จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เพราะ งานวิจัยของต่่างชาติชี้ว่าผักผลไม้มีสารออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง แต่มักเป็นผลไม้เมืองนอก ทีมอาจารย์ มอ. จึงคว้านหาสารออกฤทธิ์จากผักพื้นบ้านที่หาได้ทั่วไป และพบ "ชะมวง" มีสารออกฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งได้ และเป็นสารชนิดใหม่ที่โลกยังไม่รู้จัก "ชะมวงโอน" คือสารออกฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งที่ รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยยูปการนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.อภิรักษ์ สกุลปักษ์ ลูกศิษย์ในโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมกันศึกษาและสกัดจาก "ชะมวง" ผักพื้นบ้านของไทย จุดประสงค์ในการศึกษาดังกล่าว รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ กล่าวว่าเนื่องจากมีงานวิจัยว่าผักผลไม้มีสารยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ แต่สารเหล่านั้นมักเป็นพืชผักของต่งประเทศ จึงอยากศึกษาในผักพืชบ้านที่หาได้ภายในประเทศ ซึ่งชะมวงผักพื้นเมืองที่พบได้ในภาคใต้และภาคตะวันออกของไทยจึงเป็นตัวเลือก ที่นำมาศึกษา ผลจากการศึกษาพบว่าสารที่ที่สกัดได้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัว ลีชมาเนีย เมเจอร์ (Leishmania major) ซึ่งเป็นเชื้อโรโตซัวที่ใช้ทดสอบเบื้องต้นว่าสารที่นำมาศึกษานั้นมีความเป็น พิษต่อเซลล์หรือไม่ และสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื่อโปรโตซัวดังกล่าว มักมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งด้วย สารที่สกัดได้ดังกล่าวเป็นสารชนิดใหม่ของโลกที่ยังไม่มีใครรู้จัก ทางทีมวิจัยจึงตั้งชื่อว่า "ชะมวงโอน" (chamuangone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโพลีไอโซพรีนีเลตเตดเบนโซฟีโนน (polyisoprenylated benzophenone) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งโปรโตซัวข้างต้น ทีมวิจัยได้ทดสอบสารออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งปอด 2 ชนิดคือ เอ459 (A459) และเอสซีบี3 (SCB3) และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวอีก 2 ชนิด คือ เค562(K562) และ เค 562/เอดีเอ็ม (K562/ADM) แล้วพบว่าสารชะมวงโอนยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 4 ชนิดได้ดี นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ศึกษาสารออกฤทธิ์ในใบหมุยซึ่งเป็นผักพื้น เมืองอีกชนิด และพบว่ามีสารยับยั้งเซลล์มะเร็งเช่นเดียวกัน โดยพบสารใหม่ของโลกคือ มินูตินเอ (Minutin A) และ มินูตินบี (Minutin B) ซึ่งสารทั้งสองชนิดเป็นสารอนุพันธ์ของสารคูมารินที่มีฤทธิ์ยับยั้งโปรโตซัว ลีชมาเนีย เมเจอร์ได้ดี และยังยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์มะเร็งปอดได้เช่นเดียวกับชะมวงโอน อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ยังในขั้นต้นว่าสารสกัดจากผักพื้นบ้านของไทยนั้นยับยั้งเซลล์ มะเร็งได้หรือไม่ แต่ยังไม่ไปถึงขั้นการรักษา ดังนั้น รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิเตือนว่า ประชาชนที่รับทราบข่าวนี้ไม่ควรตื่นตูม และจัดหาสารสกัดมากินเอง เนื่องจากอาจได้รับสารเกินขนาด หรือเอาใบชะมวงมาบริโภคโดยไม่รู้ปริมาณของสารอย่างแน่นอน ทั้งนี้ จากการทดลองทีมวิจัยยังพบว่าชะมวงโอนละลายและถูกสกัดออกมาได้ดีในเฮกเซน ซึ่งเป็นสารละลายมีขั้ว และอาหารไทยก็มีเมนู "หมูชะมวง" ซึ่งอาจเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ทำให้เราได้รับสารต้านมะเร็งจากการกินอาหาร เพราะไขมันหมูเป็นสารมีขั้วที่ช่วยสกัดสารชะมวงโอนออกมาได้ แต่ไม่แนะนำให้บริโภคเกินพอดี เพราะอาจได้คอเลสเตอรลเกินจำเป็น "สิ่งที่อยากแนะนำตอนนี้คือการกินเป็นอาหารปกติ ไม่กินมากเกินไป เพราะอาจเป็นผลเสียมากกว่า ปัจจุบันก็มีหลายกลุ่มวิจัยหาสารออกฤทธิ์ในผักผลไม้ แต่แนะนำให้บริโภคในรูปอาหาร เพราะจะได้ปริมาณที่ไม่สร้างอันตรายต่อเซลล์ปกติ แต่อาจจะมีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งได้ และก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่า กินอาหารที่มีสารยับยั้งมะเร็ง ช่วยป้องกันมะเร็งได้" รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิให้ความเห็น |
||||
|
||||
|
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต