สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Happiness in a place

Happiness in a place

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




นานาประเทศต่างรู้ดีว่า ดินแดนแห่งความสุข หมายถึงประเทศภูฏาน แล้วแบบนี้จะไม่ไปท่องเที่ยวได้อย่างไร ลองสัมผัสเรื่องราว...

ห้วงเวลาที่สายการบินดรุ๊ปแอร์ค่อยๆ ลดระดับลง ก็ได้เห็นภูมิประเทศโดยรวมของภูฏาน ประเทศที่ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางหุบเขาสูง และที่ราบสูง อันเต็มไปด้วยพื้นที่ป่า ต้นไม้ ลำธาร แม้กระทั่งสนามบินก็อยู่กลางทุ่งนา มีลำน้ำใสสะอาดอยู่ข้างทาง

ได้ยินเรื่องราวดินแดนแห่งความสุขมาเนิ่นนาน เพิ่งมีโอกาสเดินทางมาสัมผัสผู้คน วัฒนธรรม พุทธศาสนาของประเทศนี้ ก็ได้ประจักษ์แก่สายตาว่า เป็นประเทศที่งดงามทั้งผู้คน และเต็มไปด้วยกลิ่นอายของธรรมชาติ และศิลปะทุกหย่อมหญ้า

เนื่องจากผู้นำประเทศภูฏานพยายามรักษาธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไว้ให้นานที่สุด แม้จะถูกความเจริญรุกล้ำเพียงใด พวกเขาก็ยังเชื่อว่า เดินช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าล้ำยุคด้วยเทคโนโลยีจนฉุดไม่อยู่ ดังนั้นการรักษาป่าจึงกำหนดเป็นนโยบายของประเทศ หากประชากรจะตัดไม้ ต้องทำหนังสือขออนุญาต โดยมีหลักการว่า ต้องปลูกทดแทน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้พวกเขาสามารถรักษาป่าไว้ได้ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

1.

ประชากรภูฏานทั้งประเทศมีประมาณ 7 แสนกว่าคน ประเทศนี้ตั้งอยู่ในทางทิศตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ทางทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทิเบต และที่เหลือติดกับอินเดีย เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ถูกโอบล้อมด้วยหุบเขาสูง มีขนาดพื้นที่พอๆ กับสวิตเซอร์แลนด์ประมาณ 46,500 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่ประชากรทำการเกษตรประมาณร้อยละ 79 แต่สามารถทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ได้เพียงร้อยละ 8 พื้นที่ที่ปกคลุมด้วยผืนป่ามีอยู่ประมาณร้อยละ 72 ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี

แค่เรื่องพื้นที่ของภูฏานก็เป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากลักษณะทางกายภาพ ทำให้ประเทศนี้ได้เปรียบ เมื่อถูกรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในอดีตเคยสู้รบกับทิเบต ซึ่งจะมีสักกี่แห่งในโลกนี้ที่ใช้ความสุขมวลรวมประชาชาติ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของประเทศ

ภูฏาน จึงเป็นประเทศในฝันที่เหลืออยู่ในยุคนี้ ที่นี่ไม่มีนโยบายจำหน่ายบุหรี่ ถ้าอยากสูบ ดื่มสุรา ไวน์ ต้องจ่ายในราคาแพง เพราะถูกกีดกันโดยกำแพงภาษีที่มีราคาสูง และไม่มีสินค้าแบรนด์เนม หากต้องการช้อปสินค้าที่มีความหรูหราต้องบินมาเมืองไทย

สิ่งที่จะได้เห็นในภูฏาน คือ ศิลปะ ความสงบ วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ วัดวาอารามที่งดงาม และธรรมชาติ

เหมือนเช่นที่กล่าวมา ภูมิประเทศของประเทศนี้อยู่บนที่ราบสูง เมืองหลวงของประเทศ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก มีถนนสายหลักไม่กี่สาย ในทิมพูแม้อากาศจะหนาวเย็น แต่น้อยกว่าเมืองอื่น ๆ และอยู่ไม่ไกลจากเมืองพาโร ที่ตั้งสนามบินกลางท้องนาแห่งเดียวของประเทศนี้

2.

เนื่องจากประเทศนี้ต้องการดูแลทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้คงสภาพเดิม จึงจำเป็นต้องควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวในแต่ละปี แต่สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยแล้ว พวกเขาเห็นว่า ยังมีปริมาณน้อยอยู่ เพราะปีหนึ่งคนไทยเข้ามาเที่ยวภูฏานไม่ถึงพันคน

รายได้หลักของคนในดินแดนแห่งความสุขแห่งนี้มาจากนักท่องเที่ยว และการขายพลังงานทางเลือกให้ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากสามารถใช้พลังงานน้ำบนที่ราบสูงผลิตกระแสไฟฟ้า ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ ไม่ว่าประชากรจะอยู่บนหุบเขาฟากไหนของประเทศก็ตาม สาธารณูปโภคในรูปพลังงานไฟฟ้า ก็สามารถไปถึงเพื่อบริการประชาชน

ส่วนการเกษตรเป็นไปตามวิถีที่เป็นอยู่ ใช้สอยบริโภคแต่พอเพียงในประเทศ และที่สำคัญคือ ประชากรจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรีตลอด ไม่ว่าจะรักษาตามแนวทางการแพทย์ดั้งเดิม หรือการแพทย์แผนปัจจุบัน รวมทั้งนักท่องเที่ยวก็ได้รับการบริการฟรีในส่วนนี้ด้วย

ดังนั้นค่าเหยียบแผ่นดินของที่นี่ จึงมีราคาสูงสมราคา หากเทียบคุณค่าที่มีอยู่คือ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม

ฟาสต์ฟู้ดยี่ห้อตะวันตก สินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศนั้น ไม่มีโอกาสที่ใครจะได้เห็นในประเทศนี้ แต่ในอนาคตไม่แน่ เนื่องจากปัจจุบันผู้นำประเทศได้เลือกแล้วที่จะปกป้องการรุกล้ำของวัฒนธรรมตะวันตก นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่ไม่มีการฆ่าสัตว์ แต่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวบริโภค ถ้าเป็นชาวภูฏานเองจะไม่ค่อยนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ ดังนั้นพืชผัก ผลไม้จึงเป็นอาหารหลักของคนที่นี่

นอกจากเป็นดินแดนที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ยังเป็นประเทศที่ผู้คนรักศิลปะ คุณจะไม่ค่อยได้เห็นผนังตึกที่ว่างเปล่า ทุกหนทุกแห่ง แม้กระทั่งปั๊มน้ำมันเล็กๆ บ้านชาวนา ต้องมีลายเส้นภาพเขียนบนผนังบ้านและตึก แต่ศิลปะไม่ได้มีไว้ขาย ศิลปินชาวภูฎานจะทำงานศิลปะอันประณีตงดงามด้วยความศรัทธา เพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ชมตามวัดวาอารามและสถานที่สำคัญของประเทศ รวมถึงในบ้านของตัวเอง

3.

เพราะเป็นประเทศที่คำนึงถึงความสุขของประชากรเป็นหลัก แต่ไม่ถึงกับปิดกั้นความเจริญและเสรีภาพ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2549 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงประกาศสละราชสมบัติให้มกุฎราชกุมารจิกมี เคซอร์ นัมเกล วังชุก ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 ซึ่งเร็วกว่าเดิมสองปี และเป็นข่าวไปทั่วโลก เพื่อเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ คงต้องวกกลับมาที่การท่องเที่ยวในทิมพู แม้จะมีตึกรามบ้านช่องมากกว่าเมืองอื่นๆ ตามประสาเมืองหลวงของประเทศ อพาร์ตเม้นต์ และห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ท้องถิ่น ค่ำคืนในทิมพูสำหรับนักท่องเที่ยวจึงดูเงียบเหงา แต่มีสีสันโรแมนติกกลางอากาศหนาว

ภูฏานเหมาะสำหรับคนชอบความเรียบง่าย รักศิลปะ รักธรรมชาติ แต่ขอบอกว่า เป็นเมืองโรแมนติกมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร หากออกไปนอกเมือง อยากรู้ว่า เกษตรกรปลูกอะไร ก็ต้องไปที่ตลาดเกษตรกรจะมีพืชผักมาวางขายรวมกัน ที่ขาดไม่ได้คือพริก คนประเทศนี้ชอบบริโภคพริก ออกไปไม่ไกลก็จะสะพานข้ามแม่น้ำที่คนในชุมชนใช้สัญจร แม้จะดูธรรมดาๆ แต่มีความงาม เพราะประเทศนี้อยู่บนที่ราบสูง ไม่ว่าจะมองไปที่ไหน ธรรมชาติก็งดงามไปหมด

ก่อนจะเล่าถึงสถานที่ยิบย่อยในทิมพู สิ่งที่พลาดไม่ได้ คือ ตาชิโชซ่ง ป้อมปราการเก่าแก่กลางท้องนา สถานที่ตั้งหน่วยงานรัฐ และไม่ไกลจากบริเวณนั้นเป็นพระราชวังเล็กๆ ของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 องค์ปัจจุบัน ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เวลาเสด็จมาทรงงานในหน่วยงานราชการ ก็จะดำเนินผ่านเส้นทางเล็กๆ พร้อมๆ กับทักทายประชาชนอย่างเป็นกันเอง

ป้อมปราการแห่งนี้จะเป็นทั้งสถานที่ราชการและที่ประกอบพิธีของคณะสงฆ์ จะมีเวลาเปิดให้ชมในช่วงเย็นแค่ชั่วโมงเดียว ซึ่งสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาจะไม่ให้มีการถ่ายรูปใดๆ เพราะเขาถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องให้ความเคารพ

ตอนที่ทิมพู ถูกสถาปนาเป็นเมืองหลวงเมื่อปี คศ. 1952-53 สมัยนั้นยังเป็นแค่ป้อมปราการที่มีกระท่อมไม่กี่หลัง มีบ้านชาวนากระจายอยู่ทั่วหุบเขา ปัจจุบันยังเหลือเค้าโครงเดิมอยู่บ้าง แต่เปลี่ยนจากบ้านชาวนามาเป็นอพาร์ตเม้นต์เพื่อประหยัดพื้นที่ โดยมีการจัดวางอย่างเป็นระเบียบด้วยสถาปัตยกรรมดั้งเดิม

ตาชิโชซ่ง ป้อมปราการแห่งแรกของทิมพู จะมีทหารดูแลตรวจตราอย่างใกล้ชิด สถานที่แห่งนี้ใครได้ไปเที่ยวก็ต้องพูดอยู่ประโยคเดียวว่า "งดงามมาก" บริเวณป้อมปราการ มีห้องประชุมสงฆ์ขนาดใหญ่เพื่อใช้ทำพิธีสำคัญของประเทศ มีพระพุทธรูปศรีศากยมุนีประดิษฐานเป็นพระประธาน และภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ คัมภีร์โบราณ รวมถึงพระพุทธรูปที่ปั้นด้วยดินนับร้อยรูป เพดานฝาผนังประดับด้วยมณฑลขนาดใหญ่ พร้อมภาพวาดพระพุทธเจ้าที่มีลายเส้นงดงามหาที่เปรียบได้ยาก เป็นฝีมือช่างที่ระดมมาทำงานด้วยความศรัทธา

หากใครได้มายืนอยู่กลางห้องประชุมขนาดใหญ่ของสงฆ์ ก็จะรู้สึกถึงความอลังการ แต่หาใช่ความอลังการงานสร้าง เป็นความยิ่งใหญ่ขององค์ประกอบศิลปะหลายแขนงที่รวมไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ประหนึ่งว่า ยืนอยู่ตรงนั้น ก็อิ่มเอมใจกับงานศิลปะและเรื่องราวของผู้คนที่มีศรัทธาต่อพุทธศาสนา

ศิลปะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ผสมกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิต คือ เสน่ห์ที่พบได้ในประเทศนี้

อีกจุดที่น่าสนใจ National Memorial Choeten เป็นสถูปเจดีย์สร้างเมื่อปี คศ.1974 ที่นี่จะได้สัมผัสถึงความสงบร่มเย็น จะมีชาวภูฏานมาเดินภาวนาและสวดมนต์จำนวนมาก

แม้กระทั่งวัดสำหรับนักบวชหญิงที่เรามีโอกาสเดินทางไปสัมผัส ก็มีงานศิลปะที่ทำเพื่อประดับแท่นบูชา โดยนำข้าวสาลีมาปั้นด้วยรูปทรงและสีสันต่างๆ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 รัฐบาลภูฏานก็ให้การสนับสนุนศิลปหัตถกรรมงานช่างสิบสามหมู่ มีตั้งแต่งานประติมากรรม จิตรกรรม งานปั้นดินเหนียว งานหล่อโลหะ งานปัก งานทอ ฯลฯ

นี่คือ ส่วนหนึ่งของประเทศที่ร่ำรวยความสุข

----------------------------

การเดินทาง

เนื่องจากภูฏานเป็นประเทศที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติ การท่องเที่ยวในประเทศนี้ จึงไม่สามารถทำวีซ่าเองแล้วแบกเป้หรือลากกระเป๋าเข้าไปได้เลย ยกเว้นเป็นแขกของรัฐบาลภูฏาน

การท่องเที่ยวในประเทศนี้ ต้องติดต่อผ่านบริษัทท่องเที่ยวในภูฏานเท่านั้น เพื่อให้ดำเนินการขอวีซ่า นักท่องเที่ยวต้องจ่ายวันละ 200 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่รัฐบาลภูฏานกำหนด โดยรวมตั้งแต่ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าพาหนะ และค่าไกด์ท้องถิ่น

ถ้าเดินทางน้อยกว่า 3 คน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม ยกเว้นมีวีซ่านักเรียน นักศึกษา ก็จะได้ลดค่าธรรมเนียมเป็นกรณีพิเศษ

หากนักท่องเที่ยวได้รับการอนุมัติวีซ่าเข้าภูฏานแล้ว เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบเอกสารเสร็จ ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกคนละ 20 เหรียญสหรัฐฯ

ปกติแล้วการเดินทางไปภูฏาน มีสายการบินเดียวที่บินไปกลับระหว่างกรุงเทพฯและภูฏาน คือ สายการบินดรุกแอร์ มีบริการทุกวัน ดูได้ที่เว็บไซต์ www.drukair.com.bt หรือ 0 2535 1960 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งภูฏาน ในเมืองทิมพูที่เบอร์ (975-2) 323 251 หรือดูที่เว็บไซต์ www.tourism.gov.bt


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : Happiness place

view