สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3 กิจกรรม ทำลายท้องทะเล

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์



เสียงหัวเราะเฮฮาปนผสม ด้วยความตื่นเต้นประทับใจกับท้องทะเลสีคราม ปลาน้อยหลากสีแหวกว่ายในปะการังรูปร่างประหลาด แสนสนุกสนานกับกิจกรรมท่องเที่ยวในวันพักผ่อน แต่ถ้าหากเสียงหัวเราะนั้นเกิดขึ้นมาจาก 3 กิจกรรมสุดฮิตของนักท่องเที่ยวดังต่อไปนี้ อยากให้คุณได้ตระหนักว่า คุณเคยเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายท้องทะเลหรือเปล่า ??
       
       ให้อาหารปลาทำวิถีเปลี่ยน
       
        เหล่าคนอนุรักษ์ถึงกับสะดุ้งโหยง หลังสายการบินหนึ่งทำแคมเปญ ฮือฮา...ปลาที่กระบี่ให้โชค!! แจกตั๋วเครื่องบินฟรีไปกระบี่ ด้วยการโฆษณาให้ทายว่าปลากระบี่จะกินขนมปังชิ้นไหนหมดก่อน จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม เพราะการให้อาหารฝูงปลาน้อยที่ว่ายอวดสีสันอยู่รอบกายนักท่องเที่ยว ถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมที่สุดซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสมดุลทางท้องทะเลก็ว่า ได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการย้ำอยู่บ่อยครั้งเป็นเวลาหลายปี แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีกิจกรรมให้อาหารปลาดังกล่าวอยู่แทบจะทุกเกาะในท้อง ทะเลไทย
       
        ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ เคยมีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นและพบว่าปลาในแนวปะการังมีการเปลี่ยน พฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด เพราะเริ่มมีการรวมกลุ่มกันเป็นฝูง ไม่ยอมหากินตามแนวปะการังเหมือนเดิม แต่จะรอคอยขนมปังและอาหารจากนักท่องเที่ยวแทน ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเล เนื่องจากกลุ่มปลาในแนวปะการัง เช่น ปลาสลิดหิน ปลาสลิดหินบั้งเขียว ปลากล้วยหางเหลือง ปลานกแก้ว ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลจะถูกตัดออกจากห่วงโซ่ออกไป ทำให้เสียสมดุลทางทะเล
       
        พอมีการให้ขนมปัง ปลากลุ่มนี้ก็ละทิ้งการกินอาหารตามธรรมชาติและหันมากินขนมปังจากคนที่มาดำ น้ำตื้นแทน นอกจากนี้จากการได้รับอาหารที่เกินจำเป็นทำให้พฤติกรรมปลาสลิดหินมีความก้าว ร้าวผิดปกติ เพราะมักจะขับไล่ปลาท้องถิ่นชนิดอื่นๆ ออกจากระบบนิเวศ เนื่องจากห่วงอาหาร จนความหลากหลายของปลาในแนวปะการังลดน้อยลง
       
        สาเหตุที่ยังไม่สามารถห้ามนักท่องเที่ยวให้อาหารปลาได้ ส่วนหนึ่งอาจจะโทษเจ้าหน้าที่ว่าไม่ดูแลควบคุม แต่จริงๆ แล้วเวลาอยู่บนเรือ ผู้ประกอบการเองก็ขายขนมปังให้นักท่องเที่ยวหารายได้ไปในตัว ส่วนนักท่องเที่ยวบางส่วนก็เตรียมพร้อมไปเอง ของอย่างนี้ อย่าโทษแต่เจ้าหน้าที่ หากนักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกที่ดี และรู้ถึงผลกระทบที่ตามมา เหตุการณ์เช่นนี้ก็คงหมดไปเสียที ซึ่งอย่าไปกลัวว่าปลาเหล่านั้นจะหิวโซ อดตาย เพราะตามธรรมชาติพวกมันก็สามารถหากินเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ มีแต่มนุษย์ที่ไปทำให้พฤติกรรมของปลาเปลี่ยนไป จนทำให้ระบบนิเวศไม่สมดุล
       
       จับปลาดาวมาถ่ายรูป
       
        การเก็บภาพที่สวยงามน่าประทับใจเวลาไปเยือนแหล่งธรรมชาติคงไม่ได้ผิดกติกาอะไร ถ้าหากคุณไม่ไปรบกวนพวกสัตว์ทั้งหลายอย่าง ปลาดาวหนาม ที่ นักท่องเที่ยวต่างแห่กันหยิบจับพวกมันขึ้นมาเก็บภาพถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกมันลดจำนวนลง และถ้าพวกมันลดจำนวนลง อาหารของปลาดาวหนามอย่างปะการังเขากวางก็จะงอกล้นเป็นดงกว้างอย่างรวดเร็ว จากนั้นปะการังชนิดอื่นก็จะถูกเบียดเบียนซึ่งทำให้แนวปะการังแห่งนั้นมีความ หลากหลายของชนิดปะการังต่ำ
       
        ถึงแม้อาจจะมีบางคนมองว่า ปัญหานี้ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่มันก็ทำให้สมดุลทางท้องทะเลเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย นอกจากนี้แล้ว ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง (ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ยังเคยกล่าวไว้ว่า “การไปเยือน ไปเยี่ยมบ้านคนอื่น คุณก็ควรจะเคารพเจ้าบ้าน ปฏิบัติตนให้เหมาะสม ไม่สร้างความเดือนร้อนให้เขา” และยังเปรียบเปรยพฤติกรรมการหยิบสัตว์จากในน้ำขึ้นมาเอาไว้อย่างน่าคิด
       
        “เหตุการณ์แบบนี้ บางคนอาจจะคิดว่า คงไม่เป็นไร เอาขึ้นมาจากน้ำแป๊บเดียว แล้วก็เอาลงไปวาง มันคงไม่ตาย แต่ผมอยากให้ลองคิดว่า ถ้าเรือนักท่องเที่ยวทุกลำ มัคคุเทศก์ทุกคน ไปถึงก็จับมันขึ้นมาเหนือน้ำ ให้นักท่องเที่ยวจับ บ้างก็ลูบคลำ บ้างก็บีบ เพราะอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร โดนอย่างนี้ทุกวัน สัตว์มันเคยอยู่ในน้ำ เราไปถึงก็เอามันขึ้นมาเหนือน้ำ ลองคิดดูบ้างว่า เวลาเราไปเที่ยวบ้านเพื่อน จับลูกเพื่อนกดน้ำสักพักนึง ไม่ต้องให้ตาย ทุกคนไปก็ทำแบบเดียวกัน เจ้าบ้านจะรู้สึกอย่างไร
       
        ถ้าคุณเป็นนักท่องเที่ยว (Tourist) คุณก็ไปเที่ยวตามสถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น เจ้าของกิจการจะเอาใจคุณทุกอย่าง ให้คุณสะดวกสบายประทับใจที่สุด อยากได้อะไร เขาก็จะหาให้ แต่ถ้าคุณไปในแหล่งธรรมชาติ คุณควรไปในฐานะผู้มาเยือน (Visitor) การไปเยือน ไปเยี่ยมบ้านคนอื่น คุณก็ควรจะเคารพเจ้าบ้าน ปฏิบัติตนให้เหมาะสม ไม่สร้างความเดือนร้อนให้เขา”
       
        ถ้าคุณเคยเป็นหนึ่งคนที่คิดเช่นนั้นว่า “จับมาถ่ายรูปแป๊ปเดียว จะเป็นอะไรไป” ขอให้รู้เลยว่า การจับปลาดาวขึ้นมาเหนือน้ำเป็นเวลานานๆ รวมถึงลูบและบีบจะทำให้เนื้อตัวของพวกมันบอบช้ำและเหี่ยวย้อยจากการถูกแสง แดด อีกส่วนหนึ่งที่คึกคะนองก็จะเล่นแผลงๆ ด้วยการฉีกปลาดาวออกเป็นชิ้นๆ เพราะคิดว่ามันจะงอกใหม่ได้ ซึ่งความเป็นจริงพวกมันไม่ได้สามารถงอกหรือแตกตัวใหม่ได้ทุกสายพันธุ์ และถึงแม้จะมีปลาดาวบางส่วนงอกกลับมาได้ก็จริง แต่หากบอบช้ำจากน้ำมือมนุษย์ขนาดนี้ พวกมันก็คงตายลงก่อน
       
       Seawalker ทำลายปะการัง
       
        ตั้งแต่ครั้งคลื่นสึนามิถาโถมเข้าใส่ ธรรมชาติใต้ท้องทะเล แนวปะการังน้อยใหญ่ ยังไม่ฟื้นฟูดี มนุษย์ตัวแสบก็กลับมาช่วยซ้ำทำลาย กลายเป็นปัญหาทางระบบนิเวศที่เกินจะเยียวยาแล้วในวันนี้ หากยังไม่กระตุ้นเตือน อนาคตอาจไม่มีธรรมชาติให้สวยงามเก็บไว้ให้ลูกหลานดู กิจกรรม Seawalker หรือ กิจกรรมเดินใต้ทะเล ก็เป็นกิจกรรมที่ทำลายธรรมชาติใต้ท้องทะเลได้อย่างหนักหนาสาหัสกว่า 2 กิจกรรมที่ผ่านมา
       
        หลายคนอาจฟังแล้วแปลกใจว่ามีกิจกรรมนี้ในท้องทะเลไทยด้วยจริงหรือ คำตอบคือ มี และเป็นที่น่าสงสัยว่าใครเป็นผู้จัดตั้งกิจกรรมนี้ พื้นที่ใต้ทะเลมีคนเป็นเจ้าของด้วยหรือ?? ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ได้ให้ข้อมูลว่า
       
        “วันศุกร์ 22 มี.ค.56 ตรวจพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ที่ 5 ในบริเวณเกาะไข่ใน จ.พังงา ซึ่งได้รับการร้องเรียนว่ามีการทำลายแนวปะการัง ที่ 07º 54.390 N 98º 33.022 E ปรากฏว่าเป็นเรือที่ใช้ประกอบกิจกรรมเดินใต้ทะเล และมีความผิดปกติของแนวปะการังบริเวณท้ายเรือ จึงลงดำน้ำสำรวจ พบการทำลายปะการังมีการปรับพื้นที่ให้โล่งเรียบโดยการนำปะการังออกไป รวมทั้งตัดทำลายซากปะการังที่เป็นพื้นแข็ง และติดตั้งราวเหล็กสูงจากพื้นประมาณ 1.3 เมตร ยาว 6 เมตร บนพื้นที่ที่มีการปรับมีการนำเศษปะการังที่เกิดจากการปรับรื้อพื้นที่มากอง ทับไว้คิดเป็นพื้นที่กว้างด้านละประมาณ 1-2 เมตร
       
        โดยเฉพาะบริเวณส่วนที่อยู่ทางด้านลึกใกล้โซนลาดชันของแนวปะการังพื้นที่ที่ ได้รับผลกระทบประมาณ 300 ตารางเมตร ถามคนบนเรือปรากฏว่าจ้างชาวเลจากภูเก็ตมาปรับพื้นที่ ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน แต่ถ้าทช.จะไปฟื้นฟู น่าจะใช้เวลามากกว่า 5 ปี เนื่องจากโครงสร้างที่เป็นพื้นแข็งถูกทำลายไปแล้ว และคงไม่สามารถทำให้สภาพบริเวณนี้กลับมาเหมือนธรรมชาติที่เป็นอยู่เดิมได้”
       
        เห็นได้ว่ากว่าจะเกิดกิจกรรม Seawalker ขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศใต้ทะเล ต้องทำลายแนวปะการังไปมากขนาดไหน ต้องปรับพื้นที่ ต้องตอกราวเดินใต้ทะเล แล้วคุณยังอยากสนับสนุนกิจกรรมเช่นนี้อีกหรือ??
       
        บางครั้งการไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ มนุษย์สักแต่ว่าตักตวงความสุขใส่ตัวเอง ทำอะไรตามใจชอบ ละเลยเรื่องของความสมดุลในธรรมชาติ ซึ่งเมื่อมีคนหนึ่งเริ่มทำ คนอีกหลายสิบหลายคนก็ทำตาม จนถูกระบุลงไปเป็นหนึ่งในกิจกรรมสุดอัศจรรย์ของแพกเกจทัวร์ท่องเที่ยวเพื่อ ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว อันเป็นการทำลายระบบนิเวศให้เสียสมดุลในที่สุด
       
        หลายคนอาจเคยพลาดทำกิจกรรมหรือทำพฤติกรรมเหล่านี้ลงไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เมื่อรู้แล้วว่ากิจกรรมสุดหรรษา กลับทำลายธรรมชาติทางทะเลได้ขนาดนี้ ครั้งหน้าขอให้ท่องเที่ยวด้วยหัวใจอนุรักษ์ จะได้มีภาพของธรรมชาติใต้น้ำแสนสวยงามให้เราได้ชมไปอีกนานๆ
       
       ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
       ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ คนอนุรักษ์ และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : กิจกรรม ทำลายท้องทะเล

view