สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขปริศนาข้าวถุง อคส. เงินหล่นหมื่นล้านเข้ากระเป๋าใคร

จากประชาชาติธุรกิจ

กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมา หลังจากที่คณะอนุกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ เกิดสงสัยขึ้นมาถึงการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 โดยเฉพาะข้าวนาปรังปี 2555 ที่กระทรวงพาณิชย์ในนามขององค์การคลังสินค้า (อคส.) จ้างภาคเอกชนเข้ามาปรับปรุงคุณภาพข้าวเพื่อผลิตเป็น "ข้าวถุง" ขนาด 5 กก. จำหน่ายผ่านเครือข่ายของกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นร้านธงฟ้า ร้านถูกใจ และร้านค้าที่สนใจเป็นการทั่วไปในราคาถุงละ 70 บาท หรือขายต่ำกว่าราคาข้าวถุงทั่วไปในท้องตลาด



โดยโครงการนี้หากมีการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ด้านหนึ่งนับเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง อีกด้านหนึ่งยังเป็นโครงการประชานิยมที่ใช้หาเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยได้ด้วย

แต่วิธีการดำเนินโครงการของกระทรวงพาณิชย์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของการหาผู้รับปรับปรุงคุณภาพข้าวในสต๊อกรัฐบาล เพื่อผลิตเป็นข้าวถุงที่เกิดขึ้น

ในช่วงปลายปี 2555 ปรากฏว่ามีผู้ชนะการประมูลเพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าวจำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัทนครหลวงค้าข้าว, บริษัทเอเซียโกลเด้นไรซ์, บริษัทพงษ์ลาภ, บริษัทเจียเม้ง, บริษัทสิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น และโรงสีข้าวโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ 3 รายแรกเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ติด 1 ใน 5 ของประเทศ อีกรายเป็นผู้ผลิตจำหน่ายข้าวถุง ส่วนที่เหลือมีคอนเน็กชั่นที่แนบแน่นกับผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาล

ทั้ง 6 รายถูกกำหนดให้ปรับปรุงคุณภาพข้าวขาว 5% กับข้าวเหนียว 10% บางส่วนเป็นข้าวบรรจุถุง 5 กก. ส่งมอบให้กับบริษัทอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็น

ผู้กระจายสินค้าส่งให้กับร้านค้าในเครือข่ายของกระทรวงพาณิชย์ บางส่วนถูกนำไปมอบช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ แน่นอนว่ากระทรวงพาณิชย์/องค์การคลังสินค้า

ไม่เคยเปิดเผยรายชื่อผู้ชนะประมูลปรับปรุงคุณภาพข้าว ไม่เคยเปิดเผยปริมาณข้าวที่ปรับปรุงเป็นข้าวถุง การส่งมอบข้าวให้กับใคร รวมทั้งไม่เคยเปิดเผยค่าจ้างในการปรับปรุงคุณภาพด้วย

โดย พ.ต.ท.ไพโรจน์ ปัญจประทีป ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างสั้น ๆ ว่า กระบวนการจัดทำ

ข้าวถุงธงฟ้าถือเป็นแนวทางการปฏิบัติภายใต้อำนาจบริหารงานของผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ตามที่ได้รับมติจากคณะอนุกรรมการระบายข้าว จึงไม่จำเป็นต้องรายงานหรือขอความเห็นชอบจากบอร์ด หรือเท่ากับบอร์ด อคส.กำลัง "โบ้ย" ความไม่ชอบมาพากลครั้งนี้ไปให้กับ พ.ต.ต.ศราวุธ สกุลมีฤทธิ์ อดีต ผอ.อคส. ซึ่งถูกปลดไปก่อนหน้านี้แล้ว

ข้อเท็จจริงจึงไม่มีการตรวจสอบจากทั้ง อคส.และกระทรวงพาณิชย์ ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายหลังก็มีผู้แทนนั่งอยู่ในบอร์ด อคส.เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าโครงการผลิตข้าวถุงโครงการนี้ คณะอนุกรรมการระบายข้าวมีมติให้ระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลออกมาผลิตเดือนละ 300,000 ตัน เป็นระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2556 รวมเป็นข้าวในสต๊อกที่ถูกระบายออกมาประมาณ 1.8 ล้านตัน ข้าวจำนวนนี้หากนำมาผลิตเป็นข้าวถุงทั้งหมดจะได้ถึง 360 ล้านถุง หรือข้าวทุก ๆ 100,000 ตันสามารถผลิตเป็นข้าวถุง 5 กก.ได้ 20 ล้านถุง เท่ากับใน 1 เดือนจะต้องผลิตข้าวถุงส่งมอบผ่านเครือข่ายกระจายสินค้าทั้ง 5 บริษัท (นิ่มซี่เส็ง-เจียเม้ง-สยามรักษ์-คอน-ไซต์ เทรดดิ้ง-ร่มทอง) ประมาณ 60 ล้านถุงออกไปทั่วประเทศ

ถ้าข้าวถุงจำนวนนี้กระจายสู่ตลาดจริง เชื่อว่าบริษัทผู้ประกอบการข้าวถุงส่วนใหญ่ภายในประเทศจะหนีไม่พ้นภาวะหายนะ เนื่องจากปริมาณข้าว 1.8 ล้านตันที่ถูกนำมาผลิตเป็นข้าวถุงภายในเวลา 6 เดือนนั้น นับเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัวของความต้องการปริโภคข้าวถุงจริงในตลาดปัจจุบัน หรือเท่ากับผู้ประกอบการถูกข้าวถุงของ อคส. "ถล่มตลาด" ด้วยการขายข้าวถุงราคาถูกเพียงถุงละ 70 บาท

แต่กลับไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น แปลว่า

ข้าวในสต๊อกรัฐบาลจำนวน 1.8 ล้านตันไม่ถูกนำมาบรรจุเพื่อจำหน่ายภายในประเทศทั้งหมด สร้างข้อสงสัยตามมาว่าแล้วข้าวในสต๊อกรัฐบาลบางส่วนเดินทางหายไปไหน ?

อย่าลืมว่า ผู้รับปรับปรุงคุณภาพข้าวล้วนแล้วแต่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการค้าข้าว ว่า "ค่าจ้าง" ในการรับปรับปรุงคุณภาพข้าวนั้นไม่ใช่ "เงินสด" แต่คิดทอนกลับมาจ่ายเป็น "ข้าวสาร" ในสต๊อกรัฐบาลแทน

จากสูตรการคำนวณข้าวสาร 100,000 ตัน ปรับปรุงและผลิตเป็นข้าวถุงได้ 20 ล้านถุง คิดค่าจ้างประมาณ 400 ล้านบาท หากข้าวในสต๊อกทั้ง 1.8 ล้านตันถูกผลิตเป็นข้าวถุงก็จะมีค่าจ้างปรับปรุงไม่ต่ำกว่า 7,200 ล้านบาท ทอนกลับมาเป็นข้าวสารที่ผู้รับปรับปรุงคุณภาพข้าวจะได้รับก็คือ ปริมาณข้าวในสต๊อกรัฐบาล

ไม่ต่ำกว่า 2.25 ล้านตัน จะไหลกลับเข้าไปอยู่ในมือผู้รับปรับปรุงเหล่านี้ หรือข้าวในสต๊อกรัฐบาลถูกระบายผ่านการทำเป็นข้าวถุงเบ็ดเสร็จอยู่ระหว่าง 3-4 ล้านตัน

ตรงนี้จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญ ว่า ทำไมผู้คนในวงการค้าข้าวถึงอยากจะได้รับการ "คัดเลือก" ให้ปรับปรุงคุณภาพข้าวเพื่อผลิตข้าวถุงกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) นักหนา

แต่ความอื้อฉาวของโครงการข้าวถุงของ อคส./กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้จบลงแค่นี้ หากเราจะหันมาพิจารณา "ต้นทุน" ของการผลิตข้าวถุงแต่ละถุงแล้วก็จะพบความน่าตกใจที่ว่า ราคาที่ถูกกำหนดให้ขายผ่านร้านเครือข่ายของกระทรวงพาณิชย์ในราคา 70 บาทนั้น แท้จริงเป็นราคาขายปลีกสูงสุด วงการค้าข้าวถุงประมาณการไว้ว่า ราคาขายส่งน่าจะอยู่ที่ถุงละ 65 บาท หรือตก กก.ละ 13 บาท ในขณะที่ราคาข้าวขาวในตลาดทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 บาท

ถ้าตัดค่าใช้จ่ายบรรจุภัณฑ์ตกประมาณถุงละ 20 บาทออกไป จะพบว่าต้นทุนข้าวถุงที่แท้จริงของโครงการนี้จะอยู่ที่เพียง กก.ละ 9 บาท หรือตันละ 9,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่ราคาข้าวขาวในตลาดตกประมาณตันละ 15,000 บาท เท่ากับข้าวถุง อคส.ที่ถูกผลิตในโครงการนี้เกิดส่วนต่างของราคาตันละ 6,000 บาท หรือข้าว 1.8 ล้านตันในสต๊อกรัฐบาลมีส่วนต่างของราคาคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,800 ล้านบาท

แล้วส่วนต่างของราคาข้าวนี้ "ใคร" ได้รับประโยชน์ ?

กลายเป็นคำถามใหญ่ 2 คำถามที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ว่า ข้าว 1.8 ล้านตันส่วนใหญ่หายไปไหน กับใครได้ประโยชน์จากส่วนต่างของราคาข้าวที่ถูกกำหนดโดยกระทรวงพาณิชย์ จนกระทั่งถึงวันนี้โครงการผลิตข้าวถุงของ อคส.จึงกลายเป็นเรื่องลึกลับพอ ๆ กับวาทกรรมซ้ำซากว่าด้วยการขายข้าว G to G ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ไขปริศนา ข้าวถุง อคส. เงินหล่น หมื่นล้าน เข้ากระเป๋า

view