สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จุดประกายคนไทยใช้จักรยาน

จาก โพสต์ทูเดย์

จุดประกายคนไทยใช้จักรยาน ผ่านชุมชนเล็กๆหน้าวัดโคนอน

การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิต ประจำวัน ถือเป็นหนึ่งในมติที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เป็นวาระที่เสนอโดยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และมีภาคีเครือข่ายกว่า 2,000 คนร่วมกันขับเคลื่อน "สานพลัง" ให้หน่วยงานภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญ นำไปสู่การออกแบบเชิงนโยบายสร้างสุขภาวะของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
              
แม้ การประชุมสมัชชาจะผ่านไปกว่า 3 เดือนแล้ว แต่ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาร่วมกันขบคิดเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนมติดังกล่าว โดยพบว่าหลายแห่งมีแนวทางทำงานที่สอดคล้องกัน และต่างก็เห็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้ประชาชน หันมาออกกำลังกายด้วยการเดินและใช้จักรยานอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน
             
โดย เป้าหมายสำคัญของการเดินและการใช้จักรยานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติก็คือ ต้องการลดปัญหาด้านสุขภาพของคนไทยในปัจจุบัน อยู่ในภาวะ สุ่มเสี่ยง เผชิญกับหลายโรครุมเร้า อาทิ โรคหัวใจ , เบาหวาน , โรคอ้วน และโรคมะเร็งต่างๆอีกสารพัด จากสภาพเศรษฐกิจที่เร่งรีบทำให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในการ เดินทาง แม้จะเป็นระยะทางใกล้ๆไม่กี่กิโลเมตร เมื่อไม่มีกิจกรรมทางร่างกายอย่างเพียงพอ จึงทำให้มีโอกาสเกิดโรคร้ายตามมา แถมสร้างมลภาวะทิ้งไว้ให้เพื่อนๆในสังคมและชุมชนอีกด้วย
             
หนึ่ง ในตัวอย่างที่เห็นชัดเจนของความสำเร็จในการส่งเสริมให้สังคมไทย หันมาใช้จักรยานอย่างเป็นรูปธรรม คือชุมชนเล็กๆที่ชื่อว่า "ชุมชนหน้าวัดโคนอน" ใกล้กับถนนเทอดไท ย่านภาษีเจริญซึ่งทางชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้เข้าไปสนับสนุน แลกเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ และสร้างความร่วมือจากชาวชุมชนตั้งแต่เมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนในที่สุด ณ วันนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างมีจักรยานของตัวเองใช้เกือบทุกหลังคาเรือน ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "กลุ่มออมทรัพย์เพื่อจักรยานชุมชน" โดยเก็บเงินสมาชิกแค่วันละ ๑๐ บาทก็สามารถเป็นเจ้าของพานะสองล้อในราคา 300 บาทได้
             
นวัชรศิษฐ สุภาการ ประธานชุมชนหน้าวัดโคนอน กล่าวว่า ในช่วงปลายปี 2555 ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมกิจกรรมในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ที่ไบเทค บางนา กับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่ากระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ได้ ประโยชน์มาก และสามารถนำความรู้กลับมาบอกเล่าให้ชาวชุมชนหน้าวัดโคนอนทราบถึงประโยชน์ของ การเดินและการใช้จักรยาน พร้อมกันนั้นก็มีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปสู่ชุมชนรอบข้างอีกด้วย
            
จุด เริ่มต้นของการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อจักรยานชุมชน มีมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ ที่ทางชมรมฯได้มาส่งเสริมชาวบ้านให้มีโอกาสร่วมขี่จักรยานประมาณ  10-20 คันในช่วงแรก เนื่องจากขณะนั้นทางชมรมฯต้องการรณรงค์ให้ชุมชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พวกเราในฐานะแกนนำชุมชนก็เห็นความเป็นไปได้ และอยากให้เป็นชุมชนต้นแบบที่เขตภาษีเจริญด้วย จึงเห็นควรว่าน่าจะสนับสนุน แต่ขณะนั้นก็พบว่ามีชาวบ้านถึงร้อยละ ๒๐ ที่มีจักรยานของตัวเองแต่ใช้ไม่ได้ เสียบ้าง พังบ้าง พวกเราก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรดี ทางชมรมฯจึงจัดหาทุนและจัดซ่อมจักรยานให้จำนวน ๓๐ คัน
         
นวัชร ศิษฐ เล่าว่า ต่อมาจึงคิดว่าน่าจะมีกิจกรรมให้ชาวบ้านมาร่วมกันขี่จักรยานทุกวัน เพราะแถวนี้ก็เป็นตลาดสด ชาวบ้านต้องตื่นแต่เช้าเอาของมาขาย บางคนออกมาซื้อกับข้าว หรือส่งลูกหลานไปโรงเรียน จึงติดประกาศชักชวนให้ทุกคนร่วมกันขี่จักรยานทั้งในชีวิตประจำวันและเพื่อ การเรียนรู้ เริ่มจากไปใกล้ๆก่อนจะขยายเส้นทางออกไป แต่ทุกครั้งเราก็จะติดต่ออปพร. และติดต่อรถพยาบาล เพื่อให้ชาวบ้านที่มาร่วมรู้สึกความปลอดภัย ปรากฎว่าได้รับความสนใจมาก รวมๆแล้วไปกันนับ  100 คัน
           
จากนั้นก็ต่อยอดโครงการ รณรงค์ให้เยาวชนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น เพราะปกติแม่บ้านในชุมชนก็จะมีอาชีพเย็บผ้า ส่วนเด็กๆถ้าว่างก็ไปเล่นเกมส์ ซึ่งเป็นห่วงเรื่องของปัญหาการติดยาเสพติดด้วย เราก็ปรับพฤติกรรมให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน แต่จะให้บังคับเด็กทุกคนต้องซื้อจักรยานก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่เกินไป เพราะต้องใช้เงิน 1,000-2,000 บาท จึงคิดจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อซื้อจักรยานเก็บเงินวันละ 10 บาท เด็กๆส่วนใหญ่ที่มาร่วมจะอายุประมาณ 6-12 ปี ปกติจะได้เงินจากพ่อแม่วันละ 20 บาท ก็จะเอามาเก็บไว้กับเราครึ่งหนึ่งไม่นานเขาก็จะมีจักรยานเป็นของตัวเอง
              
เมื่อ ปีที่ผ่านมามีสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ประมาณ 60 คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เก็บเงิน 5 วัน ก็จะได้เงินรวม 300 บาท ซึ่งจะสามารถซื้อจักรยานได้ 1 คัน เวลารวมเงินได้ครบก็จะมีการจับสลากลุ้นรางวัลกัน จับได้ชื่อใครคนนั้นก็จะได้เงินที่สะสมไว้ไปซื้อจักรยานจนครบทุกคน วงเงิน 3,000 บาทนี้ก็ซื้อได้ประมาณจักรยานญี่ปุ่นมือสองหรือจะซื้อแบบไหน สไตล์ไหน ก็แล้วแต่ความชอบ พวกเราไม่ซีเรียส แต่เงินที่ได้รับนี้จะต้องซื้อจักรยานเท่านั้น เท่ากับว่าในทุกๆ 1 เดือน เด็กที่มาร่วมก็จะได้จักรยานประมาณ 6 คัน แค่นี้เด็กๆก็แฮปปี้มาก เพราะพวกเขาไม่ต้องรอพ่อแม่ซื้อให้อย่างเดียว
             
"พอฝึก เด็กๆออมเงินไปได้ซัก 2-3 เดือน ก็เริ่มมีจักรยานในชุมชนมากขึ้น ควบคู่กับการที่เราจัดทริป จัดกิจกรรมขี่จักรยานไปในสถานที่ต่างๆ พอเด็กขี่จักรยานกลับมาก็จะเล่าต่อว่าได้ความรู้ด้วย สนุกด้วย ทุกคนก็อยากเข้าร่วม พ่อแม่มีเงินก็ซื้อจักรยานเพิ่มให้เลย คนนอกชุมชนก็ขอเข้าร่วม ผมก็บอกว่าที่นี่เปิดรับหมด จากนั้นเราก็เริ่มรณรงค์มากขึ้นเพราะคิดว่าเมื่อไหร่ก็ตาม ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสขยายสถานีเสร็จ ก็สามารถขี่จักรยานไปขึ้นรถไฟฟ้าได้"
              
ปัจจุบัน  เขตภาษีเจริญมีชาวบ้านที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนคล้ายๆกับชุมชนหน้าวัดโคนอน จำนวน 54 ชุมชน ตั้งแต่ย่านบางไผ่ถึงบางแค ซึ่ง นวัชรศิษฐ บอกว่า อยากเห็นชุมชนจักรยานหน้าวัดโคนอนเป็นต้นแบบของทุกๆชุมชนในเขตภาษีเจริญ ที่ชาวบ้านปั่นจักรยานไปต่อรถไฟฟ้า ซึ่งเราก็ไปติดต่อไปทางเขตภาษีเจริญว่า อยากให้ช่วยพิจารณาเรื่องของทางเชื่อมต่อ ขณะที่ทางรถไฟฟ้าก็อนุญาตให้นำจักรยานขึ้นได้ในตู้ขบวนสุดท้าย แต่เราก็อยากให้มีจุดจอดจักรยานด้วย นอกจากนั้น ยังประสานงานขอให้ทางเขตภาษีเจริญทำที่ล็อคล้อให้ และถ้าเส้นทางบนถนนเทอดไทยมีอุปสรรค ตรงไหน เช่น ฝาท่อเปิด หรือถนนขรุขระ ไม่มีป้ายบอกทางก็อยากให้ช่วยแก้ไขด้วย 
               
ในปี2556 ทางกลุ่มจักรยานหน้าวัดโคนอน ยังมีการพาเด็กไปออกทริปบ่อยๆถึงเดือนละหนึ่งครั้ง ซึ่งหากมีงบประมาณมากพอ แกนนำชุมชนก็สามารถเพิ่มทริปได้ถึงเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งในแต่ละทริปจะมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างดี ทำให้พ่อแม่ของเด็กไม่ต้องเป็นห่วง เพราะทางชมรมจักรยานฯจะมาร่วมดูแลเส้นทางให้ตลอด เช่นทริปที่ขี่ไปเที่ยวในจังหวัดสมุทรปราการ  ระยะทางไกลถึง 30 กิโลเมตร มีการวางแผนว่าทุกๆ 2 กิโลเมตร ต้องมีการหยุดพักเพื่อรอขบวนให้ไปได้พร้อมๆกัน ผ่านไปในเส้นทางไหนแล้วเจอวัด พวกเราก็จะไปช่วยเก็บขยะจากนั้นเดินทางต่อ ถือว่าได้เที่ยวด้วย ได้ทำประโยชน์ด้วย บางครั้งก็ไปดูงานด้านปลูกผักปลอดสารพิษ ทำน้ำยาล้างจานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นการรียูสของที่ไม่ได้ใช้แล้วให้เกิดประโยชน์ บางทริปเราพาเด็กๆไปว่ายน้ำ หรืออย่างล่าสุดไปร่วมกับเขตภาษีเจริญ ออกรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากทม.
              
"ตอน นี้ผมคิดว่ามีคนในชุมชนมากกว่าร้อยละ 80 หรือประมาณ 125 หลังคาเรือนที่มีจักรยานใช้แล้ว เพราะเกิดจากกองทุนออมทรัพย์ที่พวกเราได้ช่วยกันสร้างและรณรงค์ไว้ ชาวบ้านที่เสร็จจากงานก็จะมาเข้าร่วมกิจกรรม ตอนนี้บ้านใครไม่มีจักรยานถือว่าเชยแล้ว พ่อแม่รู้ว่าเด็กได้ประโยชน์เพราะมีกิจกรรมนอกบ้านที่ได้ความรู้ด้วย ได้ออกกำลังกายด้วย ทุกคนก็ส่งเสริม ใครไม่มีเงินซื้อจักรยาน ก็จะร่วมกลุ่มออมทรัพย์กับเรา"
                      
สำหรับการ ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อซื้อจักรยานในเฟสที่ 2 นั้น นวัชรศิษฐ บอกว่า ตอนนี้ก็ได้รับเสียงเรียกร้องมาแล้วว่าคนในชุมชนอยากมีจักรยานเพิ่มอีก เราก็กำลังพิจารณาอยู่ ถ้าเห็นว่าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันก็สามารถทำได้ ที่ผ่านมายังไม่มีใครเบี้ยวเงิน ทุกบาททุกสตางค์จ่ายกันครบหมด เด็กๆก็ได้รับความสนุกสนาน ทุกๆ 5 วันก็จะมารวมตัวกันครั้งหนึ่ง เพื่อเอาสตางค์มาให้แล้วก็จะมีการจับสลากไปด้วย ถือเป็นการฝึกให้เด็กๆรู้จักออมเงินและทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ นอกจากนั้นเรากำลังทำแปลงผักปลอดสารพิษริมทางเดินในชุมชน ถ้าได้ผลดีเกินคาด ก็จะนำไปขายในตลาดเด็กๆจะได้รู้จักการหารายได้ด้วย           
               
อย่าง ไรก็ตาม แม้รูปแบบที่ชุมชนหน้าวัดโคนอนร่วมกันสร้างนี้ จะได้รับเสียงปรบมือด้วยความชื่นชม แต่เมื่อถามแกนนำชุมชนอย่าง นวัชรศิษฐ กลับได้คับคำตอบว่า จริงๆยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ 100% เพราะยังไม่บรรลุอีกหนึ่งเป้าหมาย คือต้องการลดการใช้มอเตอร์ไซค์ในชุมชน ที่ยังมีการบิดเครื่องยนต์เข้าออกในถนนแคบๆของชุมชนแห่งนี้อยู่ ขณะที่ชาวบ้านและเด็กๆเวลาไปซื้อของที่ตลาด ก็จะหันมาใช้จักรยานหรือเดินไปไหนมาไหนใกล้ๆ
              
นอกจาก นั้น ยังต้องการเห็นการต่อขยายเส้นทางจักรยานจากชุมชนหน้าวัดโคนอนไปจนถึงถนนเพชร เกษม ซึ่งเป็นจุดที่มีรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน เนื่องจากอุปสรรคตอนนี้คือเส้นทางขี่จักรยานบนถนนเทอดไทยนั้น ยังไม่มีสัญลักษณ์ที่ปลอดภัยและยังไม่มีการจัดหาที่ล็อคจักรยานให้แก่ชาว บ้าน ซึ่งคงต้องประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
             
นี่ คืออีกหนึ่งรูปธรรมเล็กๆที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อ ส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งชาวชุมชนหน้าวัดโคนอนร่วมมือกันจัดทำขึ้นจนประสบความสำเร็จ ถือเป็นตัวอย่างให้ภาคีเครือข่ายอีกหลายๆชุมชนทั่วประเทศ สามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนได้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้สานต่อการสนับสนุน จะช่วยให้ทิศทางการเดินหน้าตามแนวทางของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีพลัง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : จุดประกาย คนไทย ใช้จักรยาน

view