สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สละเรือ...3.5 แสนล้าน

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

คอลัมน์ สามัญสำนึก

ไม่ว่าเสียงคัดค้าน หรือทักท้วงจะดังกระหึ่มแค่ไหน แต่ การประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก็ยังเดินหน้าต่อไป โดยที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และรัฐบาลไม่ได้ฟังเลย

ดัง นั้นเมื่อ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา การยื่นประมูลจึงเกิดขึ้น โดยมีเค-วอเตอร์ ของเกาหลีใต้, กิจการร่วมค้า ไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า, กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที และกลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ที่ร่วมชิงดำ ส่วนกิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ ขอถอนตัวออกตามกลุ่มญี่ปุ่นที่ถอนตัวไปก่อนหน้า เนื่องจากเกรงว่าการดำเนินโครงการมีความเสี่ยงจะล้มเหลว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำระดับประเทศต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทในแง่มุมต่าง ๆ

ไล่ เรียงตั้งแต่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกูรูตัวจริงเรื่องน้ำ

ก็ส่งเสียงเตือนว่าแผน บริหารจัดการน้ำที่ กบอ.ประกาศไม่ใช่แผนที่ถูกต้องตามหลัก เป็นเพียงแผนที่มาจากการคิดคำนึงในที่ประชุม 2-3 ครั้ง โดยใส่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เข้าไป ถามว่าแนวฟลัดเวย์จะลากจากไหนไปถึงไหน ก็ยังไม่มีใครตอบได้ แล้วจะประมูลหาบริษัทมาออกแบบก่อสร้างได้อย่างไร

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ตอกย้ำว่า รัฐบาลยังไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดในการจัดการน้ำ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือใช้เวลาศึกษาหาคำตอบการจัดการน้ำที่เหมาะสม ที่สุดกับประเทศไทยก่อน ควบคู่กับการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อได้ทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการออกแบบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลยังไม่มีคำตอบ ดังนั้นจะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร รวมถึง นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ก็ระบุว่ากระบวน การที่รวบรัดจะทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเริ่มต้นอย่างไม่ถูกต้อง ข้ามกระบวนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ จนเกรงว่าอนาคตอาจกลายเป็นเมกะโปรเจ็กต์ร้างเหมือนตอม่อโฮปเวลล์

ขณะ ที่ นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการระบายน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ไม่เพียงออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน ทั้งยังได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โดยระบุว่ากระบวนการประมูลมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าข้ออ้างของนายอุเทนก็เป็นเพียงการคาดการณ์จนถึง กรณี นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ที่ได้ยื่นหนังสือลาออกจากคณะกรรมการ กบอ.เมื่อปลาย เม.ย.
ที่ผ่านมา แม้ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด ๆ แต่ก็ยอมรับว่ามีความกังวลเช่นเดียวกับบริษัทญี่ปุ่นที่ตัดสินใจถอนตัว
ขณะที่กระบวนการประมูลเดินหน้าอย่างรวดเร็ว

นาย สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขาธิการ กบอ. คาดว่าจะรู้ผลผู้ชนะด้านเทคนิคในวันที่ 26 พ.ค.นี้ จากนั้นจะมีการเจรจาต่อรองราคา และนำเสนอ ครม. 4 มิ.ย. 2556

เท่ากับว่าคณะกรรมการพิจารณาจะใช้เวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ในการพิจารณาเอกสารมากกว่า 1,000 กล่อง เพื่อ ให้เป็นไปตามกรอบเส้นตายของ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทที่จะสิ้นสุดภายในมิ.ย. 2556 จึงทำให้รัฐบาลเดินหน้าแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่ฟังเสียงทักท้วงใด ๆ

มี เพียง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบอ. ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อคำท้วงติงทั้งหลาย โดยไม่มีคำอธิบายถึงกรณีความเสี่ยงในประเด็นต่าง ๆ

นี่กระมังทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่เคยเข้าไปช่วยงาน ต่างสละเรือถอยออกมาและกลายเป็นมายืนฝั่งตรงข้ามเพิ่มขึ้น ๆ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : สละเรือ 3.5 แสนล้าน

view