สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค้นหาตัวตน เชียงใหม่ จากเวียงกุมกามสู่เมืองกำกวม

จากประชาชาติธุรกิจ

จาก "เวียงกุมกาม" ศูนย์กลางบนลุ่มแม่น้ำปิงของพญามังราย ผ่านประวัติศาสตร์ขัดเกลากว่า 700 ปี กว่าจะถึง "เชียงใหม่" ในวันนี้ที่พูดได้เต็มปากว่า เป็นเมืองพราวเสน่ห์ ครบเครื่อง ครบรส ตามจังหวะของเมืองอากาศเย็นที่ไม่รีบร้อน แต่ก็ไม่เงียบเหงา แถมยังมีสิ่งแปลกใหม่ผุดขึ้นเอาใจแขกต่างถิ่นให้มาเยือนไม่ขาดสาย

วัตถุดิบหลากหลายประกอบร่างสร้างเมืองเชียงใหม่มาจากส่วนผสม "ความเป็นเมืองเก่า" ปนเปกับ "ความทันสมัย" ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบเจอความอีหลักอีเหลื่อในภาวะ "ความขัดแย้งในตัวเอง" หากเปรียบนครเชียงใหม่เป็น "มนุษย์"

คงดูเป็นคนที่มีบุคลิกย้อนแย้ง ทั้งยึดติดแบบ "หัวโบราณ" ในอีกแง่มุมก็อยากเป็น "คนทันสมัย" หัวก้าวหน้า

สร้างความคลุมเครือในการนิยาม "ตัวตนเชียงใหม่"

แม้อาจเป็นมนต์เสน่ห์น่าค้นหาสำหรับบางคนเหมือนเดินอยู่ในสายหมอกเมืองเหนือ แต่นั่นไม่ใช่ความปรารถนาของฝั่งนักธุรกิจ เพราะคงไม่มีใครอยากสุ่มเสี่ยงทุ่มเม็ดเงินลงทุนบนเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ชัดเจน เช่นเดียวกับ "วรพงษ์ หมู่ชาวใต้" อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่ากับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า

"เชียงใหม่เป็นเมืองมีดีในตัว เพียงแค่คนยังขุดค้นไม่ถึง แต่บางทีของดีเยอะเกินไป ก็ยากที่จะบอกได้ว่าแบรนด์ของเชียงใหม่คืออะไรกันแน่ จึงเกิดภาวะ dead lock (ชะงักงัน) ในตัวเอง ระหว่างการนิยามให้เป็นเมืองวัฒนธรรม แต่กลับสกัดกั้นธุรกิจหลายประเภทไม่ให้เข้ามาเติบโต หรือถ้าจะเติบโตแบบทันสมัยก็ขัดกับรากเหง้าของคนเมืองเชียงใหม่"

เดิมทีเชียงใหม่เป็นเมืองที่ดีไซน์ให้น่ารักและเรียบง่าย

แต่เมื่อต้องประจันหน้ากับการขยายตัวเชิงเศรษฐกิจถาโถมซัดกระหน่ำ ส่งผลให้ความเป็นเชียงใหม่แท้กำลังหายไป

ย้อนภาพแรกของเมืองเชียงใหม่ในความทรงจำของวรพงษ์เมื่อ 25 ปีก่อน พร้อมฉายฝันให้ฟังว่า "วิถีชีวิตคนเมืองตอนที่ผมเพิ่งย้ายมาอยู่สวยงามและน่ารักมาก จนอยากหยุดความเป็นเชียงใหม่ไว้ตั้งแต่วันนั้น ถึงวันนี้ไม่ค่อยอู้กำเมืองกันแล้ว แต่หลายคนกลับไปโทษคนเชียงใหม่ที่ไม่สามารถรักษาวัฒนธรรมและภาษาพื้นเมืองไว้ได้ แต่ควรถามกลับว่า แล้วมือใครเอื้อมเข้ามาเปลี่ยนเมืองเก่าให้โมเดิร์น หรือเปลี่ยนโฉมถนนนิมมานเหมินท์เป็นย่านทันสมัย และถึงตอนนี้แทบไม่มีใครอยากเลือกลงทุนเน้นเรื่องวัฒนธรรมเก่าแก่กันแล้ว"

แต่ในซีกของนักธุรกิจย่อมหวังให้เชียงใหม่ปรับตัวเพื่อ "ขายได้" ฉะนั้นแบรนด์ต้องชัดเจน

คำถามคือ จุดยืนเชียงใหม่อยู่ตรงไหน, สิ่งเก่ากับสิ่งใหม่จะดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

มิเช่นนั้น ตัวตนที่ไม่ชัดเจนนี้กำลังผลักให้เชียงใหม่ยังคงเป็น "เมืองปราบเซียน" จนนักลงทุนยอมยกธงขาวล่าถอยหรือไม่

อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวฯ เปรียบเปรยให้ฟังว่า "เมืองเชียงใหม่เป็นเสมือนศิลปินคุณภาพ คว้าถ้วยรางวัลมาวางเต็มตู้

แต่ยอดขายไม่ถึงเป้าหมาย รายได้ของเชียงใหม่ยิ่งถอยหลังลงเรื่อย ๆ ทั้งที่มีผู้ประกอบการเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ขายไม่ออก ถ้าเทียบกับเมืองภูเก็ตที่ชัดเจนในจุดขายและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ"

ดังนั้นเพื่อปลดภาวะ dead lock จำเป็นต้อง "รีแบรนด์เชียงใหม่" ฟื้นจุดขายให้สามารถตอบโจทย์การท่องเที่ยวได้ดีขึ้น จึงเกิดเป็นการประชุมวาระพิเศษระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นัดทบทวนว่า "ความเป็นเชียงใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้วหรือยัง ?"

หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนตามที่วรพงษ์คิดว่าต้องเร่งหา คือ "โพซิชันนิ่งของเชียงใหม่" จากที่เคยมีการนัดคุยมาสองรอบเรื่องนี้แล้วก็ล้มเหลว ยังไม่สามารถกำหนดนิยามและคอนเซ็ปต์หลักได้

เช่น ข้อเสนอให้เป็นเมือง creative MICE ก็มีคนแย้งว่าเกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างไร เช่น ถ้ามีศิลปินต่างชาติมาเชียงใหม่แล้วได้แรงบันดาลใจคิดต่อยอดงานศิลปะได้หรือไม่ เชียงใหม่ตอบโจทย์เรื่องสร้างสรรค์แค่ไหน แต่อีกมุมหนึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา รายได้ที่เข้าเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่อยู่ที่การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

เพียงแค่หา "โพซิชันนิ่ง" ของเชียงใหม่ก็ต้องหารือกันอีกยาวและยังสับสนอยู่มาก ด้าน ททท. ชู "วัฒนธรรมล้านนา" แต่ทางภาคธุรกิจย้อนถามกลับว่า "แล้วเอกลักษณ์ล้านนาอยู่ตรงไหน" หรือจะต้องคงนิยามให้เป็น "ล้านนาโมเดล" ให้ชัดเจนก่อน

ก่อนอื่นต้องเริ่มขุดหาตัวตนจากสิ่งที่ดั้งเดิม คัดกรองสถานที่

กิจกรรม พิธีกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเชียงใหม่ ซึ่งมีพิธีโบราณซุกซ่อนอยู่ตามกำแพงเมือง คูเมือง แล้วค่อย ๆ กะเทาะเนื้อแท้เชียงใหม่ออกมา

"แต่เชียงใหม่วันนี้ถอยหลังกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ใช่ว่าเชียงใหม่จะหมดความน่ารัก อย่างน้อยในความคิดของผม เชียงใหม่เป็นเมืองหลายอารมณ์ เหมือนตอนขับรถอยู่ในตัวเมืองเปิดวิทยุฟังข่าว แต่พอหลุดออกจากความวุ่นวายในตัวเมือง เปลี่ยนเพลงฟังชิล ๆ (ดีดนิ้วแล้วบอกว่า) ใช่เลย ! เหมือนอยู่เป็นคนละโลก เป็นเมืองศิลปะที่มีอยู่ในธรรมชาติสีเขียว" วรพงษ์ทิ้งท้าย พร้อมฟันธงว่า "เชียงใหม่นี่แหละ บ้านหลังสุดท้ายของผมแล้ว เพราะอยู่ที่นี่ก็ยังดีกว่าตอนเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ได้ดูแต่นาฬิกา แต่ไม่มีเวลาได้ดูดาว"

ส่วนข้อได้เปรียบหลายอย่างของเชียงใหม่ แค่ป่าวประกาศว่า "เชียงใหม่หนาวแล้ว..." นักท่องเที่ยวไทยก็แห่แหนดั้นด้นขึ้นดอยสัมผัสอากาศเย็นกันแน่นเอี้ยด

ดังที่ "เสกสรร นาควงศ์" รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มองเห็นจุดขายอัดแน่นอยู่ในตัวเชียงใหม่ เพียงแต่จะประคับประคองรักษาเรื่องความเป็นชาวเหนือตรงนี้ไว้อย่างไร

"อย่าหลงทำให้เชียงใหม่เติบโตไปเป็นกรุงเทพฯ และสิ่งที่น่าห่วงเมื่อคนเชียงใหม่เริ่มไม่อยากแสดงตนเป็นชาวเหนือกันแล้ว แข่งกันสร้างตึกสูง คอนโดฯ ตั้งตระหง่าน ถ้าบรรยากาศเปลี่ยนไปเป็นอย่างนั้นก็ไม่เห็นจำเป็นต้องนั่งเครื่องบินมาไกลถึงเชียงใหม่"

ถ้ามองผ่านความรู้สึกของ "คนใน" มีบ้านเกิดอยู่ในเชียงใหม่ อาจมองความเปลี่ยนไปมาพร้อม "คนนอก" ที่เข้ามารื้อถอน

รากเหง้าวัฒนธรรมล้านนาดั้งเดิม จุดชนวนให้คนเชียงใหม่อยากจะลุกขึ้นมาประกาศปลดแอกขอแยกเป็น "จังหวัดจัดการตนเอง" ในรูปแบบ "เชียงใหม่มหานคร" ที่ได้ตีฆ้องร้องป่าวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่รองปลัดเสกสรร ฉุดให้นึกถึงโมเดลพัทยาเสียก่อน

"พัทยาในวันนี้มีกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติเข้าคุมหมดแล้ว แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะมีกฎหมายปกครองเฉพาะของตนเอง ถ้าเชียงใหม่อยากแยกเป็นอิสระก็ต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมพร้อมจะดูแลตัวเองมั้ย แล้วคนพื้นเพเชียงใหม่รับตรงนี้ได้แค่ไหน ถ้ายังรับไม่ได้ก็นำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด วิสัยทัศน์

ผู้บริหารควรต้องอยู่บนความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตดั้งเดิมกับวิถีเงินให้เดินไปด้วยกัน โดยไม่ทะเลาะกัน"

กาลเวลาเท่านั้นที่จะไขคำตอบหาตัวตน "เชียงใหม่" ดำเนินไปในแบบที่ควรจะเป็น บางทีการไร้ตัวตนอาจจะเป็นคำตอบสุดท้ายของเสน่ห์เมืองเชียงใหม่ที่ใครหลายคนต่างหลงใหลและหลงรัก

"ศูนย์ประชุมฯ เชียงใหม่" ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

หลังจากลุ้นจนเกือบถอดใจไปแล้ว สำหรับมหากาพย์โปรเจ็กต์ใหญ่ติดอันดับการสร้างยาวนานที่สุดโครงการหนึ่งไปแล้ว นั่นคือ "ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่" หรือชื่อเต็มว่า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ หรือ ซีไมซ์ ถึงตอนนี้ประกาศลั่นพร้อมเปิดให้บริการช่วงสงกรานต์ปีนี้แน่นอน เพื่อสนองนโยบายรัฐดันไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย ในปี พ.ศ. 2559

เลือกปักธงให้ "เชียงใหม่" เป็นหนึ่งในเมืองแห่งไมซ์ของประเทศ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่าน 4 อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ได้แก่ "Meeting", "Incentive","Convention" และ "Exhibition"

จุดเด่นของศูนย์ประชุมแห่งนี้ สามารถรองรับงานได้พร้อมกันมากถึง 10,000 คน บนพื้นที่ 326 ไร่ เป็นศูนย์ประชุมที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ในเอเชีย สามารถดัดแปลงเพื่อการจัดงานได้หลากหลาย โดยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ

ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ค้นหาตัวตน เชียงใหม่ เวียงกุมกาม เมืองกำกวม

view