สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อันเนื่องมาจากเรื่องอากาศเป็นพิษที่ปักกิ่ง

อันเนื่องมาจากเรื่องอากาศเป็นพิษที่ปักกิ่ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อทั่วโลกรายงานเป็นเสียงเดียวกันว่าอากาศในนครปักกิ่งและในอีกหลายสิบเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

เป็นพิษร้ายแรงมากจนหากสูดเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ย้อนไป 40-50 ปีเรื่องทำนองนี้เกิดในย่านนครลอสแอนเจลิสของอเมริกาเป็นประจำ ปัจจัยที่ทำให้เกิดอากาศพิษเป็นที่ทราบกันดีมานาน แต่มันยังเกิดขึ้นเพราะการแสวงหาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยการผลิตและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นไปแบบไม่หยุดยั้งยังให้ความสำคัญต่อการดูดซับพร้อมกับการฟอกควันและฝุ่นละอองของอากาศน้อยเกินไป

การให้ความสำคัญต่อการดูดซับพร้อมกับการฟอกควันและฝุ่นละอองของอากาศอาจมองได้จากหลายแง่มุม จากมุมมองของผู้ผลิตสินค้า เขาอาจจะรู้หรือไม่รู้ก็ได้ว่าอากาศมีความสามารถดูดซับและฟอกของเสียเพียงจำกัด การปล่อยของเสียออกไปในอากาศโดยไม่ต้องฟอกให้มันสะอาดเสียก่อนเป็นการจำกัดต้นทุนทางหนึ่งซึ่งช่วยให้เขาได้เปรียบในการแข่งขันทางด้านต้นทุนกับผู้ที่ต้องฟอกของเสีย อาจเป็นที่ทราบกันดี ประเด็นนี้ไม่จำกัดอยู่ที่อากาศเท่านั้น หากยังรวมไปถึงทรัพยากรน้ำและดินอีกด้วย

จากมุมมองของการเป็นเจ้าของ อาจมองได้ว่าอากาศไม่เป็นของใคร หรือเป็นของทุกคนร่วมกัน ฉะนั้น มันจึงเกิดสถานการณ์แนวมือใครยาวสาวได้สาวเอา นั่นคือ เอาศักยภาพในด้านการดูดซับพร้อมกับฟอกของเสียของมันมาใช้จนทำให้มันเป็นพิษ ประเด็นนี้มีอยู่ในแนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง “โศกนาฏกรรม หรือ คำสาปแห่งของกลาง” (Tragedy or curse of the commons) ซึ่งศึกษากันมานานมาก แต่ยากแก่การนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องอากาศเพราะอากาศเป็นของกลางของคนทั้งโลก ส่วนเรื่องของกลางที่มักคุ้นเคยกันจำกัดอยู่ในวงแคบกว่าจำพวกทุ่งหญ้า ป่าไม้และสระน้ำของชุมชน

อีกมุมหนึ่งซึ่งควรจะได้รับการพิจารณามานานแต่มักถูกละเลยได้แก่ในแง่ของการมีเพียงจำกัดเช่นเดียวกับทรัพยากรอื่นๆ จริงอยู่ ณ วันนี้ยังมีคนบางกลุ่มที่คิดว่าโลกมีทรัพยากรไม่จำกัด หรือมีมากถึงขนาดจะสนับสนุนให้มีชาวโลกเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าตัวจากจำนวน 7 พันล้านคนในปัจจุบัน แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยอมรับว่าทรัพยากรโลกมีอยู่อย่างจำกัดและโลกไม่อาจสนับสนุนให้มีคนมากขึ้นได้มากนักหากชาวโลกจะอยู่ได้แบบไม่ต้องแย่งชิงกัน โดยทั่วไปทรัพยากรได้แก่สิ่งที่เรานำมาใช้ได้จะโดยตรงหรือโดยการเปลี่ยนสภาพแล้วก็ตาม อากาศเราหายใจเข้าไปโดยตรง แต่สิ่งอื่นส่วนใหญ่เรามักเปลี่ยนสภาพมันเสียก่อน การเปลี่ยนสภาพเป็นงานใหญ่และเป็นหัวใจของการผลิตในระบบเศรษฐกิจ

ทรัพยากรบางอย่างเรานำมาใช้ได้เพียงครั้งเดียว อาทิเช่น น้ำมันและถ่านหิน ทำให้เรามองเห็นได้ง่ายขึ้นว่ามันมีอยู่อย่างจำกัด สิ่งที่ชาวโลกโดยทั่วไปยังไม่นึกถึงคือความจำกัดในความสามารถ หรือศักยภาพของโลกที่จะรับขยะหรือปฏิกูลจากการผลิตและการบริโภคของเรา อากาศเป็นพิษในเมืองจีนเป็นเรื่องระดับท้องถิ่น แต่มันเป็นตัวชี้บ่งว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อศักยภาพในการดูดซับพร้อมกับการฟอกควันและฝุ่นละอองของอากาศหมดลง เรื่องแนวนี้ยังไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำยกขึ้นเป็นประเด็นพิจารณาจนกระทั่งโรเบิร์ต และเอ็ดเวิร์ด สกีเดลสกี้ เขียนหนังสือเรื่อง “เท่าไรจึงจะพอ?” (How Much Is Enough?) ซึ่งคอลัมน์นี้ได้คัดย่อส่วนหนึ่งมาเสนอไว้ระหว่างวันที่ 7-28 ธันวาคม 2555

จริงอยู่ภาวะอากาศเป็นพิษจะหายไปหลังการเปลี่ยนนโยบายโดยบังคับให้มีการฟอกควันและสารพิษในไอเสียต่างๆ ก่อนจะปล่อยออกไปในอากาศ แต่กระบวนการฟอกก็ต้องใช้ทรัพยากรเช่นกัน ฉะนั้น เมื่อมีการผลิตและการบริโภคเพิ่มขึ้น การใช้ทรัพยากรเพื่อกำจัดขยะและปฏิกูลย่อมจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในวันข้างหน้า ถ้าการผลิตและการบริโภคยังเพิ่มขึ้นต่อไป การใช้ทรัพยากรเพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพในการรับขยะและปฏิกูลของโลกย่อมจะเป็นตัวจำกัดว่าโลกใบนี้จะมีมนุษย์ได้กี่คนและแต่ละคนจะบริโภคได้เท่าไร ในหนังสือเรื่อง “เท่าไรจึงจะพอ?” ผู้แต่งแนะนำให้ใช้แนวคิด “การมีชีวิตที่ดี” เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต ทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยที่จะทำให้มีชีวิตที่ดีคือการมีทุกอย่างตามความจำเป็นของร่างกาย

หากเรายึดแนวคิดนั้นเป็นทางพัฒนาและแก้ปัญหาอากาศเป็นพิษ การดำเนินชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญในสองด้านด้วยกันคือ ต้องบริโภคตามความจำเป็นของร่างกายเท่านั้น และต้องลดการทำงานลงมาเหลือแค่เท่าที่มีรายได้เพื่อเลี้ยงดูร่างกายตามความจำเป็น ส่วนงานที่เคยทำเกินความจำเป็นก็ยกให้ผู้ว่างงานหรือผู้ที่ยังมีสิ่งจำเป็นไม่ครบถ้วนทำ

น่าสังเกตว่าถ้าทำกันตามตัวอักษรแล้ว แนวคิดเรื่องการมีชีวิตที่ดีเข้มงวดกว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเนื่องจากความพอประมาณอันเป็นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงมองว่าชาวโลกจะบริโภคเกินความจำเป็นบ้างก็ได้ถ้ามันทำให้มีความสุข แต่ไม่ถึงกับเกิดผลเสียหายไม่ว่าจะเป็นทางด้านใดก็ตาม ทั้งที่แนวคิดทั้งสองมีเหตุผลหนักแน่นสมควรแก่การนำมาปฏิบัติ แต่ชาวโลกโดยทั่วไปยังไม่มีทีท่าว่าจะทำ ท่านทะไลลามะจึงเปรยไว้ในเชิงขบขันว่า มนุษย์เรายอมเสียสุขภาพเพื่อทำงานให้ได้เงินมามากมายและก็ต้องเสียเงินนั้นไปเพื่อรักษาสุขภาพ ณ วันนี้ดูจะยังไม่มีสังคมไหนได้ฉุกคิดว่าท่านหมายความว่าอะไรรวมทั้งสังคมไทยซึ่งคุยนักคุยหนาว่าเป็นสังคมพุทธด้วย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : อันเนื่องมาจาก อากาศเป็นพิษ ปักกิ่ง

view