สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไม? เลือกเลี้ยงปลานิล-ปลาทับทิมเฉพาะเพศผู้ แล้วไปเกี่ยวอะไรกับปลาจีเอ็มโอ

จากประชาชาติธุรกิจ

ในฐานะคนกิน ดูยังไงก็คงไม่รู้ว่าปลานิล-ปลาทับทิมในจานจะเป็นตัวเมียหรือตัวผู้ แต่ถ้าไปถามคนเลี้ยงปลาเขาตอบได้แน่ และที่แน่ ๆ ยิ่งกว่านั้น เขาบอกว่าต้องเลือกเลี้ยงตัวผู้เป็นหลัก...เพราะอะไรหรือ ? คำตอบที่ได้รับชัดเจนง่ายดาย เพราะการเลี้ยงตัวเมียและตัวผู้ด้วยปริมาณอาหารที่เท่ากัน

ตัวผู้จะตัวโตกว่า เนื้อเยอะกว่า หมายความว่าจะขายได้ในราคาสูงกว่า เป็นรายได้กลับมาให้เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำมากกว่านั่นเอง

การที่เกษตรกรเลือกเลี้ยงปลาทับทิมตัวผู้เป็นส่วนมากนี่เอง จึงเป็นเหตุให้คนที่ไม่รู้เหมารวมว่าปลานิล-ปลาทับทิมแพร่พันธุ์ไม่ได้บ้าง ปลาเป็นหมันบ้าง และพานไปถึงว่าเป็นปลาจีเอ็มโอบ้าง...

เรื่องแบบนี้คงต้องฟังผู้เชี่ยวชาญอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลสักหน่อย จะได้ไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันไป

ผศ.ดร.เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์ ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยพูดถึงประเด็นนี้ โดยอธิบายขยายความไปถึงธรรมชาติของปลานิลที่เป็นที่นิยมเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เพราะเพาะเลี้ยงง่าย เชื่อง ให้ลูกดก เนื้อขาวมีรสชาติที่ดี โตเร็ว ก้างน้อย แล่ออกเป็นชิ้นเนื้อได้ และที่สำคัญเลี้ยงในน้ำกร่อยที่มีความเค็มสูงได้ถึง 15 พีพีที ซึ่งเป็นข้อดีทำให้ปลาเลี้ยงไม่มีกลิ่นโคลน

ส่วนประวัติความเป็นมาของปลานิลก็น่าสนใจ โดยมีชื่อสามัญว่า Nile Tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis Niloticus (Linn.) เป็นปลากินพืช กินแพลงก์ตอน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในลุ่มแม่น้ำไนล์ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความยาวที่สุดในโลก มีความยาวถึง 6,700 กิโลเมตร ไหลผ่าน 9 ประเทศ ปลานิลเป็นปลาที่เจริญพันธุ์เร็ว อายุเพียง 3-4 เดือน สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ตลอดทั้งปี แม่ปลาเท่านั้นที่ต้องดูแลไข่และลูกปลาวัยอ่อนด้วยการอมไว้ในปากจนกระทั่งลูกปลาโตและแข็งแรง

ด้วยเหตุนี้ทำให้แม่ปลาจำเป็นต้องใช้สารอาหารเพื่อพัฒนารังไข่ตลอดปี และไม่สามารถกินอาหารได้เต็มที่ช่วงดูแลไข่และตัวอ่อน เป็นผลให้ปลานิลเพศเมียโตช้า และมีขนาดเล็กกว่าปลานิลตัวผู้

การเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศไทย เริ่มมาตั้งแต่การนำเข้าปลานิลครั้งแรก โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ได้ทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2508 และได้ทรงเพาะเลี้ยงภายในพระราชวังสวนจิตรลดาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลูกปลาขนาด 3-5 ซม. จำนวน 1 หมื่นตัวให้กรมประมงเพื่อดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ต่อไป และได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า "ปลานิล" เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2509

จากพระมหากรุณาธิคุณวันนั้นถึงวันนี้ ทำให้ประเทศไทยมีปลานิลเป็นแหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพที่สำคัญของประชาชนทั้งประเทศ และได้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงจนปลานิลเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตสูงกว่า 2 แสนตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตสัตว์น้ำจืดที่ได้จากการเพาะเลี้ยงทั้งหมด นอกจากนี้ ยังเป็นปลาน้ำจืดที่มีศักยภาพส่งออกสูง เป็นที่ต้องการของทั้งในยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่นอีกด้วย

ส่วนปลาทับทิมก็เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ใช้วิธีธรรมชาติ ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอแต่อย่างใด กระทั่งได้ปลาสีแดงอมชมพูเป็นปลาเศรษฐกิจอีกชนิดของไทย และได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน

ข้อจำกัดของปลานิลเพศเมียดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก่อให้เกิดปัญหาจากการเลี้ยงปลานิลแบบรวมเพศ ทำให้เกิดลูกปลาแน่นบ่อ ปลาที่เลี้ยงจึงเติบโตได้ไม่เต็มที่ ผลผลิตที่ได้จึงต่ำ แนวทางแก้ปัญหา

ที่ได้ผลดีที่สุดก็คือ ทำอย่างไรให้ได้ปลานิลเพศผู้ล้วนในการเลี้ยง เพราะจะทำให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวางแผนการผลิตได้ และให้ผลตอบแทนที่สูงแก่เกษตรกร

ปัจจุบันเกษตรกรจึงเลือกเทคโนโลยีผลิตลูกปลานิลเพศผู้ในฟาร์ม ด้วยวิธีผสมฮอร์โมนสังเคราะห์ในอาหารให้ลูกปลากิน เป็นวิธีที่สะดวก ต้นทุนไม่สูง และมีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวนำเพศลูกปลาให้เป็นเพศผู้ได้สูงถึงกว่า 95% และมีรายงานทางวิทยาศาสตร์จากเอกสารทางวิชาการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่น่าเชื่อถือยืนยันว่า ฮอร์โมนเพศผู้ที่ใช้เหนี่ยวนำเพศลูกปลามีปริมาณต่ำมาก และไม่ก่ออันตรายผู้บริโภคได้ เนื่องจากใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ในขณะที่เป็นลูกปลาวัยอ่อน เป็นระยะเวลาเพียง 21-28 วันตั้งแต่ลูกปลาเริ่มกินอาหารเท่านั้น และจะใช้เวลาอีก

ไม่น้อยกว่า 6-8 เดือน กว่าจะเลี้ยงปลาให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ ซึ่งปริมาณฮอร์โมนที่ใช้เพียง 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อาหารในช่วงการเหนี่ยวนำเพศลูกปลา ประกอบกับกลไกทางชีวเคมีภายในร่างกายตลอดระยะเวลาที่เลี้ยง ทำให้ฮอร์โมนถูกเมตาบอไลต์และจะถูกขับทิ้งไปกับสิ่งขับถ่ายปลานิล-ปลาทับทิม จึงไม่ได้เป็นหมันอย่างที่บางคนเข้าใจ เพียงแต่ปลาส่วนใหญ่ (95%) เป็นเพศผู้เท่านั้นเอง ข้อมูลนี้พิสูจน์ได้จริงในเชิงวิทยาศาสตร์


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ทำไมเลือก เลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม เพศผู้ เกี่ยวอะไร ปลาจีเอ็มโอ

view