัญหามากที่สุด หากจะเปรียบเทียบโครงการ a5 ของ กบอ.ที่วางไว้กับแนวทางความคิดของตนที่เสนอให้ใช้สิ่งที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น คูคลองและเครื่องสูบน้ำต่างๆ ไปบูรณาการ ซึ่งสามารถพัฒนาได้ตามแผนที่ของทางทหารที่ได้จัดทำไว้ ว่าพื้นที่ต่างๆ มีความลึกความตื้นมากน้อยเพียงใด แต่เราไม่เคยเอามาใช้ หากเป็นเช่นนี้ก็จะใช้งบประมาณที่น้อยมากในภาคตะวันออก โดยทาง กบอ.บอกว่าภาคนี้จะต้องรับน้ำ 300-400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งตนมองว่าศักยภาพของเครื่องมือที่เรามีอยู่นั่นเพียงพออย่างแน่นอน โดยเราจะระบายน้ำออกได้ทันต่อสถานการณ์ ประหยัดงบประมาณและไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
       
       นายอุเทนกล่าวต่อว่า ถ้าเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดเหมือนเช่นสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 เราก็สามารถเสริมเพิ่มเติมได้ในกรอบแนวพระราชดำริก็คือช่วงบางปู ที่สามารถทำเป็นคลองใหญ่เพื่อรับน้ำเช่นเดียวกบสถานีสุวรรณภูมิได้ โดยเป็นการผันน้ำออกทะเลไป สิ่งที่ได้นั้นพื้นที่ตั้งแต่สมุทรปราการไล่ยาวไปจนถึง กทม.เขตพระโขนง บางนา บางกะปิ และวัฒนา จะปลอดภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างแน่นอน
       
       “ผมขอยืนยันว่ามีความคิดขัดแย้งกับ กบอ.อย่างชัดเจน โดยเฉพาะงบประมาณของโครงการ a5 ที่ กบอ.ตั้งเอาไว้กว่า 1 แสนล้านบาท และยังไปกระทบกับพื้นที่ของประชาชนอีกกว่า 4-5 หมื่นไร่ แต่ของผมใช้งบประมาณที่น้อยมากและไม่ต้องไปกระทบกับพื้นที่โดยรอบอีกด้วย ผมจึงอยากถามว่าของใครดีกว่ากัน” นายอุเทนกล่าว
       
       นายอุเทนยังกล่าวต่อว่า กบอ.มีแนวคิดที่จะผันน้ำลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตนอยากจะถามว่า น้ำส่วนที่เหลือในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเหลือปริมาณมากน้อยเพียงใดและประชาชนที่ ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ทั้งนี้ตนจะทำหนังสือรวบรวมแนวคิดทั้งหมดเพื่อเสนอให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งตนก็มีความคาดหวังว่าจะเป็นแนวความคิดที่ช่วยเหลือประเทศไทยได้
       
       “สิ่งที่คาดหวังตอนนี้คือ อยากจะให้พวกเขามีสำนึกที่จะหยุดใช้งบประมาณแบบนี้ เพราะเป็นเงินของประชาชน สำหรับผมนั้นไม่สามารถไปหยุดยั้งเขาได้เลย แต่สิ่งที่พูดออกมาพูดจากประสบการณ์ และเชื่อว่าผมเป็นผู้ที่ลงพื้นที่มากกว่านายปลอดประสพ ซึ่งก็ได้แต่ขอให้นายกรัฐมนตรีไปทบทวนทีโออาร์ของโครงการรวมไปถึงกระบวนการ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนำแล้ง” นายอุเทนกล่าว


เจน'ขอดูสัญญาจัดการน้ำก่อนเซ็นกับเอกชน

รองปธ.สภาอุตฯขอดูสัญญาน้ำ 3.5 แสนล้านก่อนเซ็นกับเอกชน หวั่นซ้ำรอยสัญญาอัปยศที่ผ่านมา ด้าน"ประมนต์"ชี้ส่อทุจริต

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวบนเวทีเสวนาตอนหนึ่งถึงแนวคิดการทำโครงการ 3.5 แสนล้านบาทที่ว่า ทำดี ทำถูก และทำเร็ว ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ครบทั้ง 3 อย่าง และต้องจำไว้ว่า เรื่องที่จะให้เกิดความมั่นใจกับนักลงทุนของภาคอุตสาหกรรมนั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่ตนคิดว่าวิธีการสำคัญกว่า ถามว่าทำโครงการแบบนี้เป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ เพราะต้องถามว่าซิงเกิลคอมมานด์และการบริหารจัดการดีหรือยัง แทนที่จะดูแค่เรื่องสิ่งก่อสร้างอย่างเดียว

ส่วนประเด็นที่จะมีการเซ็นสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูลก่อนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)และผลกระทบทางสุขภาพ(เอชไอเอ)นั้น นายเจน กล่าวว่า เหมือนเราจะสร้างบ้านสักหลังต้องดูพิมพ์เขียว เขาทำโมเดลมาให้ดูว่าทางเข้าบ้านอยู่ทางไหน ประตูหน้าต่างอยู่ตรงไหน ห้องอะไรต่างๆอยู่ตรงไหน ลมพัดเข้าตรงไหน ดูจนครบถ้วนหลายๆแบบก่อนตัดสินใจ แล้วจึงจะเซ็นสัญญา และบางครั้งอาจจะขอแก้แบบด้วยซ้ำไป

"แต่ถ้าโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทมีการเซ็นสัญญาก่อนก็นึกไม่ออกว่ากระบวนการจะเป็นยังไง ถ้าบอกว่าสัญญาเซ็นแล้วแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ และถ้าแก้ไขได้จะกระทบกับต้นทุนและการทำงานของผู้รับเหมาหรือไม่ ดังนั้นขอเปิดดูสัญญาก่อนได้หรือไม่ว่าเคลมได้แค่ไหน เพราะถ้าทำแล้วไม่เป็นไปตามสิ่งที่เราคาดคิดจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมเป็นห่วงเรื่องการเซ็นสัญญาก่อน เพราะหลายรัฐบาลที่ผ่านมามีการเซ็นสัญญาอัปยศมาแล้วหลายฉบับ และหลังจากนั้นหลายคนก็ออกมายอมรับว่าสัญญาผิดพลาด ดังนั้นขอดูสัญญาก่อนเซ็นได้หรือไม่" นายเจน กล่าว

ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์ต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวเปิดการเสวนา โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท "งบน้ำเพื่อชีวิต ขอร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ" ที่ห้องประชุม World Ballroom B-C ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งจัดโดยองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า โครงการนี้ยังไม่ถึงระยะสุดท้าย แต่อาจจะมีการทุจริตได้ เราก็หวังว่าจะได้รับทราบสาระของโครงการและรับฟังจากผู้เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ และเศรษฐกิจ ซึ่งตนหวังว่า กบอ.จะเปลี่ยนในวิธีการทำงาน เปลี่ยนความคิด เพราะความคิดนี้แบบน่ากลัวมาก เพราะมีผลต่อทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจะจัดทำโครงการสัญญาคุณธรรมขึ้น โดยจะใช้ครั้งแรกกับกระทรวงคมนาคมในโครงการ 2 ล้านล้าน และก็จะนำมาใช้กับโครงการนี้ด้วย


ศศินทร์'ย้ำไม่บอกปชช.บริหารน้ำแบบเดิมไม่ดี

"ศศินทร์"ระบุรัฐบาลไม่เคยบอกประชาชนการบริหารน้ำแบบเดิมไม่ดีอย่างไร

นายศศินทร์ เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5แสนล้านบาท "งบน้ำเพื่อชีวิต ขอร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ" ว่า นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธาน กบอ. ใช้นิสัยส่วนตัวในการเป็นซิงเกิลคอมมานด์มากเกินไป แต่ก็สามารถแบ่งเบาภาระของนายกฯได้เยอะ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่เคยบอกประชาชนเลยว่าโครงสร้างบริหารจัดการน้ำแบบเดิมไม่ดีอย่างไร ก็เหมือนรถเสียจะต้องซื้อรถใหม่หรือแบตเตอรี่ใหม่กันแน่ ไม่ใช่ว่าเอาเงิน 3.5 แสนล้านบาทลงมาทีเดียว แทนที่จะค่อยๆเติมค่อยๆแก้ไข โดยที่ไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างที่ตนไปดูการจัดนิทรรศการน้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการให้คนเซ็นชื่อ แล้วมาบอกว่าประชาชนเห็นด้วย 99% ตนคิดว่านี่ไม่ใช่ แบบนี้อันตรายมาก

นายศศินทร์ กล่าวต่อถึง ข้อห่วงใยในการตรวจสอบโครงการนี้ว่า ระบบการคัดกรองการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสุขภาพ ก็อาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะปัจจุบันนายปลอดประสพมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ก็เป็นทั้งคนเสนอเรื่องเข้ามาเองแล้วก็อนุมัติเอง จากเดิมที่กรมชลประทานเป็นคนทำเรื่องนี้ ดังนั้นการเช็คแอนด์บาลานซ์ก็ไม่มี


“ปลอดประสพ” ปอดแหก ชิ่งหนีแจงงบน้ำ 3.5 แสนล้านบนเวที กกร.

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

“ปลอดประสพ” ชิ่งหนีการกล่าวบรรยายภาพรวมโครงการวางระบบการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทบนเวทีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.วันนี้ เอกชนหวังร่วมตรวจสอบ ชี้ภาพโครงการไม่ชัด
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27พ.ค.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้จัดประชุม Round Table โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท “งบน้ำเพื่อชีวิต ขอร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ” โดยในกำหนดการเวลา 9.40 น. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จะต้องกล่าวบรรยายสรุปภาพรวมโครงการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำวง เงิน 3.5 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่าเวลา 8.15 น.ทางผู้จัดงานได้รับแจ้งจากนายปลอดประสพว่าติดภารกิจรองนายกรัฐมนตรีเรียก เข้าพบด่วนจึงไม่สามารถเข้าร่วมได้ และไม่มีการมอบหมายให้คนอื่นมาแทนทำให้วาระงานต้องตัดส่วนบรรยายจากภาครัฐไป
       
       นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานอาวุโสหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้เรายังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนถึงการดำเนินการทั้งหมดในโครงการนี้ จึงอยากจะฟังจากรัฐบาลในรายละเอียดต่างๆ ส่วนกรณีการคอร์รัปชันจะมีหรือไม่มีคงต้องติดตามความโปร่งใสกันต่อไป กกร.เองก็คาดหวังว่าจะมีส่วนเข้าไปร่วมตรวจสอบ หลักการเห็นด้วย แต่หลักเกณฑ์นี้ต้องดูในรายละเอียดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
       
       นายสุวัฒน์ เชาวปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลพยายามเร่งงบน้ำให้เป็นไปตามกรอบเวลาการกู้เงินมากกว่าก็เลยต้องเร่ง รีบ ซึ่งจุดนี้หากที่สุดไม่สามารถแก้ปัญหาได้ใครจะรับผิดชอบ และการดำเนินงานก็ฝากความหวังไว้กับผู้รับเหมาแค่ 1-2 รายเท่านั้น ไม่มีการกระจายงานเพื่อลดความเสี่ยง


"ปลอด"ชิ่งแจงโครงการน้ำเวทีกกร.

จาก โพสต์ทูเดย์

ปลอดประสพอ้างติดภารกิจ ไม่ร่วมบรรยายสรุปโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านเวที กกร. วงเสวนาอัดเละโครงการใหญ่แต่ไร้การจัดการ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)แจ้งยก เลิกการบรรยายสรุปภาพรวมโครงการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำวงเงิน 3.5 แสนบาทอย่างกระทันหัน ในงานประชุม Round Table "งบน้ำเพื่อชีวิต ขอร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อเช้าวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลต่อผู้จัดงานว่าติดภารกิจรองนายกรัฐมนตรีเรียกเข้าพบด่วน จึงไม่สามารถเข้าร่วมได้ และไม่มีการมอบหมายให้คนอื่นมาแทน ซึ่งตามกำหนดการนายปลอดประสพจะเริ่มบรรยายตอน 09.40 น.ทำให้ตัดการบรรยายช่วงนี้ออกไป

ขณะที่กำหนดการถัดมา เป็นการ ประชุม Round Table เรื่อง “เรื่องงบน้ำเพื่อชีวิต ขอร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ” มีวิทยากร ประกอบด้วย นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุวัฒน์ เชาวปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายศศินทร์ เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

นายสุวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ทราบว่านายปลอดประสพมั่นใจได้อย่างไรว่าโครงการบริหารน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะสามารถทำเสร็จในเวลา 5 ปี ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำของประเทศทุกคนยืนยันตรงกันว่าไม่มีใครสามารถทำ เสร็จได้ภายในเวลา 5 ปีแน่ ยิ่งไปมอบความไว้วางใจให้ผู้รับเหมาก่อสร้างก็เหมือนโครงการก่อสร้างโรงพัก ตำรวจ 398 แห่ง ซึ่งไม่แล้วเสร็จอย่างที่เป็นข่าว นอกจากเสี่ยงโครงการไม่เสร็จแล้ว อาจจะเริ่มงานก่อสร้างไม่ได้ด้วยเพราะยังไม่ผ่านการฟังความคิดเห็นของพี่ น้องประชาชนในพื้นที่ และขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้

"ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะรัฐบาลใช้เรื่องเวลาและจำนวนเงินที่ ต้องกู้เป็นตัวตั้ง การใช้วิธีดีไซด์แอนด์บิวท์เร่งร้อนรวบรัดเกินไป ถามว่าเวลารัฐบาลทำงาน รัฐก็ต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชนผู้รับเหมาทำงาน ก็ต้องทำงานเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท เหตุใดคุณปลอดประสพจึงให้ความไว้วางใจบริษัทรับเหมาก่อสร้างมากเกินไปหรือ ไม่ ในการมอบให้ศึกษาความคุ้มค่าของโครงการในด้านต่างๆ แล้วรัฐบาลอ้างว่า ถ้าสร้างไม่ทันแล้วเกิดน้ำท่วมประเทศอีกเหมือนปี 2554 ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ก็อยากถามกลับบ้างว่า หากใช้เงินงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทแล้วแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้จริง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ"นายสุวัฒน์ กล่าว

นายศศินทร์ กล่าวว่า เห็นด้วยเรื่องทำฟลัดเวย์ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ วันจะเสร็จตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ รวมทั้งติดใจเรื่องเซ็นสัญญากับบริษัทรับเหมาไปก่อนแล้วมาออกแบบ ขนาดสร้างบ้านยังต้องขอดูแบบก่อนว่าทำอะไรอย่างไรบ้าง พอเลือกแบบแก้แบบแล้วชอบใจจึงมาเรียกเซ็นสัญญา แต่โครงการนี้เซ็นสัญญาก่อนก็เลยแปลกและน่าเป็นห่วง

"ถ้าบอกว่าเซ็นก่อนแล้วแก้สัญญาได้ ถ้าเช่นนั้นขอถามว่ามันจะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่และผู้รับเหมา หรือ ส่วนวิธีแก้ไขทำอย่างไร รัฐบาลไม่ใช่ตอบคนเดียวต้องถามประชาชนด้วย ผมเป็นห่วงเรื่องรัฐบาลเซ็นสัญญา อย่าลืมว่ารัฐบาลหลายรัฐบาลเซ็นสัญญาอัปยศมาแล้ว ไม่ใช่รัฐบาลนี้ การเซ็นสัญญาผิดพลาด เซ็นสัญญาไปก่อนแล้วมันอันตราย ขอดูสัญญาก่อนได้ไหม"นายศศินทร์ กล่าว

ด้านนายเจน กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเสียหายจากน้ำท่วมประมาณปีละ 6 พันล้านบาท คำถามคือ การบริหารจัดการดำเนินการแก้ไขได้ดีหรือยังหลังจากเหตุการณ์ปี 2554 มีการสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลว รวมทั้งปัญหาโรงงาน หรือนิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง ไปอยู่ในที่ ที่ไม่ควรอยู่

"การบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม ความจริงมี 3 ข้อ คือ ทำดี ทำเร็ว และทำถูกหรือใช้เงินน้อย แต่เอาเข้าจริง ทำได้เพียง 2 อย่างเท่านั้น ถามว่า ตอนนี้เราสามารถแก้ปัญหาระบบบริหารจัดการได้หรือยัง ไม่ใช่ดูแต่เรื่องการก่อสร้างอย่างเดียว ปัญหาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มันสุ่มเสี่ยงมีปัญหาในระยะยาวถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ก็ไม่อยากให้ลูกหลานก่นด่าในภายหลังว่าเราคิดออกมาได้อย่างไร ใช้อะไรคิด"นายเจน กล่าว

ด้านนายเสรี กล่าวว่า โครงการนี้ยังขาดการศึกษาเบื้องต้น ขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน การใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ขาดการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความคุ้มค่า แล้วราคาประมูลต่างๆ คิดขึ้นมาได้อย่างไร เรื่องดีไซด์แอนด์บิวท์มีข้อจำกัดคือโครงการที่ทำต้องมีความชัดเจน ถ้ายังไม่ชัดก็ทำไม่ได้ เช่น การทำโมดูล A1 แล้ว อาจให้ต้องทำโมดูล A5เรื่องฟลัดเวย์ ลดลงก็ได้ รวมทั้งความชัดเจนของผู้รับเหมาว่าต้องทำอะไร ทำตรงไหนบ้าง รวมทั้งที่ทีโออาร์ที่กำหนดวงเงินขั้นสูงสุดไว้ ซึ่งหากตนเองเป็นผู้รับเหมา ก็จะเสนอที่ดินที่มีราคาสูงสุด เพราะบริษัทเอกชนไม่ยอมเสียเปรียบอยู่แล้ว

"ผมยอมรับว่าไม่เคยเจอโครงการใหญ่ขนาดนี้ แล้วไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ เพราะมันมีผลต่อดอกเบี้ย ส่วนตัวเห็นว่าต้องกลับไปทบทวนและปรับปรุง ระยะเวลา 5 ปีมันยากมากที่จะทำเสร็จ ดังนั้นขอเวลามาหารือกับภาคประชาชนก่อน ทั้งเรื่องรูปแบบการเกิดอุทกภัย เรื่องงบประมาณ เรื่องการจัดลำดับความสำคัญ ว่าจะทำอะไรก่อน-หลัง เพราะมันไม่ได้หมายความว่า ทำทั้งหมดแล้วจะแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จเลย"นายเสรี กล่าว


จี้กบอ.เปิดรายชื่อให้คะแนนเทคนิคโปรเจกต์น้ำ

นายกวิศวกรรมสถานจี้กบอ.เปิดรายชื่อ 50 ทีมงานให้คะแนนเทคนิคโปรเจกต์น้ำ ด้าน"เสรี"แนะทำแผนแม่บทหาทางออกที่ดีที่สุดก่อน

นายสุวัฒน์ เชาวปรีชา นายกสมาคมวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5แสนล้านบาท "งบน้ำเพื่อชีวิต ขอร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ"ซึ่งจัดโดยองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3สถาบัน(กกร.)ว่า งานใหญ่ระดับชาติใช้เงินกู้ 3.5แสนล้านบาทต้องระดมสมองเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง แต่รัฐบาลกลับเอาเวลากรอบเงินกู้เป็นตัวตั้ง เมื่อมีกรอบเวลาก็ทำงานรีบเร่ง อ้างเวลาเรื่องเงิน อ้างเรื่องน้ำท่วมถ้าทำไม่ทัน เพราะกบอ.บอกว่าการดำเนินโครงการเป็นการคิดใหม่ ถ้าทำแบบเดิมก็ไม่เสร็จจึงทำรวบรัด ให้ออกแบบไปและก่อสร้างไปด้วย จึงถามว่างานใหญ่แบบนี้ไปฝากความหวังกับผู้รับเหมาได้ยังไง ทำไมไม่กระจายสัญญา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องที่ยังไม่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแะละด้านสุขภาพ และการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนอีกด้วย

"กลัวเหมือนกับสร้างโรงพักตำรวจ ที่ไม่ใช่รัฐบาลนี้ทำก็ตาม แต่รัฐบาลก็มักจะบอกว่าชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งโครงการโฮปเวล โครงการกำจัดน้ำเสียที่คลองด่าน ก็บอกถูกกฎหมายหมด มันถูกต้องตามกฎหมายแต่งานไม่สำเร็จ มันก็เป็นอนุเสาวรีย์แห่งความอัปลักษณ์ในประเทศไทย แล้วประชาชนจะมีส่วนร่วมยังไงทำข้อเสนอไปก็ไม่รับฟัง ชวนมาร่วมคิดก็ไม่มา"นายสุวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้นายกสมาคมวิศวะฯ กล่าวต่ออีกว่า ถามด้วยว่าคณะทำงาน 50 คนที่ให้คะแนนด้านเทคนิคมีใครบ้างเปิดเผยได้หรือไม่ เผื่อตนจะนำชื่อเหล่านี่ไปเสนอต่อสภาวิศกร เพื่อสดุดีความสามารถของพวกท่านหากสำเร็จ แต่หากไม่สำเร็จก็จะได้เป็นอุทธาหรณ์กับวงการวิชาชีพวิศวกรของพวกเรา นอกจากนี้รัฐบาลควรรู้ไว้ว่าบริษัทยังไงก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท แต่รัฐบาลมอบความไว้วางใจให้ขึ้นอยู่กับคนออกแบบดีไซ-บิวท์ แทนที่จะตั้งคณะทำงานที่มีความอิสระ ทำแผนแม่บท ศีกษาความเป็นไปได้ก่อน

เช่นเดียวกับนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วิจารณ์การใช้รูปแบบดีไซด์-บิวท์ไม่มีความเหมาะสม เพราะยังไม่มีความชัดเจนหลายเรื่องทั้งเรื่องของความชัดเจนของสัญญา ความชัดเจนเรื่องพื้นที่ที่จะดำเนินการ อีกทั้งตนคิดว่าควรมีการศึกษาให้รอบคอบก่อน เพราะสมมติว่าทำอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งแล้ว อ่างอื่นๆจะต้องทำหรือไม่ เพราะอ่างอื่นอาจจะมีขนาดเล็กลงมาก็ได้ เพื่อประหยัดงบประมาณ รวมทั้กบอ.คิดได้อย่างไรว่าโครงการนี้ราคาเท่าไร ใช้หลักอะไรคิด สมมติอ่างเก็บน้ำก็บอกว่า 5หมื่นล้านบาท ซึ่งตนไม่เคยเจอโครงการไหนในโลกที่ขึ้นเกิดโดยที่ไม่จัดความสำคัญว่าอันไหนทำก่อนอันไหนทำทีหลัง และที่สำคัญคือลงทุน3.5แสนล้านบาทก็ไม่ได้บอกว่าจะไม่มีน้ำท่วมอีก

"ถามว่ามีการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นหรือไม่ เพราะถ้าเป็นไปไม่ได้จะทำยังไงต่อ เพราะแน่นอนว่าการมีส่วนร่วมเขาไม่ได้ระบุว่าต้องทำก่อนหรือหลัง แต่ผมคิดว่าควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมก่อนที่จะมีนิติสัมพันธ์ ลำดับความสำคัญโครงการอะไรควรทำก่อนทำหลัง ทำไมไม่ทำอะไรที่สำคัญก่อน หากประสิทธิผลได้ ดอกเบี้ยก็อาจจะลดลง ดังนั้นควรวิเคราะห์ความเสี่ยงกอน"นายเสรี กล่าว

อาจารย์จากม.รังสิต กล่าวต่อว่า ข้อเสนอของตนคือควรมีการทำแผนแม่บท ใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อศึกษาทางออกให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้รูปแบบที่มีความเหมาะสม เพื่อให้ได้งบประมาณที่เหมาะ ภาคประชาชนจะได้มีส่วนร่วม และมีความเป็นได้ของโครงการเบื้องต้นจากการทำอีไอเอ เอชไอเอ จากนั้นก็จัดลำดับความสำคัญของโครงการแล้วจึงดำเนินการ ไม่ควรเซ็นสัญญาก่อน เพราะถ้าเกิดกระแสตีกลับเกิดความขัดแย้งต่างๆตามมามากมาย อาทิ เรื่องภาคประชาชน องค์กรที่ไม่เอาด้วย เพราะอย่าลืมว่าพวกเขาไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เขามีความรู้มากขึ้น อาจจะเกิดการต่อต้านไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ก็ได้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : อุเทน  ลงพื้นที่ จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ผลาญงบ ปชช. มโหฬาร มีสำนึก

view