สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เข็นจำนำข้าวนาปรัง ธกส.ขอแยกบัญชี-ชดเชย รับมือเสี่ยงขาดทุนหนัก

จากประชาชาติธุรกิจ

คณะ รัฐมนตรีมีมติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) อนุมัติกรอบวงเงินและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าว เปลือกปี 2555/56 ครั้งที่ 2 (ข้าวนาปรัง) มีเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 15 กันยายน 2556 ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน

วงเงินรับจำนำข้าวเปลือกรอบที่ 2 จะอยู่ในวงเงิน 105,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 410,000 ล้านบาทที่ ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 โดยเงินจำนวนนี้จะมาจาก 2 แหล่งด้วยกันคือ วงเงินที่ ครม.มีมติสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 (ครั้งที่ 1 ข้าวนาปี) ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท กับเงินที่ได้จากการระบายข้าวของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ปี 2554/55 ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์ไว้ว่า จะสามารถขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจนถึงเดือนกันยายน 2556 ได้เงินประมาณ 73,000 ล้านบาท

รวม 2 แหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการรับจำนำข้าวนาปรังครั้งที่ 2 เป็นวงเงินรวมกันทั้งสิ้น 123,000 ล้านบาท ที่ ครม.เชื่อว่า พอเพียงกับประมาณการผลผลิตข้าวนาปรังของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 9.167 ล้านตัน หรือผลผลิตข้าวนาปรังลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง

สำหรับการรับจำนำ ข้าวนาปรังปี 2556 รอบนี้ มีเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ 1) ปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรแต่ละราย กำหนดให้เกษตรกรจำนำข้าวเปลือกได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง/แปลง/ราย โดยคำนวณตามพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัด กรณีที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำสูงกว่าผลผลิตรวมที่ระบุไว้ในหนังสือ รับรอง ให้ปรับเพิ่มได้อีกร้อยละ 20 แต่เกษตรกรจะต้องรับรองว่า ข้าวเปลือกทั้งหมดเป็นของเกษตรกรเอง รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกเกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง ด้วยการสุ่มตรวจของ คณะทำงานประจำจังหวัดด้วย

2) พันธุ์ข้าวที่จะรับจำนำ ไม่ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่ปลูกจากพันธุ์ข้าวที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ซึ่งถือเป็นข้าวคุณภาพต่ำเข้าร่วมโครงการ โดย กรมการข้าว ได้ประกาศพันธุ์ข้าวที่ห้ามจำนำไว้แล้วจำนวน 18 สายพันธุ์ แต่ประเด็นนี้ยังเป็นที่สงสัยกันว่า ในทางปฏิบัติจะมีชาวนารายใดยอมรับว่า ข้าวที่นำมาจำนำกับรัฐบาลนั้น เป็นข้าว 18 สายพันธุ์ต้องห้าม

3) กำหนดให้เกษตรกรเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำ "ยกเลิก" กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์เป็นผู้รวบรวมข้าวจากเกษตรกรแล้วนำมาจำนำแทน และ 4) โรงสี/ท่าข้าวที่ตรวจสอบพบว่า มีการกระทำผิดทุจริตสวมสิทธิ์เกษตรกร แม้โรงสี/ท่าข้าวนั้น จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อ ก็จะไม่ให้ร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นระยะเวลา 3-5 ปี

มี ข้อน่าสังเกตว่า วงเงินที่ใช้รับจำนำข้าวครั้งที่ 2 จำนวน 105,000 ล้านบาทนั้น มีตัววงเงินที่จะใช้ได้จริงเพียง 50,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 73,000 ล้านบาทนั้น ยังคงอยู่ในสถาวะ "เลื่อนลอย" เนื่องจากต้องรอให้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่รับจำนำเข้ามา แล้วออกไปเสียก่อน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะขายออกไปเมื่อใด ราคาเท่าไหร่ และจะได้รับเงินมาให้ ธ.ก.ส.เดือนละเท่าใด เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ไม่มีแผนการระบายข้าวที่แน่นอน แถมเมื่อถูกจี้ลงไปในรายละเอียดก็ตอบไม่ได้ อ้างเหตุการขายข้าวแบบ G to G เป็น "ความลับ" บอกใครไม่ได้และดำเนินการอย่างไม่โปร่งใสอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

สะท้อน ความกังวลจากหน่วยงานรัฐบาลด้วยกันเอง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งต้องสรุปปริมาณสต๊อกข้าวคงเหลือและรายงานให้ ครม.ทราบ หรือเท่ากับบอกว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดในการขายข้าวได้ หลังจากที่เสนอแผนการระบายครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2555

เมื่อ การระบายข้าวปราศจากแผนและไม่มีใครนอก กระทรวงพาณิชย์จะควบคุมได้ ในขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องนำเงินมาจ่ายให้กับเกษตรกรตามใบประทวนทุกวัน การขาดเงินหมุนเวียนจึงเป็นไปได้สูงจึงมีข้อเสนอให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินกู้ออกไปก่อน ระหว่างที่รอเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ โดยให้ตกลงกับ ธ.ก.ส.เป็นคราว ๆ ไป แต่เนื่องจาก ธ.ก.ส.จำเป็นต้องบริหารสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงให้คิดอัตราชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส.ในอัตรา FDR+1 โดยปรับอัตราดอกเบี้ย FDR ทุก 6 เดือน จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย FDR+1 เท่ากับ 2.9875% ต่อปี และให้ค่าบริหารโครงการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับ ธ.ก.ส.ในอัตรา 2.25% ต่อปีของเงินต้นคงเป็นหนี้ระยะเวลา 5 เดือน

ที่ สำคัญก็คือ การดำเนินการข้างต้น ธ.ก.ส.จะแยกโครงการออกจากการดำเนินงานตามปกติ ด้วยการจัดเป็น "บัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account หรือ PSA)" และให้บันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ เพื่อขอชดเชยความสูญเสียที่เกิดจากโครงการรับจำนำในอนาคต รวมทั้ง ธ.ก.ส.ยังต้องการให้ผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจากเงินทุนที่ได้ รับจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ

ไม่นับรวมเป็น สินทรัพย์เสี่ยง ที่ใช้ในการคำนวณสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio หรือ CAR) ด้วย

การ ดำเนินการแยกบัญชีและขอชดเชยงบประมาณจากภาระการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นจาก โครงการรับจำนำ ทั้งในส่วนของเงินทุน ธ.ก.ส.เอง และส่วนของเงินกู้จากสถาบันการเงิน ถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส. และเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนที่ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล กำลังจะประสบภาวะการขาดทุนอย่างมโหฬารเมื่อปิดงบบัญชีโครงการ จากเหตุการณ์ไม่ปกติในการตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกที่สูงเกินจริง การรับจำนำข้าวทุกเมล็ด และการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : จำนำข้าวนาปรัง ธกส. ขอแยกบัญชี ชดเชย รับมือ เสี่ยงขาดทุนหนัก

view