สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธ.ก.ส.เฟ้น 3 แนวทางอุ้มประกันภัยข้าว-จ่อเจรจาบ.ประกัน

จากประชาชาติธุรกิจ

ธ.ก.ส. นั่งไม่ติด เสี่ยงกองทุนภัยพิบัติรับประกันภัยข้าวต่อไม่ได้ เร่งหาแนวทางรับประกันภัยข้าว ก่อนฤดูปลูกข้าวนาปีมาถึง เล็ง 3 แนวทาง ระบุลำดับแรกต้องใช้กลไกเอกชนก่อน จ่อเจรจาบริษัทประกันที่สหกรณ์ถือหุ้น หากหาไม่ได้ ธ.ก.ส.รับเอง และสุดท้าย ธ.ก.ส.เข้าถือหุ้นบริษัทประกัน

สืบเนื่องจากทางกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติอาจจะไม่เข้ามารับประกันแล้ว หลังมีการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การรับประกันภัยนาข้าว อาจไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกองทุนตามกฎหมายจัดตั้ง ขณะที่ผลดำเนินงานโดยบริษัทประกันภัยเอกชนในปีแรกที่ขาดทุน ก็อาจทำให้หาบริษัทเอกชนเข้ามารับประกันภัยได้ลำบาก

นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธ.ก.ส.กำลังเร่งศึกษาหาวิธีการรับประกันภัยข้าวหลาย ๆ แนวทาง สำหรับการรับประกันภัยในช่วงฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึง เพื่อให้ทันขายกรมธรรม์ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้

โดยในลำดับแรกคง ต้องพยายามหาผู้ที่จะดำเนินการรับประกันภัยให้ได้ก่อน ซึ่งต้องเปิดให้โอกาสผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงก่อน ซึ่งแนวทางหนึ่งคือเจรจากับบริษัทประกันภัยรายหนึ่งที่มีผู้ถือหุ้นเป็นพวก สหกรณ์ให้เข้ามารับงานนี้ โดยจะต้องดูเงื่อนไขว่าเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือ ธ.ก.ส.อาจเข้าไปรับประกันเอง

"กำลังดูว่าถ้า ปีนี้กองทุนทำต่อไม่ได้ จะเอาอย่างไรต่อไป ทาง ธ.ก.ส.เองต้องเตรียมการว่าสุดท้ายถ้าไม่มีใครรับ ธนาคารอาจจะเป็นผู้รับประกันภัยแทน ซึ่งก็ต้องยึดถือตามหลักการเดิมคือรัฐบาลช่วยจ่ายเบี้ยครึ่งหนึ่ง เกษตรกรก็จ่ายตามเกณฑ์เดิม" นายบุญไทยกล่าว

ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ร่วมกับบริษัท สมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย ในการรับประกันภัยข้าวจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝนเป็นตัวชี้วัดอยู่แล้ว เพียงแต่ความคุ้มครองจะมีแค่ภัยแล้ง ขณะที่การประกันภัยที่ทำโดยกองทุนจะครอบคลุม 7 ภัย หากเลือกแนวทางนี้จะต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.พิจารณาว่าจะขยายขอบเขตภัยที่คุ้มครองได้หรือไม่ รวมถึงต้องเจรจากับรัฐบาลถึงการสนับสนุนเงินทุนด้วย หากจะใช้แนวทางนี้

"ต้อง ดูด้วยว่าจะใช้เงินทุนจากไหน ถ้า ธ.ก.ส.จะรับเอง ก็ต้องมีการเปรียบเทียบเบี้ย กับการจ่ายสินไหม เพื่อดูว่าธนาคารสามารถรับผลขาดทุนได้หรือไม่ เพราะคงไม่ได้กำไรแน่นอน เพียงแต่จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการให้สินเชื่อได้ เพราะเมื่อมีความเสียหายก็จะได้ทุนคืนบ้าง รัฐบาลจะจ่ายชดเชยความเสียหายที่น้อยกว่ากรณีไม่มีประกัน แล้วมีการประกาศพื้นที่ประสบภัย ที่ตอนนี้ต้องชดเชยไร่ละเป็นพันบาท" นายบุญไทยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกแนวทางที่กำลังศึกษากันอยู่ คือการให้ ธ.ก.ส.เข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัทประกันภัย ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทลูกของ ธ.ก.ส.และเช่นเดียวกันในกรณีที่ธนาคารต้องทำประกันชีวิตให้แก่เกษตรกรลูกค้า ซึ่งต้องจ่ายเบี้ยประกันต่อปีเป็นหลักพันล้านบาท ก็กำลังพิจารณาถึงแนวทางเข้าไปถือหุ้นนี้ด้วยเช่นกัน

"ภายในเดือน พ.ค.นี้คงศึกษาแนวทางทั้งหมดเสร็จ และน่าจะเสนอบอร์ดเดือนหน้าได้ เพราะหากเริ่มช้าจะมีปัญหาเหมือนทุกปี คือจะขายประกันได้น้อย จึงต้องพยายามให้ทันฤดูเพาะปลูกข้าวนาปี ประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้" นายบุญไทยกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ได้ระบุว่า นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้มอบนโยบายให้ธนาคารศึกษารูปแบบของประกันภัยพืชผลจากต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยมี 3 โมเดลด้วยกัน ดังนี้

1.ตั้ง เป็นกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเกษตร และบังคับให้เกษตรกรทุกรายต้องซื้อประกัน โดยมีสหกรณ์การเกษตรเป็นช่องทางจำหน่าย แบบเดียวกับประเทศญี่ปุ่น 2.ตั้งเป็นบรรษัทประกันภัยพืชผลแห่งชาติ โดยให้สถาบันการเงินเป็นช่องทางจำหน่าย แบบเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา และ 3.การใช้กลไกเอกชนดำเนินการในเชิงพาณิชย์เหมือนทั่วไป แบบในยุโรป ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอผลศึกษาให้บอร์ดพิจารณาได้ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ธ.ก.ส. เฟ้น แนวทางอุ้ม ประกันภัยข้าว เจรจา บ.ประกัน

view