สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีดีอาร์ไอชี้คอร์รับชั่นทำให้ข้าวสารถูก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ดร.อัมาร สยามวาลา และดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ เขียนบทความ ชี้คอร์รับชั่นทำให้ข้าวสารถูก

นับตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทยเริ่มดำเนินการจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ดตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2554 จนถึง 30 กันยายน 2555 รัฐบาลได้รับซื้อข้าวเปลือกตามโครงการจำนำนาปี 2554/55 และนาปรังปี 2555 รวมทั้งสิ้น 21.475 ล้านตันข้าวเปลือก (คิดเป็นข้าวสารทั้งสิ้น 13.3 ล้านตัน) พูดง่ายๆก็มีข้าวเปลือกเข้าโครงการจำนำรวม 61.6 % ของผลผลิตข้าวในปี 2554-55 ถ้าคิดเฉพาะการจำนำข้าวนาปรังปี 2555 ก็พูดได้ว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการนำข้าวเปลือกทุกเม็ดเข้าสู่โครงการจำนำตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้

ผลที่ตามมาคือ ราคาข้าวเปลือกในประเทศถีบตัวขึ้นสูงกว่าสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ไม่มีการจำนำ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ ราคาข้าวสารขายปลีกในประเทศกลับมีราคาถูก ทั้งๆที่ข้าวสารส่วนใหญ่นอนสงบนิ่งอยู่ในโกดังกลางของรัฐบาล ขณะที่คนไทยต้องกินข้าวทุกวันปีละไม่ต่ำกว่า 10.4 - 10.7 ล้านตัน (ข้อมูลการบริโภคและการใช้ทำพันธุ์ข้าวจากการสำรวจรายได้รายจ่ายครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา)แสดงว่าราคาขายปลีกข้าวสารในช่วงเดือนตุลาคม 2555 เฉลี่ยเพียง กก.ละ 22.19 บาท ซึ่งถูกกว่าราคาข้าวสารในช่วงเดือน ตุลาคม 2553-กรกฏาคม 2554 (เฉลี่ย 22.17 บาท/กก.) ซึ่งเป็นยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ไม่มีการแทรกแซงราคาตลาด

อะไร คือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในการทำให้ราคาข้าวสารถูก การตรึงราคาข้าวสารนี้จะต้องเกิดจากนโยบายระดับสูงของพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีการประกาศต่อสาธารณะ เพราะรัฐบาลรู้ดีว่าการจำนำจะทำให้ราคาข้าวสารในประเทศแพงขึ้นอย่างแน่นอน หากปล่อยให้ข้าวมีราคาแพง รัฐบาลจะถูกโจมตีอย่างรุนแรง

กลไกของรัฐในการจำนำข้าวและระบายข้าว

หลังจากรับซื้อข้าวเปลือกมาจากชาวนาแล้ว รัฐก็จะสั่งให้โรงสีในโครงการจำนวนประมาณ 1000 แห่ง สีแปรสภาพเป็นข้าวสารภายใน 7 วัน รัฐบาลจ่ายค่าจ้างสีแปรสภาพแก่โรงสีตันละ 500 บาท ค่ากระสอบและค่าขนส่งในรูปข้าวสารแทนการจ่ายเป็นเงินสด ยิ่งกว่านั้นรัฐยังกำหนดอัตราส่งมอบตันข้าวที่ต่ำกว่าอัตราปรกติของโรงสีที่มีประสิทธิภาพ เช่น ในการสีแปรสภาพข้าว 5% รัฐบาลกำหนดให้โรงสีส่งมอบต้นข้าวเพียง 450 กิโลกรัมแทนที่ต้องส่งมอบต้นข้าวสารเข้าโกดัง 500 กิโลกรัม ผลคือ ทำให้โรงสีในโครงการจำนำมีข้าวสารส่วนเกินอยู่ในมือประมาณ 40 กิโลกรัมต่อการรับจำนำข้าวเปลือกทุกๆ 1 ตัน ถ้ารวมจำนวนข้าวสารของโรงสีทั้งหมดจะตก 0.67 ล้านตัน ใน 10 เดือนแรกของปี 2556 โรงสีสามารถนำข้าวสารนี้ไปขายในตลาดได้

ผลกระทบที่ชัดเจนจากการจำนำ คือ ปริมาณการส่งออกข้าวของภาคเอกชนลดลงเหลือเพียง 5.77 ล้านตันในช่วงเดือนมกราคา-ตุลาคม 2555 เทียบกับ 9.63 ล้านตันของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2554 เพราะราคาข้าวส่งออกของไทยแพงกว่าคู่แข่งมาก

หลังจากถูกสื่อมวลชนกดดันเรื่องการระบายข้าวแบบ G-to-G อย่างต่อเนื่องในเดือนตุลาคม 2555 กระทรวงพาณิชย์จึงออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับปริมาณการระบายข้าวในสต๊อคของรัฐบาล 5 วิธี ดังนี้

(1) การทำข้อตกลง ซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (หรือ จีทูจี) ระหว่าง 1 มกราคม-18 ตุลาคม 2555 เป็นจำนวน 7.328 ล้านตัน ประเทศผู้ซื้อได้ จีน อินโดนีเซีย และโกตติวัวร์ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายกรัฐมนตรียืนยันว่าระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2555 รัฐได้จำหน่ายข้าวแบบจี-ทู-จี ไปแล้ว 1.46 ล้านตัน และคาดว่าจะส่งมอบอีก 0.3 ล้านตันภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555

(2) เปิดประมูลเป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อส่งออกหรือจำหน่ายในประเทศ 0.32 ล้านตัน

(3) ขายให้องค์กรหรือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อประโยชน์สาธารณะ 0.083 ล้านตัน (4) ซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีการจำหน่ายด้วยวิธีนี้เลย และ (5) บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากตัวเลขที่รัฐแถลงเป็นจริง ก็แสดงว่ารัฐได้จำหน่ายข้าวทั้งในประเทศและนอกประเทศรวมทั้งสิ้น 1.863 ล้านตัน ในระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2555 ยอดขายข้าวนี้ใกล้เคียงกับเม็ดเงิน 30,000 ล้านบาท ที่กระทรวงส่งมอบให้กระทรวงการคลัง เมื่อตุลาคม 2555

การตรวจสอบข้อมูลการระบายข้าวของรัฐบาลประสบปัญหาความยากลำบาก ทั้งๆที่ข้าวทั้งหมดที่อยู่ในมือรัฐบาลเป็นข้าวของประชาชน เพราะใช้เงินภาษีของประชาชน แต่รัฐกลับปิดบังข้อมูลสต๊อคข้าว ข้อมูลสัญญาการซื้อขายกับต่างประเทศ รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยถึงวิธีการขายให้องค์กรหรือหน่วยงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศโดยอ้าง “ความลับทางการค้า” จากการสอบถามอนุกรรมการระบายข้าวบางท่าน ก็ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการได้มีการประชุมเรื่องการขออนุมัติซื้อขายข้าวของรัฐบาล ทราบเพียงแต่ว่าบริษัทเอกชนสามารถทำเรื่องขออนุมัติซื้อข้าวจากรัฐได้ แต่ดูเหมือนคณะอนุกรรมการจะไม่ได้มีบทบาทใดๆในการพิจารณาคำขอซื้อข้าวจากภาคเอกชนเลย กระบวนการทำงานในการจำนำข้าวทุกขั้นตอนถูกผูกขาดตัดตอนโดยกระทรวงพาณิชย์เพียงฝ่ายเดียว ประธานอนุกรรมการทุกชุด (ยกเว้นอนุกรรมการระดับจังหวัด) มีรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

ข้อมูลการระบายข้าวที่โปร่งใสที่สุด คือ การประมูลข้าวรวม 5 ครั้ง (แต่เอกชนสามารถประมูลได้เพียง 3 ครั้ง) รวมเป็นข้าวจำนวน 0.3209 ล้านตัน

การระบายข้าววิธีที่สองคือ การขายข้าวให้องค์กรหรือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อประโยชน์สาธารณะจำนวน 0.83 ล้านตัน ข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าวและตรวจสอบได้ ปรากฏว่าในปี 2554 รัฐขายข้าวทั้งสิ้น 3 ครั้ง เป็นจำนวน 0.13 ล้านตัน เท่านั้น และปี 2555 มีการขายข้าวให้กรมราชทัณฑ์ 2 หมื่นตัน

การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเป็นข้อมูลที่ลึกลับที่สุด เพราะนอกจากกระทรวงพาณิชย์จะยืนยันว่าเป็นการทำสัญญาแบบจีทูจีแล้ว กระทรวงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลอื่นใดยกเว้นจำนวนการขายให้ 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย โกตติวัวร์ (แต่หนังสือพิมพ์รายงานว่าจะมีการขายจีทูจีแก่ กินี และบังคลาเทศ) คำอภิปรายไม่ไว้วางใจของสส. วรงค์ เดชกิจวิกรม แสดงให้เห็นชัดเจนว่าหากมีการค้าแบบจีทูจีจริง ก็เป็นการที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวให้แก่บริษัทเอกชนไทยและต่างชาติเพื่อขายต่อให้แก่รัฐบาลต่างชาติอีกทอดหนึ่ง (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กรมการค้าต่างประเทศเคยถือปฏิบัติมานานในกรณีที่ต้องมีการจ่ายเงินได้โต๊ะให้แก่หน่วยงานผู้ซื้อของต่างประเทศ) แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ามีข้าวบางส่วนที่จะขายให้รัฐบาลต่างประเทศ แต่ผู้ซื้อไม่ยอมรับซื้อทั้งหมดตามสัญญา เพราะมีปัญหาคุณภาพข้าว ทำให้บริษัทเอกชนที่ซื้อข้าวจากกระทรวงฯนำข้าวดังกล่าวมาระบายในประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญในวงการส่งออกข้าวไทยต่างยืนยันว่าไม่พบหลักฐานใดๆ ว่ารัฐมีการส่งออกข้าวแบบจีทูจีเลยในระหว่างปี 2555 สถิติการส่งออกข้าวไทยของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่พบการส่งออกข้าวจีทูจีครั้งสุดท้ายเป็นช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2554 รัฐบาลส่งออกข้าวรวม 2.68 แสนตัน เป็นการส่งออกไปยังบังคลาเทศ 2.18 แสนตัว และอินโดนีเซีย 0.5 แสนตัน ระหว่างเดือนกันยายน 2554 ถึง ตุลาคม 2555 ไม่ปรากฏว่ามีรายการส่งออกข้าวแบบจีทูจีเลย นอกจากนั้นผู้ส่งออกยังรายงานว่าหากรัฐมีการขายข้าวแบบจีทูจีเป็นจำนวนมากจริง จะต้องมีเรือเข้ามารับข้าวจากท่าเรือ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยเห็นเรือรับข้าวเลย

คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องให้ข่าวที่เป็นเท็จว่ารัฐบาลไทยสามารถขายข้าวแบบจีทูจีได้ 7.328 ล้านตัน (แต่ในภายหลัง เอกสาร “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” กลับยอมรับว่าระหว่างมกราคม - กันยายน 2555 รัฐบาลขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 1.46 ล้านตัน)

อย่างไรก็ตาม หากเรายอมรับว่ารัฐบาลไทยขายข้าวให้รัฐบาลต่างชาติทางอ้อมผ่านบริษัทเอกชน เราก็สามารถตรวจสอบข้อมูลการส่งออกข้าวของรัฐจากส่วนต่างระหว่างปริมาณการส่งออกข้าวของภาคเอกชนที่รายงานโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กับปริมาณการส่งออกข้าวของกรมศุลกากรที่เป็นตัวเลขทางราชการที่ต้อง “ถูกต้อง” เพราะใช้เป็นฐานสถิติการส่งออกนำเข้าของประเทศ ผลการตรวจสอบการส่งออกข้าวของรัฐบาลไทยพบว่าในช่วงเดือนกันยายน 2554-ตุลาคม 2555 ไทยมีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศ 3 ประเทศ เพียง 1.03-1.19 ล้านตัน ตัวเลขนี้รวมการส่งออกของภาคเอกชน (เพราะปริมาณส่งออกไปยังอินโดนีเซียและโกตติวัวร์มีมากกว่าที่รัฐบาลประกาศ)

ขณะที่รัฐบาลประกาศว่าขายข้าวจีทูจีไปแล้ว 1.46 ล้านตัน ข้อเท็จจริงคือ มีข่าวชัดเจนว่ารัฐบาลอินโดนีเซียปฏิเสธไม่ซื้อข้าวครบ 3 แสนตันตามสัญญา เพราะปัญหาคุณภาพข้าว และหากสมมุติว่าโกตติวัวร์ซื้อข้าวครบตามสัญญาจำนวน 2.9 แสนตัน และจีนซื้อข้าวผ่านบริษัทนายหน้าของไทย 1.9 แสนตัน รัฐบาลไทยก็ขายข้าวส่งออกได้เพียง 7.2 แสนตันไม่ใช่ 1.46 ล้านตันตามที่ปรากฏในเอกสาร “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” ข้อสรุป คือ ข้าวส่วนต่าง จำนวน 0.74 ล้านตัน (1.46 - 0.72) น่าจะเป็นข้าวที่บริษัทเอกชนที่ไม่สามารถขายให้รัฐบาลต่างประเทศนำมาขายต่อภายในประเทศ

โดยสรุปตลอดช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่เกิน 1.1-1.844 ล้านตันจากข้าวสารที่อยู่ในโกดังทั้งหมด 13.3 ล้านตัน

กลไกตลาดของบริษัทเอกชนที่ค้าขายกับรัฐ

ตัวเลขปริมาณการระบายข้าวของรัฐข้างต้นสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของกลไกรัฐในการขายข้าว หากรัฐระบายข้าวสู่ตลาดในประเทศได้เพียง 0.384 ล้านตัน(ตามตารางที่ 1) ป่านนี้ราคาขายปลีกข้าวสารในประเทศจะพุ่งขึ้นสูงลิบ สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้คนยากจนไปแล้ว แต่ดังที่กล่าวตอนต้นแล้วว่าราคาข้าวสารขายปลีกในประเทศกลับอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลเก่งกาจมาจากไหน คำตอบ คือ รัฐอาศัยกลไกตลาดของบริษัทเอกชนบางแห่งเป็นเครื่องมือแทนกลไกของรัฐ

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่าถ้าจะให้มีข้าวสารราคาถูกได้ รัฐก็จะต้องปล่อยข้าวสารออกจากโกดังกลางของรัฐเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าปริมาณการบริโภคของคนไทยในแต่ละเดือน แต่ขณะเดียวกันภาคเอกชนไทยก็ยังมีการส่งออกข้าวเป็นจำนวนพอสมควร ดังนั้น ในท้องตลาดจะต้องมีใครก็ตามที่มี “อำนาจเหนือรัฐบาล” สามารถออกคำสั่งให้มีการระบายข้าวสารออกจากโกดังกลางรัฐบาลทุกๆวัน ทุกๆเดือนในจำนวนที่ทำให้ร้านค้าข้าวสารทั่วประเทศและผู้ขายข้าวถุงมีข้าวขายบนหิ้งในราคาเดิมอยู่ตลอดเวลา คำถามคือ ตลอด 10 เดือนแรกของปี 2555 เราจะต้องระบายข้าวสารสู่ตลาดค้าปลีกในประเทศเป็นจำนวนเท่าไร

คำตอบ หลักการคำนวณง่ายๆ คือ (1) เราคำนวณหาปริมาณการบริโภคข้าวสาร รวมทั้งปริมาณข้าวเปลือกที่ชาวนาต้องเก็บไว้ทำพันธุ์ตลอดปี เฉพาะ 10 เดือนแรกของปี 2555 คนไทยต้องมีข้าวบริโภคและใช้ทำพันธุ์เป็นจำนวน 8.7-9.1 ล้านตัน (2) ในช่วง 10 เดือนแรก ไทยส่งออกทั้งหมด (ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ) รวม 5.77 ล้านตัน สองรายการนี้รวมกันเท่ากับ 14.4 - 14.8 ล้านตัน

แต่ผลผลิตข้าวที่เหลืออยู่ในท้องตลาดมีน้อยมาก เพราะผลผลิตข้าวส่วนใหญ่ถูกขายให้โครงการจำนำ ในเดือนมกราคม ถึง ตุลาคม 2555 มีผลผลิตข้าวนาปีฤดู 2554/55 และผลผลิตนาปรังปี 2555 รวม 22.33 ล้านตันข้าวสาร ชาวนาขายข้าวให้โครงการจำนำ 10.55 ล้านตัน รัฐบาลจำหน่ายข้าวสู่ตลาดในประเทศเป็นจำนวน 0.384 ล้านตัน นอกจากนี้โรงสีในโครงการจำนำจะมีข้าวสารที่ได้รับเป็นค่าจ้างและผลกำไรจากการรับจ้างรัฐบาลประมาณ 0.676 ล้านตัน โดยรวมแล้วตลาดในประเทศจะมีข้าวสารเพียง 12.84 ล้านตัน ขณะที่คนไทยต้องบริโภคข้าวและต้องมีข้าวส่งออกรวม 14.4 -14.8 ล้านตัน

ดังนั้นใน 10 เดือนแรกของปี 2555 รัฐบาลจะต้องระบายข้าวสารออกจากคลังรัฐบาลอีกอย่างน้อย 1.6-1.99 ล้านตัน จึงจะทำให้ราคาข้าวสารมีราคาเท่าเดิมได้ กระทรวงพาณิชย์ไม่เคยประกาศเป็นนโยบายต่อสาธารณะเลยว่ามีนโยบายการระบายข้าวจำนวนดังอย่างไร

แต่ในวงการพ่อค้าข้าว เป็นที่รู้กันว่าพ่อค้าที่ต้องการหาซื้อข้าวเพื่อส่งออก หรือขายในประเทศสามารถติดต่อ “นายหน้าผู้ทรงอิทธิพล” บางราย ก็จะหาซื้อข้าวจากคลังรัฐบาลได้ โดยจ่ายค่านายหน้าให้บริษัทดังกล่าว (ปัจจุบันมีบริษัทนายหน้าดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 3-4 รายตามคำอภิปรายของสส.วรงค์ เดชกิจวิกรม) นายหน้าจะติดต่อให้โรงสีในโครงการจำนำส่งมอบข้าวสารให้แก่ พ่อค้าส่งออก หรือ พ่อค้าข้าวในประเทศ ส่วนเรื่องการทำบัญชีข้าวในโกดังกลางของรัฐคงเป็นหน้าที่ของนายหน้า นอกจากคำยืนยันจากพ่อค้าบางรายแล้ว เพื่อนนักวิชาการท่านหนึ่งเคยส่งหลักฐานการที่โรงสีแห่งหนึ่งสามารถขอซื้อข้าวจากคลังรัฐบาล เพื่อนำข้าวสารไปขายในจังหวัดโดยจ่ายค่านายหน้าตันละ 500-3,000 บาทขึ้นกับชนิดข้าว

เรื่องที่น่าประหลาดใจที่สุด คือ ระหว่างมกราคม-ตุลาคม 2555 ไทยสามารถส่งออกข้าวนึ่งได้ถึง 1.789 ล้านตัน โดยข้อเท็จจริงแล้วไทยจะต้องไม่มีการส่งออกข้าวนึ่งหรือ ถ้ามีการส่งออกก็จะอยู่ในระดับน้อยมาก เพราะชาวนาขายข้าวเปลือกส่วนใหญ่ให้โครงการจำนำ โดยเฉพาะในฤดูนาปรัง ข้าวเปลือกทุกเม็ดถูกขายให้รัฐบาลโครงการจำนำไม่มีหลักเกณฑ์การจ้างโรงสีให้ทำข้าวนึ่งเลย ดังนั้นหลังจากมีการจำนำข้าว โรงสีข้าวนึ่งจะไม่สามารถหาซื้อข้าวเปลือกมา “นึ่ง” ก่อนที่จะสีแปรสภาพเพื่อส่งออกได้ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่าไทยมีการการส่งออกข้าวนึ่งจำนวน 1.789 ล้านตัน ในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2555 ตัวเลขส่งออกข้าวนึ่งจึงเป็นหลักฐานชัดเจนว่าผู้ส่งออกข้าวนึ่ง สามารถพึ่งพา “กลไกตลาด” ของบริษัทนายหน้าผู้ทรงอิทธิพลหาซื้อข้าวเปลือกจากโครงการจำนำได้

เหตุผลที่กลไกตลาดทำงานได้ดีในกรณีของข้าวนึ่ง (แต่ใช้การไม่ได้ในกรณีของการส่งออกข้าวขาว) เพราะการส่งออกข้าวนึ่งได้ราคาสูงกว่าการส่งออกข้าวขาวตันละ 30-50 เหรียญสหรัฐอเมริกา ส่วนต่างราคานี้ทำให้เกิด “ตลาดการค้าข้าวเปลือกในโครงการจำนำ” เพราะผู้ส่งออกข้าวนึ่งยินดีแบ่งผลกำไรบางส่วนให้แก่นายหน้าที่สามารถวิ่งเต้นให้โรงสีในโครงการจำนำ ส่งข้าวเปลือกให้แก่โรงสีข้าวนึ่ง แต่ระเบียบการจำนำของรัฐไม่ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์การว่าจ้างทำข้าวนึ่ง ถ้าเช่นนั้น “ผู้มีอำนาจ” คนใดเล่าที่สามารถสั่งให้โรงสีขนข้าวเปลือกจากโครงการจำนำไปยังโรงสีข้าวนึ่งของผู้ส่งออก ข้าวเปลือกที่ถูกโยกออกจากโครงการจำนำมาสู่โรงสีข้าวนึ่งมีจำนวน 3.6 ล้านตัน นี่ไม่ใช่การทุจริตแบบเล็กๆน้อยๆนะครับ

เมื่อมีการขนข้าวสารจากโกดังกลางของรัฐไปยังพ่อค้าข้าวสารขายส่ง (หรือขนข้าวเปลือกจากโรงสีในโครงการจำนำไปยังโรงสีข้าวนึ่งของผู้ส่งออก) บริษัทนายหน้าดังกล่าวจะจัดการโยกย้ายข้าวเก่าจากโกดังกลางของรัฐเข้ามาใส่โกดังกลางแทน หรือจะใช้เพียงวิธีเปลี่ยน “บัญชีข้าว” ในโกดังกลาง นี่เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องรับผิดชอบตรวจสอบ และแถลงข้อเท็จจริงต่อประชาชนว่าในโกดังกลางมีข้าวอยู่จริงๆเป็นจำนวนเท่าไร สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ มีการเคลื่อนย้ายข้าวสารและข้าวเปลือกออกจากโครงการจำนำ ไม่ต่ำกว่า 3.4-3.8 ล้านตัน ไปให้พ่อค้าในประเทศและพ่อค้าส่งออก โดยอาศัยกลไกตลาดที่แอบอิงกับผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาล นี่คือการโจรกรรมข้าวและเงินภาษีประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การจำนำข้าว

แต่ที่สำคัญพอๆกัน คือ เงินค่าขายข้าวอยู่ที่ไหน หากใช้ตัวเลขปริมาณการบริโภคและการส่งออกข้าวในตารางที่ 1 ข้างต้น ก็แปลว่ารัฐได้อาศัยกลไกตลาดของบริษัทเอกชนโยกย้ายข้าวออกมาขายในตลาดเพิ่มเติมจากจำนวนที่แจ้งแก่ประชาชนเป็นจำนวน 3.4 - 3.8 ล้านตัน คิดเป็นเงินอีก 56,100-62,700 ล้านบาท (3.4 x 16,500 บาท ถึง 3.8 x 16,500 บาทต่อตัน)

ในเดือนตุลาคม 2555 รัฐบาลส่งเงินค่าขายข้าวคืนกระทรวงการคลังเพียง 3 หมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้สอดคล้องกับยอดขายข้าวของรัฐ (1.863 ล้านตัน) ตามที่ระบุในเอกสาร “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” เงินที่เหลืออีก 56,000 - 62,000 ล้านบาทอยู่ที่ไหนครับ

คำถามต่อมาคือ การให้บริษัทนายหน้าเป็นตัวแทนในการจำหน่ายข้าว บริษัทเอกชนได้ค่านายหน้าไปไม่ต่ำกว่า 7,600 - 11,000 ล้านบาท (ตันละ 2,000 - 3,000 บาท x 3.8 ล้านตัน) บริษัทเหล่านี้เสียภาษีเงินได้หรือไม่ และเงินนายหน้านี้ตกในมือผู้มีอำนาจคนใด

คำถามสุดท้าย คือ รัฐบาลขาดทุนเท่าไรครับ อย่าบอกว่าการขายข้าวแบบนี้ รัฐบาลไม่สามารถประกาศราคาขายได้นะครับ เพราะนี่เป็นการขายข้าวในประเทศครับ หรือถ้าเป็นการส่งออก ก็เป็นการขายข้าวให้บริษัทเอกชนไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง ประชาชนเป็นเจ้าของข้าวนะครับ

เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปิดบังข้อมูลเหล่านี้ โปรดระวังข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบนะครับ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ทีดีอาร์ไอ คอร์รับชั่น ข้าวสารถูก

view