สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปิดตำนานต้นกำเนิดข้าวหอมมะลิพันธุ์ก้องโลก ชาวบางคล้าเลิกปลูกหันทำนาปรังส่งจำนำ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ฉะเชิงเทรา - ตำนานต้นกำเนิดข้าวหอมมะลิพันธุ์ก้องโลกของไทย ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ต้องยุติลงถาวร เมื่อชาวนาในพื้นที่เมินเพาะปลูก เหตุให้ผลผลิตต่ำ ทำได้แค่ปีละครั้ง และหันไปปลูกข้าวนาปรังที่ให้ผลผลิตสูงกว่าแทน เพื่อส่งขายในโครงการรับจำนำข้าว
       
       วันนี้ (26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากชาวนาใน อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดสายพันธุ์ข้าวหอมดอกมะลิชั้นดีเลิศอันดับ 1 ของไทย และเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก คือ ข้าวสายพันธุ์ กข.105 และ กข.15 จากในอดีตเมื่อปี 2497 ที่พนักงานกรมการข้าวได้มาเก็บข้าวหอมดอกมะลิสายพันธุ์ดีจากทุ่งบางคล้า นำไปปลูกคัดกรองสายพันธุ์ จนได้ข้าวหอมดอกมะลิบริสุทธิ์สายพันธุ์ดี และกำหนดให้เป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทย จนเป็นที่นิยมนำไปเพาะปลูกในแถบจังหวัดทางภาคอีสานจนถึงปัจจุบันนี้
       
       ทั้งนี้ พื้นที่แถบทุ่งกุลาร้องไห้ของภาคอีสานนั้น ข้าวหอมมะลิให้ผลผลิตสมบูรณ์แบบ ทำให้ชาวนาในทุ่งบางคล้าพากันเลิกทำนาข้าวหอมมะลิกันหมดแล้วเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด และให้ราคาสูงถึงตันละ 15,000 บาท จึงทำให้ชาวนาพากันเลิกทำข้าวนาปี หรือนาข้าวหอมดอกมะลิ ที่ทำได้เพียงปีละครั้งหันมาทำนาปรังที่ทำได้ถึงปีละ 2 ครั้ง แถมยังให้ผลผลิตสูงถึงเกือบ 1 ตันต่อไร่ ขณะที่ข้าวหอมมะลิให้ผลผลิตน้อยกว่ามาก
       
       นางบังอร ดวงพระทัย อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 154 หมู่ 5 ต.บางคา อ.ราชสาส์น กล่าวว่า เลิกทำนาข้าวหอมมะลิมาได้เกือบ 2 ปีแล้ว เพราะทำได้แค่เพียงปีละครั้ง อีกทั้งผลผลิตต่อไร่ยังต่ำ ได้เพียง 50-60 ถังต่อไร่ ขณะที่นาปรังข้าวอายุสั้น ทำได้ถึงปีละ 2 ครั้ง งให้ผลผลิต 90-100 ถัง เมื่อนำไปเข้าโครงการรับจำนำก็ได้ราคาสูง ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า
       
       “ตอนนี้ทำนากว่า 200 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวดีกว่าการทำนาปี แม้หอมมะลิแม้จะได้ราคาดีถึงตันละ 2 หมื่นบาทก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนต่อไร่ต่อปีแล้ว แตกต่างกันมาก”
       
       ด้านนางพิมพ์ คณะทอง อายุ 69 ปี อยู่บ้านเลขที่ 108 หมู่ 6 ต.บางคา อ.ราชสาส์น กล่าวว่า ทำนาข้าวหอมมะลิมาตั้งแต่กำเนิด แต่ต้องมาเลิกทำเพราะปัจจัยรอบด้านหลายอย่างเปลี่ยนไป ทั้งน้ำท่วมขณะที่ข้าวกำลังตั้งท้องจนกลายเป็นข้าวลีบ ไม่ได้ผลผลิต เหลือไร่ละไม่ถึง 30 ถัง จึงต้องพากันเปลี่ยนมาทำข้าวนาปรัง ที่ให้ผลผลิตสูง และใช้ระยะเวลาปลูกสั้นกว่า อีกทั้งไม่ต้องกลัวน้ำท่วมด้วย
       
       “ปัจจุบันยังคงเหลือพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ไว้ปลูกข้าวหอมมะลิ เอาไว้หุงกินในครอบครัวเท่านั้น สาเหตุที่ต้องเลิกปลูก เพราะมีการระบายน้ำจากภาคกลางลงแม่น้ำบางปะกง ประกอบกับน้ำจาก จ.ปราจีนบุรี ก็ไหลลงมาจนไม่มีทางไปจึงทำให้เอ่อล้นเข้ามาท่วมนาข้าวหอมมะลิ จนข้าวเสียหายทั้งหมด จึงไม่มีใครทำข้าวหอมมะลิอีกแล้ว เพราะเสี่ยงเกินไป หากนาล่มก็จะสูญเสียรายได้ตลอดทั้งปีเลย”
       
       ขณะที่นายบำรุง เจียรมาศ การค้าภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าชาวนาไม่มีผลผลิตข้าวหอมมะลิมาเข้าโครงการรับจำนำ เนื่องจากปัจจุบันข้าวหอมมะลิใน อ.ราชสาส์น มีคุณภาพต่ำกว่าทางภาคอีสานมาก โดยเฉพาะความยาวของเมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์ สั้นกว่ามาตรฐานที่ทางโครงการรับจำนำข้าวหอมกำหนดไว้ จึงได้ราคาไม่เท่ากับภาคอีสาน ทั้งที่แหล่งกำเนิดมาจากที่เดียวกัน คือ ทุ่งบางคล้า


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะ

Tags : ปิดตำนาน ต้นกำเนิด ข้าวหอมมะลิพันธุ์ ก้องโลก ชาวบางคล้า เลิกปลูก ทำนาปรัง ส่งจำนำ

view