สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โมเดล เต่างอย ดอยคำ พลิกฟื้น...มะเขือเทศซันเซท

จากประชาชาติธุรกิจ

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำทั้งหลาย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด องค์กรที่มุ่งส่งเสริมสินค้าเกษตรต้นน้ำ นับว่าเป็นโมเดลที่ดำเนินธุรกิจจนมียอดขายในปีที่ผ่านมาถึง 600 ล้านบาท พร้อมกับยืนยันว่าไม่ขาดทุน มาสามปีแล้ว

ผู้ประกอบการที่เลือกจะทำธุรกิจต้นน้ำสามารถนำโมเดลจากดอยคำไปเป็นกรณีศึกษาได้ ทั้งระบบการปลูกสินค้าเกษตร ประกันราคา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ตัดราคา ปัญหาต้นน้ำ

นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้แทนพิเศษสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนหลักของ บจ.ดอยคำ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามในการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และพื้นที่ใกล้เคียงที่ว่างจากการทำนา หันมาปลูกมะเขือเทศในแปลงนา เพื่อสร้างรายได้เสริม โดยทาง บจ. ดอยคำ ซึ่งมีโรงงานหลวงสำเร็จรูปที่ 3 (อ.เต่างอย) ตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นผู้รับซื้อทั้งหมด ในลักษณะสัญญา หรือ Contract farming เพื่อนำมะเขือเทศมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ดอยคำ

แต่ปัญหาที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรบางรายส่งผลผลิตขายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อผลมะเขือเทศเพื่อนำไปขายสด ซึ่งให้ราคาสูงกว่า คือ กก.ละ 15 บาท ขณะที่ทางโครงการหลวงรับซื้อในราคา 2.90 บาทในปีที่ผ่านมา ทำให้บ่อยครั้งที่ทางโรงงานขาดแคลนวัตถุดิบ

ปัญหาความเข้าใจในการเพาะปลูก เช่น การไม่ทำ"ค้าง" (ไม้เสียบสำหรับมะเขือเทศขึ้นไปเลื้อย) ทำให้มะเขือเทศให้ผลผลิตได้ไม่เต็มที่ ซึ่งมะเขือเทศที่ทำค้างให้ผลผลิตได้ถึง 8-12 ตัน/ไร่ ขณะที่มะเขือเทศที่ไม่ขึ้นค้างให้ผลผลิตอยู่ที่ 2-5 ตัน/ไร่ ทำให้เกษตรกรส่งผลผลิตได้เฉลี่ย 4 ตัน/ไร่เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและการผลิตในโรงงาน แนวทางการแก้ไขขณะนี้ทางโครงการหลวงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวบรวมข้อมูลผลผลิตที่เหลือทิ้งเพื่อประมวลเป็นปริมาณและมูลค่าที่สูญเสียไปต่อไร่ และมีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตกรต่อไป

พัฒนาสายพันธุ์

บจ.ดอยคำยังมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความแข็งแรง สามารถเติบโตได้ในพื้นที่ทุรกันดาร เช่น การต่อยอดมะเขือเทศกับต้นมะเขือพวง เพื่อให้รากสามารถหาอาหารได้ลึกแม้ในที่แล้งจัด หรือขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย คือ การต่อยอดต้นมะเขือเทศกับต้นมะเขือยักษ์ ซึ่งสามารถมีอายุได้นานถึง 10-20 ปี เพื่อให้เกษตรกรยึดเป็นอาชีพหลักได้ในอนาคต เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมให้ทำค้าง โดยมีสวนตัวอย่างที่ได้ผลผลิตสูง และมีการนำตัวเลขมาเปรียบเทียบในเรื่องของการป้องกันโรคทางศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ยังมีงานวิจัยที่มีการพัฒนาสายพันธุ์มะเขือเทศอุตสาหกรรมต้านทานโรคใบหงิกเหลืองที่เกิดจากเชื้อไวรัส และต้านทานต่อโรคเหี่ยวเขียวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดในเขตร้อน เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกมะเขือเทศโดยไม่ต้องประสบปัญหา

โรคระบาด เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคในเขตร้อนได้ดี

"โดยจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่เกษตรกรและบริษัทขนาดเล็กที่ขายเมล็ดจะพัฒนาในระดับที่เรียกว่าค่อนทาง ช่วยลดเงินลงทุนด้านการวิจัย สร้างโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกเมล็ดพันธุ์ในอาเซียนต่อไป เพราะตลาดส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชของไทยอยู่ที่ 3,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และในอีก 3 ปีข้างหน้าตั้งเป้าไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เฉพาะเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท/ปี รวมถึงเกษตรกรเองก็สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวมาเพาะเองโดยไม่เกิดปัญหาการกลายพันธุ์อีกด้วย" อ.บุญส่ง เอกพงษ์ ผู้วิจัยจาก ม.อุบลราชธานีกล่าว

ขณะนี้มีบริษัทที่สนใจเข้ามาติดต่อเพื่อขอเมล็ดพันธุ์ไปเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ต่อไป โดยเน้นพันธุ์ลูกท้อซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้มั่นใจได้ว่ามะเขือเทศอาจจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะในแถบแห้งแล้งอย่างภาคอีสาน สร้างทั้งเศรษฐกิจของประเทศ และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยไปพร้อม ๆ กัน

หากมองไปจะพบว่า กว่าธุรกิจต้นน้ำโดยเฉพาะเกษตรที่เริ่มตั้งแต่การปลูก การดูแลพัฒนาสายพันธุ์ และการต้องต่อสู้กับปัญหาการตัดราคา รวมทั้งทัศนคติของเกษตร ถือเป็นปัญหาหลักที่ธุรกิจเหล่านี้ต้องเผชิญ แต่แนวทางธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กับสังคม ทำให้ บจ. ดอยคำไม่หยุดที่จะพัฒนาคนไปพร้อม ๆ กับให้ความรู้เกษตรกร ทำให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีผลกำไรที่น่าพึงพอใจในที่สุด

เดินเครื่องจักรใหม่ ดอยคำ เต่างอย




บจ.ดอยคำผลิตภัณฑ์ ตั้งอยู่ที่ อ.เต่างอย จ.สกลนคร เปิดดำเนินการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ใช้งบฯในการปรับปรุง 450 ล้านบาท โดยลงทุนในส่วนอาคาร 70% ระบบบำบัดน้ำเสีย 5% และเครื่องจักรนำเข้าจากอิตาลี 25% ตั้งเป้าเพิ่มกำไรจาก 670 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 1,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า แย้มมีแผนบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น

โดยเครื่องจักรดังกล่าวสามารถ

ลดต้นทุนวัตถุดิบ เพิ่มประสิทธิภาพในการบดคั้นน้ำ และทำให้น้ำมะเขือเทศเข้มข้นได้เร็ว มะเขือเทศสด 6 กก. ได้น้ำมะเขือเทศเข้มข้น 1 กก. จากเดิมที่ต้องใช้ 7 กก. เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มกำลังการผลิตจากผลผลิตมะเขือเทศเดิม 180-200 ตัน/วัน เป็น 300-350 ตัน/วัน (มะเขือเทศสด)

นอกจากนี้ยังรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ที่สามารถเพาะปลูกได้ในพื้นที่ ทั้งข้าว, ฝรั่ง, มะม่วง, ขิง โดยผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะเขือเทศ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท ในช่วง 1 ฤดูกาล (4 เดือน)

สำหรับการจำหน่ายของ บจ.ดอยคำ แบ่งเป็นการจำหน่ายในตลาดค้าปลีก 80% ตลาดอุตสาหกรรม 10% ตลาดต่างประเทศ 10%

ส่วนลูกค้าที่ซื้อน้ำมะเขือเทศเข้มข้น (Tomato Paste) ของดอยคำปี 2555 ได้แก่ Thai Union Frozen ประมาณ 25% ลูกค้าอื่น ๆ เช่น พันท้ายนรสิงห์, ทิปโก้, สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ และไทยรวมสินฯ รวมกันประมาณ 75%


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,เอาตัวรอดภัยพิบัติ,รักษ์ไม้,สภาวะแวดล้อม,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags : โมเดล เต่างอย ดอยคำ พลิกฟื้น มะเขือเทศซันเซท

view