สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลวงพ่อช่างภาพ กับ วิถีวิเวก ภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิต จากเส้นทางท่องเที่ยวสู่เส้นทางธรรม

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์


ภาพถ่ายโดยพระอาจารย์ชาคิโนบางส่วนในงาน ”นิทรรศการวิถีวิเวก”


       การเดินทางคือการเรียนรู้โลกกว้าง ยิ่งได้เดินทางท่องเที่ยวมากเท่าไร ก็จะยิ่งได้รู้จักโลกมากขึ้นเท่านั้น และบางครั้งก็ทำให้เห็นโลกใบใหม่ที่เป็นความสุขสงบอันแท้จริง เหมือนอย่าง “พระอาจารย์ชาคิโน” ช่างภาพมือรางวัลของมาเลเซีย ที่ได้เดินทางท่องเที่ยวถ่ายภาพไปทั่วโลก ได้รับรางวัลและชื่อเสียงจากการประกวดภาพถ่ายมากมาย แต่สุดท้ายท่านก็กลับเลือกที่จะเดินทางต่อในโลกแห่งธรรม ละทิ้งชื่อเสียงและเงินทองไว้เบื้องหลัง
       
       “พระอาจารย์ชาคิโน” หรือชื่อเดิม หยุ่งฝางหลา เป็นพระสงฆ์ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ชีวิตในทางโลกท่านเรียนจบปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต จากสถาบันศิลปะมาเลเซีย (Malaysian Institute of Art) ก่อนจะยึดอาชีพช่างภาพตามที่ได้ร่ำเรียนมา ฝีมือและมุมมองที่เฉียบคมทำให้ท่านได้รับรางวัลจากการประกวดภาพถ่ายมากมาย ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียนรวมแล้วกว่า 40 ชิ้น โดยรางวัลใหญ่และน่าภาคภูมิใจที่สุดก็คือ รางวัลชนะเลิศการแข่งขันภาพถ่ายอาเซียนในปี 2533 และด้วยความที่ไม่มีภาระด้านครอบครัว เงินรางวัลที่ได้มาส่วนใหญ่จึงนำไปถวายทำบุญให้วัดต่างๆ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นก้าวเล็กๆ ที่ทำให้ชีวิตเริ่มหันเหมาสู่เส้นทางธรรมก็เป็นได้
       
       แต่การเริ่มต้นในวิถีสมณเพศที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อพระอาจารย์อายุ ได้ 29 ปี แม้จะได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อถ่ายภาพ ได้มีทั้งชื่อเสียงและเงินทอง แต่พระอาจารย์กลับเกิดความคิดว่า “ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใด การมีเงินทำให้ตัวเราเองมีความสุขได้จริงหรือ?” คำ ถามที่เกิดขึ้นในใจได้เปลี่ยนแปลงชีวิตพระอาจารย์ให้หันหน้าเข้าสู่เส้นทาง แห่งธรรม ละทิ้งวิถีทางโลกและเริ่มต้นเรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาพุทธ
       
       


พระสงฆ์ให้ความสนใจชมภาพของพระอาจารย์ชาคิโน


       
       ในช่วงแรกพระอาจารย์ชาคิโนได้บวชเป็นพระสงฆ์นิกายมหายานที่วัด อัง ฮก สี ที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เป็นเวลาราว 1 ปีครึ่ง และได้มีโอกาสเดินทางไปจาริกในประเทศไทยและประเทศนิวซีแลนด์เพื่อแสวงหา ธรรมะและเรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา แต่ยังไม่สามารถค้นพบตัวตนอย่างแท้จริงจึงเดินทางมายังเมืองไทยอีกครั้ง และอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์กับพระอาจารย์กัณหา ที่วัดแพร่ธรรมมาราม จ.แพร่ โดยได้อยู่ศึกษาและเรียนรู้ธรรมมะอยู่ 5 พรรษา แต่จิตยังไม่มีที่พึ่ง จึงตัดสินใจลาสิกขาบท ก่อนจะกลับมาบวชอีกครั้งในปี 2548 โดยได้มาบวชเรียนในสายปฏิบัติของหลวงพ่อชา สุภัทโท โดยมีพระราชภาวนาวิกรม (พระอาจารย์เลี่ยม ฐิตธมฺโม) เป็นพระอุปัชฌาย์ รับการฝึกปฏิบัติที่วัดป่านานาชาติและวัดป่าหนองพง จ.อุบลราชธานี
       
       พระอาจารย์ชาคิโน เล่าถึงชีวิตช่วงที่บวชว่า “ระหว่างครองสมณเพศได้ออกเดินธุดงค์ไปในถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทย เหมือนการไปท่องเที่ยวทั่วไปแต่เป็นการท่องเที่ยวในทางธรรม รวมเวลากว่าทศวรรษ และในช่วง 2-3 ปีหลัง ได้พักอาศัยจำวัดในถ้ำที่ห่างไกลของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในช่วงนี้เองได้เข้าไปคลุกคลีกับชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ได้เห็นเด็กกำพร้าและยากจน จึงเกิดความคิดที่จะช่วยเด็กๆ เหล่านั้นให้มีชีวิตที่ดีขึ้น”
       
       เหตุการณ์ที่ทำให้พระอาจารย์มีความคิดที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ก็เพราะเมื่อได้ออกบิณฑบาตในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนั้นซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขายากจน ขณะปลงใจคิดว่าคงไม่ได้อะไร ก็มีหญิงชาวเขาคนหนึ่งเอาข้าวที่เพิ่งหุงใหม่ๆ ออกมาใส่บาตร มีลูกตัวเล็กๆ หน้าตามอมแมมมองข้าวที่แม่ใส่บาตรด้วยตาละห้อย มองจนน้ำลายไหล ทำให้พระอาจารย์ซาบซึ้งในความศรัทธาของหญิงชาวเขาที่แม้บ้านจะยากจน ข้าวก้อนหนึ่งสำหรับพวกเขาก็คงมีความสำคัญมากแต่ก็ยังนำมาใส่บาตร วันนั้นท่านแทบฉันข้าวก้อนนั้นไม่ลง รำพึงกับตัวเองว่า เราก็เคยทำงานรายได้เดือนละเป็นหมื่นเป็นแสน แต่กลับต้องมาแย่งข้าวเด็กกิน ตั้งแต่นั้นท่านก็ตั้งใจภาวนาและคิดหาทางตอบแทนบุญคุณของชาวเขาในหมู่บ้าน นั้นตลอดมา
       
       


พระอาจารย์ชาคิโนและเหล่าลูกศิษย์


       
       หลังจากนั้นพระอาจารย์จึงได้ก่อตั้ง “มูลนิธิธัมมคีรี” ขึ้น โดยจุดประสงค์หลักนอกจากจะส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังมีจุดมุ่งหมายในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านทุนการศึกษา ทุนอุปการะเด็กกำพร้า และเด็กด้อยโอกาส โดยพระอาจารย์ชาคิโนหวังที่จะให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของ สังคมต่อไปในอนาคต มูลนิธิได้มีการจัดตั้งโครงการดีๆ ขึ้นมา อาทิ โครงการปฏิบัติธรรมนำชีวิต และสร้างเสริมนักเรียนหัวใจเพชรเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งในปัจจุบันก็มีจำนวนถึง 25 รุ่นแล้ว ในช่วงเริ่มแรกผู้อุปถัมภ์หลักของมูลนิธิก็คือน้องสาวของพระอาจารย์ชาคิโน แต่ต่อมาเมื่อเด็กๆ ที่มาขอรับความเมตตาจากพระอาจารย์มีมากขึ้นเงินสนับสนุนที่ได้จากน้องสาวของ พระอาจารย์จึงไม่เพียงพอ
       
       ในขณะเดียวกัน เมื่อพระอาจารย์ชาคิโนอยู่ในสมณเพศ แต่ก็ไม่ลืมความรู้เดิมคือการถ่ายภาพซึ่งเป็นกิจกรรมที่ท่านรัก พระอาจารย์จึงได้กราบขออนุญาตจากพระอุปัชฌาย์ว่าจะขอพกกล้องเพื่อบันทึกภาพ เหตุการณ์ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน พระอุปัชฌาย์อนุญาตแต่ให้ใช้อย่างสำรวม พระอาจารย์ชาคิโนจึงถ่ายภาพเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งในเวลาต่อมารูปภาพที่ถูกบันทึกไว้เหล่านั้นก็ได้เกิดประโยชน์ เมื่อทางมูลนิธิและคณะลูกศิษย์ของทางพระอาจารย์ชาคิโนได้ร่วมจัด “นิทรรศการภาพถ่ายวิถีวิเวก” ซึ่ง จัดแสดงภาพถ่ายของพระอาจารย์ชาคิโนที่บันทึกไว้ระหว่างออกธุดงค์ไปยังสถาน ที่ต่างๆ ภาพถ่ายเหล่านี้นอกจากจะงดงามด้วยฝีมือของอดีตช่างภาพมือทองแล้ว ยังเป็นภาพที่คนทั่วไปไม่เคยได้สัมผัสเพราะเป็นภาพกิจวัตรของสงฆ์ที่ดำเนิน ไปในระหว่างที่ท่องธุดงค์ในป่า ภาพถ่ายเหล่านี้ได้ถูกคัดเลือกมาจัดแสดงในงานจำนวน 98 ภาพ และจะนำออกประมูลเพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิธัมมคีรีต่อไป
       
       


ห้องเรียนของมูลนิธิธัมมคีรี


       
       “อาตมาคือพระภิกษุซึ่งไม่มีอะไรติดตัวมา การออกบิณฑบาตแต่ละครั้งถึงแม้เขาเหล่านั้นจะยากจนเพียงไรแต่ก็ไม่ได้แล้ง น้ำใจที่จะช่วยเหลือ อาตมาจึงอยากทดแทนคุณของพวกเขา จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิธัมมคีรีขึ้นมา และในการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ก็เนื่องด้วยความจำเป็นในการหาเงินมาสนับ สนุนมูลนิธิ จึงได้เกิดงานนิทรรศการภาพถ่ายวิถีวิเวกนี้ขึ้น” พระอาจารย์ชาคิโน กล่าว
       
       ในมุมมองของช่างภาพ การกดชัตเตอร์ถ่ายแต่ละภาพนอกจากจะต้องครบในองค์ประกอบและแสงเงาที่ลงตัว แล้ว ยังต้องมีความหมายหรือก่อให้เกิดความรู้สึกกระทบใจคนชม แต่สำหรับช่างภาพที่อยู่ในสมณเพศเช่นพระอาจารย์ชาคิโนแล้ว ความสวยงามไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด หากแต่ความหมายที่ยกระดับจิตใจต้องเด่นชัดขึ้น ดังที่พระอาจารย์กล่าวว่า
       
       “แต่ก่อน ความสวยงามของรูปถ่ายสำคัญสำหรับข้าพเจ้ามาก ข้าพเจ้าจะพยายามจัดแต่งภาพถ่ายให้สวยที่สุด ทุกวันนี้เมื่อนัยน์ตาของข้าพเจ้ามองผ่านเลนส์ไปที่เงา ตัวของข้าพเจ้ากลับมุ่งมองไปที่ใจอันเป็นประตูจะนำไปสู่แสงสว่างแห่งการตื่น รู้ ถ้าการ “ถ่ายรูป” เป็นการปรุงแต่งและการแสดงตัวตน การ “ถ่ายใจ” ก็เป็นการลดการปรุงแต่งและตัวตนลง ทำให้มันนุ่มนวลและพร้อมที่จะน้อมลงสัมผัสกับธรรมชาติอันไม่ปรุงแต่ง อันสงบ ประสานสมบูรณ์ และงดงามได้...”
       
       *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
       
       ผู้ที่สนใจชม “นิทรรศการภาพถ่ายวิถีวิเวก” หรือสนใจร่วมบริจาคซื้อภาพ สามารถมาชมได้ในวันที่ 22-31 ม.ค. 56 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ และในวันที่ 1-14 ก.พ. 56 ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า ถ.เจริญกรุง กรุงเทพฯ สอบถามโทร. 08 1056 2238


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หลวงพ่อช่างภาพ วิถีวิเวก ภาพถ่าย เปลี่ยนชีวิต เส้นทางท่องเที่ยว เส้นทางธรรม

view